http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,994,704
Page Views16,303,014
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

วัดมเหยงคณ์ ปูชนียสถานที่ควรดำรง โดยธงธรรม เรื่อง-ภาพ-ธงชัย เปาอินทร์

วัดมเหยงคณ์ ปูชนียสถานที่ควรดำรง โดยธงธรรม เรื่อง-ภาพ-ธงชัย เปาอินทร์

วัดมเหยงคณ์ ปูชนียสถานที่ควรดำรง

โดยธงธรรม เรื่อง-ภาพ-ธงชัย เปาอินทร์

             ผมเกษียณราชการมาหลายปีแล้ว อยากไปไหนก็ไปได้ตามใจตัวและตามใจปาก วันนี้ตามใจตัวด้วยว่าเคยได้ยินมานานแล้วว่ามีวัดชื่อมเหยงคณ์ อยู่ที่อยุธยา เป็นวัดโบราณเก่าแก่มาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่ก็ไม่เคยไปสักที ได้ฟังว่าที่วัดนี้มีดีหลายอย่างมิใช่เพียงปูชนียสถานที่เหลือให้เห็นซากปรักหักพัง แต่มีวัดที่มีพระสงฆ์ปฏิบัติธรรมอยู่ด้วย แล้วก็เป็นที่นิยมของนักแสวงบุญของบ้านเรา แห่แหนกันไปทำบุญ ปฏิบัติธรรม นุ่งขาวห่มขาว นั่งสมาธิตามที่พระอาจารย์สอนสั่ง 

             คลิ๊กเว็บไซต์ของวัดมเหยงคณ์ จึงได้ความรู้ว่า พงศาวดารเหนือฉบับพระวิเชียรปรีชา(น้อย) อ้างว่า สมัยกรุงอโยธยาเป็นราชธานี พระนางกัลยาณี พระมเหสีของพระเจ้าธรรมราชา สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.1853 แต่พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาสมัยพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี พระบรมราชาที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา เป็นผู้สร้างวัดนี้เมื่อปีพ.ศ.1981 สุดท้าย คำให้การชาวกรุงเก่า และขุนหลวงหาวัด สมัยพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระหรือภูมินทร์ราชา เป็นผู้ปฏิสังขรณ์ ปีพ.ศ.2252 

             ยังมีเกร็ดประวัติศาสตร์กล่าวว่า เมื่อพระเจ้าบุเรงนองทรงยกทัพกรีฑามาทำศึกเมื่อปีพ.ศ.2112 นั้น ได้ตั้งค่ายหลวงอยู่ที่วัดมเหยงคณ์ ครั้นพม่าสามารถจับตัวพระมหินทราธิราชได้ จึงได้นำตัวมาถวายให้กับพระเจ้านันทบุเรง ณ ที่ค่ายหลวงแห่งนี้ แต่พระองค์มิได้ประหารชีวิต หากแต่ได้ควบคุมตัวเดินทางกลับไปยังพม่า แต่เมื่อถึงเมืองแครง พระมหินทราธิราชได้สวรรคตลงกลางทาง ส่วนเมืองแครงปัจจุบันนี้คือเมืองอะไรอยู่ที่ไหนผมไม่รู้ ใครรู้ก็ช่วยเม้นท์เข้ามาด้วยนะครับ จะได้มีส่วนร่วมในการเสนอบทความชิ้นนี้ร่วมกัน  

             ว่ากันว่าชื่อมเหยงคณ์นั้นเป็นรากของภาษาบาลีว่า มหิยังค์ ซึ่งแปลว่าภูเขาหรือเนินดิน ลอกเลียนแบบมาจากกรุงลังกาที่สร้างเจดีย์ชื่อ มหิยังคเจดีย์ แต่ผมสงสัยว่า มเหยงคณ์ทำไมมีตัว ณ เณร การันด้วยนี่ซิ ไม่มีคำเฉลย ใครรู้ช่วยเม้นท์เข้ามาด้วยนะครับ แต่อย่างไรก็ตาม ชื่อนั้นสำคัญไฉน ได้ความรู้เพียงนี้ก็ชวนกันเดินเข้าไปชมซากโบราณสถานที่ยังเหลือร่องรอยไว้ให้เยอะทีเดียว ที่สำคัญระหว่างที่เดินชมอยู่นั้นยังได้ยินเสียงพระอาจารย์สอนสั่งผู้ปฏิบัติธรรมไปด้วย ได้ฟิลล์ 

