http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 07/08/2024
สถิติผู้เข้าชม14,266,756
Page Views16,592,511
« September 2024»
SMTWTFS
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930     
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ช่วงหนึ่งแห่งกาลเวลา ณ สาวัตถี ๑ ควายอินเดียในวัดเกาหลี โดยเอื้อยนาง เรื่อง-ภาพ

ช่วงหนึ่งแห่งกาลเวลา ณ สาวัตถี ๑ ควายอินเดียในวัดเกาหลี โดยเอื้อยนาง เรื่อง-ภาพ

ช่วงหนึ่งแห่งกาลเวลา ณ สาวัตถี ๑

ควายอินเดียในวัดเกาหลี

เอื้อยนาง

 

            เราชาวไทยพุทธเถรวาท ย่อมเคยรับรู้เรื่องราวในพุทธประวัติ และคุ้นเคยกับชื่อ “เมืองสาวัตถี” อยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย  เพราะ สาวัตถีเป็นเมืองหลวงแห่งแคว้นโกศล เป็นมหาอำนาจสำคัญควบคู่กับ เมือง ราชคฤห์ แห่งแคว้นมคธ

            สาวัตถี  หรือ ศราวัสตี ในภาษาสันสกฤต  หรือ Sravasti ในภาษาอังกฤษ ปัจจุบันเป็นเขตเมืองโบราณ ตั้งอยู่ในแถบตำบลที่เรียก สาเหถ-มาเหถ( (Saheth-Maheth) ในรัฐอุตตรประเทศ  อินเดีย มีซากโบราณสถานสำคัญในช่วงพุทธกาลอยู่หลายแห่ง เช่น วัดเชตวันมหาวิหารที่พระพุทธองค์ทรงจำพรรษาอยู่ถึง ๑๙ พรรษา ในเวลา ๒๕ พรรษาที่พระองค์ประทับ ณ เมืองสาวัตถี  และยังมีสถานที่อื่น ๆ ทั้งที่เป็นวัด  เคหาสถานของบุคคลที่เกี่ยวข้องในช่วงนั้นยังคงปรากฏร่องรอยอยู่มาก เช่น อนาถบิณฑิกเศรษฐี  นางวิสาขามหาอุบาสิกา  ฯลฯ

            ซากโบราณสถานเหล่านี้ในปัจจุบันได้รับการบูรณะ อนุรักษ์ไว้โดยทางการอินเดีย  กลายเป็นสถานที่ที่ชาวพุทธทั้งหลายจากทั่วโลกเดินทางไปกราบไหว้ นมัสการ สวดมนตร์ ภาวนา ทำสมาธิ น้อมจิตระลึกพระคุณสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา  กลายเป็นแหล่งชุมชนขยายใหญ่ขึ้นทุกวันสร้างงานสร้างเงินให้อินเดียไม่น้อยในแต่ละปี ปัจจุบันรอบเมืองโบราณสาวัตถีเป็นที่ตั้งวัดพุทธนานาชาติรองรับนักแสวงบุญ(รวมทั้งนักศึกษาผู้สนใจ และนักท่องเที่ยวอื่น ๆ )  เช่น วัดไทย  เกาหลี(ใต้)  พม่า  ศรีลังกา  ทิเบต  จีน เป็นต้น

        ตามคติการนับพุทธศักราชของไทย  ปี ๒๕๕๕ นับเป็นวโรกาสมงคลสมัย เพราะหากนับรวมตั้งแต่ช่วงพระพุทธองค์ตรัสรู้  และบำเพ็ญพุทธกิจหลังจากนั้นตลอด ๔๕ พรรษาด้วยแล้ว วันวิสาขาปีนี้ก็จะบรรจบครบ ๒๖๐๐ ปี ชาวพุทธจัดฉลองพุทธชยันตีกันยิ่งใหญ่ยิ่งมีคนหลั่งไหลสู่แดนพุทธภูมิกันตั้งแต่ต้นปี เพื่อนมัสการสังเวชนียสถานรำลึกพุทธคุณไม่ขาดสาย

