http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม14,008,070
Page Views16,317,139
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

อุ้มผาง4.อลังการน้ำตกทีลอซู โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

อุ้มผาง4.อลังการน้ำตกทีลอซู โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

อุ้มผาง4.อลังการน้ำตกทีลอซู

โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

           ภาพจากสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อทีวีสารคดีมากมาย เน้นให้เห็นความอลังการอันยิ่งใหญ่ของน้ำตกทีลอซู ผมเสพย์จากสื่อจนเกือบจะอกแตกตาย ด้วยว่าไม่เคยไปสักครั้ง ฟังเรื่องเล่าจากปากคนที่ไปก็ว่า "ก่อนตายต้องไปสักครั้ง" เพราะว่ามันคุ้มกับภาพความสวยงามและยิ่งใหญ่อลังการสุดๆของน้ำตกแห่งนี้ แต่จนแล้วจนรอดผมก็ยังไม่เคยไปอยู่ดี จนเมื่อไปแม่สอดแล้วเลยไปธุรกิจที่อำเภอพบพระ ก็มีคนเล่าว่า จากนี้ไปอุ้มผางทางคดโค้งและยากลำบากเหลือกำลัง เหมือนแดนสนธยา เหมือนเมืองลับแล โอ้ อนิจจา 

 

           ต้นเดือนมีนาคม ปีนี้เองที่ผมได้ไปอุ้มผาง และได้เลยเข้าไปจนถึงน้ำตกทีลอซู ถนนทางเข้าเคยราดยาง แต่พังไปตามกาลเวลาและการใช้งาน บางตอนเป็นถนนคอนกรีตเพื่อให้รถยนต์วิ่งไปได้สะดวกเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า บางตอนเป็นดินลูกรังเรียบแต่ฝุ่นตลบ รถยนต์ที่ใช้เป็นแบบขับเคลื่อนสี่ล้อทั้งสิ้น ฤดูกาลที่เปิดให้เข้าไปท่องเที่ยวเพียง 6  เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เมษายน เข้าฤดูฝนจะปิดการเข้าถึงทั้งสิ้น ผมไปเที่ยวน้ำตกทีลอซูเมื่อหน้าแล้ง เอ้า ก็ต้องลองไปดูมีโอกาสเดียวนี้แล้วซี จะอลังการหรือไม่เดี๋ยวก็รู้กัน

 

ลานกางเต็นท์

           ป๋อง วิลล่า ทีลอซู เจ้าของกิจการท่องเที่ยวและที่พักแรม อีกหนึ่งกิจการนำเที่ยวของชาวอุ้มผาง เล่าให้ฟังว่า "หน้าฝนน้ำตกสวยมาก ปริมาณน้ำที่ตกอลังการสุดๆ แต่เข้าไม่ได้ ช่วงเวลาที่เข้าได้คือเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป ช่วงนี้ปริมาณน้ำยังมาก น้ำตกสวยมาก และก็หนาวมากด้วย ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะซื้อทัวร์แบบไปเที่ยววันเดียวกลับมาพักแรมที่รีสอร์ทในอุ้มผาง รีสอร์ทของผมนี่อยู่ใกล้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางที่สุด ห่างจากด่านของเขตราวๆ 1 กม.ครับ" 

 

ป๋อง วิลล่าทีลอซู กำลังเล่า

 

           "ถ้ารถของเราเข้าไปตามถนนในป่าเป็นคันแรก อาจจะได้เห็นสัตว์ป่าประเภทนก เช่น ไก่ฟ้าหลังเทา ไก่ป่า นกขุนแผน นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ ฯลฯ   และอาจได้เห็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่น เก้ง กวาง หมูป่า อีเห็น กระรอก พญากระรอกบิน ฯลฯสัตว์ป่านั้นเมื่อมีรถยนต์เข้าเขาก็หลบไปในป่า ถ้าไม่มีรถยนต์ก็ออกมาหากินไปตามถนน ชายป่าไม้ไผ่ เก็บหาเมล็ดไผ่เมล็ดหญ้า พืชผักกินตามประสา รถยนต์คันที่ผมนั่งอยู่กลางขบวน จึงไม่มีโอกาสเห็นดังที่กล่าว" ป๋อง วิลล่า ทีลอซู ตบท้าย

