http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม14,007,364
Page Views16,316,404
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ดอยวาว กำลังงามเหลือแสน โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

ดอยวาว กำลังงามเหลือแสน โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

ดอยวาว กำลังงามเหลือแสน

โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

              ช่วงหนาวนี้มีแต่นักท่องเที่ยวแห่ขึ้นเหนือกันแทบหมด แต่ในจำนวนทั้งหมดนั้นมักไปกระจุกตัวที่ใดที่หนึ่งซึ่งเป็นธรรมดา แต่สำหรับผมแล้วชอบแยกตัวไปไกลจากแหล่งที่นักท่องเที่ยวเห่อเหิมหรือแห่แหนแน่นขนัด ผมจึงได้กลับไปที่ดอยวาว อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน อีกครั้ง แต่ไม่ได้ไปกระซิบรักตามรอยที่โปรโมทกันหนักหนานั้นเลย ที่นี่ก็สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางกว่า 1400 เมตร อากาศเย็นสบายถึงเย็นจัดจนไม่ค่อยสบายนัก ขึ้นอยู่กับว่า ธรรมชาติบันดาล

              ภาพที่ถ่ายมานี้ บอกว่าเวลาและวารีไม่คอยใคร ดอกนางพญาเสือโคร่งกว่า 500 ไร่กำลังผลิบานสะพรั่ง งามเหลือแสน

 บ้านพักที่ให้พักแรมได้ แล้วแต่บริจาคค่าซักผ้า

             คุณประยูร กันทะวงศ์ หัวหน้าหน่วยจัดการน้ำคาง(ดอยวาว) ได้รับคำสั่งกระดาษแผ่นเดียว ไม่มีรถยนต์ให้ ไม่มีอะไรเลย แต่ต้องเดินทางไปตั้งหน่วยจัดการต้นน้ำแห่งนี้ตามคำสั่ง ข้าราชการกรมป่าไม้ กองอนุรักษ์ต้นน้ำในอดีตต้องผจญกับวิบากกรรมเยี่ยงนี้แทบทุกคน โชคดีว่า บนเส้นทางจากอำเภอท่าวังผาถึงดอยวาว มีดอยติ้วอันเป็นที่ตั้งหน่วยพัฒนาต้นน้ำดอยติ้วอยู่แล้ว และก็ตั้งอยู่ในเส้นทางที่ต้องผ่านหมู่บ้านม้งดอยติ้ว จึงมีทางลูกรังใช้กันอยู่ คุณประยูรจึงเดินเท้าเข้าไปเลือกดอยวาวเป็นที่ตั้ง ปลูกเพิงที่พักแล้วก็ลงมือทำแปลงเพาะกล้าไม้เพื่อปลูกป่าต้นน้ำ ต้องลำบากกับการทำงานอยู่เป็นปีๆ จึงเริ่มต้นพัฒนาที่ทำการให้งดงาม

              ต้นกล้าที่คุณประยูรเพาะเพื่อปลูกในปีแรก 500 ไร่เป็นต้นกล้านางพญาเสือโคร่ง ต้นไม้ในถิ่นกำเนิดที่ชอบพื้นที่สูงกว่า 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางขึ้นไป เติบโตเร็วและมีดอกสีชมพูงดงามมากๆ หลังจากนั้นก็สร้างที่ทำการกึ่งถาวร บ้านพักตามงบประมาณเพื่อให้คนงานอยู่อาศัย และตกแต่งบริเวณที่ทำการให้สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจได้ กางเต็นท์นอนได้ บ้านพักก็นอนได้(ถ้าว่าง) แต่เรื่องอาหารการกินต้องหิ้วจากตลาดอำเภอท่าวังผาขึ้นไป 

อาบหมอกหยอกน้ำค้าง

              แรกทีเดียวหน่วยต้นน้ำทุกแห่งมักจะใช้ประโยชน์ควบคู่ไปกับการสร้างเครือข่ายความเข้าใจงานจัดการต้นน้ำ การเปิดกว้างให้นักท่องเที่ยว ประชาชนทั่วไป เข้าไปใช้ประโยชน์ได้ดังกล่าว ก็เป็นการเปิดให้เรียนรู้ ดูแผนที่ ดูแผนผังงาน สอบถามหัวหน้าหรือผู้ช่วยให้เกิดความรู้ บางคณะถึงกับขอให้บรรยายสรุปเพราะอยากรู้ ขณะเดียวกันก็เปิดปมเรื่องทำไมต้องปลูกป่าต้นน้ำ การพูดคุยระหว่างการพักผ่อนหย่อนใจให้ความรู้สึกเนียนกว่าการสอนสั่งแกมบังคับ 

