http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,960,898
Page Views16,267,248
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ปราสาทเมืองต่ำ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

ปราสาทเมืองต่ำ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

ปราสาทเมืองต่ำ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์

โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

               ผมชอบไปเที่ยวชมปราสาทพนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์มาก ไปมาหลายครั้งก็ไม่เบื่อ ด้วยว่ามนต์เสน่ห์ของศิลปะการแกะสลักเสลาหินทรายและความยิ่งใหญ่อลังการของปราสาท ได้สลักปักใจผมจนติดหนึบ ไปครั้งใดผมก็เลยไปเที่ยวที่ปราสาทเมืองต่ำ บ้านโคกเมือง อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ด้วยทุกครั้ง เว้นแต่มีเวลาและโอกาสน้อย

             อ้อ สันนิษฐานกันว่า ปราสาทเมืองต่ำสร้างราวๆศตวรรษที่ 16-17 ตามคติศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย จุดเด่นคือปราสาทก่อิฐ 5 องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน มีกำแพงแก้วและระเบียงคดล้อมสองชั้น

ศูนย์บริการและป้ายหน้าทางเข้าปราสาท

              เพื่อนสื่อมวลชนที่นับถือคนหนึ่งชวนไปจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านใต้ 4 จังหวัด แล้วก็แถมพาผมไปท่องเที่ยวปราสาทเมืองต่ำ แม้ว่าเวลาจะใกล้ค่ำแล้วก็ตาม แต่ด้วยวิสัยของสื่อมวลชนและตากล้องระดับมือโปร เขากล่าวว่า ถ่ายได้ กล้องดิจิตอลใช้แสงน้อย ประการสำคัญใช้ขาตั้งกล้องจะช่วยให้การถ่ายด้วยสปีด(ความเร็ว)ต่ำได้ดี แม้ไม่เด่นเท่าแสงพอดีก็ใกล้เคียง เอากับพ่อซิ !!

บารายนอกปราสาทและป่าไม้ต้นใหญ่ๆหน้าทางเข้า

              เมื่อถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของอุทยานประวัติศาสตร์ ปราสาทเมืองต่ำ ได้แว้บไปถ่ายรูปบารายนอกปราสาทไว้ด้วย เพราะว่าตามหลักการก่อสร้างปราสาทของขอมนั้น สิ่งแรกที่ต้องสร้างคือชุมชนคนทำงานและบารายเพื่อเก็บน้ำไว้เพาะปลูกและใช้สอย ซึ่งจะช่วยให้คนทำงานอยู่อาศัยได้ด้วยความบริบูรณ์ มีน้ำกินน้ำใช้ในครัวเรือน มีน้ำทำนา มีน้ำก็มีปลา กุ้งหอย และพืชผัก

กำแพงแก้วด้านหน้าปราสาทและระเบียงแก้วชั้นสอง

              บารายนอกปราสาทขนาดใหญ่นี้กว้าง 500 เมตรยาว 1,090 เมตร  ความลึก 3-4 เมตร หัว(เหนือ)ท้าย(ใต้)มีศิลาแลงทำขั้นบันไดลงในสระ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือและเฉียงใต้มีสะพานขอมรองรับน้ำออกไปยังพื้นที่เกษตรกรรมทำนา นี่คือความฉลาดหลักแหลมของคนขอมโบราณ มีการกำหนดหลักการ กำหนดแผนการปฏิบัติ การบริหารทรัพยากรจากแหล่งธรรมชาติและมนุษย์ ไม่ธรรมดาครับ

ระเบียงคดนี้ถ่ายจากกำแพงแก้วด้านใต้ขวาซ้ายเป็นสระน้ำ

              ปราสาทเมืองต่ำสร้างบนที่ราบต่ำกว่าปราสาทพนมรุ้ง ห่างกันราวๆ 7 กม. มีถนนราดยางเชื่อมต่อการคมนาคมอย่างสะดวก เป็นปราสาทที่ประกอบไปด้วยสิ่งก่อสร้างที่เป็นเอกลักษณ์ที่เหมือนหรือคล้ายๆกับทุกปราสาทขอม  วัสดุที่ใช้ก่อสร้างได้แก่ หินทราย อิฐ และศิลาแลง  ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้าง 6 ส่วนดังนี้คือ

ปราสาท 5 องค์ องค์ประธานพังทะลายแล้ว

               ภาพแรกที่เห็นคือ "กำแพงแก้ว" หรือแนวรั้วที่ก่อสร้างด้วยศิลาแลงเพื่อล้อมปราสาท กว้าง 120 เมตร ยาว 127 เมตร สูง 2.7 เมตร บนสันกำแพงแต่งแต้มให้ดูงดงามด้วย ทับหลังกำแพงหินทราย มีรูเพื่อปัก"บราลี" ทั้งสี่ด้าน แต่ละด้านมีซุ้มประตูหรือ"โคปุระ" ที่ทำด้วยหินทราย มีประตูตรงกับประตูระเบียงคด ประตูเหล่านี้ใช้เป็นทางเข้าออกปราสาท สลักรูปดอกบัว 8 ดอกบนพื้น เพื่อ โชคลาภ  ความเป็นปึกแผ่น และมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน 