 

นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ที่พบ

            รถยนต์ไปถึงลานจอดรถที่ทางเขตฯ เตรียมไว้รองรับนักท่องเที่ยว ผมเดินไปเข้าห้องสุขา โอยปวดใจ เก่า โทรม สภาพดูเหมือนว่าสกปรกมาก ผึ้งแตนบินเก็บกินเกลือแร่จากโถฉี่ว่อนไปทั่ว หวาดเสียวว่ามันจะต่อยไอ้จู๋อยู่เหมือนกัน แต่โชคดีที่มันคงมองไม่เห็น (เพราะว่ามีขนาดเล็กจิ๋วเกินไป) ผมออกมาด้วยใบหน้าบิดเบ้ ไม่แฮปปี้เลย

            ในภายหลังได้พบหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง คุณ มงคล  คำสุข จึงได้ทราบว่า น้ำที่ใช้เป็นน้ำที่ไหลผ่านหินปูน จึงมีคราบเหลืองเลอะเทอะไม่น่าดู แต่สะอาดทุกห้อง 

 

คุณมงคล คำสุข หน.เขตฯอุ้มผาง และคุณจำลอง บุญสอง บก.ท่องเที่ยวโพสท์ทูเดย์

            เบื้องหน้าห้องสุขาโทรมๆเป็นลานกว้างมากสัก 20 ไร่ เป็นลานโล่งๆให้นักท่องเที่ยวมากางเต็นท์พักแรม รายล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย ส่วนใหญ่เป็นไม้ป่าโปร่ง ผลัดใบ จึงดูแห้งๆไปทั้งแถบ มีป้ายสื่อความหมายว่าให้เดินทางไปตามเส้นทางที่เตรียมไว้เป็นปูนซีเม็นต์กว้าง 2 เมตร เพื่อเข้าไปเยี่ยมยามน้ำตกทีลอซู ระยะทาง 1.5 กม. โดยเลาะเลียบไปตามลำน้ำที่ไหลมาจากน้ำตก ผ่านป่าดงดิบที่เต็มไปด้วยหวาย เต่าร้าง ไม้ป่า ป่าไผ่ เถาวัลย์ระโยงระยาง มีน้ำตกหินปูนเป็นระยะ และมีอยู่เวิ้งหนึ่งซึ่งงดงามมาก เหมือนเป็นวังน้ำสีมรกต เสียดายที่ไม่มีการสร้างทางเดินให้เข้าไปสัมผัสได้ จึงมองดูไกลๆ

 

พูพอนของต้นไม้ชายน้ำ

สระมรกต

            ผมเดินบันทึกภาพไปตามหน้าที่ซึ่งเป็นทั้งตากล้องและนักเขียนสารคดีเว็บไซทองไทยแลนด์ดอทคอม ได้เห็นลำไผ่สีหมองหม่นด้วยว่าคนมือซนๆอยากจารึกไว้เป็นอนุสรณ์ สลักชื่อตัวตนและคนรักไว้มากมาย ก็ดูดีนะ แต่ก็ดูไม่สวยนะ คำตอบจึงอยู่ที่ว่า จะมองในมุมไหน ผมผ่านไปอีกก็ได้เห็นพระสงฆ์เดินสวนมา ผมอดใจไม่ได้เลย เป็นองค์ประกอบหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวที่ร่มเย็น ยิ่งใหญ่ อลังการ ทุกผู้ควรมาชมสักครั้ง ได้สัมผัสไอเย็นจากละอองน้ำตกที่พลิ้วปลิวมาว๊อยๆ 

 

