แคชเมียร์ตอน4.
ทัชมาฮาล วิมานรักหลังความตาย
โดยอึ้งเข่งสุง เรื่อง/ภาพ-เข็มชาติ เปาอินทร์
เรื่องราวความรักของพระเจ้า ชาร์ จาฮัน(Shah Jahan) กษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์โมกุล กับพระนางมุมตัช มาฮาล ดุจเทพนิยาย แต่โลกรับรู้กันทั่วไปว่าเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ทัช มาฮาล อนุสรณ์สถานแห่งรักอมตะนิรันดรกาล ได้ไปชมสักครั้งก่อนตายไม่เสียดายเลย
ย้อนไปเมื่อปีพ.ศ.2069(คศ.1526) ที่เมืองซามาคานต์(Samakand)ในเอเซียกลาง บาร์บู ผู้นำเชื้อสายมองโกล-เตอร์ก ได้เข้ายึดครองแผ่นดินอินเดียตอนเหนือลุ่มแม่น้ำคงคาทั้งหมด ทิศตะวันออกจรดอัสสัม ทิศใต้ถึงเทือกเขาวินชัย และทิศตะวันตกถึงเอเซียกลาง เมืองสำคัญมีอยู่ 2 เมืองคือ เดลี และอักรา(Agra) ถือเป้นต้นราชวงศ์โมกุล(Mughul Empire)มีประชากรในปกครองประมาณ 110-150 ล้านคน พื้นที่กว้างขวางถึง 3.2 ล้านตารางกิโลเมตร
อักรา ฟอร์ท
พระราชโอรสของบาร์บู ชื่อหุมายัน(Humayun) ขึ้นปกครองแทน แต่ถูกเชอร์ชาห์(Sher shah)บุกยึดบัลลังก์จนต้องระเห็จออกนอกประเทศถึง 15 ปีโดยหลบไปอยู่แถวๆเปอร์เซีย จึงสามารถยึดบัลลังก์คืนมาได้ แต่โชคร้ายไม่นานพระองค์ก็สิ้นพระชนย์ ราชการบ้านเมืองยุ่งเหยิงและลำบากไปทั่ว
ปีพ.ศ.2099 ราชโอรสของพระเจ้าหุมายัน คือ จาลา ลุดดิน โมฮัมหมัด อัคบาร์(Akbar) ได้ขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนน์มายุเพียง 13 พรรษา ทรงอ่านและเขียนหนังสือไม่ได้ แต่ปราชญ์เปรื่องเรื่องการปกครองและการรบ โดยโปรดให้มีการถกเถียงและเสนอเรื่องราวต่างๆจากมุขมนตรี
ในยุคสมัยของพระเจ้าอัคบาร์ ทำให้บ้านเมืองรุ่งเรืองด้วยศาสนามากมาย สถาปัตยกรรม ศิลปะ วัฒนธรรมต่างๆ ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขด้วยยุทธวิธีในการบริหาร 2 รูปแบบคือ ขุนนางฝ่ายปกครองให้มีอำนาจบริหารการปกครองบ้านเมืองให้สงบสุขได้ แต่ไม่ได้บริหารงบประมาณ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งให้ดำเนินการจัดเก็บภาษีแต่ไม่มีอำนาจใช้จ่ายงบประมาณ ทั้งสองฝ่ายจึงคิดการกบฎไม่ได้
พระราชวังอักรา
