http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม14,011,485
Page Views16,320,711
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

คึดฮอด....เมืองลาว ตอน 3 ออนซอนวง บ้านดงกะโลง โดย เอื้อยนาง

คึดฮอด....เมืองลาว ตอน 3  ออนซอนวง บ้านดงกะโลง   โดย เอื้อยนาง

ออนซอนวงฟ้อน  บ้านดงกะโลง

เมืองปากเซ  แขวงจำปาศักดิ์

เอื้อยนาง

            พระพุทธศาสนาเป็นสื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างคนบนสองฝั่งโขงมานานหลายศตวรรษ  พระพุทธรูปที่สำคัญ ๆ หลายองค์  หลายยุคถูกอัญเชิญข้ามไปข้ามมาสองฝั่งโขงหลายสมัย  เช่น  พระแก้วบุษราคัม  ที่วัดศรีอุบลรัตนาราม  ในเมืองอุบลราชธานี  อันเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์  และลูกหลานชาวอุบลได้อัญเชิญออกมาแห่รอบเมืองในเทศกาลสงกรานต์ของทุกปีนั้น  บรรพบุรุษอุบลราชธานีก็อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์  หรืออย่างพระแก้วมรกตที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  เราก็อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์  และยังมีอีกหลายองค์ในประวัติศาสตร์สองชาติฝั่งโขง  เช่น  พระบาง  พระสุก  พระใส  พระเสริม  พระโรจน์  พระแก้วผลึก  พระเจ้าองค์ตื้อ  ที่มีประวัติ  ตำนาน  การอัญเชิญ  แห่แหนข้ามไปข้ามมาสองฝั่งโขง

                                    
           
และครานี้  ผู้เขียนก็มีโอกาสไปทอดผ้าป่าสามัคคีจากวารินชำราบ  ไปสู่บ้านดงกะโลง  เมืองปากเซ

            พระพุทธรูปองค์โต ๒ องค์ถูกบรรทุกบนรถ ๖ ล้อไปส่งที่ด่านช่องเม็ก  แล้วมีรถจากบ้านดงกะโลงมารับต่ออีกช่วงหนึ่ง  ส่วนชาวคณะญาติโยมให้พาหนะรถตู้ รถปิกอัพพาตามกันไป

            ออกเดินทางจากวารินชำราบ  อุบลราชธานีตั้งแต่เช้าตรู่  ถึงด่านช่องเม็กมีญาติพี่น้องชาวบ้านดงกะโลงมารอรับ  กว่าจะทำเรื่องผ่านแดนได้ก็เกือบเที่ยงจึงได้ออกจากช่องเม็ก  มุ่งหน้าไปข้ามโขงสู่เมืองปากเซ  โดยนำรถลงแพขนานยนต์ที่บ้านห้วยเพ็ก(ช่วงนั้นยังไม่มีสะพานข้ามโขง)

ผ่านเมืองปากเซเลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางหมายเลข ๑๓ ที่มุ่งไปสะหวันนะเขต  ราว ๘  กิโลเมตรก็ถึงบ้านดงกะโลง
                                   
           
บ้านดงกะโลงเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ เช่นเดียวกับวัดที่มีสิ่งปลูกสร้างน้อยมาก  ศาลาโรงธรรมที่อัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานก็เป็นอาคารชั้นเดียวหลังเล็ก ๆ รูปแบบศิลปะลาวทั่วไป  ทำให้ชาวคณะศรัทธาที่เดินทางข้ามฝั่งโขงมาแสนไกลรู้สึกปลาบปลื้มอิ่มอกอิ่มใจอิ่มบุญกันถ้วนหน้าที่ได้มาทำบุญแหล่งขาดแคลนจริง ๆ

