http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,996,420
Page Views16,304,826
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ไม้กวาดดอก

ไม้กวาดดอก

ไม้กวาดดอก"ก๋ง" อาชีพจากทรัพยากรริมทาง

โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

             ช่วงเวลาที่ระลึกถึงเป็นช่วงวันวานที่เคยทำงานอยู่ที่อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน หน่วยปรับปรุงต้นน้ำน่านที่ 1.ห้วยสามสบ ตำบลศรีษะเกษ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน หวลคิดถึงเมื่อใดก็ใจเป็นสุข และทุกครั้งที่ผ่านไปตามริมถนนหนทางหากได้เห็น"ต้นก๋ง" ก็อดคิดถึงความหลังไม่ได้เลย ผมเป็นคนแก่ที่คิดถึงความหลังมากมาย มันมีเรื่องราวหลากหลายเหลือคณา แล้วต้นก๋งมีความประทับใจอย่างไรหรือ เล่าสู่กันฟังสักนิดอย่าคิดว่า คนแก่บ่นเลยนะ เอ็นดูลุงเถอะ 

ต้นก๋ง

            ผมทำงานที่นั่นมีหน้าที่สำคัญคือต้องปลูกป่าปีละพันไร่ ปลูกซ่อมและบำรุงสวนป่าที่ปลูกไปแล้วมากกว่า 4,700 ไร่ ในพื้นที่ที่ต้องปลูกไปทุกปีพื้นที่ทั้งลุ่มน้ำห้วยสามสบ 62,500 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเสื่อมโทรมเนื่องจากการบุกรุกทำไร่เลื่อนลอยของชาวบ้าน 13 หมู่บ้าน เมื่อป่าใหญ่กลายเป็นป่าหัวโล้น ขุนเขาก็ไม่มีต้นไม้ใหญ่บดบังปกป้องน้ำฝนที่ตกกระทบกัดเซาะดินพังทะลาย เป็นมลภาวะลงไปสู่แม่น้ำน่าน แล้วก็ไหลเลยลงไปถึงเขื่อนสิริกิติติ์ ทำให้อายุการใช้งานและเก็บกักน้ำมีปัญหาตามมา

ดอกต้นก๋งกำลังน่าเก็บ

            การปลูกป่าของผมและทุกหน่วยงานของกรมป่าไม้ ต้องใช้แรงงานคนเป็นปัจจัยหลัก ไม่มีคนทำงาน ก็จบกัน ผมจึงต้องสร้างคนทำงานเพื่อให้วัตถุประสงค์สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดลงมา ด้วยเหตุนี้ผมจึงต้องมีพี่น้องมาร่วมทำงานกันทุกวันทั้งปี ผมตัดสินใจชวนพี่น้องที่ทำงานด้วยกัน ทำไร่อยู่ในพื้นที่ให้มาอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านป่าไม้ ผมรวบรวมได้ถึง 50 หลังคาเรือน 250 ชีวิต ด้วยเหตุนี้ผมจึงต้องสร้างบ้านพักที่อยู่อาศัย ที่ดินกันไว้ให้ทำกิน(ปลูกพืชผล) ที่ดินสาธารณะเพื่อสร้างโรงเรียนให้บุตรหลาน ตั้งสหกรณ์เพื่อช่วยเหลือกันเอง สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กๆ และสร้างวัดเพื่อกล่อมเกลาจิตใจและชักศพไปเผาที่ป่าเห่ว(ป่าช้า) อาชีพหลักคือรับจ้างปลูกป่า อาฃชีพรองคือทำไร่

ดอกก๋งแก่จนเกินเก็บ

            วันหนึ่งพวกเรายกขบวน(เดิน)ไปปลูกป่าที่บริเวณห้วยโป่ง ได้พบว่ามีรถสิบล้อกระบะสูง ทะเบียน อต.ก็อุตรดิตถ์ จอดเรียงกันอยู่ 3 คัน มีคนงานมากว่า 60 คน ทุกคนลงไปไล่ตัดดอกต้นก๋ง เพื่อบรรทุกกลับไปจังหวัดอุตรดิตถ์ ผมเข้าไปคุยด้วยพักใหญ่เพื่อสืบสาวราวเรื่อง จนได้ความว่า ที่อุตรดิตถ์มีหมู่บ้านจำนวนมากถักไม้กวาดดอกก๋งขาย ซึ่งผมก็เชื่อว่าเป็นจริงเพราะว่าถ้านั่งรถไฟผ่านสถานีต่างๆในจังหวัดอุตรดิตถ์ จะมีชาวบ้านมายื่นมัดไม้กวาดให้ซื้อหากัน