พระเจ้าชาร์ จาฮัน เป็นพระราชโอรสพระเจ้าชาร์ ฮัลกีร์ ผู้เป็นกษัตริย์ราชวงศ์โมกุลองค์ที่ 4 ประสูติเมื่อปีพ.ศ.2135 เดิมพระองค์ชื่อ ฆุราม ช่วงวัยเยานี้เองที่พระองค์ออกศึกปราบกบฏที่เดคข่านสำเร็จ จึงได้รับการขนานนามว่า ชาร์ จาฮัน ต่อมาพระองค์ได้ประสบพบกับนางอรชุนต์ พาโน เพคุม รูปร่างหน้าตาสุดสวย กริยามารยาทตราตรึงใจ และงามสง่ายิ่ง นางเป็นธิดาของรัฐมนตรี อาซาฟ ข่าน
พระเจ้าชาร์ จาฮัน หมดเพชรไปถึง 10,000 รูปีเพื่อขอแต่งงาน ปีพ.ศ.2155 หลังการแต่งงานของพระเจ้าชาร์ จาฮัน ปีพ.ศ.2171 พระองค์ก็ได้เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบต่อจากบิดาของพระองค์ ทรงครองรักกับพระนางและโปรดให้เรียกพระนางว่า มุมตัช มาฮาล ด้วยความรักและความสุข ทรงมีโอรสธิดาถึง 14 พระองค์
ทัจ มาฮาล ด้านหน้า
ในการคลอดพระราชบุตรองค์ที่ 14 นี้เอง พระนางมุมทัช ได้สวรรคตไปในปีพ.ศ.2174 ยังความเศร้าโศกเสียพระทัยแก่พระเจ้าชาร์ จาฮัน เป็นยิ่งนัก พระเจ้าชาร์ จาฮัน จึงทรงโปรดให้สร้างอนุสรณ์สถานเพื่อบรรจุศพพระนางพระองค์นี้ นั่นคือ ทัชมาฮาล (Taj Mahal) ในเมืองอัครา (ปัจจุบันนี้อยู่ใน รัฐอุตรประเทศ ประเทศอินเดีย)
ด้วยความเศร้าโศกเสียพระทัยกับการจากไปของพระนางมุมตัช มาฮาล พระทรงทุ่มเททรัพย์สินของแผ่นดินเพื่อสร้างอนุสรณ์สถานรักอันยิ่งใหญ่ เพื่อบรรจุพระศพของพระนางมุมตัช สถาปนิกผู้ออกแบบชื่อ อุสตาด ไอซา(Ustad Isa) ช่างเขียนลวดลาย ช่างอิฐ ช่างปูน ช่างประดับลวดลาย ช่างกระเบื้อง ช่างแกะสลัก ช่างตกแต่งภายใน และคนงานต่างๆรวมกว่า 20,000 คน โดยลงมือสร้างระหว่างปีพ.ศ.2173-2191 รวมเวลา 23 ปี
ศิลปะสถาปัตยกรรมเปอร์เซีย วัสดุที่ใช้เป็นหินอ่อนสีขาวบริสุทธิ์จากเมืองมะครานา หินอ่อนสีแดงจากเมืองฟาตีปุระ หินอ่อนสีเหลืองจากฝั่งแม่น้ำนรภัทฑ์ เพชรตาแมวจากกรุงแบกแดด ปะการัง หอยมุกจากมหาสมุทรอินเดีย หินอ่อนสีฟ้าจากเกาะสังขะ หมดเงินค่าก่อสร้างไปทั้งสิ้น 50,000,000 USD ประชาชนเดือดร้อนไปทั่ว
ทัช มาฮาล ด้านติดแม่น้ำยมุนา
ในที่สุด พระราชโอรสของพระองค์ เจ้าชาย ออรังแซบ(Aurungzab) ได้จับพระองค์ขังไว้ถึง 8 ปี จึงสวรรคต พระเจ้าออรังแซบครองราชย์ปีพ.ศ.2201-2240 ได้นำพระบรมศพของพระราชบิดาไปฝังเคียงคู่กับพระบรมศพของพระราชมารดา พระนางมุมตัช มาฮาล สมความปรารถนาของทั้งสองพระองค์ที่ทรงมีความรักดูดดื่มนิรันดร์กาล