            ก้าวแรกที่เข้าสู่ดงกะโลงเราถึงขนาดขนลุกด้วยความเขินเลยเชียว  เพราะมีแถวสาว ๆ แต่งตัวสวย ๆ มานั่งยอง ๆ เป็นแถวยาวเหยียดจากหมู่บ้านถึงประตูวัด  คอยต้อนรับชาวคณะผ้าป่าจากฝั่งไทย  ในมือทุกสาวมีพานดอกไม้สีแดงเจิดจ้ายกขึ้นจรดหน้าผากแสดงความเคารพสุดซึ้ง  แถวหลัง ๆ ถัดไปเป็นแถวของเด็ก ๆ  ยืนกำดอกไม้เต็มกำมือ   ทุกคนมีใบหน้าประดับด้วยรอยยิ้มอิ่มสุข  ปรีดิ์เปรม  ครั้นรถคันแรกเลี้ยวซ้ายเข้าไปถึงทุกคนก็นั่งลงยองย่อยอมือขึ้นจรดหน้าผาก  อย่างนอบน้อมสูงสุด

                         
         
ถึงวัดแล้ว  ชาวดงกะโลงได้แสดงออกถึงความดีอกดีใจในศรัทธาคณะนี้ด้วยการต้อนรับอย่างอบอุ่นด้วยข้าวปลาอาหาร  และพิธีสู่ขวัญ ผูกข้อต่อแขน  อวยชัยให้พรสมกับที่เป็นบ้านพี่เมืองน้องที่ประเพณี  วัฒนธรรมแทบไม่แตกต่างกันเลยในหลายด้าน  นอกจากด้านวัตถุและความสะดวกสบายเท่านั้นที่พี่น้องฝั่งขวารุดหน้าไปกว่ามากมาย

            ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวดงกะโลงเห็นหนุ่มเจิ้นลูกชายคนโตของผู้เขียนก็แสดงความรักใคร่เอ็นดูด้วยการผูกเสี่ยวให้กับหนุ่มเจตชาวบ้านดงกะโลงที่มีอายุใกล้เคียงกัน  และมีหน้าตาคล้ายกัน  ก็เป็นปลื้มกันทั้งสองเสี่ยว  และชาวคณะทั้งสองฝ่ายล่ะค่ะ 

            เสร็จพิธีการสู่ขวัญต้อนรับแล้วชาวคณะศรัทธาจากเมืองวารินถิ่นน้ำแซบจึงได้พักผ่อนนอาบน้ำ  อาบท่า  ผู้เขียนจึงได้มีโอกาสเดินเที่ยวในหมู่บ้านตามประสานักสอดรู้สอดเห็น  เก็บบภาพถ่ายและแสวงหาข้อมูล แง่มุมละ   ตกเย็นจึงได้กลับสู่วัดอีก  เป็นเวลาฉลองผ้าป่าพอดี  บนศาลามีการสวดมนตร์ไหว้พระ  ขณะที่ลานอันกว้างใหญ่ใต้ต้นไม้ใกล้ศาลามีการตั้งเวที  ตั้งโต๊ะอาหาร  และมีร้านค้าร้านขายเรียงราย

            เหล่าสาว ๆ ที่มาเข้าแถวต้อนรับอยู่เป็นทิวแถวแต่แรกมาถึงนั้น  ตกกลางคืนมาแปลงกายเป็นนางสาว (นางฟ้อน)  ใน  วงฟ้อน  ซึ่งเป็นมหรสพคบงันฉลองผ้าป่าจากฝั่งไทยในครานี้

                                 
        
วงฟ้อนนี้คงจะมีเป็นประจำยามมีงานวัด  สังเกตจากพื้นเวทีที่เทคอนกรีตเป็นรูปวงกลมรัศมีประมาณ ๑๐
๑๕ เมตร ไว้อย่างถาวร

            วงฟ้อน  ก็คือวงรำวงนั่นเอง  ต่างแต่ว่า  วงฟ้อนที่บ้านดงกะโลงนี้  ข้างเวทีจัดโต๊ะ เก้าอี้ และร้านขายเครื่องดื่ม เหล้า เบียร์ ไว้บริการนางสาว  และแขกทั้งหลายคือลูกค้าให้นั่งดื่มกินกันได้ทั้งคืน