ไม่น่าเล้ย หมดงามแต๊ๆ

             พอเดินใกล้น้ำตก ผมได้ยินเสียงน้ำตกกระทบโขดหิน แต่รอบๆได้เห็นต้นต๋าวเป็นดง ต้นไม้ชนิดนี้มีทั่วไปในป่าดงดิบ เป็นดัชนีหนึ่งที่บ่งชี้ว่าเป็นป่าดงดิบ และเป็นระดับที่มีความชุ่มชื้นสูงกว่าป่าโปร่งที่ผ่านมา ช่วงเวลาที่ผมเข้าไปใกล้น้ำตกทีลอซู เป็นช่วงบ่ายกว่า 16.30 น. ตะวันเกือบจะลับหลังเขาไปแล้ว แต่ยังมีรัศมีของแสงเปล่งประกายให้สามารถบันทึกภาพได้

              มีนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำ เพราะว่าปริมาณน้ำน้อยกว่าหน้าฝน หรือปลายฝนต้นหนาว น้ำขังเป็นแอ่งๆ ไหลเอื่อยๆ มีลานให้นักท่องเที่ยวยืนชมภาพความอลังการของน้ำตกทีลอซู ถ้ามาตรงฤดูกาลก็คงจะได้เห็นน้ำตกทีลอซู กว้างถึง 500 เมตร จุดที่น้ำตกไหลลงมาราวกับฟ้ารั่วนั้นสูงกว่า 120 เมตร   ความยาวตามแนวลาดเอียง 220 เมตร เป็นน้ำตกที่ตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางกว่า 900 เมตร

 

             แต่วันนั้น มีปริมาณน้ำที่ตกดังภาพที่เห็น จึงดูไม่ยิ่งใหญ่อลังการตามจินตนาการและภาพที่เคยเห็นมาก่อน มีป้ายสื่อความหมายปักไว้ เล่าว่า ทีลอซูเป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่า น้ำตก เกิดจากแม่น้ำสองสายคือห้วยทีเครโกร และห้วยกล้อทอ ไหลผ่านช่องเขาขาด กลายเป็นน้ำตกทีลอซู ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำแม่กลอง หากวันใดก็ตามที่ผืนป่าเหนือน้ำตกทีลอซูหดหาย หรือถูกบุกรุกทำลายจนสิ้น ทีลอซู ก็สิ้นใจ  พี่น้องชาวอุ้มผางและคนไทยทุกคนจึงต้องช่วยกันปกป้อง ป้องกัน เสริมสร้างเส้นใยสายสนเพื่อให้ประชาชนร่วมกันถนอมรักษาป่าไม้เหนือน้ำตกไว้

 

น้ำตกทีลอซูที่ยิ่งใหญ่ในยามแล้ง

 

              น้ำตกทีลอซูเป็นทรัพยากรท่องเที่ยวสำคัญที่สุดของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง เป็นเพชรเม็ดงามของอำเภออุ้มผาง เป็นเส้นเลือดใหญ่ของจังหวัดตาก เป็นน้ำตกที่ยิ่งใหญ่อลังการและสวยงามที่สุดของประเทศไทย เป็นป่าต้นน้ำแม่น้ำแม่กลองที่มีความสำคัญยิ่งต่อลุ่มแม่น้ำแม่กลอง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวมีความปรารถนามากที่สุดที่อยากเข้าไปชมและสัมผัสลึก 

               ว่ากันตามหลักการจัดการป่าอนุรักษ์ซึ่งมีทั้งป่าอนุรักษ์ประเภทอุทยานแห่งชาติ และป่าอนุรักษ์ประเภทเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่กลองและป่าอุ้มผาง ส่วนที่ถูกประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง พื้นที่ 1,619,280 ไร่ (พ.ศ.2532และ2537) ตำบลโมโกร ตำบลหนองหลวง ตำบลอุ้มผาง ตำบลแม่กลอง ตำบลแม่จัน และตำบลแม่ละมุ้ง ท้องที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีทรัพยากรท่องเที่ยวทางธรรมชาติประเภทน้ำตก พันธุ์พืช วิวทิวทัศน์ และด้านสัตว์ป่า สมควรประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติมากกว่า มากที่สุด 

