http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,957,336
Page Views16,263,646
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ฤาษีแห่งเลตองคุ6.ไร่หมุนเวียนและสวนผสม โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

ฤาษีแห่งเลตองคุ6.ไร่หมุนเวียนและสวนผสม โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

ฤาษีแห่งเลตองคุ6.

ไร่หมุนเวียนและสวนผสม วัฒนธรรมการทำกินที่ยั่งยืน

โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

              ตลอดเส้นทางจากอุ้มผางถึงหมู่บ้านฤาษีเลตองคุ ผ่านหมู่บ้านชนเผ่ากะเหรี่ยงทั่วไปอีกหลายแห่ง บางแห่งผสมผสานด้วยชาวไทยเหนือจากลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ ภูมิประเทศเป็นขุนเขาสลับซับซ้อนสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 400-1,600 เมตร บางขุนเขามีป่าไม้ปกคลุมเหลืออยู่บ้าง บางขุนเขาเหลือไม้ป่าต้นสูงใหญ่หลายต้น แต่บางขุนเขาก็โล้นเลี่ยนไปสิ้น หลังข้ามแม่น้ำใหญ่สายหนึ่งจึงได้เห็นวิถีชีวิตวัฒนธรรมการทำไร่หมุนเวียนและสวนผสมของชาวกะเหรี่ยง

เส้นทางแสนยากเห็นลิบๆเป็นป่าที่เหลือร่องรอยอยู่

              ระหว่างนั่งกินข้าวกล่องอาหารกลางวันริมห้วยน้ำใสไหลเย็น พอตะวันพ้นหัว ทุกคนมัวแต่กินๆ เสียงไฟไหม้ซากไม้ไผ่และต้นไม้เล็กต้นไม้น้อยที่ถูกถางลงตากจนแห้งพอที่จะสุมเผาให้มอดไหม้ได้ในคราวเดียว ด้วยวิญญาณสื่อมวลชนคนถ่ายรูปวางกล่องข้าวแล้วคว้ากล้องวิ่งตามกันไป ถ่ายรูปไฟไหม้ที่ชาวกะเหรี่ยงกำลังเผาไร่ เสียงไฟกระพือโหม เสียงไม้ไผ่แตกลำดังโป๊ะเป๊ะ กลิ่นและควันไฟพวยพุ่งลุกโพลง  เขาเผาจากตีนเขาขึ้นไป ไฟจึงโหมแรงขึ้นตามเชื้อเพลิงที่อยู่แนวสูงกว่า แรง ร้อน และละอองลอยปลิวไปทั่ว

หลังเที่ยงแดดจัด

              ผมนึกถึงเมื่อครั้งที่ยังทำหน้าที่ปลูกป่าต้นน้ำ แล้วเกิดข้อขัดแย้งกับชาวไร่ที่บุกรุกทำไร่เลื่อนอลยในพื้นที่ เมื่อถางไร่ปลายเดือนธันวาคม ตากจนแห้งเดือนกุมภาพันธ์ พอมีนาคมก็จะเผาเพื่อให้เศษซากไหม้ในคราวเดียว ไม่ต้องตามไปเก็บริบสุมเผาเศษไม้ให้เหนื่อยอีก แต่แล้วก่อนเวลาอันควร ผืนไร่ที่เตรียมถางปลูกป่าก็ถูกลักลอบจุด กลั่นแกล้งให้ทำงานยากขึ้น ผมและพวกต้องตามไปดับไฟก่อนที่จะเหลือซากให้เก็บริมสุมเผายากกว่าปกติ สิ้นเปลืองเงินงบประมาณ ถ้าตากจนแห้งอย่างที่กะเหรี่ยงตากก็ไหม้ไม่เหลือ

