http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม14,003,415
Page Views16,312,269
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

2 วัน 1 คืนที่บุรีรัมย์รื่นรมย์ ชมวัฒนธรรมขอม

2 วัน 1 คืนที่บุรีรัมย์รื่นรมย์ ชมวัฒนธรรมขอม

2 วัน 1 คืนที่บุรีรัมย์รื่นรมย์ ชมวัฒนธรรมขอม

 ชื่นมื่นเพียงใดกันหรือ

โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

          ถ้าจุดเริ่มต้นคือกรุงเทพมหานคร การเดินทางเพียง 383 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมง 30 นาที ถึงศาลหลักเมืองบุรีรัมย์ สถาปัตยกรรมตามแบบอย่างขอมโบราณอันถือกันว่าเป็นศาลหลักเมืองที่สวยที่สุดในประเทศไทย แล้วเดินทางล่องกลับลงมายัง ปราสาทพนมรุ้ง ชมความมหัศจรรย์ของดวงสุริยาส่องผ่านกรอบประตูปราสาท 15 ประตู  ค่ำคืนสวยงามกับโฮปบายดินเนอร์ ณ ปราสาทเมืองต่ำ รุ้งเช้าไปเที่ยวแหล่งเรียนรู้การทอผ้าไหมและย่ำถิ่นภูเขาไฟที่วัดเขาพระอังคาร แวะซื้อหาของฝากระหว่างทาง  2 วัน 1 คืน รื่นรมย์สมใจไหมเอ่ย

 

ศาลหลักเมืองบุรีรัมย์

           เช้าตรู่ พร้อมสรรพทุกประการ ณ จุดนัดพบ  การเดินทางเริ่มขึ้นด้วยรถยนต์แอร์เย็นฉ่ำ  แวะรับประทานอาหารเช้าแบบเบาๆสบายๆ ถ่ายทิ้งของเสียแล้วเริ่มต้นเดินทางอีกครั้ง มุ่งหน้า หมวกเหล็ก ปากช่อง สี่คิ้ว แวะกราบหลวงพ่อโตองค์โตที่สุดในประเทศไทยที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยจิตศรัทธาของพระเอกยอดนิยม สรพงษ์ ชาตรี จากนั้นมุ่งดิ่งไปยังอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ หยุดพักรับประทานอาหารกลางวันที่บ้านเสาะรีสอร์ท อิ่มอร่อยกับอาหารพื้นบ้าน แกงไข่มดแดง ไข่เจียวไข่มดแดง ผัดกุ้งจ่อมเลิศรส และปลานึ่งน้ำพริกหนุ่ม

 

ด้านตะวันตกของศาลหลักเมือง

             ออกเดินทางต่อไปยังศาลหลักเมืองที่สวยที่สุดของประเทศไทย ด้วยสถาปัตยกรรมขอมโบราณ แต่เป็นนวัตกรรมใหม่ที่สร้างขึ้นจากการระดมสติปัญญาของสถาปัตยกรรมใหม่ เป็นศาลหลักเมืองที่ใช้วัสดุเป็นหินทรายสีชมพู แกะสลักถักทออย่างปราสาทขอมโบราณ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2547 สร้างเสร็จสมโภชเมื่อปีพ.ศ.2553 หมดเงินงบประมาณของเทศบาลนครบุรีรัมย์ไป 21 ล้านบาท ว่ากันว่า เสาหลักเมืองบุรีรัมย์หลักแรกสร้างด้วยไม้ เมื่อิ 235 ปีก่อน ต่อมาสร้างด้วยคอนกรีตปีพ.ศ.2521 แล้วจึงทุบสร้างใหม่ให้สวยสง่าสมราศรีเมืองขอมโบราณอย่างสะดุดตา น่ากราบไหว้และเยี่ยมชม

ภาพหินทรายสีชมพูแกะสลีกเป็นหน้าบัน

 

เบื้องหน้า ปึงเถ่ากงม่า 

               ในบริเวณเดียวกัน มีศาลเจ้าจีน ปึงเถ่ากงม่า สถิตร่วมอยู่มาแต่โบราณกาลกับยุคเสาหลักเมืองเป็นไม้ ต่อมามูลนิธิสว่างจรรยาธรรมสถาน ได้ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีนสวยงามสมค่าควรกราบไหว้ยิ่งขึ้น ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งสองหลักนี้ เป็นที่สักการะของเหล่าเจ้าเมือง ข้าราชการ และคหบดีที่ค้าขายร่ำรวยทั่วหน้า เชื่อกันว่า จะอยู่ก็จะรุ่งเรือง จะไปก็จะได้ลาภ