ไม้ป่าจำพวกเฟิร์น อิงอาศัย

              แต่ด้วยอวิชชาของผู้อำนวยการกองสองคนของกรมป่าไม้คือนายไพโรจน์ สุวรรณากร ผอ.กองอุทยานแห่งชาติ และนายผ่อง เล่งอี้ ผอ.กองอนุรักษ์สัตว์ป่า ของกรมป่าไม้ทั้งสองคนนี้ ไม่กินเส้นกัน จึงแข่งขันกันประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั้งๆที่โดยหลักวิชาการและด้วยทรัพยากรธรรมชาติแล้ว สมควรประกาศตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ก็กลับสลับกันไปแย่งประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 

               นี่คือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ น้ำตกทีลอซู แหล่งท่องเที่ยวชั้นสุดยอดต้องตกอยู่ในขอบเขตอันจำกัดของคำว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ถ้าประกาศพื้นที่แห่งนี้เป็นอุทยานแห่งชาติ ก็จะเข้าเงื่อนไขหลักการจัดการอุทยานแห่งชาติ  ระเบียบกรมป่าไม้ ให้สร้างบ้านพักรองรับนักท่องเที่ยวได้ ส้วมและโรงอาหารก็คงไม่อุดจาดดังที่เห็นเป็นแน่ หรือเปิดกว้างให้นักท่องเที่ยวได้ใช้ประโยชน์ได้อย่างอิ่มเอม

อ.ชูศักดิ์ หทัยสุทธิ แคมป์สุขเสถียร(แขนส้ม)

               แต่เมื่อแข่งดีแข่งเด่นกันด้วยโลภจริตของท่านทั้งสองจึงเป็นกรรมของกรมป่าไม้และประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรท่องเที่ยวไป แหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามภูมิทัศน์เยี่ยม และทรัพยากรท่องเที่ยวเพียบ แล้วถูกประกาศจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเช่นกรณีน้ำตกทีลอซู ก็มีอีกมากเช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เหล่านี้ก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกับทีลอซู แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเพียบ

น้ำตกทีลอซูยามแล้ง

               อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายดำรงค์ พิเดช เคยประกาศว่าจะตราพระราชกฤษฎีกายกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั้งสามแห่งนี้ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท่องเที่ยวได้อย่างเต็มพิกัด แต่ภายหลังอธิบดีดำรงค์ ถูกย้ายไปเป็นรองปลัดกระทรวงเสียหลายปี ครั้นกลับมาเป็นอธิบดีกรมอุทยานฯ อีกครั้ง ไม่แน่ใจว่าลืมแนวความคิดดีๆ ก้าวหน้า และแก้ไขสิ่งที่ผิดให้เป็นถูกอยู่หรือเปล่า ใครอยู่ใกล้ช่วยถามให้ที พี่ธงอยากรู้

กล้วยป่าระหว่างทางเดินไปน้ำตกทีลอซู

                ถ้านายดำรงค์กระทำตามที่ได้เคยดำริไว้ ก็จะปลดโซ่ตรวน ทีลอซู ภูหลวง และโตนงาช้าง ออกไป ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่แผ่นดิน การท่องเที่ยวของประชาชนและประเทศชาติ ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะเป็นทรัพยากรท่องเที่ยวที่สำคัญสูงสุดของชาวอุ้มผางและปวงชนชาวไทย หนทางที่จะกระตุ้นเตือนจิตสำนึกดีๆของอธิบดีกรมอุทยานฯ นายดำรงค์ พิเดช ได้ ก็ต้องชาวอำเภออุ้มผาง จังหวัดตากแล้วที่ต้องรวบรวมรายชื่อเสนอไปให้เป็นกิจจะลักษณะ ประชาชนทุก 50,000 คนมีสิทธิตรากฎหมายได้มิใช่หรือ