               คุณประยูรย้ายไปตามวาระและหน้าที่ แต่ดอยวาวและต้นนางพญาเสือโคร่งกลับเติบโตขึ้นทุกวัน จนถึงวันหนึ่งดอยวาวโด่งดังมาก มีนักท่องเที่ยวขึ้นไปใช้ประโยชน์มากกว่าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา  เพราะว่าที่นี่เป็นป่าอนุรักษ์ประเภทปลูกป่าต้นน้ำ จึงสามารถปลูกดอกไม้เมืองหนาวสีสันสดสวยได้อย่างไม่ผิดหลักการจัดการต้นน้ำแต่อย่างใด ร่ำลือกันไปทั่วว่าดอยวาวหนาวดี ดอกไม้สวย เท่านั้เอง นักท่องเที่ยวไม่รู้มาจากไหน แห่แหนกันขึ้นไปจนแทบไม่มีที่ว่างให้กางเต็นท์นอนที่เดียว

               ผมเองเมื่อครั้งปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโครงการจัดการลุ่มน้ำน่านตอนบน ก็เคยแวะเวียนขึ้นไปใช้พักผ่อนหย่อนใจ นำพาสื่อมวลชนไปชมและพักแรม โดยเฉพาะคณะกรรมการมูลนิธิสมเพิ่ม กิตตินันท์(เพื่อส่งเสริมการศึกษาต่อเนื่อง)และมูลนิธิเฮียะเปาอินทร์(เพื่อผู้สูงอายุ) หลังการประชุมสามัญประจำปีแต่ละปี ก็แวะไปพักแรมที่หน่วยจัดการต้นน้ำคาง(ดอยวาว)แห่งนี้บ่อยครั้ง ซึ่งก็ต้องขอบคุณคุณประยูรที่ได้สร้างหน่วยงานให้เกิดประโยชน์มิใช่เพียงราชการแต่ประชาชนก็ได้รับผลพวงไปด้วย

กางเต็นท์ใกล้ต้นนางพญาเสือโคร่ง

               ต้นนางพญาเสือโคร่งเป็นไม้ในถิ่นกำเนิดของประเทศไทย สามารภนำไปปลูกประดับในป่าอนุรักษ์ประเภทอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าได้ ถูกต้องตรงตามหลักการจัดการป่าอนุรักษ์สากล เว้นแต่หน่วยงานเหล่านั้นไม่ได้ใช้ประโยชน์จากความงดงามของไม้ต้นนี้ เพราะว่าความขี้เกียจ วิสัยทัศน์คับแคบ ไม่มีพื้นความรู้ความเข้าใจหลักการจัดการอุทยานแห่งชาติหรือเขตห้าล่าสัตว์ป่า  หรืออาจจะกลัวเสียผลประโยชน์พึงได้บางประการ

               นางพญาเสือโคร่งมีชื่อเรียกว่าฉวีวรรณ เส่คาเว่ เส่แผ่ เส่ลาแหล่ และชมพูภูพิงค์ ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Prunus cerasoides D.Don อยู่ในวงศ์ ROSACEAE ในประเทศไทยพบขึ้นอยู่ระดับสูงระหว่าง 1,000-2,000 เมตร ป่าดงดิบเขาทั่วไป ในต่าปงระเทศพบที่เนปาล จีนตอนใต้ พม่า ลาว และเวียดนาม จัดอยู่ในประเภทพืชหายาก เป็นไม้หวงห้ามธรรมดาประเภท ก. ใบเดี่ยว ผลัดใบแล้วจึงแตกตาดอกสีชมพู ผลสดรูปรี แก่สีแดงสด นกและสัตว์เล็กๆชอบกิน ออกดอกช่วงธันวาคม-กุมภาพันธ์ ข้อสังเกต ลำต้นมีเปลือกที่แตกรูปริมฝีปาก ผิวเปลือกสีคล้ำดำออกน้ำตาล 

               ประโยชน์ด้านการใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ทั้งในและนอกเขตป่าอนุรักษ์ แต่ต้องปลูกที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลปานกลางดังกล่าว มิเช่นนั้นจะออกใบ ไม่ออกดอก  ด้านสมุนไพร เปลือกต้น แก้ไอ เลือดกำเดาไหล ลดน้ำมูก แก้คัดจมูก ตำคั้นเอาแต่น้ำทาหรือพอกแก้เท้าแพลง ปวดข้อ และฟกช้ำ เกิดความเข้าใจผิดบางประการว่า นางพญาเสือโคร่งใช้เปลือกต้มหรือดองเหล้าเป็นยากระตุ้นอวัยวะเพศให้เข้มแข็ง ซึ่งข้อเท็จจริง เป็นคนละต้นกัน นั่นคือต้น กำลังเสือโคร่ง จะมีดอกสีขาว ขึ้นอยู่บนที่สูงเหมือนกัน เปลือกใช้ประโยชน์เป็นยาดองเหล้าบำรุงกำหนัด 

