http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม14,002,743
Page Views16,311,573
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ประเพณี

ประเพณี

                              

                              ประเพณี"ตักบาตรเทโวโรหนะ  ชมงาช้างป่า และแข่งเรือยาว"
                                                         อุทัยธานี  
                                                                                                            โดยมณี บันลือ

               ทุกปี ทุกวัด ในพุทธศาสนาร่วมกับพุทธศาสนิกชน จัดงานประเพณี "ตักบาตรเทโวโรหนะ" ในวันออกพรรษาแล้ว มีวัดที่ได้รับความนิยมมากด้วยลักษณะภูมิประเทศของวัดเป็นภูเขาสูง มีมณฑปสวยงามมากประดิษฐานอยู่บนยอดเขาสะแกกรัง บันไดนาคทอดยาวลงมาถึง 460 ขั้น รายรอบไปด้วยสีเขียวขจีของไม้ป่านานาพันธุ์ สวยซึ้งเมื่อยามที่พระสงฆ์เดินลงมาดุจว่าจากสวรรค์ชั้นฟ้า ภาพที่เผยแพร่และสื่อความหมายได้ตรงใจชาวพุทธ ประกอบกับวัดนี้อยู่ที่จังหวัดอุทัยธานี ไม่ใกล้ไม่ไกล ไปมาสะดวกมาก ค่าใช้จ่ายไม่แพง  ปีหน้า ถ้าคิดจะไปตักบาตรเทโวรหนะแล้วละก้อ ลองไปที่ วัดสังกัสรัตนคีรี ดูสักครั้ง วัดนี้ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง หาง่ายครับ  

          
                                                  พุทธบริษัทจากทั่วหล้าฟ้าเขียว

                ปีนี้สื่อกลุ่มคุณไตรเทพ ไกรงู นสพ.คมชัดลึก และ น.พ.สุวิทย์ เกียรติเสวี นสพ.เดลินิวส์ ได้รับเชิญจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี และทีมนักพากษ์การแข่งขันเรือยาว อาจารย์ ขวัญทอง สอนศิริ ให้ไปช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ งานประเพณีตักบาตรเทโวโรหนะ วัดสังกัสรัตนคีรี พร้อมกับไปชม "งาช้าง" ที่ชาวอุทัยธานีได้รับมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ และชมการแข่งขันเรือยาวที่หน้าศาลากลางจังหวัด ถึง 2 วันติดกัน ดังนั้น การไปเที่ยวทำบุญคราวนี้ จึงสาสมใจยิ่งนัก 

           
                                                        จัดระบบเวียนตักบาตรเทโว

                ด้วยตำนานการตักบาตรเทโวโรหนะสืบสานมาจากเมื่อครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าตรัสรู้ อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วได้เสด็จไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในแว่นแคว้นต่างๆ ทั่วชมพูทวีป แม้แต่ทรงเทศนาโปรดพระพุทธบิดา และพระประยูรญาติทั้งหลาย ให้บรรลุมรรคผลตามสมควรแก่อุปนิสัยของแต่ละคน แล้วพระองค์ได้ทรงรำลึกถึง พระนางสิริมหามายา ซึ่งได้สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่พระองค์ประสูติได้ 7 วัน 

                                               
                                                          พระพุทธรูปปางเปิดโลก

                ทรงดำริที่จะสนองคุณพระพุทธมารดา ดังนั้น จึงได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฏกโปรดพระพุทธมารดาอยู่หนึ่งพรรษา ครั้นวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 หรือหลังวันออกพรรษา 1 วัน พระองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มาประทับที่เมืองสังกัสสะ ประชาชนต่างพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อทำบุญตักบาตรกันอย่างเนื่องแน่น 

                                                                                  

                 ชาวพุทธทั้งหลายไม่สามารถเข้าถึงพระพุทธองค์โดยง่าย จึงได้ใช้ใบมะพร้าวห่อข้าวนึ่ง มีหางยาว จับโยนให้พุทธองค์ได้อย่างแม่นยำ เรียกว่า ข้าวต้มลูกโยน วันออกพรรษามิใช่เพียงพ้นวันเข้าพรรษา(แรม 1 ค่ำ เดือน 8)เท่านั้น หากแต่ยังเป็นวันที่พุทธบริษัทได้เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วทรงโปรดซักถามสารทุกข์สุกดิบแต่ละองค์ จนได้ความว่า มีพระสาวกที่เข้าพรรษาร่วมกันแต่เกิดผิดพ้องหมองใจกัน และตัดสินใจไม่พูดจาเสวนากัน นิ่งดุจวัวควายสัตว์เดรัจฉาน 