              หน้าประตูกำแพงแก้วของวัดมเหยงคณ์ส่วนโบราณสถาน มีป้องให้ซื้อบัตรผ่านประตู ผมเดินเข้าไปถึงก็ล้วงกระเป๋าจะซื้อตั๋ว หนอยแน่ เจ้าหน้าที่สาวใหญ่ตะโกนมาเสียงดังฟังชัด ตาอายุเกิน 60 ฟรี เล่นเอาพงะเลย อุตสาห์จะยอมจ่ายลดอายุสักนิดก็ไม่ยอม หน้าและผมมันฟ้องชัดไป เอ้าฟรีก็ฟรี ผมหัวเราะแล้วก็เดินเข้าประตู ยังได้ยินเสียงตามหลังมา

              "โถ อุตสาห์จะจ่ายกลบเกลื่อนอายุเชียวนะคุณตา"     

              วัดนี้มีประตูทางเข้าได้ถึง 6 ประตู แต่มีประตูด้านตะวันออกมีกำแพงขนานกันสูง 6 ศอก  จึงพ้นจนเข้าไปเขตอุโบสถของวัด ได้เห็นฐานชุกชีโค้งคล้ายเรือสำเภาอันเป็นพิมพ์นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย โบสถ์กว้าง 17 เมตร ยาว 35.20 เมตร   บนฐานมีเสาอิฐก่อขนาดใหญ่หลายเสา ฐานชุกชีพระประธานยังดีอยู่ มีพระพุทธรูปที่พิการด้วยว่าผ่านกาลเวลา แต่พุทธศาสนิกชนคนพุทธก็ยังถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระพุทธรูปอันเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า จึงจุดธูปเทียนและดอกไม้กราบไหว้กันตามประเพณีปฏิบัติ ส่วนหลังคาอุโบสถพังทลายไปหมดแล้ว 

               อิฐทุกก้อนรูปยาวๆแบนๆ สีอิฐยังงดงาม ปูนขาวที่ใช้ฉาบและเชื่อมต่อก็ยังแข็งแรงอยู่หลายส่วน มองดูแล้วก็ดูขลังดีเหมือนกัน ผมเดินทะลุออกประตูไปด้านหลัง แล้วก็หันกลับมาถ่ายรูปตามแสงบ่าย ภาพที่ได้จึงเห็นท้องฟ้าสีคราม ถ้าจะนับว่านี่คือซากประวัติศาสตร์ที่เหลืออยู่ค่อนข้างสมบูรณ์ก็ใช่ แต่ส่วนหลังคานั้นอาจเพราะว่าสร้างด้วยไม้ จึงผุพังไปตามอายุขัย หรือพม่าเผาทิ้งในคราวนั้น เรื่องนี้ไม่มีสำแดงไว้ที่ไหน จึงไม่ทราบอีกเช่นกัน

               ด้านหลังพระอุโบสถเป็นที่ตั้งเจดีย์ทรงระฆังตั้งอยู่บนฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีบันไดทางขึ้น 4 ด้าน ฐานประทักษิณด้านนอกมีรูปปปั้นช้างภายในซุ้มจรนำด้านละ 20 เชือก รวม 80 เชือก  อันเป็นอิทธิพลมาจากลังกาทวีป ฐานชั้นบนเป็นที่ตั้งเจดีย์ประธานรูประฆัง ประดับฐานเจดีย์ด้วยรูปปั้นพระพุทธรูป 20 องค์ แต่ชำรุดเหลือเพียงหน้าตักเสียส่วนใหญ่ มียอดเจดีย์หักตกลงมากองอยู่ข้างๆฐาน

                รอบๆพระอุโบสถวัดมเหยงคณ์มีเจดีย์รายสองด้านคือทิศเหนือและทิศใต้ มีศาลาปฏิบัติธรรมรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และเจดีย์ราย ก่อดปร่ง มีบันไดขึ้นทางทิศตะวันออก นึกดูแล้ว เมื่อสมัยที่ยังรุ่งเรืองอยู่นั้นน่าจะเป็นวัดสำคัญมากวัดหนึ่ง ด้านใต้ของวัดมีร่องรอยของโบราณวัตถุ เชื่อกันว่าน่าจะเป็นสถานที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงมาปฏิบัติธรรม วัดนี้เป็นวัดอัญญาวาสีที่ตั้งอยู่แถวๆหันตรา อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โทร.035-881601 E-mail:watmahaeyong.net 

 

Tags : วัดพระมหาธาตุ

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view