http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม14,002,765
Page Views16,311,596
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ตำนานผีตาโขน ความต่างที่เปลี่ยนไป

ตำนานผีตาโขน ความต่างที่เปลี่ยนไป


ผีตาโขน ความต่างที่เปลี่ยนไป


             
                      อ.อภิชาติและเสื้อซิลสกรีนผีตาโขน

                ไม่ว่าผีตาโขนจะมีนิยามที่แปลกแตกต่างกันไปอย่างไร สิ่งที่ได้ยังเป็นการอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของชาวอำเภอด่านซ้ายอย่างยิ่งใหญ่อลังการเหลือคณนา อภิชาติ คำเกษม อดีตครูศิลปะคนรักบ้านเกิด ผู้ฟื้นฟูตำนานการละเล่นผีตาโขนจนกลายเป็นทรัพยากรท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองด่านซ้าย คนดีศรีด่านซ้ายคนนี้ ยังใช้ชีวิตเรียบง่ายและมุ่งหวังการเผยแพร่ศิลปะบนผืนผ้า เซรามิค  อันเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการโพนทนา 

นิยามและตำนานของผีตาโขน บนความแตกต่าง
 

             ในสมัยก่อน เขาเล่นผีตาโขนกันปีละครั้งหนึ่ง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 หรือวันธรรมเสาวนะ อันเป็นวันพระสุดท้ายก่อนการเข้าพรรษา เล่นกันสองวัน วันแรกก็เป็นวันสุกดิบหรือซ้อมใหญ่กัน แล้วอีกวันหนึ่งก็เล่นกันจริง สมัยนั้นจะเล่นกันด้วยการนำเอาร่มกระดาษเก่าๆ เย็บกับทางมะพร้าวส่วนที่ติดกับลำต้น เจาะรูให้เป็นตาสองข้าง ใช้ไม้เนื้ออ่อนซึ่งมีน้ำหนักเบาๆ ทำจมูก แต่ไม่ยาวอย่างเดี๋ยวนี้  เสื้อผ้าเก่าๆ ขาดๆ มาย้อมสีขี้ขะเหม่า(ดินหม้อ) ทาหน้ากากที่ประกอบแล้วด้วยขี้หม้อดำๆ เอากระดึงคอวัวมัดห้อยกับสะเอว 

                      
                            ผีสีหวานๆอย่างนี้ก็มี อะอะ!! น่ากอดกว่าน่ากลัว

           พี่น้องหมู่บ้านต่างๆ แห่กันมาที่วัดโพนชัย หอบเสื้อผ้าพากันมาแทบทั้งครอบครัว ทางวัดเจ้าถิ่นก็สร้างเพิงพักให้นอนเรียกว่า ผาม แต่อาหารการกินนี่ละครับที่ทำให้ต้องมีการบอกบุญผ่านผีตาโขน เจ้าบ้านก็แต่งองค์ทรงเครื่องแล้วก็แห่แหนกันไปขอข้าวสาร อาหารแห้ง เพื่อให้วัดไว้ใช้เลี้ยงพี่น้องที่มาจากถิ่นไกลๆ กลุ่มที่แต่งตัวด้วยชุดผีๆ ที่ว่านี่แหละเมื่อไปยืนหน้าบ้านไหน ร้านใคร เขาก็จะเอาสิ่งของอย่างว่ามาบริจาค ได้พอแล้วก็ขนกลับวัด ไว้เลี้ยงดูพี่น้องผองเพื่อน
            ผมอยากจะพูดว่านี่คือที่มาของคำว่า "ผีตาขน" พวกผีที่ออกไปขอส่วนบุญจากชาวบ้านร้านตลาดนั่นแหละถูกขนานนามกันว่า ผีตาขน ขนๆๆๆ เข้าวัดกันอย่างเดียวเลย แต่แล้วก็เริ่มเรียกเพี้ยนกันไปเรื่อยๆ ตามสำเนียงที่แตกต่าง จนถึงวันนี้กลายเป็น ผีตาโขน นี่คือสิ่งที่ผมอนุมานจากที่พวกผมได้รับรู้กันมา แต่อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าผมจะนิยามถูกต้อง ความรู้ ความคิด และสิ่งที่สืบสานกันมาย่อมเฉไฉไปได้หลายทาง ภาษาไทยมันดิ้นได้


                         
                          หน้ากากเลียนแบบหนังเรื่องโม่งดำ (ลือชัย นฤนาท)

