http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม14,003,879
Page Views16,312,752
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

วัตรทรงธรรมกัลยาณี วัดพระผู้หญิงปฏิบัติธรรม โดยป่าน ศรนารายณ์ เรื่อง-ภาพ

วัตรทรงธรรมกัลยาณี วัดพระผู้หญิงปฏิบัติธรรม โดยป่าน ศรนารายณ์ เรื่อง-ภาพ

วัตรทรงธรรมกัลยาณี  วัดพระผู้หญิงปฏิบัติธรรม

โดยป่าน ศรนารายณ์ เรื่อง-ภาพ

           ตำนานภิกษุณี กล่าวกันว่า ครั้งพุทธกาล พระพุทธองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงโปรดให้ พระนางมหาปชาบดีเถรี พระน้าเธอ(น้องสาวแม่)และพระมัจตุฉา(มารดาเลี้ยง) ของพระองค์ที่ทรงขอบรรพชาเป็นภิกษุณีองค์แรกในบวรพุทธศาสนา และพระองค์โปรดให้บรรพชาโดยการรับศีล 8 ข้อ หลังจากนั้นได้บัญญัติให้ภิกษุณีถือศีล 311 ข้อ มากกว่าภิกษุสงฆ์ที่ถือศีลเพียง 227 ข้อ โอ๊ะ โอ๋ มีมาแต่กาลนานกว่า 2555 ปีแล้ว

 

ให้โอวาทแด่พุทธบริษัทที่ร่วมงาน

          ป่านเปิดอินเตอร์เนตกูเกิ้ล จึงได้ความรู้ว่า คุรุธรรม 8 ข้อประกอบด้วย

         1.แม้ภิกษุณีจะบวชได้ 100 พรรษา ก็พึงให้ทำอัญชลี เคารพนพนอบภิกษุ แม้บวชในวันเดียวกัน 

          2.ภิกษุณีอย่าอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ

          3.ภิกษุณีจะต้องทำอุโบสถกรรม และรับโอวาท แต่สำนักสงฆ์ทุกกึ่งเดือน

          4.ภิกษุณีจำพรรษาแล้ว ให้พึงปวารณาในสำนักอุภโตสงฆ์

 

หลวงแม่ รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ "ธัมมนันทา"

          5.ภิกษุณี หากต้องอยู่ปริวาสกรรม พึงประพฤติปักขมานัด(คืออยู่มานัดถึงกึ่งเดือน) ในสำนักอุภโตสงฆ์

          6.ภิกษุณี อุปสมบทในสำนักอุภโตสงฆ์ พึงสมาทานซึ่งวัตรปฏิบัติในธรรม 6 ประการ คือ เว้นจากปาณาติบาต ถึงกาลโภชนะ เป็นต้น มิให้ล่วงและศึกษาให้รู้วัตรปฏิบัติต่างๆ สิ้นกาลถึงพรรษาเต็ม
          ๗. ภิกษุณี อย่าพึงด่าบริภาษภิกษุสงฆ์ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง 
          ๘. ภิกษุณี นับแต่วันบรรพชาเป็นต้นไป พึงสดับรับโอวาทของภิกษุกล่าวสั่งสอนฝ่ายเดียว ห้ามโอวาทสั่งสอนภิกษุ    

 

หลวงแม่นำขลิบแล้วใส่ลงไปในใบบัว

           ครั้นต่อมาในภายหลัง ภิกษุณีสายเถรวาทที่บวชตามพระวินัยปิฏกเถรวาท ในสงฆ์สองฝ่ายได้แก่ฝ่ายภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ ได้ขาดหายไปไม่มีผู้สืบทอด คงเหลือแต่ภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายมหายานที่บวชในสงฆ์ฝ่ายเดียว เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ศรีลังกา

 

ญาติโยมขลิบผมเป็นสิริมงคลชีวิต

            กลับมาที่ตำนาน วัตรทรงธรรมกัลยาณี ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม ตำบลพระประโทน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เป็นวัดพระผู้หญิงแห่งแรกที่ตั้งขึ้นโดยภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ เมื่อปีพ.ศ.2503 (วัตรนี้สะกดตามภาษาสันสกฤต แปลว่า สถานที่ที่ผู้หญิงมาปฏิบัติธรรม) โดยภิกษุณีวรมัยได้เดินทางไปอุปสมบทที่ไต้หวัน เมื่อปีพ.ศ.2514 ท่านเป็นภิกษุณีชาวไทยองค์แรก ท่านเผยแพร่ธรรมะโดยการออกนิตยสารพุทธศาสนา นาน 12 ปี และท่านได้มรณภาพเมื่อพ.ศ.2546 สิริรวมอายุ 95 ปี สาธุ สาธุ

 