                                          

                 พระพุทธองค์จึงทรงโปรดพิจารณาให้ว่า ถ้าประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นก็เป็นเหมือนวัวควายไร้สติสัมปชัญญะ พระพุทธองค์จึงทรงโปรดให้หลังวันออกพรรษา 1 วันเป็นวันปะวารณา พระสงฆ์สามารถว่ากล่าวตักเตือน สอนสั่งและเสนอแนะ ซึ่งกันและกันได้ด้วยเมตตาจิต ยึดมั่นในสิ่งที่เหมาะที่ควร เพื่อช่วยกันปรับทิศทางการปฏิบัติให้คงเส้นคงวายิ่งขึ้น ตัดทอนความขุ่นข้องหมองใจซึ่งกันและกัน แหม วันนี้จึงน่าจะเป็นวันที่พี่น้องเราชาวพุทธได้โปรดเมตตา อภัยให้แก่กันและกัน ที่ผิดพ้องหมองใจก็ให้ส่างซาลงไปด้วยเมตตา

                                          

                 วันออกพรรษาปีนี้ แรม 1 ค่ำเดือน 11 ตรงกับวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม 2552 ผมพร้อมคณะจึงได้เดินทางไปชมงานประเพณีตักบาตรเทโวโรหนะ ณ วัดสังกัสรัตนคีรี ซึ่งทั้งบริเวณเชิงเขาสะแกกรัง ที่คราคร่ำไปด้วยหญิงชายใจใฝ่บุญกุศล มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่  มีทั้งวัยหนุ่มสาวและวัยแก่เฒ่าถือไม้เท้าก็ยังมา ต่างมีของเตรียมมาตักรบาตรมากมายก่ายกอง ทางวัดตั้งโต๊ะเรียงรายไว้เป็นสายๆ ประทับธงทิวสีสันสวยงาม ทอดยาวย้วยไปทั่วบริเวณ  ส่วนพวกสื่อมวลชนมากหน้าหลายตาต่างตั้งท่าจับจองที่ตั้งกล้องในมุมที่คาดว่าจะได้ภาพสวยงามเมื่อคราพระเดินลงจากดาวดึงส์ กลุ่มนางฟ้าเรียงรายด้วยชุดสีชมพูสวยหวานเจี๊ยบ


            

                   ครั้นได้ฤกษ์ผานาที หลวงพ่อประกาศธรรมสังสรรค์ พระสงฆ์องค์เจ้าที่ได้รับนิมนต์มาจากทุกวัดในจังหวัดอุทัยธานีก็เดินตามขบวนเสด็จของพุทธมารดา เรียงร้อยกันลงมาทีละองค์อย่างสวยงามยิ่ง เสียงชัตเตอร์กดกันระวิง บ้างก็โยกหลบผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา บ้างก็ตั้งกล้องนิ่งอยู่กับที่ ได้ภาพดีๆ มากมายนำกลับไปเผยแพร่ยังสื่อของใครของมัน เป็นอานิสงค์อย่างหนึ่งที่ช่วยให้การเผยแพร่พระพุทธศาสนาแผ่กระจายขยายได้รวดเร็วและว่องไว ถ้าเป็นสื่ออิเลคทรอนิคละก้อ ไปไกลสุดหล้าฟ้าดินเชียว เดี๋ยวจะหาว่าคุย 


                                          
                                                   กระเจียวฉัตรทองลูกผสมบานช่วงนี้

                   พุทธศาสนิกชนคนไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันทำบุญครั้งนี้ ล้วนแต่มาและตั้งใจตักบาตรเทโวด้วยใจและปัจจัยอย่างมิต้องสงสัย แม้ว่าเมื่อใส่บาตรไปแล้ว เหล่าบรรดาศิษย์วัดจะจับ ยัด โยน กด รวบ พุทธปัจจัยไทยทานอย่างไม่ปราณีปราศัย จนข้าวของยับย่นปะปนกันเละเทะก็ตาม เป็นภาพที่ทำลายความรู้สึกดีๆไปเยอะมาก เพราะว่าดอกไม้ ปัจจัยไทยทานอุตสาห์ทำ ซื้อ บรรจงห่อ มาอย่างสวยงาม กลับแหลกเละในพริบตาที่ผ่านบาตรพระสงฆ์ ไปลงในกระสอบบนรถกระบะอย่างน่าสลดใจ 


