http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,960,570
Page Views16,266,905
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ไหว้หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ ศาลหลักเมืองสุพรรณบุรีและกินก๋วยเตี๋ยวต้มยำที่ตลาดสามชุก โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

ไหว้หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ ศาลหลักเมืองสุพรรณบุรีและกินก๋วยเตี๋ยวต้มยำที่ตลาดสามชุก โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

ไหว้หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ และศาลหลักเมืองสุพรรณบุรี

แล้วไปกินก๋วยเตี๋ยวต้มยำที่ตลาดสามชุก

โดยธงชัย เปาอินทร์/เรื่อง-ภาพ

             วันเดียวเที่ยวที่ไหนดี ตอนนี้ ชวนไปกราบไหว้หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์วรวิหารและศาลหลักเมืองสุพรรณบุรี แต่อย่าลืมแวะเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร แล้วบึ่งยาวไปกินก๋ยวเตี๋ยวต้มยำสูตรสมุนไพรที่ตลาดสามชุก ก่อนกลับแวะกินข้าวหมากสักถ้วย ดื่มโอวยั๊วสักแก้ว แล้วซื้อขนมกงและกระยาสารทหวานหอมติดไปกินได้นานๆที่บ้าน

วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร จ.สุพรรณบุรี

              ตามเวลานัดหมาย 05.30 น.พบกันที่จุดนัดบแล้วเคลื่อนขบวนบัส 10 คันออกจากกรุงเทพมหานคร เพื่อมุ่งหน้าไปยังแหล่งท่องเที่ยววันเดียวกลับ ท้องที่จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อรถยนต์แล่นมาถึงตัวเมืองสุพรรณบุรีก็วิ่งเลยไปอีก 4 กม.จึงถึงซึ่งวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อันเป็นพระอารามหลวงชั้นวรวิหาร ว่ากันว่าวัดนี้เก่าแก่กว่า 1,200 ปีเลยทีเดียว เรื่องราวความเป็นมาเป็นอย่างไรละหรือ

              ตามที่พงศาวดารเหนือกล่าวอ้างถึงพระเจ้ากาแตได้มีรับสั่งให้มอญน้อยไปทำการซ่อมบำรุงวัดป่าเลไลยก์เมื่อพ.ศ.1724 นั้น ตอนนั้นหลวงพ่อโตสร้างอยู่กลางทุ่งโล่งแจ้งทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ปางปฐมเทศนา แต่ต่อมาได้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่กลายเป็นปางป่าเลไลยก์ เป็นท่าประทับนั่ง พระหัตถ์ซ้ายคว่ำบนเข่า พระหัตถ์ขวาหงายบนเข่า สูง 23.46 เมตร หน้าตักกว้าง 11.20 เมตร

พระจำลองที่จะนำไปสร้างที่เขาทำเทียม อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

              ภายในพระพุทธรูปหลวงพ่อโตบรรจุด้วยพระบรมสารีริกธาตุไว้ 36 องค์ ต่อมามีการสร้างหลังคาครอบ ไม่มีช่อฟ้าแต่อย่างใด ภายในผนังโบสถ์ปราศจากรูปวาดพุทธประวัติหรือเหตการณ์บ้านเมืองใดๆไว้เลย ผนังโบสถ์โล่งเรียบ เสาโบสถ์ขนาดใหญ่ไม่ได้แต่งแต้มอะไรเพิ่มเติม มีแต่เพดานเท่านั้นที่ทาสีแดง ด้วยเหตุที่หลังคาสูงใหญ่ ทำให้ภายในเย็นกว่าปกติทั่วๆไป

หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ปางป่าเลไลยก์

ภาพเขียนระเบียงแก้ว ขุนแผนฟันม่าน

               ออกจากวัดป่าเลไลยก์วรวิหารแล้วก็เดินทางต่อไปยังศาลหลักเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้อธิษฐานจิตไว้ก่อนเดินทางเข้าไปเผชิญโชคที่กรุงเทพมหานคร ว่าหากไปทำการงานในกรุงเทพแล้วเจริญก้าวหน้าไปกว่านั้น จะกลับมาพัฒนาปฏิสังขรณ์ศาลเจ้าแห่งนี้ให้งดงามตระการตา ในที่สุดนายบรรหารก็ได้กลับมาตามคำบอกกล่าว

 

มังกรคุ้มภัยให้ลูกหลาน

               เป็นศาลหลักเมืองที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีนโดยแท้ ลวดลายและสีสันสดใสอันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของศิลปะจีน สัตว์มงคลในความเชื่อตามคติจีนถูกนำมาประดับ ดอกโบตั๋นแทรกแซมไว้ในมุมต่างๆ เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์และเทพเจ้าแห่งความดีงามสถิตทั่วตัวอาคาร อักษรจีนที่มีความหมายลึกซึ้งเหมือนเป็นคำอวยพรก็เช่นกัน