ปลงผมด้วยแม่ชีเมตตา

             ต่อมา รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ บุตรี สละชีวิตราชการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อสืบทอดพระศาสนาที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี เมื่อพ.ศ.2544 และเดินทางไปอุปสมบทเป็นภิกษุณีรูปแรกในสายเถรวาท เมื่อปีพ.ศ.2546 ได้รับฉายา ธัมมนันทา อันเป็นภิกษุณีสายสยามวงศ์  ณ วัดดัมบุลละ ประเทศศรีลังกา ปัจจุบันท่านเป็นเจ้าอาวาสวัตรทรงธรรมกัลยาณี และได้กำหนดโครงการบรรพชาสามเณรีประจำปีๆละ 2 ครั้งทุกปี

 

พระภิกษุณีสงฆ์นำขบวนนาทินีไปบรรพชา

              ช่วงแรกตั้งแต่ระหว่างวันที่ 6-14 เมษายน และช่วงที่สองระหว่างวันที่ 5-13 ธันวาคม ซึ่งในโครงการแรกนี้เอง หลานสาวของป่าน ชื่อทัศนาถ เปาอินทร์ จะบรรพชาสามเณรี  แรกก็สงสัยว่า อะไรกัน ผู้หญิงแต่งงานมีบุตรธิดาโตแล้วจะบวชพระผู้หญิงได้อย่างไร มีวัดอย่างนี้ด้วยหรือ บวชชีเสียละมัง สงสัย สงสัย

 

นาทินีเดินตามรอยพระพุทธศาสนา

             เปิดอินเตอร์เนต เขียนคำว่า วัตรทรงธรรมกัลยาณี เว็บไซต์ของ www.thaibhikkhunis.org ก็ปรากฏขึ้นมา แล้วเรื่องราวต่างๆของวัดก็ปรากฏ ทึ่งค่ะ ทึ่งจริงๆ นครปฐมมีวัดพระผู้หญิงด้วย เป็นความรู้ใหม่เหมือนใกล้เกลือกินด่างจริงๆ นี่ถ้าหลานสาวไม่บอกบุญก็คงจะไม่รู้เลยว่า มีวัดนี้อยู่ในพระพุทธศาสนาของเราด้วย ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐมด้วย ชื่อวัดก็เขียนว่า วัตร แปลกแต่จริงๆเลย

 

อุ้มบาตรอุ้มผ้าไตรเตรียมให้นาทินีบรรพชาเป็นสามเณรี

             จากข้อความของอินเตอร์เนต วิกิพีเดียหัวข้อภิกษุณี ความว่า พุทธบัญญัติให้สตรีโสดบรรพชาได้เมื่ออายุ 18 ปีขึ้นไป แต่ถ้าแต่งงานแล้วต้องอายุ 12 ปีขึ้นไป เพราะว่าแต่งงานแล้ว รู้สุข รู้ทุกข์ จึงเข้าใจใน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แล้ว โดยเริ่มต้นบวชเป็น สิกขมานา ถือศีล 6 ข้อ เป็นเวลา 2 ปี หากทำผิดพระวินัยให้นับตั้งต้นใหม่ เมื่อบวชสิกขมานาครบ 2 ปีอายุครบ 20 ปี จึงบรรพชาโดยภิกษุณีสงฆ์ ผู้บรรพชาให้เรียกว่า ปวัตตินี หรือพระอุปัชฌาย์ที่เป็นผู้หญิง

 

            หลานสาวป่านก็รู้สุขรู้ทุกข์มานาน เมื่อปวารณาตัวที่จะบรรพชาเป็นสามเณรี แม้เพียงชั่วเวลา 9 วัน 9 คืน ก็ถือว่าได้เข้าไปใช้ชีวิตในร่มกาสาวพัตรแล้ว เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นธรรมจรรยาที่หาได้ยากยิ่ง โดยเฉพาะโยมพ่อนั้นดีใจ เพราะว่ามีบุตรชายถึง 3 คนแต่ก็กลับได้เกาะผ้าเหลืองจากบุตรีคนเดียว  คิดแล้วก็น่าขำดี

 

ผู้อุ้มบาตรเวียนสามรอบโบสถ์เช่นกัน

            เช้าตรู่ ป่านไปถึงวัตรทรงธรรมกัลยาณี เวลา 07.15 น. ได้เห็นพระภิกษุณีและสามเณรีหลายสิบรูปกำลังฉันอาหาร(มังสวิรัติ)  โดยระหว่างที่ภิกษุณีสงฆ์และสามเณรี ฉันอยู่นั้น ญาติโยมก็ไปตักมารับประทานได้พร้อมๆกัน ไม่ต้องนั่งรอพระฉันแล้ว นอกจากนั้นยังมี กาแฟ โอวัลติน ไมโล น้ำเต้าหู้ น้ำเปล่า มีให้เลือกตามชอบ พระฉันโยมก็รับประทานพร้อมกัน ดีจัง

 