             บ้างก็ว่ามาจากรากคำว่า ผีตามคน โดยตีความกันว่า เมื่อพระเวสสันดรนิวัตรสู่พระนครหลังการ"ให้ทานอันบริสุทธิ์" แม้กระทั่งสองกุมารผู้บุตรก็ยังยกให้ชูชก จึงมีผีที่เห็นความดีงามตามมาส่งถึงนัครา จึงเรียกว่า "ผีตามคน" ถ้าพระเวสสันดรเป็นคนจริง ก็ต้องเรียกว่าพระซะมากกว่า และชาดกพระพุทธประวัติก็มิได้ปรากฎในพระพุทประวัติองค์สมณะโคดมฉบับต่างประเทศแต่อย่างใด คงมีเพียงพระพุทธประวัติของฉบับไทยเท่านั้น   
             เอ้า! ใครมีความคิดเห็นแตกต่างอย่างไร โพสท์กันเข้ามาหน่อย บางทีการเสวนาผ่านหน้าต่างนี้อาจช่วยให้เกิดความกระจ่างได้ ลองกันดูนะครับ

                       
                                           ผีตาขาวก็มี  ฮิฮิ!!

ผีตาโขนด่านซ้ายฟื้นคืนชีพอย่างไร

          อภิชาติ คำเกษม อดีตข้าราชการครูศิลปะโรงเรียนศรีสองรักวิทยา อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เล่าให้ฟังว่า    ผมเริ่มชีวิตครูสอนศิลปะในปี 2520 หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนเพาะช่าง พ่อผมก็สอนศิลปะครับ ผมสืบสานตามรอยวิถีชีวิตด้วยความชอบงานศิลปะอาจเพราะสายเลือดเข้ม แต่เนื่องจากผมเกิดที่นี่ โตที่นี่ ได้รู้เห็นหลายสิ่งหลายอย่างในบ้านเกิด โดยเฉพาะการละเล่นผีตาโขนที่โด่งดังวันนี้ เห็นมาตั้งแต่เด็กๆ เล่นกับเขาด้วย เป็นสิ่งที่สร้างสีสันชีวิตเด็กๆ อย่างพวกเราชาวด่านซ้าย

             ปี 2521 ผมเริ่มหยิบจับการละเล่นนี้มาปัดฝุ่น ผมชักชวนเด็กนักเรียนลงเล่น มีเสียงคัดค้านไม่ให้ผมเอาเด็กๆ นักเรียนมาเล่น แต่ในที่สุดก็ได้รับการตอบสนองในทางบวก ผมลงมือสร้างรูปแบบหน้ากาก แรกเริ่มก็อย่างภาพที่ผมซิลสกรีนลงเสื้อนั่นแหละครับ ร่มกระดาษเป็นหมวก ทางมะพร้าวเป็นหน้า ผ้าทาสีสกปรก ผมเป็นครูศิลปะ ก็เลยได้ใช้มันมากหน่อย เด็กๆ เริ่มลงสีหัดทำกัน เมื่องานเริ่มได้เพียงปีเดียว ก็เกิดการยอมรับ ก็เล่นกันมาเรื่อยๆ ช่วงนั้นวัดที่เล่นงานบุญหลวงนี่ก็มีวัด โพนชัย วัดบ้านนาเรียง วัดบ้านหนามแท่ง และวัดบ้านนาหอเป็นการทำบุญผ่านการขอรับจากพวกผีๆ เอาของเข้าวัด จนกลายเป็นการละเล่นที่ได้รับการยอมรับอีกครั้งหนึ่ง

                         

                                         ผีแปรรูปไปได้หลายแบบ ฮุฮุ!!

              จนกระทั่งถึงปีพ.ศ.2527 คณะกรรมการส่งเสริมเอกลักษณ์ไทย ต้องการสร้างเสริมเอกลักษณ์ไทย ผมส่งเรื่องนี้เข้าไป ได้เรื่องเลยครับ นายอำเภอด่านซ้ายชื่อ นายอานนท์ พรหมนารถ ผ่านความเห็นชอบ