                ปีนี้ ผมผ่านไปที่ดอยวาว รู้สึกเปลี่ยนไป ด้วยว่าต้นนางพญาเสือโคร่งกำลังออกดอกไปทั่ว สวยหวานไปทั้งขุนเขา ได้เห็นนักท่องเที่ยวมากางเต็นท์นอนเพียง 2 หลัง แต่บรรยากาศโดยรอบเป็นดอกไม้สีชมพูหวานๆพราว สอบถามแล้วได้รู้ว่า เป็นคนในจังหวัดน่าน ชอบที่ดอยวาวมาก ขึ้นมาพักผ่อนหย่อนใจยามหนาวแทบทุกปี ไม่รู้สึกเบื่อ แต่ประทับใจในบรรยากาศของอากาศ ความงดงามของดอกนางพญาเสือโคร่ง การเอาใจใส่และเข้าใจให้ความเป็นส่วนตัว 

ดอกนางพญาเสือโคร่ง

                "ญาติพี่น้อง เพื่อนๆลูกมาจากกรุงเทพ หรือต่างถิ่น ก็จะพามาพักแรมที่นี่ ประทับใจกันไปทุกคน" ผู้หญิงกลางคนผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าว 

                 ได้เห็นชีวิตการกางเต็นท์นอนแล้วก็มีความรู้สึกว่า ทิศทางการท่องเที่ยวกำลังจะเปลี่ยนไป จากท่าทีเจ้าขุนมูลนายจะกลายเป็นการท่องเที่ยวแบบบ้านๆ กันเอง ประหยัด ช่วยตนเอง และเตรียมตัวมาพร้อมเพรียงสุดๆ 

                 "ที่ดอยวาว มีห้องสุขาให้ใช้บริการพอเพียง ไม่มีกฎกติกามากมายอย่างในอุทยานแห่งชาติ นั่งผิงไฟแล้วก็นั่งเล่นกีต้าร์กันเพลินๆค่ะ" 

                  ในสถานะภาพช่างภาพผู้เป็นเจ้าของเว็บไซด์ ทองไทยแลนด์ดอทคอม(www.thongthailand.com) ยอมรับว่าบนดอยวาวแห่งนี้มีต้นนางพญาเสือโคร่งมากสมใจจริงๆ แต่ละต้นก็กำลังออกดอกบานสะพรั่งไปทั่วบริเวณ แต่ว่าปลูกอยู่ทางทิศตะวันออกของที่นั่ง ก็เลยถ่ายรูปดอกนางพญาเสือโคร่งได้ไม่ได้ดั่งใจ เพราะว่าย้อนแสงมากๆ  นอกจากต้นนางพญาเสือโคร่งแล้ว รอบๆที่ทำการยังปลูกประดับด้วยดอกไม้เมืองหนาวเช่น ผักเสี้ยนฝรั่ง  ซัลเวียแดง ลำโพง ฯลฯ อันเป็นการเติมแต่งสร้างสีสันของหน่วยจัดการดังกล่าว   

                  อย่างไรก็ดี วันนี้ แม้ดอยวาวจะว่างจากนักท่องเที่ยว ซึ่งอาจเกิดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรืออาจเกิดจากน้ำท่วม จึงทำให้นักท่องเที่ยวลดปริมาณลงไป แต่ดอกนางพญาเสือโคร่งไม่ได้ลดลงไปตามปริมาณนักท่องเที่ยวด้วย ยังคงตั้งหน้าตั้งตาออกดอกกันอย่างพร้อมเพรียง ปีนี้ไม่ว่างมา ปีหน้ามาใหม่ ก็จะออกดอกให้ได้ชื่นชมกันเหมือนเดิม ที่นี่แหละครับ เป็นแหล่งที่มีดอกนางพญาเสือโคร่งมากต้นที่สุดในจังหวัดน่าน มีพื้นที่ให้พักแรมได้ตามสมควร แม้ไม่ดีเท่ารีสอร์ทหรืออุทยานฯ แต่ก็ช่วยให้ท่านมีความสุขกับความเรียบง่าย สบายๆ ไม่ต้องเครียดกับกฎกติกาของทางราชการนัก เพียงแต่ ถ้ามีเพื่อนกลุ่มอื่นๆอยู่ด้วยก็รักษามารยาทซึ่งกันและกันก็พอ

ดอกซากุระเมืองไทยหรือต้นนางพญาเสือโคร่ง

                  การเข้าใช้ประโยชน์ ติดต่อผ่านคุณประสิทธิ์ พัฒนใหญ่ยิ่ง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลก โทร.081-9939367 หรือ คุณพอดี อินนุรักษ์ โทร.081-7641088 หน.ดอยกาด ก็ได้ หรือ ติดต่อตรงหัวหน้าดอยวาว คุณสุริยา หอมนาน โทร.081-7684358 สามเสือป่าต้นน้ำเขาอิงอาสัยกันและกันฉันพี่น้อง มีคุณประสิทธิเป็นพี่เอื้อย(เก๋า)  

ดอกนางพญาเสือโคร่งบนดอยวาว

พอดี-ประสิทธิ์-สุริยา ยินดีต้อนรับทุกคนเสมอ

 

                 

 

              

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view