เวียนรอบโบสถ์ 3 รอบ

           ได้เวลา บรรดาสาวกที่เป็นผู้หญิงก็มารวมตัวกันหน้าศาลา พระภิกษุณีและสามเณรียืนแยกกลุ่มกันอยู่ ญาติโยมที่มาร่วมงานนี้นั่งอีกฟากหนึ่ง มีเด็กหญิงน้อยๆคนหนึ่งออกมาร้องเพลง ค่าน้ำนม งานนี้ทำเอาทั้งญาติโยมและสตรีผู้จะบรรพชาน้ำตาร่วงกันระนาว หลังจากนั้นตัวแทนสตรีผู้ขอบรรพชาได้กล่าวนิมนต์หลวงแม่ เจ้าอาวาส ขลิบผมเป็นองค์แรก หลังจากนั้นภิกษุณีก็ทยอยกันมาช่วยขลิบผมให้ “นาทินี” ที่สองมืออุ้มใบบัวรองเส้นผมที่ถูกขลิบออก

 

ภิกษุณีสงฆ์ตั้งรับการขออนุญาตขึ้นโบสถ์เพื่อบวช

            ญาติโยมตามหลังมาช่วยกันขลิบผมให้กับนาทินี  แล้วก็ส่งไปให้แม่ชีและโพธิอาสาของวัตรช่วยกันโกนจนได้ที่ ระหว่างที่โกนผมกันอยู่ด้านหลังนั้น ป่านย่องไปถ่ายรูปมาด้วย เห็นเส้นผมสลวยถูกตัดจนเกลี้ยง นึกในใจ ไม่เสียดายผมสวยกันเลยหรือไงนะ บางคนเมื่อโกนผมแล้วก็มีเลือดไหลซิบๆ บางคนหัวงามหน้าก็งาม ยอมหัวโล้นได้ใจเลย

 

ผ้าไตรที่ถือไว้นี้บุพการีจะให้เจ้า

           ส่วนทาง ด้านหน้าก็จัดแถวเตรียมแห่เหล่าพระภิกษุณี สามเณรี และ นาทินี ผู้จะขอบรรพชา จากหน้าวัดไปถึงโบสถ์  เมื่อทุกคนพร้อมก็ได้เห็นชายหนุ่ม 2 คนนำขบวนด้วยการลั่นฆ้อง ก้าวนำขบวนออกไปเป็นแถวแนว งดงามด้วยอิริยาบถที่สุขุมนุ่มละไม แต่ไม่มีเสียงปีกลองฉลองกันดังโฉ่งฉ่างอย่างงานบวชพระชาย บางแห่งมีหญิงเต้นโคโยตี้ให้ชมด้วย  

 

พนมมือขอผ้าไตรไปบวช

            เมื่อขบวนพระภิกษุณี สามเณรี และนาทินีผู้ขอบรรพชา ไปถึงโบสถ์ เวียนจนครบสามรอบ แล้วก็ตั้งแถวที่หน้าบันได  ในมือของแต่ละนาทินีถือดอกบัว  เชิงบันไดพระภิกษุณียืนรอรับอยู่ แล้วตัวแทนนาทินีกล่าวคำขอขึ้นไปบรรพชา ด้วยการส่งมอบดอกบัวให้ หลังจากนั้นหันหลังกลับมายืนพนมมืออยู่หน้าบิดามารดาญาติโยมที่เคารพ แล้วกล่าวขอผ้าไตร จึงจะขึ้นไปบรรพชาบนโบสถ์ได้ พิธีบรรพชาไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป จึงไม่มีค่ะ

 

ชาวต่างชาติมาร่วมอนุโมทนาบุญ

           ต่อจากนั้น พระภิกษุณีและสามเณรีบวชใหม่ได้เดินกลับมาทางศาลา พร้อมอุ้มบาตรมารับของถวายจากญาติโยม ริ้วขบวนที่เดินทางกลับมานี้ใช้เวลาไม่ช้านัก หลังเสร็จสิ้นการถวายจตุปัจจัยแด่สามเณรีแล้ว ป่านก็เดินทางกลับ จึงไม่มีรูปหมู่ หรือรูปคู่กับหลานสาวมาอวด แต่อย่างไรก็ดี ป่านถือว่าโชคดีมากๆค่ะที่ได้รับการบอกบุญครั้งนี้ บวชพระผู้หญิงที่ชอบปฏิบัติธรรม หายโง่ไปเลย จังหวัดที่ป่านอยู่นี้มีดีอีกอย่างหนึ่งแล้ว  วัตรทรงธรรมกัลยาณี

      

คณะภิกษุณีสงฆ์รับถวายหลังการบรรพชาแล้วเสร็จ

การขอผ้าไตรเพื่อเข้าโบสถ์

กราบบุพการีด้วยน้ำตานองหน้า ปลื้มในค่าน้ำนม

พระภิกษุณีและสามเณรี ฉัน

แม่ชีรับประทานอาหารเช้า

คมมีดโกน เลือดตกยางออกกันซิบๆ แสบๆ

คณะภิกษุณีและสามเณรีเดินนำนาทินีไปบรรพชา

ตั้งจิตมั่นคงดำรงพระศาสนา

สละผมสลวยดำขำสิ้น

รับถวายหลังบรรพชาเป็นสามเณรี

รับผ้าไตรจากญาติบุพการีสามีและผู้เคารพนับถือ

 

           

 

             

 

Tags : พาเที่ยววัดใหญ่ กราบไหว้หลวงพ่อใหญ่

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view