เผาไร่ไฟแรง

               อีกฝั่งเขาหนึ่งเป็นไร่ที่เผาไหม้ไม่ดี มีเศษไม้และต้นไม้เหลือตกค้างมากเกินทำไร่ คงต้องเหนื่อยกับการเก็บริบสุมเผาอีกครั้ง ต้นไม้ที่เห็นในไร่นี้แสดงให้เห็นว่าผืนป่าตรงนั้นถูกปล่อนให้รกเรื้อหลังการทำไร่และเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วนานหลายปี ระหว่าง 3-5 ปี อันเป็นวิถีชีวิตที่น่าชื่นชมของชนเผ่ากะเหรี่ยง แต่ตอนถางเตรียมเผา คงมีใครมือบอนไปจุดไฟหรือดีดก้นบุหรีใส่ จึงไหม้ไม่ดี ซึ่งผิดวิสัยของชาวกะเหรี่ยงที่รู้จักวิธีการแผ้วถาง ตาก แห้งจึงเผา ช่วงเวลาที่เผาก็ต้องตอนหลังเที่ยงแดดกำลังลั่นเปรี้ยงๆ ไฟจะลุกไหม้ได้ดี

ไร่หมุนเวียนที่ปล่อยทิ้งจนต้นไม้โต

               กะเหรี่ยงมีวัฒนธรรมการทำไร่หมุนเวียนสืบทอดกันตลอดมาเรียกว่าเป็นวิถีชีวิตของชนเผ่า โดยแต่ละครอบครัวจะใช้พื้นที่ทำกินปีละ 5-7 ไร่ ทำเพียงพอมีข้าวกิน มีผักกิน ไม่เหลือไว้ขาย หรือมุ่งปลูกมากๆเพื่อจะขายให้ได้เงินก้อนใหญ่ หลังการทำกินแล้วจะปล่อยให้ดินฟื้นตัวจากวัชพืช ต้นไม้เบิกนำที่เกิดขึ้น โปรยให้เกิดปุ๋ยหรืออินทรีวัตถุเพิ่มไปอีก 3-5 ปี จึงจะกลับมาทำกินที่ดินผืนนี้อีกครั้งหนึ่ง ระหว่างนั้นจะมีที่ดินผืนที่สองสามทำกินหมุนเวียนจนครบก็กลับมาทำแปลงที่หนึ่งอีกครั้ง เรียกว่าไร่หมุนเวียน  แต่ละครอบครัวจะมีที่ดิน 3-5 แปลง ขนาดแปลงขึ้นอยู่กับขนาดครอบครัว    

ควายเลี้ยงกันเยอะกว่าวัว

               เมื่อเดินทางเข้าไปใกล้หมู่บ้านฤาษีกะเหรี่ยงเลตองคุ ผมได้เห็นฝูงวัวควายเดินและเล็มหญ้าไปตามผืนนา ท้องไร่ แสดงให้เห็นว่าบนพื้นที่ที่ทำนาขั้นบันไดได้ เขาก็ทำ แต่พื้นที่ราบมีน้ำพอเพียงเขาก็ขุดผืนดินให้เปลี่ยนเป็นนาข้าว ที่อาจจะหว่านหรือกระทุ้งดินด้วยไม้แหลมแล้วหยอดเมล็ดข้าวพร้อมกับใช้นิ้วโป้งเท้าเขี่ยดินกลบเมล็ดข้าวบางๆ

                หลังการเตรียมที่พักแรม ผมเดินไปในหมู่บ้านได้เห็นยุ้งข้าว หรือที่เรียกว่า ฉางข้าว เพื่อเก็บข้าวที่เกี่ยวมาจากท้องนา

ไร่ซากที่ปล่อยให้ดินฟื้นตัว

               แต่ถ้าเป็นชาวเขาเผ่าม้งหรือเผ่าอื่นๆ จะถางป่าตั้งแต่ตีนดอยยันยอดดอยเป็นผืนใหญ่แล้วก็ทำกินซ้ำที่ดิน ด้วยการใช้ทั้งยาฆ่าแมลงและปู๋ยเคมี เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงทุกปี เขาทำไร่เลื่อนลอยด้วยการถางป่าใหม่ลง แล้วปลูกพืชไร่ตามต้องการ ปีถัดไปก็ทำอีก ไม่มีการปล่อยให้ดินฟื้นตัวอย่างกะเหรี่ยง

                กะเหรี่ยงเป็นเพียงชนเผ่าเดียวที่ทำกินด้วยการทำไร่หมุนเวียน ตั้งแต่ที่ตีนเขาขึ้นไปจนถึงกลางเขา เขาจะเว้นผืนป่าปกคลุมบนยอดเขาและป่าต้นน้ำลำธารไว้เสมอ นอกจากนี้ยังทำสวนผสมด้วยไม้ยืนต้นอายุยืนใกล้บ้านชานนา 