            บ่ายคล้อยแห่งกุมภาพันธ์นั้น คณะของเราเข้าพักในวัดพุทธเกาหลี ชายขอบแห่งสาวัตถีที่มีทุ่งดอกมัสตาร์ดกำลังเหลืองอร่ามสะพรั่งสะพราวอยู่โดยรอบ

            และดอกมัสตาร์ดนี้ ยังมาเหลืองอร่ามพร่างพราว เป็นผืนพรมสีเขียวสลับเหลืองอยู่หน้าอาคารพักหลังใหญ่รูปตัวแอลในวัดเกาหลีนี้ด้วย  วัดแห่งนี้มีเนื้อที่กว้างขวาง แบ่งส่วนที่เป็นอาคารพักนักแสวงบุญ และเขตสังฆาวาสออกจากกันด้วยทุ่งมัสตาร์ดดังกล่าว ซึ่งรวมทั้งส่วนที่เป็นสวนผัก คอกสัตว์ และสวนป่าที่มีทิวไม้สูงบดบังให้มองเห็นยอดแหลมของโบสถ์ วิหาร โผล่พ้นขึ้นเหนือยอดไม้เขียวอยู่ลิบลิ่ว ดูไกล ๆ ราวกับเป็นยอดปราสาทบนวิวานแห่งอินทรา

            ภายในอาคารพักชั้นล่าง นอกจากห้องพักที่เรียงรายตามความยาวของแขนและขาของตัวแอลแล้ว  ตรงกลางที่หักมุมของอาคารจัดเป็นห้องรับประทานอาหารกว้างโล่งแบ่งส่วนหลังให้เป็นห้องครัว จัดเตรียมอาหารไว้ให้ความสะดวกแก่คณะผู้มาพักแรมเป็นอย่างดี  คุณรุ่งสุนีย์ หัวหน้าคณะจึงได้โอกาสนำวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารที่อุตส่าห์หอบหิ้วมาจากเมืองไทย(และแวะซื้อผัก ผลไม้ สด ๆ ของอินเดียตามตลาดทางผ่าน)ออกมา  แล้วเราชาวคณะก็ช่วยกันคนละไม้ละมือด้วยน้ำใจไมตรี ยิ้มแย้มด้วยหัวใจเปี่ยมสุขด้วยแรงบุญ 

            แม้อากาศจะค่อนข้างหนาวเย็น  แต่แดดยังใส ส่งให้ดอกมัสตาร์ดหน้าอาคารพักแย้มยิ้มเชิญชวน  คนอย่างเอื้อยนางหรือจะไม่เจียดเวลาลีลาไปเยือน เลาะเลียบไกลออกไปจนถึงส่วนที่เป็นสวนผักหลากชนิด และสีสันที่ปลูกไว้เป็นแปลงๆ ให้อัศจรรย์ตาโตเป็นนักหนาที่ได้เป็นหัวกาดขาวโผล่พ้นจากดิน  หัวใหญ่โตราวกับมีใครเอาลูกฟักแฟงมาฝังดินไว้ เป็นฟักแฟงที่มีใบประดับบนยอดชูขึนโผล่พ้นดิน ดูน่าขำ

            มัวเดิน ๆ ก้ม ๆ เงย ๆ ทันใดนั้น  ฟูด ๆๆ ...

            โอ้ย...เจ้าสัตว์เขาโง้ง ที่ชื่อว่า บัฟฟาโล่ ควาย ... มายืนทำหน้าถมึงทึงราวกับเกรงกลัวคนจะมาแย่งถิ่นกินหญ้าฟางของมัน  ห่างออกไปเจ้าลูกแหง่ทำหน้าตื่นตระหนกไม่แพ้เรา  ผิดแต่มันพยายามจะถอยหนี  แต่เรากลับยกกล้องขึ้นมากด ๆ ๆ ...ขณะเจ้าตัวใหญ่หมายตาว่าจะพุ่งมาชน  หากแต่ว่ามันมีเชือกผูกโยงไว้กระนั้นก็น่ากลัวจนเราต้องถอยหลัง  เกือบปะทะกะลุงแขกผู้มาพร้อมกับรอยยิ้มขัน และทำไม้ทำมือส่งภาษาบอกว่า “ไม่เป็นไรหรอกนะนายจ๋า อีนี้ควายแขกที่ผูกไว้แล้ว  ไม่สามารถทำอะไรใครได้แล้วนะนายจ๋า...” (เราแปลภาษาของเขาเอาเอง...ว่าคงประมาณนั้นแหละ)   

