http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,956,934
Page Views16,263,237
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

บนเส้นทางปากช่อง-วังน้ำเขียว

บนเส้นทางปากช่อง-วังน้ำเขียว

บนเส้นทางปากช่อง-วังน้ำเขียว

มีดอกไม้แสนงาม

โดย ธงชัย เปาอินทร์  เรื่อง-ภาพ

            กลางเดือนกุมภาพันธ์ทุกปี มีดอกไม้ผลิบานตามธรรมชาติมากมายหลายชนิด ล้วนสีสันสวยงาม แต่จะมีใครเฝ้าสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ในระหว่างการเดินทางบ้างไหม หรือเพียงมุ่งเดินทางเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย จึงไม่ได้สนใจธรรมชาติแสนงามสองฟากฝั่งเส้นทางที่ผ่านไป อยากเชิญชวนให้ชมและรู้จักพันธุ์ไม้ป่าประดับเมืองเหล่านี้สักนิด เผื่อจะสะกิดใจให้อยากช่วยกันอนุรักษ์ไว้ หรือช่วยกันปลูกเพิ่ม หรือไม่อยากให้ใครมาทำลายมากไปกว่านี้

 

             1.ต้นตะเบบูญ่าหรือในชื่อไทยว่า เหลืองปรีดิยาธร ไม้ต้นนี้นิยมปลูกประดับตามถนนหลวง หน้าสำนักงานสถานที่ราชการ เช่นต้นนี้ผมถ่ายรูปมาจากข้างถนนวิภาวดีรังสิต ใกล้ๆกับอนุสรณ์สถานโฮปเวล แท่งปูนรถไฟที่รัฐบาลไทยเสียค่าโง่พวกฮ่องกงไปหลายพันล้านบาท ผมนั่งรอรถที่จะมารับไปปากช่อง-วังน้ำเขียวนี่แหละ

 

             ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tabebuia aurea (Silva Manso) Benth. & Hook.f. ex S.Moore อยู่ในวงศ์ BIGNONIACEAE มีชื่อสามัญว่า Silver trumpet tree, Tree of gold,Paraguayan silver trumpet tree) เป็นไม้ต่างถิ่นกำเนิดจากอเมริกากลางและหมู่เกาะอินดีสตะวันตก ไม้ต้นนี้ออกดอกช่วงเริ่มแล้ง
ปกติทิ้งใบหมดจึงออกดอก แต่ถ้าไม่ทิ้งใบก็ออกดอกน้อยไม่สวยงาม

 

              2.ต้นงิ้วแดง หรือต้นงิ้วดอกแดง ชื่อ Bombax ceiba L. อยู่ในวงศ์ BOMBACACEAE เป็นไม้ป่าขึ้นตามริมห้วยในป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ลำต้นมีหนามแหลม ดอกสีส้มอมแดง กลีบดอกหนานิ่ม เกสรดอกงิ้วเมื่อร่วงหล่นจะมีชาวบ้านอีสานหรือชาวเหนือ นิยมเก็บไปตากแห้งใส่ในน้ำแกงที่เรียกว่าน้ำเงี้ยว กินกับขนมจีน หรือลวดกลีบดอกกินเป็นผักสดก็ได้ แต่ไม่ค่อยนิยมนัก เป็นต้นไม้ที่พบในถิ่นไทย ออกดอกในช่วงปลายฤดูหนาวต้นฤดูร้อน ก่อนออกดอกผลัดใบเกลี้ยง ดอกจึงดูโดดเด่นเห็นแต่ไกล

                เปลือกต้นงิ้วแดง ชาวเหนือนิยมนำไปต้มเพื่อให้ได้สีน้ำเงินย้อมผ้าฝ้าย ทุกส่วนใช้เป็นยาสมุนไพรได้มากมายหลายขนาน เช่น ราก รสเมา บำรุงกำลัง เป็นยากระตุ้น เปลือกแก้โรคตกโลหิต แก้โรคไต หนามแหลมๆใช้แก้ไข้ แก้ฝีประคำร้อย ใบ รสฝาดเมาแก้อักเสบ แก้ฟกช้ำดำเขียว ดอก รสหวานเย็นดับพิษไข้ ยาง รสเมาเป็นยากระตุ้นความต้องการทางเพศ

 