               ผมเคยเขียนเรื่องการตราพระราชกฤษฎีกาทับพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั้งสามแห่งนี้ เพื่อให้เป็นอุทยานแห่งชาติใน นสพ.เดลินิวส์ หน้าต่าง ป่าไม้พัฒนา และบ้านเมืองฟรีสไตล์ใน นสพ.บ้านเมือง เมื่อ 20 ปีที่แล้วมาแล้วครั้งหนึ่งเพื่อนำเสนอให้เกิดการทบทวนสิ่งที่ผิดพลาดในอดีตให้ถูกต้องในปัขขุยันนี้ เสียดายที่ไม่ได้เก็บต้นฉบับไว้ 

               ส่วนผู้ที่ห่วงใยว่า ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแล้วน้ำตกทีลอซูจะถูกใช้จนไม่ฟื้นตัว น้ำจะหมด ก็อย่าได้กังวลนะครับ เพราะว่าถ้าท่านกังวลเรื่องนี้ละก้อ ดูข้อมูลตรงนี้แล้วจะเข้าใจได้ว่า ป่าต้นน้ำน้ำตกทีลอซูและป่าอุ้มผางจะเหือดแห้งหรือไม่อยู่ที่ประชาชนส่วนนี้ครับ

               ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางแห่งนี้ ตอนที่ประกาศเขตฯทับซ้อนจนมีหมู่บ้านอยู่ภายในเขตถึง 31 หมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านที่อาศัยอยู่และทำกิน(ทำไร่เลื่อนลอย ไร่หมุนเวียน) ในเขต 20 หมู่บ้าน 866 ครอบครัว มีพื้นที่ถือครองทั้งอยู่และทำกินรวม 15,523 ไร่ มีหมู่บ้านที่อยู่นอกเขตแต่อาศัยเข้าไปทำกินในเขต  11 หมู่บ้าน 377 ครอบครัว มีพื้นที่ทำกินล้วนๆในเขต 18,886 ไร่  รวมเป็นประชากรที่เกี่ยวข้อง 1,243 ครอบครัว พื้นที่ทำกิน 34,409 ไร่ แม้เมื่อเทียบกับพื้นที่ของเขตทั้งหมด 1,619,280 ไร่ ดูเหมือนว่าเล็กน้อยก็ตาม

               แต่มนุษย์สมองโต ขี้โกง เห็นแก่ตัว โลภ ขาดจิตสำนึก และมักใช้กฎหมู่เข้าหักหาญกับหน่วยราชการที่ต้องอยู่ในกฎหมาย ระเบียบ หน้าที่  จริยธรรม และคุณธรรม เร็วๆนี้เองก็เกิดการกลุ้มรุมล้อมกรอบและลักพาตัวพนักงานของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางไปเป็นตัวประกัน  แล้วจะให้ผมเชื่อมั่นในจิตใจมนุษย์ได้ง่ายๆเช่นนั้นหรือ ซึ่งเป็นม้งไม่ใช่กะเหรี่ยง

               ไม่ว่าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางจะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติหรือไม่ ก็จะไม่มีผลกระทบในเชิงพื้นที่และสภาพทรัพยากรธรรมชาติแต่อย่างใด ที่จะกระทบมากที่สุดก็คือการที่ราษฎรบุกรุกทำไร่เลื่อนลอยกันไม่หยุดยั้ง นั่นแหละวันหนึ่งเพชรน้ำเอกแห่งน้ำตกทีลอซู จะแห้งเหือดอย่างถาวร เมื่อนั้น คงเหลือเพียงภาพและความอาลัย ชาวอุ้มผางที่รัก ทำไงกันดีจึงจะมีทรัพยากรท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ยั่งยืน ทำอย่างไรกันดีธุรกิจนำเที่ยวจึงจะยั่งยืน และประการสำคัญ ประชาชนคนโดยรอบต้องได้รับส่วนแบ่งความสุขเหล่านั้นด้วยเพียงใด   