            ควายแขกเหล่านี้มีวัดเกาหลีเป็นเจ้าของ  แต่คนเลี้ยงเป็นชายชราหน้าแขกที่ยิ้มกว้างอย่างใจดี  มาบอกเราด้วยภาษาพูดที่ฟังไม่ออก  แต่ภาษามือ และสีหน้าบอกให้เข้าใจถึงไมตรี  “มันไม่ดุหรอก ดูซี ดูซี...”  พลางหันไปส่งภาษากับเจ้าสัตว์หน้าขนเขาโง้งบอกให้อยู่นิ่ง ๆ แอ็คท่าสวย ๆ ให้ไทยเขาถ่ายรูปนะจ๊ะ ...

            เจ้าตัวใหญ่ท่าทางจะฟังรู้เรื่อง  แต่เจ้าตัวเล็กพอเห็นเจ้าของมาเท่านั้นแหละก็ได้ใจ จึงออกอาการดื้อดึงไม่ยอมอยู่นิ่งหรือถอยหนีอีกแล้ว  เป็นเราต่างหากที่ยอมถอยกลับสู่ที่พักเพราะได้เวลาอาหารเย็นพอดี

            ควายแขก หรือ ควายอินเดีย

            ชาวอินเดียนอกจากจะเลี้ยงวัว แกะ แพะ มากมายแล้ว  ก็จะเห็นมีควายอยู่ทั่วไปตามบ้านเรือน ถนนหนทาง แม้กระทั่งในวัดอย่างที่เห็น  เพราะนอกจากจะเลี้ยงไว้ใช้งานมันยังให้น้ำนมอีกด้วย  ว่ากันว่าน้ำนมควายมีคุณค่าทางอาหารมากกว่านมโค มีคอเลสเตอรอลต่ำกว่า  แต่มีโปรตีนสูงกว่านมโค นมแพะ  นิยมนำมาผลิตเนย ชีส(Cheese) และโยเกิร์ต     ที่เห็นง่าย ๆ ในที่นี้ก็มูลของมันไง  คือปุ๋ยบำรุงทุ่งมัสตาร์ด และสวนผักที่ทำให้หัวผักกาดใหญ่โตเป็นฟักแฟงนั่นแหละ  เป็นพืชผักอินทรีย์ไร้สารเคมีปนเปื้อนอย่างที่ชาวโลกกำลังหวนหา  โดยเฉพาะในไทยที่เราสามารถกำจัดวัว ควาย ออกจากท้องทุ่งได้อย่างหมดจด (ต่อไปถ้าใครจะด่าใครว่า  “ควาย” อย่าลืมเติมคำว่า แขก เป็น “ควายแขก” ไปด้วยนะคะจึงจะมองเห็นภาพพจน์ชัดเจน)  เคยอ่านข่าวมาว่า  นักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันวิจัยผลิตภัณฑ์ทางด้านนมแห่งอินเดีย ได้ทำการโคลนนิ่งควายสำเร็จเป็นตัวที่ ๒ แล้ว (ตัวแรกก่อนนั้นมีอายุเพียง ๑ สัปดาห์ก็ตายจากไป) เมื่อ ๒๕๕๒ ชื่อ “การิมา”

            ชาวอินเดียนอกจากจะดื่มนม ใช้ผลิตภัณฑ์จากนมมาแต่โบราณแล้ว ยังใช้นมในด้านอื่น ๆ อีกด้วย ตอนต่อไปเลยจะเล่าเรื่อง นมกับความล่มสลายแห่งศากยวงศ์ สู่กันฟังนะคะ ไหน ๆ ก็มาถึงสาวัตถีแล้ว มีอะไร ๆ ต้องเล่ามากมายละ

๐๐๐๐

 

           

 

 

 

Tags : อินเครดิเบิ้ล..อินเดีย 8

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view