http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,956,649
Page Views16,262,947
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ฤาษีแห่งเลตองคุ3. หมู่บ้านเลตองคุ หนึ่งในไทยแลนด์

ฤาษีแห่งเลตองคุ3. หมู่บ้านเลตองคุ หนึ่งในไทยแลนด์

ฤาษีแห่งเลตองคุ 3.

บ้านเลตองคุ หนึ่งในไทยแลนด์

โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

              ไม่มีสถิติที่เป็นทางการว่า แผ่นดินดอยลอยฟ้า ทั้งอุ้มผาง มีประชากรที่เป็นชนเผ่ากี่เผ่า แต่ละเผ่ามีอยู่กี่คน แล้วคนเมือง(ไทยเหนือ)ที่อยู่ผสมปนเปกันเล่าจะมีอยู่สักกี่คน คนจีนแท้มีไหม คนจีนลูกผสมมีไหม ผมจึงจนด้วยเกล้าว่า จะเซาะหาเอกลักษณ์ของอุ้มผางจากเรื่องราวใดกันหรือ ในเมื่อสถิติที่เห็นมีเพียงว่า แต่ละตำบลมีคนเท่าไร สาระสำคัญแห่งวัฒนธรรมประเพณีและศิลปะที่ควรอนุรักษ์หรือจารึกไว้ ไม่ปรากฎ ผมไปเที่ยวงานไทยทรงดำเมื่อเร็วๆนี้ แม้ไม่มีสถิติให้ค้นหาแต่ก็มีเอกลักษณ์ที่เป็น "ไทยทรงดำ"หรือลาวโซ่ง เด่นชัด

 

บ้านใต้ถุนสูงที่เห็น

              ถ้าผมเป็นคนหนึ่งของอุ้มผาง ผมก็อยากรู้ว่า มีประชากรที่อยู่อาศัยในแผ่นดินเดียวกันนี้มีกี่เผ่ามีกี่คน ถ้าผมมั่นใจได้ว่าบนแผ่นดินดอยลอยฟ้าที่ชื่อว่า อุ้มผาง มีประชากรที่มากกว่าเผ่าใดๆเป็นกะเหรี่ยง ผมก็อยากจะกล่าวว่า น่าจะหยิบยกเอาศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิตและความเชื่อ ของชนเผ่ากะเหรี่ยงขึ้นมาเป็นเอกลักษณ์ของอุ้มผาง แต่ด้วยเหตุที่ผมไม่สามารถหาข้อมูลเหล่านี้ได้ จึงได้แต่เพียงกล่าวลอยๆไปตามบทของการเขียนสารคดีท่องเที่ยวธรรมดา ไม่สามารถอ้างอิงไปใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาและวิจัยได้ ขอโทษครับ

 

บ้าน

             ย้อนกลับมาที่บ้านเลตองคุ หลังเช้าตรู่ที่แสนงาม หลังอาหารเช้าที่เรียบง่ายในโรงอาหารของโรงเรียน ผมเดินแยกจากทุกคนเพื่อหาเรื่องราว หามุมภาพ หาวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ฤาษีแห่งเลตองคุ หมู่ที่ 10. ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก แดนดินถิ่นไกลสุดชายแดนตะวันตกตะเข็บชายแดนไทยเมียนม่าร์ ซึ่งเป็นจุดที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเพียง 40 เมตร นั่นหมายถึงว่าเป็นพื้นที่ราบเชิงเขาด้านน้ำไหลไปยังแม่น้ำฝั่งประเทศเมียนม่าร์ แม่น้ำสุริยะ 

 

ฝาบ้านจากต้นหมากพื้นจากไม้ไผ่

             ผมเดินถ่ายรูปไปตามถนนกลางหมู่บ้าน ได้เห็นบ้านเรือนที่ปลูกสร้างสองฝั่งถนนราดฝุ่นสายนี้มีรูปลักษณ์ที่เรียบง่าย มีทั้งบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูง หลังคามุงด้วย"ตับใบหวาย"ที่สานแบบ "ตับจาก"ทางถิ่นไทยใกล้ทะเล เสาไม้กลม ขนาดกำลังพออยู่อาศัยไม่ได้ใหญ่เหมือนการปลูกบ้านของชาวล้านนาหลายจังหวัด(แพร่-ลำปาง-พะเยา-น่าน-สุโขทัยฯลฯ) ไม้คาน เส จันทันใช้ตามสภาพของท้องถิ่น บางบ้านปลูกด้วยไม้แปรรูปถาวร ดูดีมีฐานะ ขนาดบ้านจะหลังใหญ่กว่า อันแสดงถึงฐานะของแต่ละหลังคาเรือนด้วย 