         

                    ออกจากวัด พวกเรานั่งสามล้อเครื่องรับจ้างไปยังตลาดเมืองอุทัยธานี เต้นท์สีสันสวยงามขึงไว้กลางวงเวียน รายรอบด้วยร้านรวงที่ประดับดอกไม้สวยงามเทียบเคียงด้วยงาช้างตั้งตระหง่านอยู่หลายสิบร้านค้า ล้วนแต่บรรจงตกแต่งอย่างยิ่งใหญ่และสวยงาม เป็นเครื่องบูชาเมื่อขบวนพระสงฆ์ที่เดินลงจากดาวดึงส์จะผ่านเข้ามาให้พุทธศาสนิกชนคนตลาดทำบุญตักบาตรอีกครั้ง ประชาชนหลากทิศเดินชมงาช้างและถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก ตำรวจยืนประจำตามร้านรวงที่ประดิษฐานงาช้างไว้อย่างระแวดระวัง 

           

                    "มันเคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งเมื่อปีแรกที่เอางาช้างออกมาตั้งเป็นเครื่องบูชาวันตักรบาตรเทโว งาคู่ที่ยาวใหญ่ที่สุดหายไป และตั้งแต่นั้นมาก็ต้องเตรียมพร้อมครับ" ดาบตำรวจนายหนึ่งเล่าให้ฟัง 
                    "ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่เคยหายอีกเลย" ดาบตำรวจคนเดิมกล่าว ปัดโธ่ ก็ทั้งตำรวจและเจ้าของงาช้างนั่งเฝ้ากันขนาดตาไม่กระพริบ ใครจะหาญ 

         

                    ร้านกิตติพานิช ตั้งงาช้างเก่าแก่ไว้  3 คู่  เจ้าของงาชื่อ นางชุมเรียง สุพรรณกุล  (เสียชีวิตแล้ว) มีอาชีพทำไม้ในสมัยก่อน ได้มาจากช้างงานตาย งาจึงยาวสุดโคน ไม่มีรอยตัด  ส่วนโค้วโต๊ะฮุยมอเตอร์ ตั้งอวดไว้ 7 คู่ ร้านทองอาจารย์มงคล อวดไว้ 3 คู่  ร้านย่งเฮง โชว์ไว้ 6 คู่ ธนาคารกรุงไทย 4 คู่ ฯลฯ แต่ก็ไม่สามารถเดินนับได้ส่าทั่วจังหวัดวันนี้มีตั้งอวดกันไว้กี่คู่ ขนาดงาเล็กที่สุดเท่าไร ใหญ่ที่สุดเท่าไร ไม่มีใครรวบรวมไว้ให้เพื่อการเผยแพร่เลยครับ น่าเสียดายจริงๆ โดยเฉพาะเรื่องราวการได้มาของแต่ละร้านแต่ละเจ้าของ 
                    แต่อย่างไรก็ตาม งาช้างบ่งชี้ได้ว่า อุทัยธานีมีป่าดงมากมายจนช้างแทบจะเหยียบกันตาย มีทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าหนาแน่น ขนาดว่าแค่ที่เหลืออยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งก็สุดพรรณาแล้วครับ เพียงชั่วขับรถเข้าไปพักค้างในบ้านพัก ระหว่างทางยังปรากฎกายให้เห็นมากมายหลายชนิดสัตว์ป่า กวางป่าเอย สุนัขจิ้งจอกเอย นกหัวขวาน กระจง ฯลฯ เพียบ น่าไปส่องดูจริงๆเล้ย 

                                        

                    พอสิ้นสุดการชมงาช้างสะสมของผู้คนในเมืองอุทัยธานี ผมและคณะก็เดินทางต่อไปยังหน้าศาลากลางจังหวัด ริมฝั่งแม่น้ำสะแกกรัง ชมและฟังการแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน พระเทพรัตนราชสุดา ได้พบกับอาจารย์ขวัญทอง สอนศิริ หัวหน้ากลุ่มนักพากษ์การแข่งขันเรือยาว 5-6 คน เสียงรัวระวิงของนักพากษ์บอกเวลาจ้ำเอาๆ ของฝีพายที่กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้เส้นชัยเพียงใด ก็ยิ่งเร้าใจให้ได้หันไปมองด้วยความมันสะใจ ผมซูมกล้องจนเห็นมัดกล้ามของฝีพายที่เกร็งเขม็งด้วยกลีบกล้าม กำลังจ้ำเอาๆ ถี่ยิบ ตาแทบไม่กระพริบ