 

                ลืมไม่ได้ เมื่อย่างเท้าเข้ามาถึงเมืองบุรีรัมย์แล้วต้องแวะเวียนไปเยี่ยมชม สนามฟุตบอล I-Mobile Stadium บนพื้นที่กว่า 200 ไร่ สนามฟุตบอลมาตรฐานฟีฟ่า(FIFA)และระดับเอสคลาสของเอเอฟซี(AFC)  ที่สร้างเสร็จเร็วที่สุดในโลกเพียง 265 วันเท่านั้น ได้บันทึกลงในกินเนสบุ๊กเป็นหลักฐาน สนามฟุตบอลบุรีรัมย์นี้ มีอัฒจรรย์จุแฟนบอลได้มากถึง 23,489 ที่นั่ง ยิ่งใหญ่อลังการที่สุดในประเทศไทย

 

ปราสาทพนมรุ้งอลังการ

                ตะวันบ่ายคล้อยลงไปไม่น้อยเมื่อต้องตัดใจเดินทางกลับจากเมืองบุรีรัมย์เพื่อไปยังอำเภอเฉลิมพระเกียรติ อันเป็นสถานที่ประดิษฐานปราสาทขอมโบราณที่ชื่อว่า พนมรุ้ง แปลว่าภูเขาอันกว้างใหญ่ บนปากป่องภูเขาไฟที่มอดสนิทแล้วสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 383 เมตร สร้างด้วยหินทรายสีชมพู สลักเสลาด้วยสถาปัตยกรรมขอมโบราณเพื่อถวายเป็นเทวาลัยอันเป็นที่ประทับของพระศิวะบนเขาไกรลาศ เป็นการสร้างตามความเชื่อของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย (หลักฐานการก่อสร้างตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15-18

 

                   นอกจากนั้นยังพบว่า ศิลาจารึกพนมรุ้ง หลักที่ 2 หลักที่ 4 และ    K 1090 จารึกว่า พนมรุ้งเป็นชื่อเทวสถานที่มีขอบเขตกว้างขวาง มีที่ดิน หมู่บ้าน เมือง ซึ่งผู้ปกครองได้จัดหามาถวายในลักษณะเป็นกัลปนาเทวสถาน   และจารึกอักษรขอมมีคำว่า วนํรุง เขียนเป็นภาษาไทยว่า พนมรุ้ง นี่คือปราสาทอันเพริดแพร้วของเมืองบุรีรัมย์ครับ นอกจากนี้ยังมีจารึก สุริยะสาดส่อง 15 ช่องประตู ปีหนึ่งถึง 4 ครั้งดังนี้คือ

 

นักท่องเที่ยวรอชมดวงตะวันส่องแสงผ่าน 15 ประตู

         ครั้งที่ 1 พระอาทิตย์ตกตรง 15 ช่องประตู วันที่ 5-7 มีนาคม เวลาประมาณ 18.10 น.

          ครั้งที่ 2 พระอาทิตย์ขึ้นตรง 15 ช่องประตู วันที่ 4-6 เมษายน เวลาประมาณ 06.10 น.

           ครั้งที่ 3 พระอาทิตย์ขึ้นตรง 15 ช่องประตู วันที่ 9-11 กันยายน เวลาประมาณ 05.57 น.

        ครั้งที่ 4 พระอาทิตย์ตกตรง 15 ช่องประตู วันที่ 5-7 ตุลาคม เวลาประมาณ 17.52 น.