 

ยกร้านตากหมากหน้าบ้าน

            หน้าบ้านมี "ยกร้าน" ปลูกด้วยเสาสั้นประมาณ 4 ศอก ปูด้วยกระดานหรือฟากตามแต่ฐานะ ใช้ประโยชน์ในการ"ตากหมาก" ซึ่งเป็นหมากแก่ตากแห้ง ก่อนนำไปฝานด้วยมีดคมๆ เพื่อแคะเอาเนื้อในของหมากออกมาเป็น"หมากลูก" ที่แห้งแข็งกลมๆรีๆ เจ้าหมากลูกนี่คือสินค้าที่ส่งขายสู่ท้องตลาดที่มารับซื้อถึงที่ และที่นำออกไปขายยังตลาดรับซื้อ สนนราคาไม่ได้ความนักเพราะว่าผมไปเจอเอากะเหรี่ยงพูดไทยไม่ได้ หลังบ้านหรือที่ว่างๆจะปลูกหมากแทบทุกหลังคาเรือน

 

ร้านขายของชำเล็กๆ ซุปเปอร์มาร์เก็ตกลางป่า

            ไม่น่าแปลกใจทำไมกะเหรี่ยงฟันดำ วัฒนธรรมการกินหมากของชาวกะเหรี่ยง กินกันทั้งหยิงและชาย พอเริ่มโตก็เริ่มกินเพื่อย้อมฟันให้ดำ ถ้าฟันไม่ดำก็ไม่งาม เป็นงั้นไป กะเหรี่ยงจึงปลูกหมากทุกครัวเรือน ปลูกมากน้อยขึ้นอยู่กับฐานะ ที่ดินที่มีอยู่ มาอยู่เก่าหรือเพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ แต่เมื่อปลูกมากก็เหลือกินเหลือใช้กลายเป็นสินค้าไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินตรา เป็นสิ่งของต้องประสงค์ เป็นความพอเพียงที่เกิพอดี 

 

ท่ามกลางถนนราดฝุ่นในหมู่บ้านเลตองคุ

              เมื่อผมเดินต่อไปได้เห็นชายสามคน สองคนขี่มอเตอร์ไซด์ส่วนอีกคนสมบูรณ์มากอ้วนท้วนดี กำลังเดิน ทุกคนนุ่งโสร่ง โพกผ้า(โกพะธิ) สีแตกต่างกันไปตามชอบ ไม่มีข้อจำกัดว่าใครจะใช้สีใด ถักทอด้วยลวดลายไหน แล้วผมที่ยาวย้วยของเหล่าชายทั้งหลายนี้เขาปล่อยให้ยาวโดยไม่มีการตัดออกเลย เขามุ่นมันไว้เหนือหน้าผาก แล้วมัดรัดด้วยผ้าโกพะธิสีสวยๆ เหมือนพระเอกลิเกที่มีที่คาดผม แตกต่างจากพระฤาษีในหนังหรือละครพื้นบ้านไทยภาคกลางที่มักปล่อยผมยาวหนวดเครารุงรัง

 

บริสุทธิ์สดใสด้วยวัยเยาว์

              ผมเห็นเด็กสาวๆ และเด็กเล็กๆ สวมใส่เสื้อผ้าทรงกระสอบสีขาวขลิบชมพูหรือสีบานเย็นเป็นแถบยาว ชุดนี้ใส่เฉพาะเด็กทั้งชายหญิง และเน้นเลยว่า ถ้ายังไม่แต่งงานก็ต้องใส่ชุดนี้ไปจนตาย ใครเห็นก็รู้เลยว่าอนงค์นี้ยังโสดอยู่จ้า เขาเรียกชุดนี้ว่า เชวา หรือบางทีก็เรียกว่า "มึกะเหนาะ"แต่ที่เห็นสีขาวแทบไม่เหลือแล้ว  

 

เด็กๆบริสุทธิ์และน่ารัก

               ผมโชคดีที่ได้อ่านหนังสือชื่อว่า "เชวาตัวสุดท้าย"ของโถ่เรบอ นักเขียนชาวปกาเกอะญอจากถิ่นล้านนา เขาเขียนถึงสาวแก่ที่ต้องใส่เชวาตัวนั้นตลอดชีวิตเพราะว่าไม่ได้แต่งงาน แม้เธอจะเฝ้ารอเนื้อคู่อยู่ทุกวันด้วยความหวัง แม้เธอจะขยันขันแข็งและงดงาม แต่ก็ไม่มีใครมาขอแต่ง เธอต้องใส่ชุดขาวทรงกระสอบไปจนตาย  