                3.ติ้วเกลี้ยง หรือ ติ้ว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Crataxylum cochinchinense (Lour.) Blume ชื่อวงศ์ CLUSIACEAE พบทั่วไปในป่าดงดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ก่อนออกดอกทิ้งใบเกลี้ยง ผลิตาดอกช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ กลีบรองกลีบดอกสีแดงเข้ม กลีบดอกขาวอมชมพู ช่อละ 2-3 ดอก ทั้งต้นดูแพรวพราวเหมือนดอกนางพญาเสือโคร่งกลายๆ

 

                  ใบอ่อนและยอดอ่อน ชาวเหนือและชาวอีสานนิยมกินเป็นผักสดกับอาหารพื้นเมืองจำพวก ลายคั่ว ลาบอีสาน แต่ชาวเวียดนามนิยมกินเป็นผักสดกับอาหารญวน ใบติ้วระบายท้องอ่อนๆ ส่วนต้นและราก ผสมลำต้นกำแพงเจ็ดชั้น ต้มน้ำดื่มแก้กระษัยเส้น เป็นยาระบาย  ผมพบว่าเขาออกดอกได้สวยงามไม่น้อย ถ้ามีการจัดการที่ดี ปลูกประดับได้งดงาม

 

                  4.ต้นทองกวาวดอกเหลือง เป็นต้นไม้ชนิดเดียวกับต้นทองกวาวดอกแดงหรือสีส้มอมแดง แต่ผ่าเหล่า จึงออกดอกเป็นสีเหลือง หากนำเมล็ดต้นทองกวาวดอกเหลืองไปปลูกก็จะออกดอกเป็นดอกสีส้มอมแดงเหมือนแม่เดิม แต่ถ้าอยากได้ต้นทองกวาวดอกเหลือก็ต้องขยายพันธุ์โดยการไม่อาศัยเพศ เช่น การตอน การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

 

                    มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Butea monosperma (Lam.) Taub อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE ต้นทองกวาวดอกเหลืองนี้พบที่บ้านขุนราม ริมถนนสายปากช่อง-วังน้ำเขียว ผมเขย่งเก็งกอยถ่ายจนได้รูปมาฝากกันชม สวยไหม อ้อ ดอกทองกวาวใช้เป็นสีย้อมผ้า ดอกแดงให้สีแดง ดอกเหลืองก็ให้สีเหลือง ออกดอกต้นเดือนกุมภาพันธ์ต้นร้อนนี้แหละครับ

 

                     5.ต้นทองหลางป่า ผมพบบนเส้นทางปากช่อง-วังน้ำเขียว ได้เห็นอยู่บนเชิงเขาป่าเบญจพรรณ และป่าดงดิบแล้ง ถ้าไม้รู้จักอาจเข้าใจผิดว่าเป็นต้นงิ้วแดง ออกดอกช่วงเวลานี้เหมือนๆกัน ทิ้งใบและไม่ทิ้งใบ ขึ้นอยู่กับความชุ่มชื้นของสิ่งแวดล้อม มีนกชอบมากินน้ำหวานจากดอกมากมายหลายชนิด เป็นต้นไม้ที่สวยงามทั้งดอกและเป็นแหล่งอาหารแก่นกสวยๆ

 

                    เปลือกต้นแก้บวม ใบ ขับพยาธิ ใบอ่อนเป็นอาหารแทนผักสดได้ ดอกสีแดงใช้เป็นสีย้อมผ้าสีแดง ทองหลางป่าสามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้ เนื้อไม้ก็ใช้ประโยชน์ได้

 

                      6. ชงโค มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bauhinia purpurea L. อยู่ในวงศ์ FABACEAE วงศ์ย่อย  CAESALPINIOIDEAE มีชื่อสามัญว่า Butterfly Tree, Orchid Tree, Purple Bauhinia เป็นพันธุ์ไม้ต่างถิ่นกำเนิดจากจีนตอนใต้ นำเข้ามาปลูกประดับตามถนนรนแคมทั่วประเทศ และล้ำเข้าไปในป่าอนุรักษ์เกือบทุกป่า เป็นความมักง่ายและไร้หลักของผู้ทำหน้าที่ เซ็งเป็ดจริงๆ ในมรดกโลกทุกแห่งตรึม

 