ดอกก๋งตากลานหน้าบ้าน

           เมื่อกลับมาถึงหมู่บ้าน คืนนั้นผมสั่งให้เขียนป้ายไปปักริมทางทุกที่ว่า "ต้นก๋งหวงห้ามของหมู่บ้าน..." แล้วทำเครื่องหมายกากะบาท หลังจากนั้นผมเข้าไปตลาดอำเภอเวียงสา และอำเภอนาน้อย ตรงไปยังร้านรับซื้อพืชไร่และของป่า ได้ความว่า ดอกต้นก๋ง ราคากิโลกรัมละ 13 บาท แพงยิ่งกว่าถั่วเขียวซึ่งกิโลกรัมละ 7 บาท ผมเรียกประชุมพี่น้องในตอนกลางคืนแล้วเล่าให้ฟังว่า พี่น้องปลูกข้าวโพดกก.ละ 1.5-2.5 บาท ต้องเตรียมพื้นที่ เก็บริบสุมเผาพื้นที่ ไถหรือขุดพื้นที่ ซื้อเมล็ดพันธุ์ ปลูก แล้วใส่ปุ๋ย ดายวัชพืช จนเก็บเกี่ยว แล้วสีจึงจะนำไปส่งขายตลาดพืชไร่ได้ มีค่าใช้จ่ายทุกขั้นตอน

ดอกก๋งตากอยู่ริมถนน

           แต่ถ้าพี่น้องไปตัดดอกต้นก๋งแล้วนำมาตากแห้ง ทุบเม็ดออกจากก้านดอก มัดแล้วไปขายตลาดได้กิโลกรัมละ 13 บาท     โดยไม่ต้องเตรียมพื้นที่ ไม่ต้องปลูกและบำรุง ไม่ต้องซื้อหาเมล็ดพันธุ์ ไม่ต้องใส่ปุ๋ยและดายวัชพืช แต่ไปรอเก็บเมื่อถึงเวลาที่มันออกดอก ช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ทุกปี ปีละเท่าไรก็ได้ เพราะว่าตอนนี้เราหวงห้าม พวกอุตรดิตถ์หรือที่ไหนก็ไม่กล้ามาเก็บจากป่าของเรา มันเป็นทรัพยากรธรรมชาติริมถนนหนทางของเรา มันขึ้นมาเพื่อเป็นสินค้าให้เรา ถึงปีก็ไปเก็บมาทำตามกรรมวิธีแล้วก็ขายไป กำไรเห็นๆ ไม่เหนื่อยด้วย 

ไม้กวาดสำเร็จขายได้

           ตั้งแต่นั้นมา พี่น้องก็ไปเก็บดอกต้นก๋งกันเป็นล่ำเป็นสัน กลายเป็นรายได้เสริมหลังจากไปทำงานปลูกป่าตามปกติแล้วก็หิ้ว หอบ ดอกต้นก๋ง กลับมาตากที่หน้าบ้าน 3 เดือนแห่งการเก็บออม สามเดือนแห่งการได้กำไรจากธรรมชาติ 

           การได้เห็นคนอุตรดิตถ์เดินทางมาตั้งไกลด้วยความต้องการดอกต้นก๋ง ทำให้ผมฉุกคิดและเสนอแนะให้พี่น้องมีรายได้เสริมอย่างมั่นคง แต่ต่อมาผมขอให้พัฒนากรอำเภอนาน้อยมาสอนให้ชาวบ้านถักไม้กวาดเพื่อขายได้มูลค่าเพิ่มขึ้น ด้ามไม้กวาดที่ทำจากไม้ไผ่รวกก็มีอยู่เต็มผืนป่า ทุกอย่างเอื้ออำนวยประโยชน์ให้ได้ง่ายๆ ชิมิ ชิมิ 

           เดี๋ยวนี้ถ้านั่งรถยนต์ไปเที่ยวที่ไหนหรือไปทำข่าวที่ไหน หากเห็นต้นก๋งก็จะนึกถึงบ้านกิตตินันท์ที่ผมกับพี่น้องอยู่ร่วมสร้างมาด้วยกันเสมอ

ต้นก๋งในไร่หมุนเวียนกะเหรี่ยงเลตองคุ อุ้มผาง เขาถางทิ้ง

            ผมถ่ายรูปต้นก๋ง ดอกต้นก๋ง ดอกต้นก๋งตากตามริมถนน จากบ้านดอยติ้ว อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เพราะว่าผมเดินทางไปพักแรมที่หน่วยจัดการต้นน้ำดอยติ้ว(ดอยวาว) เห็นแล้วก็อดนึกถึงความหลังครั้งที่ยังพยายามช่วยชาวบ้านให้ลืมตาอ้าปากได้ จากทรัพยากรริมทางของเรานี่เอง      

             ข้อมูลจำเพาะ ต้นก๋ง มีชื่อเรียกหลายสชื่อเช่น ตองกง เค้ยหลา  เลาแล้ง  หญ้ากาบไผ่ใหญ่ หญ้าไม้กวาด และหญ้ายูง มีชื่อสามัญว่า Bamboo Grass มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า thysanoleana maxima Kuntze วงศ์ POACEAE ต้น เป็นพืชจำพวกหญ้า ลำต้นตรง คล้าย ต้นไผ่ ใบ รูปขอบขนาน ดอก ออกเป็นช่อที่ปลาย แตกกิ่งย่อ บนก้านดอกมักจะมีดอกสองดอก ผล เป็นเม็ดเล้กๆปลิวตามแรงลมได้ดี คล้ายๆเม็ดหญ้าทั่งไป

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view