                                                     


                    เสียงนักพากษ์ผ่อนคลายลงอย่างทันใดที่เรือลำหนึ่งพุ่งเข้าสู่เส้นชัย นักพากษ์ยังเป็นกลเม็ดเด็ดพรายในการเพิ่มสีสันวันแข่งเรือยาวมากมายมหาศาล สอดแทรกเรื่องเล่าขำขันและประวัติศาสตร์ของเรือแต่ละลำ วัดผู้เป็นเจ้าของเรือแต่ละลำ และบรรยายนิทานธรรมสอดแทรกทุกระยะ อันเป็นเทคนิก ไหวพริบ ปฏิพานที่เหล่านักพากษ์จะหยิบจับมาแปรรูปไปสู่สาธารณะชนอย่างเข้มข้น หรือหวานหยดย้อย หรือขำกลิ้งเยี่ยวแทบราด 
                                                                                               
                                    

                    "เรือที่เข้ามาร่วมแข่งครั้งนี้ก็มี เรืออัครนาวา กองทัพบก เจ้าแม่ประดู่ทอง กองทัพเรือ เทพหทัยยุทธ สระบุรี เทพนรสิงห์ สระบุรี พญาชาละวัน พิจิตร โอย มากมายเหลือกำลัง แต่ละลำ แต่ละฝีพาย วันนี้สู้กันดิ้นตายไปข้างหนึ่ง พี่น้องชาวอุทัยธานีครับ งานตักบาตรเทโวโรหนะ งานชมงาช้างป่าและแข่งเรือยาวปีนี้ ทำให้โรงแรม รีสอร์ท เต็มไปทุกห้อง ร้านอาหารภัตาคารเริงร่า ขายดิบขายดี ปีหนึ่งมีครั้งเดียวเที่ยวอุทัยธานี เหมือนยิงนกโป้งเดียวได้นกตั้งสามตัว ไม่มีที่นี่จะไปที่ไหนได้เรื่องได้ราวอย่างอุทัยธานีศรีแมนสรวงครับ" 
เสียงแหบพร่าของนักพากษ์ที่พร่ำพรรณนาอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ออดอ้อน โอดครวญ และห้าวหาญยามเรือกำลังประชันขันแข่ง นี่คืออีกสีสันหนึ่งของการพากษ์เรือแข่ง

                                       

                     "พ่อแม่พี่น้องครับ โบราณว่า แข่งเรือแข่งพายพอแข่ง แต่แข่งบุญแข่งวาสนามันยาก มันอยู่ที่วาสนาใครวาสนามัน เป็นสัจจธรรมที่พิสูจน์กันมานักต่อนักแล้ว เราเป็นคนเดินดินกินข้าวแกง ทำนาทำไร่ ก็มีความสุขตามอรรถภาพของเรา จะไปแข่งสุขแข่งสะบายอย่างกับขุนน้ำเจ้าพระยาก็คงยาก ความสุขจึงอยู่ที่ใจตนเอง เรากำหนดให้ที่พอเพียง ไม่โลภโมโทสัน ไม่อวดเก่งอวดศักดา ก็อยู่กันไปตามประสาคนบ้านนอกคอกนา ก็มีความสุขได้ มีลูกก็สอนลูกให้เรียนดีๆ ทำงานก็ทำดีๆ จะสูงจะต่ำต้อยน้อยหน้าก็ถือสุจริตเป็นที่ตั้งนะครับ"
                     อีกบทที่สอนให้เรียนรู้ธรรมปฏิบัติเฉกเช่น "คน"  ผู้รู้ความพอเพียง เงินบางครั้งก็ไม่ใช่เครื่องชี้วัดแห่งความสุขเสมอไป เงินหลายครั้งก็นำมาซึ่งความทุกข์ระทมขมใจ ยื้อแย่งกันสักเพียงไหน ก็หามีความสุขไม่ วันนี้วันดี วันปะวารณาสัจจธรรมแห่งสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงโปรดให้ 
                      "ทุกคนตักเตือน ให้ข้อคิด สะกิดเตือนกันได้ด้วยเมตากรุณา และจิตใจที่บริสุทธิ์ผุดผ่องด้วยความหวังดีต่อกันและกัน"
                      อภัย เมตตา กรุณา อุเบกขา มหากุศลครับ
                   


 

 

Tags : Tradition

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view