                      ใบและยอดอ่อนกินเป็นผักสดหรือใส่ในแกงแคหรือแกงส้ม รสเปรี้ยวนิดๆ บางทีจึงเรียกว่าต้นส้มเสี้ยว ออกดอกตลอดปี มีกลีบดอกสีชมพูอมแดง  ปัจจุบันนี้พบว่า มีการผสมพันธุ์กับเสี้ยวดอกขาวไม้พื้นถิ่นของไทยจนกลายเป็นชงโคลูกผสม สีแปลกตาออกไป อีกไม่นานจะเกิดความสับสนทางวิชาการพืชว่า ชงโคเป็นไม้ไทยหรือไม้เทศกันแน่ๆ

 

                     7.คำมอกหลวง ดอกต้นนี้บอกตามตรงว่าถ่ายมาจากไม้ประดับของ ปาลิโอ ทั้งๆที่ถ้าเดินเข้าป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ข้างๆทางก็จะพบได้ และเป็นช่วงเวลาที่เขากำลังออกดอกเต็มต้น กลีบดอกสีเหลือง มีกลิ่นหอมชวนดม ใบใหญ่ๆให้ร่มเงาได้ดี มีประโยชน์เมื่อนำมาปลูกประดับทั่วไป ในป่าต้นใหญ่ถึง 15-20 เมตร จะให้ดอกดกเหลืองไปทั้งต้น

 

                       มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gardenia sootepensis Hutch อยู่ในวงศ์ RUBIACEAE ยอดอ่อนมีน้ำยางสีเหลืองเคี้ยวเล่นได้คล้ายๆหมากฝรั่ง ไม่มีรสไม่มีกลิ่น พบทั่วไปทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ยกเว้นภาคใต้

 

                    8.ประดู่แดง  ต้นนี้พบที่ ไมล์ไฮ เพลย์เฮ้าส์ ปากช่อง-เขาใหญ่ ปลูกประดับในสวนร่มรื่น ให้ดอกต้นฤดูร้อนนี้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าไม้ต้นนี้เป็นไม้ต่างถิ่นกำเนิด จึงไม่ควรนำไปปลูกประดับในป่าอนุรักษ์เด็ดขาด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phyllocarpus septentrionalis Donn.Smith  อยู่ในวงศ์ FABACEAE มาจากประเทศกัวเตมาลา ทวีปอเมริกาใต้ ช่างไกลแสน

 

                      ดอกออกหลังจากทิ้งใบเกลี้ยง ดอกเล็กๆเกาะกันเป็นกลุ่มใหญ่ ออกตามตาพราวไปทั้งกิ่งปลายๆ จึงดูเหมือนดอกออกทั้งกิ่ง สีสันสดใส ให้ดอกดก สวยแปลกตาไปจากไม้ป่าเมืองไทย โดยเฉพาะไม้ประดู่ไทยให้ดอกสีเหลือง

 

                     9.พวงแสด  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pyrostegia venusta Miers อยู่ในวงศ์ BIGNONIACEAE  มีชื่อสามัญว่า Orange trumpet, Flame flower, Fire-cracker vine เป็นไม้เลื้อยขนาดใหญ่ ยาวได้ถึง 20 เมตร จะออกดอกก็ต่อเมื่ออากาศหนาวเย็นพอเพียง ส่วนใหญ่ออกช่วงต้นเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์

 

                      พวงแสดมีถิ่นกำเนิดจากประเทศ บราซิลและประเทศ อาเจนตินา มีการนำเข้ามาปลูกทางภาคเหนือของประเทศไทยสมัยที่ชาวอังกฤษเข้ามาทำไม้ ชอบอากาศหนาวเย็นจึงออกดอก หากอากาศเย็นไม่พอจะไม่ออกดอก ผมถ่ายรูปนี้จาก ซีนเนอรรี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ นี่เอง แสดงว่าเมื่อหนาวที่ผ่านมานั้น หนาวถึงระดับที่พวงแสดต้องการ พวงแสดไม่ควรนำไปปลูกในป่าอนุรักษ์ทุกประเภทครับ

 

                      ในความจริง ยังพบดอกไม้ในต้นฤดูร้อนอย่างนี้อีกมากมายหลายชนิด แต่ละภาคแต่ละส่วนก็มีพันธุ์ไม้ทั้งในถิ่นกำเนิดและต่างถิ่นกำเนิดให้ชมเสมอ ขึ้นอยู่กับว่า เราจะสนใจที่จะสัมผัสไหม คนบางคนแม้ดอกไม้บานอยู่หน้าบ้าน ยังไม่เคยเดินไปดูเล้ย

Tags : ไมล์ไฮ เพลย์เฮ้าส์

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view