ฉางข้าว

               ผมได้เห็นมากก็ต้นหมาก ปลูกกันทุกหลังคาเรือน หมากใช้พื้นที่น้อย ขึ้นได้ทุกที่ ให้ผลผลิตมาก สม่ำเสมอ และนี่คือผลผลิตหลักที่เหลือจากวัฒนธรรมการกินหมากเพื่อย้อมฟันของชาวกะเหรี่ยงแล้วเหลือขายเป็นรายได้เพิ่ม ผมเดินไปอีกนิดก็เห็นต้นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองลูกเล็กๆ แม้ต้นทุเรียนจะสูงใหญ่เพียงใด ในเมื่อพันธุ์ดั้งเดิมของทุเรียนที่นี่ให้ผลเล็กๆ กลิ่นแรงๆ เละอย่างทุเรียนภาคใต้บ้านเรา ริมรั้วมีต้นระกำหนามแหลมๆ ไม่ได้ชิมว่ารสชาติดีไหม มะไฟป่า มีกระทั่งลองกอง และมะพร้าว 

ทุเรียน

               มีคนเขียนสารคดีเรื่องกะหรี่ยงบุกรุกอยู่อาศัยและทำกินอยู่ในป่าอนุรักษ์ประเภท เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ ไม่ใช่ตัวการทำลายป่าด้วยวัฒนธรรมการทำกินด้วยระบบไร่หมุนเวียน ไม่ใช่เรื่องผิด หากแต่ผิดตรงที่ว่า ก่อนการประกาศเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์เหตุใดจึงไม่กันพื้นที่หมู่บ้านและพื้นที่ทำกินออกจากผืนป่าอนุรักษ์ หรือถ้าผืนป่ามีผลกระทบสูงต่อการอนุรักษ์จำเป็นต้องอพยพคน(ไม่ว่าเผ่าใดๆ)ออกจากผืนป่า เพื่ออนุรักษ์ผืนป่าสำคัญแห่งนี้ไว้ ทำไมไม่ทำกัน หรือปัดฝุ่นเข้าใต้พรม

หญิงกะเหรี่ยงแต่งงานแล้วแกะหมาก

               ซึ่งในหลักการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่เขาทำกันนั้น 

               1.ทฤษฎีไม่เชื่อมนุษย์ เมื่อจะประกาศพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ซึ่งมีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ แล้วมีชุมชนอยู่กลางป่าดุจไข่แดง ก็ต้องอพยพคนออกจากผืนป่านั้นๆ เช่น ชุมชนคนทำไร่ที่หนองผักชีบนเขาใหญ่  ชุมชนกรึงไกรในห้วยขาแข้ง ผลดีคือทำให้การป้องกันตามรอบแนวเขตเพียงด้านเดียว

หมากแห้งทั้งผล

               2.ทฤษฎีเชื่อมนุษย์ เมื่อจะประกาศพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งมีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ ถ้าชุมชนและที่ทำกินอยู่กลางป่า ก็ปล่อยให้อยู่และทำกินต่อไป แบบ คนอยู่กับป่าได้ แต่คงต้องกังวลไปตลอดชีพว่าเมื่อไรเขาจะบุก

               3.ทฤษฎีเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เมื่อจะประกาศเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม แต่มีชุมชนอยู่ใกล้ชายขอบเขตที่จะประกาศ ก็กันพื้นที่ชุมชนและที่ทำกินของเขาออกจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไปเสียเลย นี่ก็ป้องกันด้านเดียวรอบๆเขต

หมาก

               ในกรณีทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก อุทยานแห่งชาติน้ำตกทีลอซู และอีกหลายร้อยแห่ง     ล้วนมีปัญหากับชนเผ่ากะเหรี่ยงและม้ง หรือคนทั่วไปในทุกพื้นที่ แต่ปัญหากับม้งจะหนักหนาสาหัสมากกว่า บุกแหลก

มะพร้าว

ระกำหนามแหลมๆ

                         

Tags : ฤาษีแห่งเลตองคุ5.เยาวชน

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view