              ปีพศ.2530 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้ามารับผิดชอบเต็มที่  แล้วผีตาโขนเฟสติวัลก็เกิดขึ้น โด่งดังจนเป็นเอกลักษณ์และทรัพยากรท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอด่านซ้าย ผมหมดบทบาทไปตามกาลเวลา และเห็นความเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสร้างหน้ากากผีตาโขน จากใช้มือทาสีหน้ากากจนถึงลงสีด้วยภู่กันตามแบบอย่างศิลปะ วิวัฒนาการเพิ่มมากขึ้นๆ มันคงปิดกั้นไม่ได้ เรื่องศิลปะต้องปล่อยให้เกิดความแตกต่าง ความคิดสร้างสรรค์จึงจะเกิด จากร่มกระดาษเป็นหมวกกลายเป็นหวดนึ่งข้าว จากเสื้อผ้าเก่าเป็นเสื้อผ้าหลากสีสัน เปลี่ยนไปจริงๆ
               เกศราภรณ์ คำเกษม เล่าเสริมว่า พ่อเป็นคนวาดลายไทยลงในหน้ากากผีตาโขนคนแรก จากนั้นก็ยิ่งเพิ่มความเปลี่ยนแปลงมากไปกว่าเดิม 


                           

                                              ลายไทยวิจิตร

เครื่องดนตรีและรูปแบบผีตาโขนก็เปลี่ยนไป

              อภิชาติเล่าต่อว่า ในสมัยนั้นเครื่องดนตรีที่ใช้ในการแห่ผีตาโขนไปตามท้องถนน  ใช้ดนตรีพื้นบ้านประกอบด้วย พิณ แคน สะล้อ เพลงที่เล่นก็สนุกสนาน ฟังแล้วมีอารมณ์ร่วมขึ้นทันใด แต่วันนี้เป็นดนตรีอัดแผ่น เพลงสนุกๆ เร้าใจ เต้นกันมันหยดติ๋งๆ ลีลาใครลีลามันจริงๆ ก็มันเปลี่ยนไปนะครับ
               ในช่วงนั้นมีการทำผีตาโขนใหญ่ 2 ตัว ตัวหนึ่งชาย ตัวหนึ่งหญิง ของที่แห่รับบริจาคมาได้เข้าวัดหมดครับ และวันที่จัดงานก็เป็นวันขึ้น 15 ค่ำเดือน7 วันสุกดิบและวันจริง รวม 2 วันก็เลิกรา อันเป็นเดือนเทศมหาชาติ หน้ากากที่ผมเริ่มทำผีตาโขนเล็กก็เปลี่ยนไป กลายเป็นหลากสีสันสวยงามแตกต่างกันไป ใช้สีเยอะมากๆ อารมณ์ศิลป์บรรเจิด ไปไกล (ดูได้ในภาพครับ)
               เมื่อก่อนนี้จัดตามนั้นวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 7 ก่อนเข้าพรรษาหนึ่งสัปดาห์  ก็มีปัญหาว่า เด็กนักเรียนที่ผมเคยชวนไปเล่นก็เกิดหนีโรงเรียนไปแห่ผีตาโขนกันเยอะมาก จนถึงขั้นต้องเปลี่ยนวันแห่เดิมเป็นวันเสาร์อาทิตย์ เพื่อป้องกันเด็กๆ หนีเรียน (หัวเราะ) นี่ก็วิวัฒนาการ

ถ้าจะมาเยี่ยมเยียนผีตาโขนแล้วพักค้างที่ด่านซ้าย คุ้มไหม?

              อภิชาติเล่าต่อว่า  งานประเพณีแห่ผีตาโขน กลายเป็นงานประเพณีที่พี่น้องลูกหลานกลับมาบ้านด่านซ้ายอีกวันหนึ่ง  นอกจากวันตรุษย์สงกรานต์ กลายเป็นว่า เดี๋ยวนี้คนด่านซ้ายกลับบ้าน 2 ครั้ง คือวันสงกรานต์และวันแห่ผีตาโขน ส่วนใหญ่ก็มักจะเชิญชวนเพื่อนๆ จากแดนไกลเข้ามาด้วย ซึ่งก็เป็นการเผยแพร่ที่ดี มารู้ด้วยตนเอง มาเห็นกับตา เป็นยุทธวิธีตอบแทนคุณบ้านเกิดอันเยี่ยมยอด บ้านเรามีดีต้องอวด    ปอยฝ้ายอาจจะร้องว่าอย่างนี้มันต้องอวดๆ

                
                         หลากหลายรูปแบบผีตาโขนเล็ก  เท่ห์ไหม?