 

พ่อบ้านและแม่บ้านนั่งเล่นริมระเบียง

              แล้วผมก็ได้เห็นกะเหรี่ยงนั่งบนบ้านกลุ่มหนึ่ง สวมใส่ชุดผ้าซิ่นตีนจกทอด้วยมือสีแดงเป็นหลัก สวมเสื้อผ่าอก เป็นหญิงแต่งงานแล้ว เรียกชุดของเธอว่า เชมุกิ(มึก้า) หรือบางทีก็เรียกว่า เชมูตู นี่คือ วัฒนธรรมเกี่ยวกับเครื่องนุ่งห่มของชนเผ่าหนึ่ง มักใช้สีแดงเป็นสีหลัก ลวดลายแล้วแต่ภูมิปัญญาของแต่ละคน

 

ผู้ชายคาดผมด้วยผ้าหลากสีกันทั้งหมู่บ้าน

              กะเหรี่ยงในหมู่บ้านเลตองคุมีอยู่ราว 200 หลังคาเรือน มีอยู่สองกลุ่มใหญ่ๆคือ กะเหรี่ยง สะกอ มักเรียกตัวเองว่าเป็น "ปกาเกอะญอ" แต่ทางการกลับไปเรียกกันว่ากะเหรี่ยงดอย มักอยู่ตามเขาสูงภาคเหนือและตะวันตกของประเทศไทย เช่นตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่

 

จำลอง บุญสอง หมอผี ผู้ใหญ่บ้านและผอ.สุรินทร์ ติเพียร

             ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่ากะเหรี่ยงโปว หรือ กะเหรี่ยงโพล่ว ทางการเรียกว่า กะเหรี่ยงน้ำ เพราะว่าชอบอยู่ทางพื้นราบๆเช่นกะเหรี่ยงกาญจนบุรี กะเหรี่ยงเพชรบุรี  

หมอผี

             ผมตอบไม่ได้ว่ากะเหรี่ยงสองกลุ่มนี้แตกต่างกันอย่างไร ภาษาที่ใช้ก็ภาษาเดียวกัน วัฒนธรรมประเพณีความเชื่อและวิถีชีวิตก็คล้ายคลึงกันมากๆ ส่วนศาสนาก็มีทั้งที่เป็นกลุ่มความเชื่อลัทธิฤาษี พุทธศาสนา คริสต์ศาสนา   

ฤาษีกับมุ่นมวยผม

             ที่บ้านเลตองคุเป็นกะเหรี่ยงที่นับถือลัทธิฤาษี ผู้ชายทุกคนต้องเป็นฤาษีด้วยการไว้ผมยาว จะไม่มีการตัดผมเลย แม้แต่จะซอยออกก็ไม่ได้ ผู้ชายจะมุ่นมวยผมไว้เหนือหน้าผาก ส่วนผู้หญิงจะมุ่นมวยผมไว้ศีรษะ ตามบัญญัติ 10 ประการของฤาษีที่ประกาศไว้หน้าสำนักของท่าน  

 

การเทินของบนหัวนี้เหมือนในเมียนมาร์และอินเดีย

             หลังบ้านมี"ฉางข้าว"เล็กๆเอาไว้เก็บ"ข้าวไร่""ข้าวนา"เอาไว้กินตลอดทั้งปี แต่บางบ้านก็มีเพียงกะพ้อมที่สานด้วยไม้ไผ่ ยาด้วยขี้ควาย ด้วยว่าน่าจะมีนาข้าวน้อย  ใต้ถุนบ้านมีครกกระเดื่องไว้ตำข้าว แต่บางบ้านก็ไม่มี คงถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันใช้

 

ฉางข้าว

              บางบ้านต่อเป็นแคร่เตี้ยๆแล้วก็นั่งทำกิจกรรมกันที่นั่น แต่มีบางบ้านเขาเปิดเป็นร้านค้า เหมือนร้านค้าของชำประจำหมู่บ้าน ขายผัก ผลไม้ ของกินของใช้ จนกระทั่งขนมถุงก๊อบแก๊บที่วางขายไปทั่วประเทศ ผมเห็นกาละมังใบเขื่องใส่ปลาดุกผสมบิ๊กอุยและปลาสวาย เป็นอาหารเนื้อสัตว์ที่ยอมให้ฤาษีกินได้ เพราะว่าส่วนใหญ่กินแต่ผักกันทั้งหมู่บ้าน

 

