ผมจุก ตำนานการไว้ผมเด็กๆในอดีต
โดยป่าน ศรนารายณ์ เรื่อง-ภาพ
ไม่มีต้นตำนานว่าการไว้ผมจุกของไทยนั้นมีรากฐานจากอะไร แต่ก็มีการสัณนิษฐานกันว่า การไว้ผมจุกด้วยเหตุผลว่า ขม่อมหรือกระหม่อมของเด็กๆนั้นยังไม่แข็งแรง กระโหลกยังเชื่อมไม่ติดกัน จึงไว้ผมเพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งหรือความหนาวเย็นเข้าถึงสมอง อีกเหตุผลหนึ่งกว่าวกันว่าเพราะว่าประเทศไทยเรานี้ร้อนอบอ้าว ยากแก่การรักษา การโกนผมโดยรอบเหลือแต่จุกจึงเป็นการแก้ปัญหาเรื่องความร้อนของอากาศ และรักษาผมเด็กๆไว้ได้สะดวกกว่า ส่วนจะโกนผมจุกเมื่อไรไม่มีกำหนด ขึ้นอยู่กับบิดามารดา แต่ก็มีไม่น้อยที่ต้องรอฤกษ์ผานาทีเพื่อเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของผมจุก
ในตำนานของชาวอินเดียหรือพราห์มมีพิธีอุปนัยนะ และวันขึ้นปีใหม่พราห์ม(ตรียัมปวาย)ซึ่งถือกันว่าเป็นวันที่พระเจ้าเสด็จลงมาเยี่ยมโลก ตรงกับวันแรม 5 ค่ำเดือน 6 จึงมีพิธีโล้ชิงช้า และก็นิยมโกนจุกให้กับบุตรธิดา โดยเฉพาะลูกหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ ถ้าต้องมีการโกนจุกก็จะเรียกว่าพิธีโสกันต์ ในประเทศไทยถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
แต่สำหรับลูกชาวบ้านร้านถิ่น เมื่อถึงเวลาที่เด็กเติบโตจนแข็งแรงดีแล้วก็มักจะโกนกันง่ายๆ ไม่มีพิธีรีตองอันใด เว้นแต่ลูกผู้มีอันจะกินก็จะจัดงานเฉลิมฉลองกันใหญ่โต เป็นการประกาศถึงความมั่งคั่งและความสำคัญของบุตรธิดาแห่งตน
เด็กผมจุกคนนี้ ผมถ่ายรูปเขามาจากเมืองกวนเล่ย แคว้นสิบสองปันนาหรือเมืองเชียงรุ่งของประเทศจีน (เขตปกครองตนเองของชาวไทลื้อ)ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองหนึ่งของสยาม วัฒนธรรมประเพณีและภาษาส่วนใหญ่จึงใกล้เคียงกัน