              ผมยอมรับครับว่า การแห่ผีตาโขน ได้กลายเป็นทรัพยากรท่องเที่ยวที่สำคัญยิ่งของอำเภอด่านซ้าย มาดู มารู้และเหมือนมาเยี่ยมญาติ งานผีตาโขนได้เผยแพร่ไปสู่สายตาประชาชนทั่วประเทศ และอาจจะไกลไปถึงต่างประเทศ จะเห็นว่าบางปีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามาก บางปีน้อย ขึ้นอยู่กับการตลาดและจังหวะเวลาของการท่องเที่ยว
              คุ้มไหมกับการได้มาเยี่ยมเยียนผีตาโขนเฟสติวัล ต้องตอบว่าคุ้มครับ ท่านจะได้มารู้จักอำเภอชายแดนรอยต่อระหว่างภาคเหนือกับภาคอีสาน คนเมืองด่านซ้ายมีสำเนียงของภาษาเฉพาะที่ไม่เหมือนคนอีสานทั่วไป คนเมืองด่านซ้ายมีศิลปะ ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่แตกต่าง น่าเรียนรู้และน่าสัมผัส
 มีรอยยิ้มทั่วไปเหมือนกัน

                         
                                                วิวัฒนาการ

                แค่ได้เข้ามายังดินแดนแห่งอารยะธรรมของคนเมืองภูเขาก็คุ้มอีกแล้ว ในตัวเมืองด่านซ้ายสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 365 เมตร โอบล้อมด้วยขุนเขาใหญ่น้อย หน้าร้อนก็ไม่ร้อนจนตับจะแตก ยี่สิบกว่าองศา หน้าฝนก็ชุ่มเย็นชื่นใจ และยามหนาวเหน็บก็ไม่ถึงกับติดลบ แค่ลดลงเหลือเพีบง 3-4 องศาเซลเซียส ไอหมอกฟุ้งกระจายรายรอบทั้งหุบเขา
               คุ้มครับ เมื่อได้ไปเยี่ยมชมพระธาตุ.วัดเนรมิตวิปัสนา พิพิธภัณฑ์พระแก้วอาสา วัดเก่าๆ แปลกๆ เช่นเสาศาลาตั้งอยู่บนหิน  พระดินเหนียวปั้น  ใบเสมา 3 ใบ  สิมหลายรูปแบบ( อุโบสถเปิด)
                นอกจากนั้นยังมีกังหันน้ำภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ได้ศึกษาหาความรู้   ส่วนภูมิปัญาท้องถิ่นเรื่องอาหารการกิน เช่นน้ำผักกะทอน น้ำเคี่ยวจากใบไม้ชนิดหนึ่งที่ปลูกกันทุกบ้าน เรียกกันทั่วๆไปว่า ต้นกะทอน

               แต่ชื่อที่แท้จริงคนเมืองเลยเรียกว่า สะท้อนน้ำผัก  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Millettia utilis Dunn  อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก-ขนาดกลาง ใบและต้นคล้ายคลึงต้นสาธร ออกดอกสีขาวอมม่วงอ่อนๆ ดอกถั่ว ฝักแบบแห้งแล้วแตก คล้ายต้นสาธรอีกเช่นกัน

                            

               คนด่านซ้ายไล่ลงไปถึงหล่มเก่า หล่มสัก ใช้ใบอ่อนต้นสะท้อนน้ำผัก (ผักกะทอน) มาตำแล้วเคี่ยวในน้ำจนเข้าที พรมเกลือลงไปปะแล่มๆ คล้ายๆ การทำน้ำปูทางเหนือ และน้ำบูดูทางภาคใต้ เป็นน้ำปรุงรสที่ใช้เหยาะลงในแกง ต้ม ผัด ส้มตำ น้ำพริกต่างๆ ทำให้มีกลิ่นหอมและในการปรุงต้องโรยเกลือลงไปผสมด้วย มิเช่นนั้นจะขม ไม่ต้องใส่ผงชูรสแต่อย่างใด 
               สงสัยสอบถามรายละเอียดได้ที่คุณ เกศราภรณ์ คำเกษม โทร.089-2184789
   
               หรือสนใจผลิตภัณฑ์ศิลปะพื้นบ้านผีตาโขน(เสื้อซิลสกรีนและเซรามิค) การแสดงการละเล่นผีตาโขน ติดต่อได้ที่ อาจารย์ อภิชาติ คำเกษม โทรมือถือ 089-5747805
E-mail: APICHART_KAM@HOTMAIL.COM                

 

                       

Tags : ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี-วิถีชีวิต

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view