ประตูศาลเจ้าหลักเมืองสุพรรณบุรี

               กลิ่นธูปและควันเทียนคละคลุ้งไปทั่วบริเวณ พนักงานประจำศาลจะเดินเก็บธูปที่ล้นกระถางธูปออกไปเพื่อให้ผู้ศรัทธาได้เข้าไปปักธูปได้สะดวกขึ้น พิธีกรจะประกาศแนะนำวิธีการไหว้ เชิญชวนให้ร่วมทำบุญต่างๆนานา พนักงานจำหน่ายธูปเทียนและน้ำมันเติมตะเกียงเฝ้าระวังรั้งรออยู่ตามมุมต่างๆ เมื่อไหว้ครบตามจุดต่างๆแล้วก็เป็นการเดินชมความงดงามของศาลหลักเมือง

อ.ธนวัฒน์ ทองเพิ่ม(เสื้อส้ม)เลขาธิการสมาคม สทน.ถ่ายภาพกับสื่อมวลชน

จุดธูปอธิษฐานขอเงินไหลมาเทมา

                แน่นอนว่ามาแล้วก็ต้องเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร ซึ่งได้เสกสรรค์ปั้นแต่งให้ซ่อนอยู่ในตัวมังกร สัตว์ในความเชื่อของชาวจีนว่าเป็นสัตว์มงคลตัวเบ้อเริ่มเทิ่ม พนักงานสาวเสียงใสๆในชุดแดงสวยๆนำคณะเข้าไปเล่าเรื่องราวทีละห้องๆ แต่ละห้องมีทั้งภาพในวิดิทัศน์และรูปปั้นแสดงไว้ เมื่อได้เข้าไปชมครบทุกห้องก็ได้ความรู้มากมายในเรื่องราวความเป็นมา เดินออกมาแล้วก็ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก

เรือสำเภาสามใบล่องมาขึ้นฝั่งเมืองมั่งก๊ก(บางกอก)

บนสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน แอคกันหน่อย

                 ทุกคนขึ้นรถบัสมุ่งหน้าสู่ตลาดร้อยปีสามชุก ซึ่งเป็นตลาดเก่าแก่ริมแม่น้ำท่าจีน แรกทีเดียวก็เหลียวหาร้านอาหารเช่นร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านข้าวแกง ร้านเป็ดย่าง ร้านผัดราดหน้า สำหรับผมได้ร้านก๋วยเตี๋ยวตั้งแอ้งฮวด อยู่ซอย 3 แม่ค้าหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ผมสั่งต้มยำบะหมี่ไปชามหนึ่ง พอตักซดน้ำเพื่อชิมก็ได้กลิ่นตะไคร้หอมกรุ่น ใบมะกรูดซอย ผักชีฝรั่งซอย หอม ผักชี น้ำพริกเผาผัด มิน่า จึงมีกลิ่นรสชาติแปลกไปจากก๋วยเตี๋ยวต้มยำร้านไหนๆ สูตรใหม่ของเธอเลยทีเดียว ต้มยำสมุนไพร ชดโช้

ก๋วยเตี๋ยวร้านตั้งแอ้งฮวด แม่ค้าหน้ายิ้มๆ

บะหมี่ต้มยำสูตรสมุนไพร หอมจับใจ อร่อยจับจิต

                 อิ่มแล้วได้ข้อมูลแล้วก็ถ่ายรูปมาอวดกันนี่แหละ ไปสามชุกอย่าลืมแวะไปลองชิมนะ เดี๋ยวจะหาว่าเจอของกินอร่อยแปลกแตกต่างจากที่อื่นๆแล้วไม่บอกกัน ผมเดินต่อไปอีกหน่อยก็สุดท้ายซอย3 เลี้ยวไปทางซ้ายมือเพื่อจะไปออกซอย2 ตรงโค้งมีอาม่านั่งขาย ข้าวหมาก อดใจไม่ไหว ต้องกิน เหลียวไปเห็นร้านกาแฟน่านั่งชื่อร้านกาแฟอาม่า มีโต๊ะกลมหินอ่อนแบบเก่าๆ ชวนนั่ง ได้บรรยากาศ