 

หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งอธิบายให้ฟัง

                วันนั้น เราได้เดินชมความยิ่งใหญ่อลังการปราสาทขอมโบราณแห่งนี้จนได้เวลาที่ว่ากันว่าพระอาทิตย์จะสาดส่องแสงผ่าน 15 ประตู  นักท่องเที่ยวแห่ไปออกันที่จุดหมายอันเป็นจุดที่เจ้าหน้าที่อุทยานประวัติศาสตร์คอยอำนวยการอยู่ เอให้ทุกคนได้มีโอกาสเห็นความมหัศจรรย์พันลึกที่ว่า ว่าจะจริงไหม ยิ่งดวงตะวันรอนๆลงมา ก็ยิ่งเบียดเสียดกันเพื่อจะได้ชมภาพประทับใจ ทันใด พระอาทิตย์ดวงกลมโตสีแดงปลั่งก็เคลื่อนลงมาทีละนิดๆ

 

อัศจรรย์ไหม

                  ออกเดินทางจากปราสาทพนมรุ้ง พวกเราไปเข้าที่พัก โรงแรมพนมรุ้งปุรี อำเภอนางรอง อาบน้ำเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวแล้วก็จรลีไปยังรถยนต์ที่พร้อมรับส่งดังเดิม มุ่งหน้าไปยังปราสาทเมืองต่ำ อำเภอประโคนชัย ลงจากรถยนต์ก็ค่ำมืดสนิทแล้ว แสงไฟที่ตบแต่งไว้ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเดินไปในมายาสวรรค์ มีวง “กันตรึม”บรรเลงอยู่หน้าปราสาท การจัดแสงแต่งองค์ปราสาทดุจแดนดินถิ่นลึกลับ สวยครับ

โรงแรมพนมรุ้งปุรี อ.นางรอง

                 หน้าปราสาทเมืองต่ำ บายศรีตั้งตระหง่าน พ่อหมอทำขวัญนั่งพนมกร แล้วร่ายมนต์ตราตามแบบอย่างของการให้ศีลและพรตามขนบธรรมเนียมของพี่น้องชาวเขมร ซึ่งเป็นหมอทำขวัญของหมู่บ้านรอบปราสาท ว่ากันว่า ถ้ามีการสร้างปราสาทคราใด ต้องถวายพลเมืองให้เป็นข้าของปราสาทหรือเมือง เป็นชุมชนที่มีที่ดินทำกินและคอยบำรุงเทวะสถานนั้นๆ                    

 

โฮปบายดินเนอร์ที่ปราสาทเมืองต่ำ

หมอขวัญอวยพระตามพิธีบายศรีสู่ขวัญ

                   พิธีกรแต่งงามด้วยชุดผ้าซิ่นไหมบุรีรัมย์ แขกที่นั่งล้อมวงโฮปบายดินเนอร์เป็นโตกหวายเตี้ยๆ เหมือนขันโตกในภาคเหนือ อาหารจำเรียงเคียงแกล้มมาตามลำดับ เป็นอาหารพื้นบ้านลานเมืองของคนแดนดินถิ่นอีสานบ้านเรา อิ่มหนำกับรสชาติกลมกล่อม แนมด้วยผักเคียงรสชาติแปลกปร่า สายตามองจ้องเขม็งไปบนลานปราสาทที่แต่งแต้มด้วยแสงสีสวยงาม

 

นางอัปสราน่ารัก

ฟ้อนย้อนยุคถวายแด่เทวาลัย


                   และแล้วเหล่านางอัปสรแสนสวยก็นวยนารถกันออกมาร่ายรำระบำร่าไปตามเพลงที่บรรเลงอย่างอ้อยอิ่ง แต่ละอนงค์งามเหลือใจ เอวคอดกิ่ว บั้นท้ายคล้ายๆว่างามงอนอรชรจริงเจียว เฮ้อ เหมือนว่าได้เห็นนางอัปสราผวาออกมาจากปราสาทขอมสักแห่งหนึ่ง นักท่องเที่ยวและสื่อสารมวลชนคนทำข่าวนั่งแทบไม่ติด ลุกนั่งๆเพื่อเดินหลบไปถ่ายภาพประทับใจเก็บไว้

 

                  การจัดฉากประกอบการฟ้อนด้วยเทคนิคแพรวพราว เสียงเพลงบรรเลงและท่าร่ายร่อนฟ้อนรำกลมกลืน เหมือนได้ไปยืนอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กว่าจะเสร็จสิ้นขบวนนางรำก็ลืมเวลาไปว่าดึกแล้ว อากาศรอบกายเย็นลงทุกขณะ อาหารหมดเกลี้ยง เครื่องดื่มสุขภาพตามประสงค์ ทั้งหมดบรรจบที่การกล่าวคำลาของพิธีกร

 

 

