กุหลาบแดง
ชื่อพื้นเมือง กุหลาบแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhododendron simsii Planch.
ชื่อวงศ์ ERICACEAE
สถานภาพ พืชหายาก
นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์
ในประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือของไทย ชอบขึ้นเป็นกลุ่ม ๆ บนภูเขาหินทราย ใกล้ลำธารชายป่าดิบเขา ที่ระดับความสูง 1,000-1,600 เมตร ชอบขึ้นริมลำธาร
ในต่างประเทศ พบที่ตอนเหนือของลาว จนตอนใต้ และตอนเหนือของเวียดนาม
ลักษณะทั่วไป
ต้นไม้ ไม้พุ่ม สูง 1-3 เมตร ลำต้นและกิ่ง มีขนสีน้ำตาลแดง เปลือกนอกสีน้ำตาลแดง
ใบ ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่ง แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง รูปไข่กลับ หรือรูปมนแกมรูปไข่กลับ ยาว 3-5 ซม. กว้าง 1.4-2.5 ซม. ปลายใบแหลมเป็นติ่งสั้น ๆ ขอบใบเรียบ หลังใบเกลี้ยง ท้องใบมีขนนุ่ม ก้านใบยาว 4 มม.
ดอก สีแดงอมส้ม มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงขนาดเล็ก โคนเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก มีขนสีขาวหรือสีแดง กลีบดอก 5 กลีบ เชื่อมกันคล้ายรูปแตร ภายในมีจุดประสีแดงเข้ม ปลายแยก เป็นแฉกมน ๆ กลีบดอกบาง ออกดอกเกือบตลอดปี มีมากในเดือน ม.ค.-เม.ย.
ผล ผลรูปไข่ มีขนสีน้ำตาลแดง ขนาด 1-1.5 ซม. เมื่อแก่แตกได้ 5 แฉก เมล็ดจำนวนมาก ขนาดเล็ก มีปีกบางปลิดไปตามลมได้ดี
ระยะเวลาการออกดอกและเป็นผล
ออกดอก ม.ค.-เม.ย.
การขยายพันธุ์
เพาะกล้าจากเมล็ด
การใช้ประโยชน์
ด้านเป็นไม้ประดับ ในฝืนป่าอนุรักษ์ทั้งประเภทอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า บนที่สูง มักมีกุหลาบแดง และกุหลาบขาวขึ้นอยู่ การโยกย้ายกลุ่มไม้ดอกสวยดังกล่าวมาปลูกในเขตในเขตบริการหรือเขตพัฒนาที่พัก ร้านอาหาร ไม่ใช่เรื่องผิดหลักการจัดการ หากแต่ใช้การจัดการให้เกิดผลต่อความตราตรึงใจได้ ในส่วนที่ผู้บริหารหลายคนหลงประเด็นว่าเขตบริการจะเอาไม้ดอกหนาวหรือไม้ต่างถิ่นเข้าไปปลูกประดับให้สวยงาม จึงเป็นเรื่องที่พึงระวัง มิเช่นนั้นจะผิดหลักการจัดการอุทยานแห่งชาติสากล
ด้านสมุนไพร สรรพคุณ
ยังไม่มีรายงานการวิจัย