http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,957,107
Page Views16,263,415
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

อุทยานประวัติศาสตร์ กำแพงเพชร

อุทยานประวัติศาสตร์ กำแพงเพชร

อุทยานประวัติศาสตร์ กำแพงเพชร 

โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

           กี่ครั้งกี่หนที่ได้ไปเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เหมือนว่าสักแต่ว่าได้ไป ไปเหมือนเสียไม่ได้ ทั้งๆที่ร่องรอยโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรก็มีอยู่อย่างน่าท่องเที่ยว น่าศึกษา และน่าถ่ายภาพสวยๆไว้เผยแพร่แด่สาธารณชน ถ้าผมเป็นคนกำแพงเพชรก็รู้สึกว่าจะน้อยใจอยู่ไม่น้อย และที่นักท่องเที่ยวไปกำแพงเพชร เชื่อไหม ไปงานกล้วยไข่เสียมากกว่า

           กำแพงเพชรมีดีกว่าที่คิดนักครับ

 

ถนนเข้าตัวเมืองกำแพงเพชร

           ผมไปกำแพงเพชรมาหลายครั้งหลายครา แต่ก็อย่างว่า ไปเหมือนแค่เมืองผ่าน ครั้นมีการนำพาไปเพื่อการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ ก็เหมือนลูกเมียน้อย เร่งรีบ รวบรัด ตัดเวลา และเมื่อไปถึงเกือบจะไม่มีแสงให้ถ่ายรูปได้เลย อะไรกันเนี่ย(นานมาแล้วกว่า 20 ปี) 

           ครั้งนี้ก็เหมือนกัน ผ่านแว๊บแล้วก็ผ่านเลยทั้งที่ไปจ่ออยู่ที่ฝั่งตรงข้ามอุทยานประวัติศาสตร์แท้ๆ กลับได้ข้อมูลไม่พอเพียง อย่างที่อยากจะได้ ขออภัยที่เร่งรีบ ขออภัยที่ได้ภาพเท่าที่ได้  รายละเอียดก็ต้องว่ากันใหม่ ขอโอกาสไปอีกสักครั้ง จะถ่ายมาเพิ่มเติมให้สมบูรณ์มากขึ้น

 

            จากผลการศึกษาหาร่องรอยทางโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์บริเวณเมืองกำแพงเพชร ได้พบการอยู่อาศัยของมนุษย์ เช่นแหล่งโบราณคดีบ้านบึงหญ้า บ้านเขากะล่อน และบ้านคลองเมือง 

             โบราณวัตถุที่พบก็เช่นเครื่องมือหินขัด  เครื่องปั้นดินเผาที่ไม่เคลือบ และโครงกระดูกมนุษย์

        

สิ่งก่อสร้างๆด้วยศิลาแลง  

           ข้ามไปศึกษาหลังประวัติศาสตร์ พื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง อันเป็นบริเวณที่เรียกกันว่า เมืองไตรตรึงษ์ มีการค้นพบวัฒนธรรมสมัยทวารวดี(ราวพุทธศตวรรษที่ 12-16)

           โบราณวัตถุที่พบได้แก่ ลูกปัดแก้ว เศษภาชนะดินเผาแบบไม่เคลือบ ชิ้นส่วนตะเกียงดินเผาซึ่งคล้ายคลึงกับโบราณวัตถุที่พบในยุคทวารวดีแถบภาคกลาง

 

เสาต่างๆก็ตัดมาจากศิลาแลง

            อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร กรมศิลปากรประกาศจัดตั้งเป็นโบราณสถานเมื่อพ.ศ.2478 ต่อมาองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO) ประกาศเป็นมรดกโลกภายใต้การรวมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรและอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย เมื่อวันที่ 12ธันวาคม พ.ศ.2534 

เจดีย์ต่างๆก็ก่อสร้างด้วยศิลาแลงเช่นกัน

             อุทยานประวัติศาสตร์ กำแพงเพชร มีรูปพื้นที่เป็นสี่เหลี่ยมคางหมู โดยทอดยาวไปกับแม่น้ำปิงทางฝั่งตะวันออก

             มีกำแพงด้านทิศเหนือยาว 2,400 เมตร

             กำแพงด้านทิศใต้ยาว 2,160 เมตร

             กำแพงด้านทิศตะวันออกยาว 540 เมตร

              และด้านทิศตะวันตกยาว 220 เมตร กำแพงก่อสร้างด้วยศิลาแลง มีเชิงเทินให้ทหารยามเดินตรวจตราได้ มีใบเสมารายรอบ และมีป้อม 4 ป้อม 4 มุม นอกกำแพงเมืองเป็นคูน้ำล้อมรอบกว้าง 30 เมตร เพื่อป้องกันข้าศึกไว้ชั้นหนึ่ง 

             อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร แบ่งออกเป็น 4 เขตใหญ่ๆคือ

             ภายในกำแพงเมืองมีโบราณสถาน 14 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 503 ไร่

วัดช้างรอบ

             บริเวณอรัญญิกตั้งอยู่ทิศเหนือกำแพงมีโบราณสถาน 41 แห่ง พื้นที่ครอบคลุม 1,611 ไร่ เช่นวัดพระนอน วัดป่ามืด วัดพระสี่อิริยาบถ วัดฆ้องชัย วัดนาคเจ็ดเศียร วัดสิงห์ วัดกำแพงงาม วัดเตาหม้อ วัดช้างรอบ และวัดอาวาสใหญ่ เป็นงานสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของเมืองกำแพงเพชร สร้างรวมกลุ่มหนาแน่นในบริเวณพื้นที่ป่าเต็งรังติดต่อเป็นผืนเดียวกัน

            โบราณสถานมีขนาดใหญ่โตอลังการใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง และมีความงดงามทางศิลปกรรมของสกุลช่างเมืองกำแพงเพชร

            ทางทิศตะวันออกของกำแพงเมือง มีโบราณสถาน 13 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 16 ไร่ 

            และบริเวณทุ่งเศรษฐีฝั่งตะวันตกแม่น้ำปิง(เมืองนครชุม) มีโบราณสถาน 10 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 30 ไร่ กลุ่มวัดเมืองนครชุม มีวัดสำคัญได้แก่ วัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดหนองพิกุล วัดซุ้มกอ และวัดหนองลังกา

 

             โบราณสถานที่มีร่องรอยให้เห็นอยู่นี้ เป็นสถาปัตยกรรมทางด้านศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกาวงก์ แต่ไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 19 อยู่ในช่วงสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย ฝีมือช่างผสมผสานระหว่างอยุธยากับล้านนา กลายเป็นฝีมือช่างสกุลกำแพงเพชร นอกจากนั้นยังปรากฎร่องรอยศาสนาพราห์มโดยจะเห็นได้จากศาลพระอิศวร 

              สมัยของพระมหาธรรมราชาลิไท พุทธศาสนาในสมัยนั้นมีพระสงฆ์สองฝ่ายคือ ฝ่ายคามวาสีหรือวัดที่อยู่ในเมือง และอรัญวาสีหรือฝ่ายที่อยู่นอกเมือง วัดสำคัญๆเช่น 
              วัดพระแก้ว เป็นพระอารามหลวงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่กลางเมืองเช่นเดียวกับวัดมหาธาตุกรุงสุโขทัย และวัดพระศรีสรรเพชญ กรุงศรีอยุธยา เป็นวัดที่มีเฉพาะเขตพุทธาวาสไม่มีพระภิกษุจำพรรษา สิ่งก่อสร้างภายในวัดเรียงเป็นแนวยาวตามแกนตะวันออก-ตะวันตกขนานกับกำแพงเมืองด้านทิศใต้ ตอนหน้าสุดของวัดเป็นฐานไพทีใหญ่ บนฐานยังมีโกลนศิลาแลงพระพุทธรูปประธาน ถัดมาเป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ ฐานมีสิงห์ล้อมรอบ วิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นสามองค์ และตอนท้ายสุดเป็นเจดีย์ทรงระฆังประดับช้างปูนปั้นที่ฐานโดยรอบ
เอกสารตำนานโบราณกล่าวถึงพระแก้วมรกตและพระพุทธสิหิงค์ ได้เคยประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชรซึ่งน่าจะประดิษฐานที่วักพระแก้วแห่งนี้

              วัดพระธาตุ ตั้งอยู่ทางด้านหน้าหรือด้านตะวันออกของวัดพระแก้ว เจดีย์ประธานภายในวัดเป็นแบบเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆังสูงใหญ่ก่อด้วยอิฐ องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานแปดเหลี่ยมที่ซ้อนลดหลั่นกันหลายชั้น องค์ระฆังค่อนข้างเล็กอันเป็นรูปแบบเฉพาะของเมืองกำแพงเพชร ด้านหน้าเจดีย์ประธานเป็นฐานวิหารศิลาแลงและมีเจดีย์รายอยู่บริเวณมุมด้านหน้าข้างวิหารข้างละองค์


               วังโบราณหรือสระมน อยู่ทางด้านทิศเหนือของวัดพระแก้ว ติดกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ บริเวณประตูสะพานโคม มีคันดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบ กึ่งกลางมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยม จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบฐานอาคาร เศษกระเบื้องมุงหลังคา เศษภาชนะดินเผา และหลักฐานที่เป็นสิ่งของเครื่องใช้อีกจำนวนมาก