บันทึกข่าวเพิ่มเติม

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ได้มีกลุ่มชาวม้งในพื้นที่ ต.โมโกร จำนวนกว่า 50 คน ได้บุกเข้าจี้จับเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าแม่กลองน้อยจำนวน 4 คน เพื่อเป็นตัวประกัน ให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัว นายเย้ง อาชาคีรี ทั้งนี้ โดยเหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ 15.40 น. นายประวิทย์ พร้อมเจ้าหน้าที่จำนวน 11 นาย ออกตรวจพื้นที่ พบผู้บุกรุกแผ้วถางป่าบ้านแม่กลองน้อย เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ และได้ควบคุมผู้กระทำความผิดได้ 1 คนชื่อ นายเย้ง อาชาคีรี อายุ 28 ปี ต่อมานายประวิทย์กำลังจะนำตัวผู้ต้องหาส่ง สภ.อุ้มผาง ได้รับวิทยุแจ้งจากหน่วยพิทักษ์ป่าบ้านแม่กลองน้อยว่า มีกลุ่มชาวเขาเผ่าม้ง กว่า 50 คน นำโดย ส.อบต.บ้านแม่กลองน้อย พร้อมราษฎรม้ง นั่งรถบรรทุกจำนวน 4 คัน และได้เข้าไปข่มขู่พร้อมควบคุมตัว จนท.พิทักษ์ป่าจำนวน 4 คน ทราบชื่อ 1 นายชินดี คีรีสถิร อายุ 25 ปี 2 นายอุดร ดนุพลลิขิต อายุ 25 ปี 3 นายดีเปล จิตรุ่งธรรมกุล อายุ 19 ปี 4 นายมณี จันทร์น้อย อายุ 38 ปี เพื่อเป็นเงื่อนไขต่อรองให้ปล่อยนายเย้ง ผู้ต้องหา ผลสุดท้ายเจ้าหน้าที่ต้องยอมแลกตัวระหว่างนายเย้งผู้ต้องหากับเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ทั้ง 4 คน เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้สร้างความกังขาให้ประชาชนทั่วไปว่า ทำไมเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย ทหาร ตำรวจ ตชด.ตำรวจ สภ.อุ้มผาง และฝ่ายปกครอง อ.อุ้มผาง จึงยอมให้มีการจับตัวประกัน รวมทั้งยังยอมแลกตัวผู้ต้องหาโดยไม่ดำเนินคดีกลุ่มชาวม้งทั้งหมด

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2555 พ.ต.ท.หลักชัย ศรีธรรม อายุ 48 ปี พนักงานสอบสวน สภ.อุ้มผาง จ.ตาก ในฐานะราษฎรคนไทย ได้เดินทางไปยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดแม่สอด เพื่อฟ้องนายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และนายโอภาส เพียรสถาพร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ 14 เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ในข้อหาฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยเหตุเกิดระหว่างที่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ และ ผอ.สำนักงานบริหารที่ 14 ได้นำเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานฯ เข้าปิดล้อมหมู่บ้านแม่กลองน้อย เพื่อจับกุมชาวม้ง 10 คนที่ตกเป็นผู้ต้องหาจับกุมตัวเจ้าหน้าที่ไปกักขัง และให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า มีราษฎรชาวม้งบุกรุกแผ้วถางป่าที่บ้านแม่กลองน้อย แต่ไม่ดำเนินการจับกุม จึงถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อปรากฏว่าอธิบดีกรมอุทยานฯและ ผอ.สนง.14 ตาก เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่จับกุมว่าด้วยกฎหมายป่าไม้โดยตรง ได้พบเห็นการกระทำผิด แต่มิได้จับกุมจึงร้องขอต่อศาลจังหวัดแม่สอด ให้ดำเนินคดีกับบุคคลทั้ง 2 ตามกฎหมาย

 

สนุกจริงๆให้ดิ้นตาย วัวกับควาย ตัวไหนฉลาดกว่ากัน

 

Tags : อุ้มผาง3.มหัศจรรย์ล่องแพแม่กลอง

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view