            แม้นว่า  บ้านดงกะโลงจะเป็นเพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ แต่แขกที่มาเที่ยววงฟ้อนกลับกลับมีมากมายจนโต๊ะไม่ว่าง  เบียร์  (เขียนข้างขวดอ่านเป็นไทยได้ว่า เขยลาว)  หลายสิบลังขายหมดแต่หัวค่ำ  ต้องไปขนมาจากเมืองปากเซอีกเต็มคันรถปิกอัพ  คนลาวนั้นดื่มเบียร์เก่งทั้งหญิงและชาย  ทำให้วงฟ้อนยืดเยื้อจนซอดแจ้ง(สว่าง)  ดวงตะวันโผล่พ้นภูบาเจียง  ภูมะโลง  ภูเขาแห่งตำนานที่ขวางทะมึนอยู่ทางด้านทิศตะวันออกนั่นแล้วจึงได้เลิกรากลับบ้านกัน                                                                                                                      
               
วงดนตรีที่ใช้ประกอบวงฟ้อน  เป็นวงดนตรีสากลจากเมืองปากเซ  นักร้องส่วนหนึ่งนั้นมาจากห้องอาหาร
สุขสบาย  ในเมืองปากเซ เช่นกัน  ดนตรีเริ่มบรรเลงเสียงก้องฟ้าตั้งแต่หัวค่ำ  ถึงแม้ขณะที่บนศาลาจะมีการสวดมนตร์ไหว้พระ  เสียงดนตรีก็ยังดังกลบไม่ยอมลดรา  ผู้เขียนเห็นผู้เฒ่าบางคนออกจะหงุดหงิดว่าน่าจะให้เสร็จพิธีก่อนซึ่งคงไม่เกิน ๒ ทุ่ม จึงวานเด็ก ๆ ให้ไปบอกเขาให้ลดเสียงลงหน่อย  พระกำลังสวดมนตร์  ไม่นานเด็กก็กลับมาบอกว่า
                           
                     
ลดบ่ได้  ย่านแขกบ่มา...ฮ่วย

นั่นเป็นเพราะแขกของวงฟ้อนไม่จำเพาะอยู่แต่ในหมู่บ้านนี้เท่านั้น  เสียงดนตรีนี้จะตามไปฮ้องเฮียกเอิ้นเติน(ร้องเรียกกวาดต้อน)เอาหนุ่ม ๆ แก่ ๆ จากหมู่บ้านอื่นที่อยู่ไกลออกไปทุกทิศทาง  ไกลออกไปจนถึงเมืองปากเซซึ่งอยู่ห่างออกไป ๘  กิโลเมตรเชียว  ซึ่งก็ได้ผลตามนั้นแหละ  ในท่ามกลางความเงียบของยามค่ำคืน     เสียงดนตรีจะดังแทรกซอนไปเรียกผู้ได้ยินเดินทางมาจนล้นหลาม  คลาคร่ำลานวัด

            วงฟ้อน  นั้นสมชื่อว่าเป็นวงฟ้อนจริง ๆ  เพราะไม่ว่าดนตรีจะเล่นเพลงอะไร  เพลงไทย  เพลงลาว  เพลงฝรั่งด้วยจังหวะอะไร ๆ ก็ช่าง  ผู้ฟ้อนก็ฟ้อนลูกเดียวทั้งหลายและหญิง  สาวลาวทุกคนฟ้อนสไตล์เดียวกันหมด คือ  ขยับเพียงมือส่ายไปมาขวาซ้าย  กับขาที่ก้าวเนิบ ๆ ไปรอบเวที  หนุ่มไทยที่ไปกับคณะ  โดยเฉพาะคุณเจิ้นถึงกับมือหดตีนหดเมื่อถูกเชิญชวนให้ออกไปฟ้อนด้วย  เพราะเคยแต่เต้นแบบกระยึกกระยือเป็นกิ้งกือถูกแดด

