พะยูง
ชื่อพื้นเมือง กระยง กระยุง ชะยุง แดงจีน ประดู่ตม ประดู่ลาย ประดู่เสน ประดู่น้ำ
พระยูงไหม หัวลีเมาะ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dalbergia cochinchinensis Pierre
ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE
สถานภาพ ไม้หวงห้ามธรรมดาประเภท ก
นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์
ในประเทศ ป่าเบญจพรรณชื้นและป่าดิบแล้ง แถบภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สูงจากระดับน้ำทะเล 100-200 เมตร
ในต่างประเทศ กัมพูชา ลาว
ลักษณะทั่วไป
ต้นไม้ ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 25 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมค่อนข้างโปร่ง กิ่งห้อยย้อยลง เปลือกนอกสีน้ำตาลแดง เรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดอ้าสี่เหลี่ยมหรือลอกเป็นแผ่นบาง เปลือกในสีขาวอมชมพู
ใบ ใบประกอบแบบขนนก ปลายคี่ ช่อใบยาว 10-15 ซม. มีใบย่อย 7-9 ใบ เรียงสลับ ใบรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 3-4 ซม. ยาว 4-7 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบมน กลมหรือเป็นรูปลิ่มกว้าง ๆ ขอบใบเรียบ หลังใบสีเขียวเข้ม ท้องใบสีขาวนวล ใบเหนียวคล้ายแผ่นหนังบาง ๆ เส้นแขนงใบข้างละ 5-7 เส้น ก้านใบย่อยยาว 3-6 ซม.
ดอก ออกเป็นช่อแยกแขนงตามซอกใบและปล่ายกิ่ง กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 แฉก ดอกรูปดอกถั่วมี 5 กลีบ ดอกบานเต็มที่กว้าง 5-8 มม. มีกลิ่นหอม ดอกสีขาว
ผล ผลเป็นฝักแห้งไม่แตก แบนและบาง รูปขอบขนานสีน้ำตาลแดง กว้าง 1.2 ซม. ยาว 4-6 ซม. เมล็ดรูปไตสีน้ำตาลเข็ม มี 1-4 เมล็ด
ระยะเวลาการออกดอกและเป็นผล
ออกดอก พ.ย.-ก.ค.
ผลแก่ ก.ค.-ก.ย.
การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ด
ลักษณะเนื้อไม้ สีแดงอมม่วง หรือสีม่วงเป็นมันมีลายสีดำหรือสีน้ำตาลอ่อน เสี้ยนสน เป็นริ้วแคบ ๆ เนื้อละเอียดเหนียวแข็ง
ชั้นคุณภาพ A
ลักษณะทางกายวิภาค ที่เห็นได้ด้วยแว่นขยายขนาด 10-15 เท่า (handlens)
พอร์ ส่วนมากเป็นพอร์เดี่ยว (solitary pore) และพอร์แฝด (multiple pore) มีน้อย แบบของการเรียงตัวไม่เด่นชัด การกระจายเป็นแบบกระจัดกระจาย (diffuse porous) พอร์ใหญ่ทางภายในพอร์มีสารตกค้าง (deposit) เป็นบางพอร์ เส้นเรย์เห็นไม่ค่อยช้ด พาเรงคิมาเป็นแบบปีก (aliform parenchyma) และพาเรงคิมาแบบปีกต่อ (confluent parenchyma) มีลายริ้ว (ripplemark)
สกายสมบัติ ความแน่น (กก./ม.3) 1,032 ความยากง่ายในการผึ่งไม้ ยาก การอบไม้ ตารางที่ 1
กลสมบัติ (strength properties) ชั้นความแข็งแรง มีแรงดัดสถิต มอดูลัสแตกร้าว 171 MPA มอดูลัสยืดหยุ่น 16,377 MPA แรงอัดขนานเสี้ยน 117 MPA แรงเฉือน 26.0 MPA ความแข็ง 13,523 N ทั้งหมดในสภาพแห้ง
ความทนทานตามธรรมชาติ ความทนทานสูงมากกว่า 15 ปี
คุณสมบัติการใช้งาน การเลื่อย การไส การเจาะ การกลึงค่อนข้างยาก การยึดเหนี่ยวตะปูดีมาก การขัดเงาปานกลาง
การใช้ประโยชน์
ด้านการทำฟืนและถ่านไม้ ฟืนให้ความร้อน 5,112 แคลอรี/กรัม ถ่านไม้ให้ความร้อน 7,352 แคลอรี/กรัม
ด้านเป็นไม้ประดับ เนื่องจากเป็นไม้มีค่าหายากและเนื้อไม้สวยงามยิ่งกว่าไม้ชิงชัน หรือรกะพี้เขาควาย และใกล้สูญพันธุ์ สมควรปลูกเป็นไม้อนุรักษ์พันธุกรรมพืชในสวนพฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติ แต่ถ้าปลูกเป็นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจจะได้ไม้ราคาแพงมาก เพราะว่าในอดีตได้มีการทำไม้ชนิดนี้ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นมาก ขายเป็นกิโลกรัม นับว่าเป็นไม้ที่น่าจะมีการพัฒนาพันธุ์เพื่อใช้เป็นสินค้าได้ราคาสูงที่สุด ประการสำคัญมีชื่อเป็นมลคล เชื่อกันว่าปลูกแล้วจะช่วยพยุงให้โชคดีมีชัยเสมอ
ด้านสมุนไพร สรรพคุณ
ราก แก้ไข้พิษ
เปลือกต้น เปลือกต้มเอาน้ำอมแก้ปากเปื่อย