ความสวยงามอลังการยิ่งของทัจ มาฮาล โด่งดังไปทั่วโลก จนในที่สุดปีพ.ศ.2526 องค์การยูเนสโกจึงได้ประกาศให้ทัจมาฮาลเป็นมรดกโลกทางด้านวัฒนธรรม เป็นหนึ่งใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก นี่คทออนุสรณ์สถานแห่งความรักหลังความตายที่บรรลือโลก เป็นมรดกล้ำค่าที่ประเทศอินเดียภาคภูมิใจ และเป็นทรัพยากรท่องเที่ยวที่ขายไม่มีวันจบสิ้น
ประตูทางเข้าทัจมาฮาลสร้างด้วยหินทรายสีแดง ขอบประตูทางเข้าทั้งด้านนอกและด้านในมีตัวอักษรภาษาโกรานจารึกไว้ เป็นบทสวดมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ ตัวอักษรได้รับการคำนวนอย่างดีเยี่ยม จึงสามารถมองเห็นได้เท่ากันและชัดเจน ด้านหลังของทัจมาฮาลตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ด้านหน้ามีสวนหย่อมที่ตกแต่งอย่างวิจิตรพิศดาร และงดงามมาก
มีถนนตรงไปสู่ตัวอาคารประมาณ 4 ทาง เมื่อมองในระยะไกลเหมือนกับถนนนี้เป็นแนวรัศมีของทัชมาฮาล ถนนเทพื้นด้วยคอนกรีตและคั่นด้วยสนามหญ้า มีพุ่มไม้จำพวกไม้สนปลูกเรียงรายกันเป็นแถวตลอดแนว ระหว่างตรงกลางมีสระน้ำซึ่งมีหัวทำท่องเป็นน้ำพุเรียงรายตลอดแนว ส่วนตอนหน้าเป็นน้ำพุขนาดใหญ่อยู่ในสระที่ถนนทุกสายมาเชื่อมถึงกัน
ภายในทัชมาฮาล จะเห็นการแกะสลักลวดลายประดับเป็นลายดอกไม้นานาชนิด ผนังห้องและพื้นห้องมีการตกแต่งโดยใช้หินสีชนิดต่างๆ ตัดและเจียระไนเป็นชิ้นเล็กๆ ทำเป็นรูปกลีบดอกไม้ ก้านดอก ใบไม้ แล้วฝังลงในเนื้อหินอ่อนทีละชิ้นๆ ไล่โทนสีของหินจากสีอ่อนไปยังสีแก่ ลวดลายประดับนั้นดูอ่อนช้อยราวกับภาพที่จิตรกรวาดเป็นลายเส้นด้วยมือทีเดียว หินเหล่านี้เมื่อถูกแสงไฟกระทบจะเกิดการสะท้อนแสงและสีออกมาสวยงามยิ่ง
ตรงกลางห้องโถง มีหีบพระศพจำลองของพระนางมุมตาสกับหีบพระศพของพระเจ้าชาห์ชาฮันวางคู่กัน (หีบพระศพจริงอยู่ในห้องลึกลงไปด้านล่างประมาณ 10 เมตร) รอบๆ มีฉากกั้นทั้งสี่ด้าน ตัวฉากกั้นเป็นหินอ่อนฉลุลวดลายเครือไม้และไม้ดอกที่งามวิจิตรโปร่งตา ภายในห้องโถงใหญ่มีแสงสว่างส่องจากภายนอกเข้าไปได้ตามช่องแสงที่ติดกระจกสีไว้
ส่วนที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ หลุมศพของพระนางมุมตัซ มาฮาล ซึ่งถูกสร้างด้วยหินอ่อนสีขาว ได้รับคำรับรองว่าสร้างขึ้นด้วยสัดส่วนที่วิจิตรและงดงามที่สุด เป็นมรดกโลกด้วยความงดงาม ละเมียดละไม เปี่ยมด้วยความอัจฉริยะภาพและความปรารถนาในความรักมั่นดุจนิยาย
สีสันแห่งการท่องเที่ยว
ความสุขของต่อสุข