มุมนี้เห็นฐานศิลาแลงปรางค์ประธาน

              "บารายหรือสระน้ำ" ภายในอาณาบริเวณปราสาท ขาดไม่ได้เช่นกัน มีอยู่ 4 สระ โดยขุดเป็นรูปหักมุมกับกำแพง ก่อด้วยศิลาแลงเป็นขั้นบันได้ลงไปจนถึงก้นสระ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้สอยในพิธีกรรมต่างๆทางศาสนา รอบขอบสระมีหินทรายสลักเป็น"นาค 5 เศียร"  อีกนัยหนึ่งเสมือนดั่งเป็นมหาสมุทรทั้งสี่ที่รายล้อมเขาพระสุเมรุ  แต่ที่เห็นมีบัวสายปลูกประดับอยู่ด้วย ก็สวยงามดีครับ

บารายในปราสาทและประตูลงสระ

                เมื่อเดินทางไปเที่ยวปราสาทขอม ควรลองเดินตามรอบรั้วไปก่อน 1 รอบ เพื่อจะได้เห็นรูปทรงของปราสาทชั้นนอกสุด หลังจากนั้นก็เดินชั้นที่สอง อันได้แก่ "ระเบียงคด" ซึ่งเป็นรั้วชั้นในที่กว้าง 2 เมตร เพื่อให้สามารถเดินไปได้รอบปราสาท พื้นปูด้วยศิลาแลง มีช่องหน้าต่างที่ประดับด้วย"ลูกมะหวด"ทั้งสี่ด้าน เหมือนเป็นทางเดินตรวจการณ์รักษาความปลอดภัย 

                ระเบียงคดที่ล้อมรอบปราสาทอันเป็นปรางค์ประธานนั้น ตกแต่งและเติมเต็มด้วยโคปุระทั้ง 4 ด้านเช่นเดียวกับซุ้มประตูกำแพงปราสาท มีกรอบประตู มีการสลักลวดลายกรอบประตู มีทับหลังที่มีทั้งของเดิม  บูรณะขึ้นใหม่ และอยู่ในสภาพที่เสื่อมสลายไป ส่วนจะเป็นรูปสลักอะไรบ้างนั้น ค่อยติดตามอ่านต่อไป  เพื่อให้การท่องเที่ยวชมปราสาทสนุกและน่าสนใจ จึงต้องหัดสังเกตและเรียนรู้จากของจริง 

ถ่ายจากระเบียงคดทิศตะวันตก

                 ไฮไลท์ของการท่องเที่ยวชมปราสาทเมืองต่ำอยู่ที่ ปราสาทประธาน 5 องค์ อันเป็นปราสาทสร้างด้วยอิฐ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน แถวหน้า 3 องค์ แถวหลัง 2 องค์ โดยถือเอาองค์กลางแถวหน้าเป็นปราสาทประธาน ตอนนี้มีแต่ฐาน ส่วนองค์ประสาทประธานพังทะลายลงหมดแล้ว ส่วนปราสาททั้ง 5 องค์นั้นมีประตูเข้าได้เพียงด้านเดียวทางทิศตะวันออก ส่วนประตูอื่นๆเป็นประตูหลอก 

ทับหลังของปราสาทองค์ทิศเหนือ พระศิวะและพระอุมาเทวีประทับโคอศุภราช

                องค์ประธานมีมุกหน้าอีกชั้นหนึ่ง มีทับหลังประตูที่สลักภาพเทพถือดอกบัวประทับนั่งเหนือหน้ากาฬแวดล้อมด้วยสตรีเป็นบริวาร หน้าบันสลักพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ 

ภาพเหล่านี้อยู่ตรงไหนหนอ

                 พระปรางค์บริวารอีก 4 องค์รูปทรงยังดีอยู่ แต่ละองค์มีทับหลังสลักเสลาสวยงาม แต่เหลือให้เห็นอยู่เพียง 2 องค์ ได้แก่ องค์ทิศเหนือของแถวหน้าและองค์ทิศใต้แถวหลัง  สลักเป็นภาพพระศิวะอุ้มนางอุมาเทวีไว้บนพระเพลา(ตัก) ประทับนั่งอยู่บนหลังโคนนทีและภาพพระวรุณทรงหงส์ ยอดปรางค์ที่พบเป็นหินทรายสลักรูปดอกบัวตกอยู่ 

                 ปราสาทเมืองต่ำแตกต่างจากปราสาทอื่นๆตรงที่มีปราสาท 5 องค์ เรียวแถวหน้า 3 องค์ แถวหลัง 2 องค์ เป็นมิติเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางชมพูทวีป เป็นศูนย์กลางจักรวาล และเป็นทีสถิตของเหล่าทวยเทพ ตามคติโบราณของขอม  

ภาพสลักสองภาพนี้อยู่ใกล้กัน ตรงไหนเล่า?