            ทุกรอบจะฟ้อนไปเรื่อย ๆ เพียงเพลงเดียว  แม้ผู้ฟ้อนกำลังมันขนาดไหน เมื่อจบเพลงก็ต้องหยุดและกลับที่นั่ง  แล้วจะเริ่มรอบใหม่ต่อเมื่อมีแขกหนุ่ม ๆ (หรือไม่หนุ่ม) ให้เกียรติ์เปิดเวทีอีกโดยการซื้อบัตร (เงินค่าบัตรนี้หักส่วนหนึ่งเป็นค่าวงดนตรี ที่เหลือเข้าวัด)

            ผู้ซื้อบัตรแต่ละรอบจะแจ้งเจตนาของตนว่าต้องการออกฟ้อนกับนางฟ้อนใด  แล้วจะมีการเชิญนางฟ้อนนั้น  พร้อมเพื่อนอีกสองคน  รวมเป็นสามนางไปยืนเรียงแถวที่หน้าเวที  หนุ่มผู้ซื้อบัตรพร้อมเพื่อนอีกสองก็ไปโค้งอย่างสุภาพ แล้วฟ้อนเคียงกันไปรอบเวที  คนอื่น ๆ คู่อื่นๆจึงออกไปฟ้อนด้วย  นางสาวดาวเด่นบางคนถูกเรียกชื่อเกือบทุกรอบแทบไม่ได้นั่งเลย  ส่วนคนอื่นๆ ที่คอยตามก็แทบไม่ได้นั่งเช่นกันนั่นแหละ  หนุ่มบางคนฟ้อนอยู่ทั้งคืนไม่เคยควักเงินกีบซื้อตั๋วเลยก็มี

            วงดนตรีจึงเล่นแบบ เล่นหนึ่งเพลงแล้วพัก  สลับกับการพูดป่าวร้องของโฆษก  ซึ่งจะกล่าวเกริ่นถึงหนุ่มผู้ให้เกียรติเปิดวงฟ้อนแต่ละรอบว่าเป็นใคร มาจากไหน บอกชื่อ  บอกตำแหน่ง หน้าที่การงาน พร้อมสรรเสริญยาวเฟื้อย  พร้อมนั้นก็เชิญพี่น้องป้องปลายทั้งหลายแหล่  ทั้งแม่หญิง  พ่อชาย  ผู้กำลังหลับใหลอยู่ในบ้าน  ให้ออกมาร่วมฟ้อนต้อนรับผ้าป่าจากพี่น้องฝั่งไทยด้วยกัน....เด้อ...ว่าไปยืดยาว  กว่าจะได้ฟ้อนแต่ละรอบแทบหลับก่อน  ผู้เขียนเองดื่มเบียร์ลาวไปจอกเดียว(จอกพลาสติกเล็ก ๆ สีสดใส) ก็ออกอาการเซแล้ว  ต้องขึ้นไปนอนบนศาลา  ตื่นขึ้นมาอีกทีตอนตีสี่  เสียงดนตรี  เสียงโฆษกยังป่าวร้องก้องดัง  ต้องลุกขึ้นมาร่วมวงทั้งร้องเพลงทั้งฟ้อนจนสว่างคาตาเรียกว่าออนซอนแท้ ๆ
                             

            ที่ออนซอนหลายก็คือ  แม้วงฟ้อนจะทำการบรรเลงอยู่ทั้งคืนจอดแจ้ง  เหล้าเบียร์ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า  เขาก็เดินฟ้อนเรื่อย ๆ อยู่แบบนั้นทั้งคืน   ได้เวลาพูด  ผู้พูดก็พูดไป  ผู้เล่นนดนตรีก็เล่นไป  หามีใครทำเรื่องราวตีรันฟันแรงแย่งนางสาวฟ้อน  หรืออวดศักดาหน้าเวที  เหมือนวงหมอลำซิ่งบ้านเราแต่ประการใดไม่...ฮ่วย

            ออนซอนหลายเด้ค่ะ...

 

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view