                 ศาลพระอิศวร เป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดูเพียงแห่งเดียวในเมืองกำแพงเพชร เหลือเฉพาะฐานของอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลง เดิมประดิษฐานเทวรูปพระอิศวรสำริดซึ่งมีจารึกที่ฐานว่า เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ได้สร้างเทวรูปองค์นี้เมื่อ พ.ศ. 2053 ตรงกับสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 กรุงศรีอยุธยา จารึกยังได้กล่าวถึงการซ่อมแซมถนน คลองส่งน้ำ และการซ่อมแซมพระธาตุทั้งในเมืองและนอกเมือง

                วัดพระนอน เป็นวัดขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่นอกเมืองทางทิศเหนือ หรือบริเวณที่เรียกว่าอรัญญิก สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในวัดใช้ศิลาแลงแทบทั้งสิ้น หน้าวัดมีบ่อน้ำ ห้องน้ำและศาลาพัก ภายในวัดตอนหน้าวัดเป็นฐานอุโบสถเสาแปดเหลี่ยม ถัดไปเป็นวิหารซึ่งเดิมประดิษฐานพระนอนเป็นประธาน เสาวิหารใช้ศิลาแรงแท่งเดียวตลอดที่มีขนาดสูงใหญ่ ปักเรียงรายอยู่ภายในอาคาร โครงหลังคาเดิมเป็นเครื่องไม้ สังเกตได้จากช่องสี่เหลี่ยมตามหัวเสาสำหรับสอดหัวขื่อหัวคาน ผนังวิหารเรียงศิลาแลงเป็นผนังช่องลูกกรมหรือช่องลม ถัดจากวิหารไปทางด้านหลังเป็นเจดีย์ประธานทรงระฆังฐานแปดเหลี่ยม นอกจากสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว ยังมีสิ่งก่อสร้างอีกจำนวนมากมายในวัดนี้

                วัดพระสี่อิริยาบท  อยู่ทางเหนือของวัดพระนอน ถัดขึ้นไปประมาณ 100 เมตร หน้าวัดมีบ่อน้ำ ห้องน้ำ และศาลาพักเช่นเดียวกับวัดพระนอน สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัดคือ วิหารที่สร้างบนฐานทักษิณขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ตอนหน้าวัด ด้านหลังวิหารสร้างเป็นมณฑป ทำหน้าที่เป็นเจดีย์ประธานของวัด ลักษณะมณฑปแบบจตุรมุข กึ่งกลางทำเป็นแท่งสี่เหลี่ยมรับส่วนยอดหลังคา จากนั้นทำเป็นมุมยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน ผนังแต่ละด้านของแท่งสี่เหลี่ยมก่อให้เว้าเข้าไป และประดิษฐานพระพุทธรูปแตกต่างกันออกไปในแต่ละด้าน คือ เดิน นั่ง ยืน นอน ปัจจุบันเหลือพระยืนขนาดใหญ่ทางด้านทิศใต้ พระพักตร์เป็นลักษณะศิลปะสุโขทัยหมวดกำแพงเพชร คือ พระนลาฏกว้าง พระหนุเสี้ยม

               วัดช้างรอบ ตั้งอยู่บนยอดเนินสูงสุดของเขตอรัญญิก สิ่งสำคัญของวัดแห่งนี้คือ เจดีย์ประธานทรงระฆังขนาดใหญ่ ซึ่งยอดหักพังหมดแล้ว ฐานสี่เหลี่ยมด้านล่างสูงใหญ่ มีบันไดอยู่ที่กลางด้านทั้งสี่เพื่อขึ้นไปถึงลานด้านบน หรือลานทักษิณ ฐานล่างประดับช้างปูนปั้นครึ่งตัวจำนวน 68 เชือก ตัวช้างทำลายปูนปั้นที่แผงคอ โคนขา และข้อขา ระหว่างช้างแต่ละเชือกตกแต่งลายปูนปั้นนูนสูงรูปพันธุ์พฤกษา เจดีย์ด้านบนเหลือเฉพาะฐานแปดเหลี่ยม และหน้ากระดานกลม ซึ่งพบหลักฐานว่ามีการประดับลายปูนปั้นเล่าเรื่องพุทธประวัติ และประดับรูปเทวดา นางฟ้า กินนร กินรี และหงส์ ด้านหน้าเจดีย์ประธานทีฐานวิหารขนาดใหญ่และถัดไปเป็นสระน้ำที่ขุดลงไปในชั้นศิลาแลง

               นอกจากนี้จะได้เห็นเอกลักษณ์เรือนไทยหรือสิ่งก่อสร้างที่ประยุกต์จากเรือนไทย งดงาม และเป็นต้นแบบหนึ่งในหมู่เรือนไทย เช่นเดียวกับภาคกลาง

             

 

 

Tags : ผาแต้ม

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view