                      ด้านหน้าปรางค์ประธาน 5 องค์ มีบรรณาลัยที่เป็นหอสมุดเก็บรักษาคำภีร์หรือตำราทางศาสนาและพิธีกรรมโบราณ โดยตั้งอยู่ข้างละ 1 องค์ สร้างด้วยอิฐ 

                  หน้าบัน ทับหลังกรอบประตู กรอบประตู ของรูปแบบปราสาททุกแห่งส่วนใหญ่จะสลักเสลาไว้ด้วยหินทรายสีชมพู ลวดลายที่สลักเสลาเล่าเรื่องราวจากเรื่องรามเกียรติ เช่นทับหลังปราสาทองค์ทิศเหนือเป็นภาพกฤษณะโควรรธนะ

พระศิวะนั่งชันเข่าเหนือหน้ากาฬ

                 หรือว่าทับหลังของปราสาทองค์ทิศเหนือแถวหน้าเป็นภาพสลักรูปพระศิวะประทับนั่งบนหลังโคอุศุภราชอายุรุ่นกลางพุทธศตวรรษที่ 16

                  ทับหลังเหนือซุ้มประตู(โคปุระ) เป็นภาพพระกฤษณะปราบนาคกาลียะ เป็นอวตารภาคแปดของพระนารายณ์ ตามความเชื่อที่ว่า พระองค์อวตาร(แปลงหรือเกิด)มาปราบทุกข์บนโลกมนุษย์ 10 ครั้ง

หินทรายสลักเก่าเริ่มสึกกร่อน

                นอกจากนี้ ยังมีภาพสลักเสลาหินทรายที่งดงามอีกมากมายในปราสาทเมืองต่ำ ที่ต้องขอบอกว่า มีความงดงามไม่แพ้ปราสาทพนมรุ้งแต่อย่างใด เป็นปราสาทที่ยังคงรูปไว้ได้อย่างดี แม้มีบางส่วนที่ประดิศบ์ขึ้นมาใหม่ การเข้าชมจึงควรหัดสังเกตด้วยว่า ทับหลังหรือภาพสลักใดเป็นภาพเก่า หรือภาพแต่แต้มใหม่ หรือภาพที่ผสมกันระหว่างการอนุรักษืของเก่าและการตกแต่งเพิ่มเติม

                 ภาพเหล่านี้เป็นปริศนาที่ชวนให้อยากรู้ และอยากติดตามว่า ภาพสลักที่เห็นในหน้าเว็บไซต์นี้ ที่ปราสาทเมืองต่ำ สถิตอยู่ตรงส่วนไหนของปราสาท อาจอยู่ที่หน้าบันหรือทับหลังกำแพงแก้ว หรือระเบียงคด หรือว่าอยู่ที่โคปุระใดๆ ไปท่องเที่ยวทั้งที หากได้คิดไปด้วยคงจะช่วยให้เกิดความน่าสนใจและน่าจะได้ประโยชน์ เพิ่มการจดจำและรับรู้ที่ทรงคุณค่า

หน้าต่างลูกมะหวดและกรอบประตูสลักลาย

                  แท้ที่จริงแล้ว ที่บ้านโคกเมืองใกล้ปราสาทเมืองต่ำนั้น เป็นชุมชนขอมที่มีรากเหง้ามาจากขอมโบราณ อาจเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของช่างสลักเสลาหินผู้มากความสามารถ หรืออาจจะเป็นเพียงเกษตรกรที่ทำนาเลี้ยงบรรดาช่างสลักหิน แต่อย่างไรก็ตาม บ้านโคกเมืองมีของฝากติดมือในราคาตามสมควร และในกรณีสนใจผ้าไหมผ้าฝ้ายฝีมือพื้นบ้าน ลวดลายโบราณก็สืบหาได้

                 ในช่วงที่ไปถ่ายภาพเป็นเวลาใกล้ค่ำ ภาพที่ถ่ายได้จึงสวยงามระดับนี้เท่านั้น หากมีโอกาสได้เดินทางไปอีกครั้งจะนอนเฝ้าตะวันขึ้นและตะวันตกเลยทีเดียว เพื่อบันทึกภาพที่สวยสดใสชวนชมมากกว่าที่เห็น ขาว-ซีด-มัวซัว การท่องเที่ยวนั้นมิใช่ว่าไปครั้งเดียวแล้วเลยไป หากมีเรื่องราวหรือความงดงามที่ซ่อนเร้นอยู่ ก็ควรจะได้ไปท่องเที่ยวให้สาสม  

                  ปราสาทพนมรุ้ง-ปราเมืองต่ำ-บ้านโคกเมือง เพียงเท่านี้ก็ชวนอยู่ชวนเที่ยว และชวนกินอาหารพื้นถิ่นรสชาติอร่อยเหลือ  

                  ปราสาทเมืองต่ำเปืดให้เข้าชมเวลา 08.30-16.30 น. คนไทย 10 บาท คนต่างชาติ 40 บาท พักแรมรีสอร์ทใกล้ๆอีกคืนละไม่กี่ร้อยบาท โคตรคุ้ม

 

 

 

 

 

            

Tags : ปราสาทพนมรุ้ง

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view