                  ปราสาทเมืองต่ำตั้งอยู่บ้านโคกเมือง ตำบลจระเข้มาก อำเภอประโคนชัย ห่างจากปราสาทพนมรุ้ง 8 กิโลเมตร ปราสาทเมืองต่ำสร้างตามแบบศิลปะขอมแบบปาปวน มีอายุราวพ.ศ.1550-1625 โดยมีศิลปะขอมแบบคลัง ซึ่งมีอายุระหว่างพ.ศ.1508-1555 ปะปนอยู่ด้วย ภาพสลักส่วนใหญ่เป็นเทพในศาสนาฮินดู

 

ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ถ่ายรูปกับสื่อมวลชน

                  ปราสาทเมืองต่ำประกอบด้วยปรางค์อิฐ 5 องค์ สร้างอยู่บนฐานเดียวกัน ก่อด้วยศิลาแลง ปรางค์ประธานตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างปรางค์คู่สี่องค์ ด้านตะวันออกของปรางค์แต่ละองค์มีประตูเข้าได้ นอกนั้นเป็นประตูหลอก ปรางค์ประธานพบทับหลังประตูมุกปรางค์ สลักเป็นภาพเทพถือดอกบัวขาบประทับนั่งเหนือหน้ากาฬแวดล้อมด้วยสตรีเป็นบริวาร หน้าบันสลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ส่วนทัพหลังปรางค์สลักเป็นเทพนั่งชันเข่าเหนือหน้ากาฬ

 

ทรงศักดิ์ ศรีเคลือบ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

                  ค่ำคืนแสนงามจบลงที่ได้อาบน้ำอุ่นและนอนหลับฝันดีในโรงแรมพนมรุ้งปุรี อำเภอนางรอง แอร์เย็นฉ่ำ แต่ไม่ฝันถึงนางอัปสรานางใดเลย เป็นความผิดหวังนิดๆเมื่อตื่นขึ้นมานั่งดื่มกาแฟร้อนในห้องอาหาร ละเลียด Breakfast ทีละอย่าง จนครบถ้วนกับความต้องการพลังงาน จึงได้ลุกจากไปเตรียมตัวเอเดินทางต่อ

 

นางอัปสราในขบวนแห่ขึ้นเขาพนมรุ้งจำลอง

                  เป้าหมายอยู่ที่หมู่บ้านไหมบุรีรัมย์ที่มีอยู่ถึง 4 เมือง เนื่องมาแต่ชนเผ่าที่อยู่อาศัยของบุรีรัมย์นั้นประกอบด้วย 4 เผ่าหลักคือ ไทยเขมร ไทยกูย(ส่วย) ไทยลาว และไทยโคราช ซึ่งดำเนินวิถีชีวิตเรียบง่าย ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ พัฒนาด้วยวัฒนธรรมการแต่งกายด้วยผ้าไหมจากการถักทอของแม่หญิงในครอบครัว

 

แม่หญิงบ้านหนองตาไก้ฟ้อนให้ชมในชุดผ้าซิ่นพื้นถิ่น


                   คนบุรีรัมย์ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกันมาแต่อดีตกาล มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอยู่ในอันดับต้นๆของประเทศ ทอผ้าไหมไว้ใช้ในครัวเรือน เป็นของมีค่าควรฝากหรือไหว้ให้ผู้ใหญ่รับไว้ใช้กัน เป็นของมีค่าด้วยว่ากว่าจะถักทอได้แต่ละผืนยากนาน เป็นเรื่องบรรณาการแด่แขกบ้านทรงเมือง เป็นสิริมงคลและสง่าราศีแก่ผู้สวมใส่ ไปที่ไหนเชิดหน้าชูตายิ่งนัก

                      เมืองพุทธไธสง(กลุ่มอำเภอพุทไธสง-นาโพธิ์) มุ่งพัฒนาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมผลิตเส้นไหมให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าซิ่นตีนแดง ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ แปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นเสื้อ ของใช้ ของฝาก ของที่ระลึก

                      เมืองตลุง(กลุ่มอำเภอประโคนชัย) มุ่งพัฒนาผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมหางกระรอก  หางกระรอกคู่ ผ้าไหมพื้นเรียบ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ แปรรูปเมมูลค่าเป็นเสื้อผ้าสำเร็จ ของใช้ของฝากของที่ระลึก

 