            บัญญัติของลัทธิความเชื่อฤาษีมีเขียนไว้ที่หน้าสำนักฤาษี 10 ประการ นั่นคือสิ่งที่พี่น้องชาวกะเหรี่ยงต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แต่อย่างไรก็ดี ในหมู่บ้านเลตองคุกว่าสองร้อยหลังคาเรือนเหล่านี้ แบ่งออกเป็น 8 กลุ่มบ้าน มีทั้งกลุ่มที่ถือปฏิบัติเคร่ง งดอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ กินปลาได้ชนิดเดียวคือปลาหนังเช่นปลาดุก ปลาสวาย ต้องเป็นปลาไม่มีเกร็ด ในจำนวน 8 กลุ่ม ประมาณ 500 คน

 

ผู้ใหญ่บ้านเลตองคุ

             นอกจากนับถือฤาษีแล้ว ยังมีหมอผี หรือที่เรียกว่า "ผือหม้อ" ที่บ้านเลตองคุปัจจุบันนี้มีผู้ใหญ่บ้านหรือ "ซาปัว"  ชื่อ ไบโซ คีรีดุจจินดา อายุ 34 ปี มีเมีย 1 คน ลูก 4 คน มีชื่อเล่นๆว่า แบะเช เขาเป็นผู้ใหญ่บ้านที่ทางการเลือกตั้ง พูดภาษาไทยได้ชัดเจนและคล่องแคล่ว เวลาไปประชุมอำเภอเขาใส่เสื้อแขนยาวสีกากีเครื่องแบบเต็มยศ แต่นุ่งโสร่งสีแดงใส่รองเท้าหนังโก้ที่สุดในอุ้มผาง

             "เป็นผู้ใหญ่บ้าน ก็ต้องมีเมียเดียว ต้องซื่อสัตว์กับเมีย"เป็นตัวอย่างสามีที่ดีของชนเผ่า

 

ชุดเด็กและหญิงสาวบริสุทธิ์ เชวาหรือมึกะเหนาะ

             เดินเลยไปอีกหน่อยได้เห็นเด็กๆสาวเดินกันมาในชุดขาว ทุกคนเทินของบนศีรษะ เหมือนอย่างกับสาวอินเดีย สาวอาหรับบางเผ่าพันธุ์

ฤาษีชายไว้ผมยาวมุ่นไว้เหนือหน้าผาก คาดด้วยผ้าหลากสี

             แล้วผมก็ได้เห็นชายหนุ่มกลุ่มหนึ่งกำลังจักสานอะไรสักอย่างด้วยไม้ไผ่ที่มีอยู่อย่างหนาแน่น เขาทำงานกันเงียบๆ เว้นแต่มีบางคนช่างคุย

 

เด็กน้อยน่ารักกับลูกหมาที่เธอเลี้ยงไว้

             ผู้หญิงกะเหรี่ยงในชุดแต่งงานแล้ว เดินเข้าสะเอวด้วยเด็กๆ"กะเตง" น่าจะเป็นลูกของเธอนั่นแหละ ใต้ถุนบ้านหลังหนึ่งเด็กหญิงตาบ้องแบ้วนั่งเล่นกับลูกหมาดูช่างน่ารัก เป็นอีกภาพที่สวยงามจับจิตจับใจ ที่น่าแปลกใจก็กะเหรี่ยงเหล่านี้ชอบติดกล้วยไม้ไทยๆพันธุ์แท้เช่นเอื้องผึ้ง เอื้องมอนไข่ ไว้ตามต้นไม้หน้าบ้าน สวยดี

 

ผู้หญิงแต่งานแล้วกะเตงลูก และมุ่นมวยผมบนศีรษะ

             เป็นหมู่บ้านที่มีร่มไม้ใบบังมาก มากจนแลดูไปทางไหนก็เขียวขจี มีต้นมะพร้าว ต้นหมาก ต้นทุเรียน ต้นเงาะ ต้นระกำ ต้นลองกอง เหมือนสวนผสมในภาคใต้ของบ้านเรา  ทั้งนี้ก็ด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีอากาศร้อนชื้น แต่หนาวเย็นในช่วงกลางคืน รับลมและฝนจากลมมรสุมเต็มๆ จากฝั่งทะเลอันดามัน

 

ฟากที่ทำจากไม้ไผ่จากป่าดงสร้างบ้าน

ฟืนที่ต้องใช้ทุกครัวเรือน

ไม้แปรรูปที่น่าจะเป็นบ้านผู้มีฐานะ

หวายชนิดหนึ่งซึ่งใช้ใบมุงหลังคา

Tags : ฤาษีแห่งเลตองคุ2.โรงเรียน ตชด. 

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view