ข้าวหมาก 5 บาท หากินยาก

โอวยั๊วหรือกาแฟดำ แบบโบราณๆ

                 ผมก็เลยกินข้าวหมากกับกาแฟดำที่เรียกสั้นๆว่า โอวยั๊ว ผมใช้ช้อนคนกาแฟให้เกิดเสียงดังกรุ๋งกริ๋งๆ เพื่อให้ได้บรรยากาศและรำลึกนึกถึงตอนที่ไปนั่งกินกาแฟที่ร้านหน้าวัดบ้านเกิด น้ำชาร้อนสีเหลืองน้ำตาลๆแถมมาล้างคออีกแก้วหนึ่งตามสูตรกาแฟโบราณเป๊ะ เชื่อไหม ผมเคยไปสั่งโอวยั๊วจากรถมอเตอร์ไซต์ขายกาแฟโบราณ เขาไม่รู้จักโอวยั๊ว เซ็งเลยพวกขายกาแฟหลอกลวง

หน้าตาแม่ค้าสามชุก ขนมกงและกระยาสารทอร่อย

                ผมเดินออกทางซอย2 เห็นแม่ค้าหน้าตาบ้านนอกพันธุ์แท้นั่งขายขนมกง และกระยาสารท จึงถ่ายรูปมาอวดกัน นี่แหละของแท้พันธุ์สามชุก หนึ่งขนมกง สองกระยาสารท สามตัวแม่ค้าเองเลย เป็นของฝากที่เก็บไว้กินได้หลายวัน แต่สำหรับผมขนมกงถุงนั้น กินไม่เกินสองวันเกลี้ยงครับ หอมไส้ขนมกง หอมที่เขาทอดได้พอดี และไม่หวานจนติดคอ ส่วนกระยาสารทกินมาแต่เด็กๆ เห็นทีไรอดใจไม่ไหว คนแก่ตากละ

บะหมี่เหลือง-หยกและเกี๊ยว น่ากิน

                ทะลุมาถึงปากซอย 2 ผมแวะเข้าร้านบะหมี่เกี๊ยวเจ้าดัง ซึ่งตอนแรกคนแน่นจนล้นร้าน ยืนรอ ผมเห็นว่าลูกค้าไปเกือบหมดแล้วจึงแวะเข้าไปสั่งเกี๊่ยวน้ำชามหนึ่ง ได้เกี๊ยวที่ปรุงแต่งแบบฉบับเดิมๆด้วยเนื้อหมูผสมเกลือ ห่อด้วยแผ่นเกี๊ยวบางๆ ลวกพอสุกกำลังหวานๆ หอมกระเทียมเจียว รสชาติน้ำซุบอร่อยชวนกิน ผมเติมน้ำส้มปรุงรสตามชอบ แล้วก็อดนึกถึงตอนที่แม่พาไปกินตลาดศาลเจ้าโรงทองร้านตากว้างไม่ได้

เกี๊่ยวน้ำชามอร่อย เนื้อหมูบะช่อหวานใน

                ทุกวันนี้ ผมไม่กินเกี๊ยวน้ำตามรถเข็นขายหรือร้านคุณชายทั้งหลายเพราะว่าเขาจะใส่หมูนิดหนึ่งเท่าปลายนิ้วก้อย ห่อด้วยแผ่นเกี๊ยวหนาปึก เท่ากับกินแผ่นเกี๊ยวแท้ๆ แต่ร้านตากว้างตลาดศาลเจ้าโรงทองอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทองและร้านที่ตลาดสามชุกนี้เหมือนกัน เขาใส่เนื้อหมูบะช่อก้อนโตๆ แผ่นเกี๊ยวบางๆ อร่อยจนคิดถึงแม่  เพราะว่าแม่ชอบพาไปกินทุกครั้งที่ไปตลาดกัน

                เดินทะลุซอย1 ผมเห็นตังเมไม้ในถุง แหม เหมือนเจอเกลอเก่า กินกันจนฟันเป็นแมงมาแล้ว ซื้อติดมือมาด้วย กลิ่นตังเมไม้หอมประหลาด เขากวนได้อย่างไร เขาปรุงจากอะไร เขาขายได้คุ้มค่าไหม ขนมขบเคี้ยวโบราณๆอย่างนี้นับวันจะหากินไม่ได้กันแล้ว เด็กๆรุ่นหลังเขามีตัวเลือกเยอะ จึงอาจจะไม่รู้จักหรือกินกันแล้ว แต่สำหรับคนแก่รุ่น 60 อัฟ รับรองได้ว่า เคยฟันผุเพราะกินตังเมไม้มาทุกคน

                ไปตลาดโบราณสามชุกก็เหมือนไปตลาดเมื่อตอนเป็นเด็กๆเมื่อเกือบร้อยปีก่อนโน้น  

 

เจดีย์ทรงจีนสูงตระหง่าน

ภาพนี้ถ่ายเพราะว่า แสงเงาดูลึกลับ มีอาถรรพ์

  

Tags : ตลาดน้ำวัดท่าการ้อง

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view