การฟอกย้อมเส้นไหม

                      เมืองแปะ(กลุ่มอำเภอเมือง) มุ่งพัฒนาการผลิตผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมหางกระรอก หางกระรอกคู่ ผ้าไหมพื้นเรียบ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ของใช้ ของฝาก ของที่ระลึก   

                      เมืองนางรอง(กลุ่มอำเภอ........) มุ่งพัฒนาด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ผลิตผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมพื้นเรียบ ผ้าพันคอไหมเปลือกนอก ผ้าคลุมไหล่ไหมเปลือกนอก ผ้าห่มไหมเปลือกนอก แปรรูปเป็นเสื้อผ้าสำเร็จ ของฝาก ของใช้ และของที่ระลึก

 

                       หมู่บ้านท่องเที่ยวไหม ได้แก่บ้านหนองตาไก้ และหนองตาไก้น้อย ตำบลหนองกง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่นี่มีหอประชุมรองรับนักท่องเที่ยว ชาวบ้านพร้อมใจกันแต่งไหมออกมารอรับแขกผู้มาเยือนด้วยน้ำดื่มสุขภาพพื้นถิ่นและฟ้อนให้ชม มีรถอีแต๋นมารอรับไปชมแต่ละคุ้มเช่น จุดปลูกหม่อน  จุดเลี้ยงไหม  สาวไหม  จุดมัดหมี่  ฟอกย้อม  จึงได้เห็นและเรียนรู้เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นสำคัญ

 

ผลหม่อนทำน้ำปั่นสมุนไพรรับประทานได้

                         แต่ละกลุ่มบ้านยังมีห้องแสดงผ้าไหมหลากหลายรูปแบบ ล้วนสวยงาม ละลานตาไปด้วยสีสันสดใส และหลากผลิตภัณฑ์ที่อวดไว้ทั่ว แม่บ้านแต่ละคนแต่งตัวด้วยชุดผ้าซิ่นไหมบ้าง ผ้าซิ่นตีนแดงบ้าง(ฝ้าย) ส่วนผู้ชายก็สวมโสร่งไหมลายสวยๆ แถมด้วยผ้าโพกหัวที่ถักทอมาจากผ้าไหม ตระการตา ผลิตภัณฑ์เหล่านี้พร้อมจำหน่ายให้เป็นของฝากของที่ระลึก

ผ้าไหมงามของบ้านหนองตาไก้

                        แถมด้วยอาหารรสแซบที่ผลิตจากหนอนไหมทรงคุณค่า มีทั้งแบบทอดและแบบยำ นอกจากนี้ยังต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองด้วยยำไข่มดแดง ซึ่งเฉพาะฤดูวางไข่ของมดแดงเท่านั้น หากมาไม่ตรงกับฤดูกาลก็ไม่มีโอกาสได้ลิ้มชิมรส แต่มีบางคนดูท่าจะไม่ถนัดกับอาหารที่แปลกไปจากมื้อปกติของเธอ

 

อุ๊ สมายแพลนเนท หม่ำหนอนไหม

การทอผ้าซิ่นตีนแดง 

                       สนุกสนานและเพลิดเพลินจำเริญใจกับหมู่บ้านผ้าไหมบุรีรัมย์ไปแล้ว ก็ได้เวลาเดินทางไปเยี่ยมยามภูเขาไฟพระอังคาร บ้านเจริญสุข ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งห่างจากพนมรุ้งเพียง 10 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งเป็นเนินลาวาหินบะซอลท์ ปะทุมากว่า 7 แสนปี หรือในยุควิเทอร์นารี รูปภูเขาคล้ายพญาครุฑนอนคว่ำ

 

วัดเขาพระอังคาร งามตระการตา

                      เดิมชื่อภูเขาลอย มูลเหตุที่ชื่อว่าภูเขาพระอังคารก็ด้วยว่า ประวัติลายแทงพระธาตุพนม กล่าวไว้ว่า พ.ศ.8 ได้มีพญาทั้ง 5 นำพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้าไปบรรจุที่พระธาตุพนม โดยมีพระมหากัสสปะเถระและพระอรหันต์ทั้ง 500 องค์เป็นประธาน แต่มีอีกพวกหนึ่งซึ่งไปขอจากโฑณพราห์ม ได้เพียงธาตุพระอังคารมาเท่านั้น เดินทางกลับมาอีสานใต้ตรงไหล่พระยาครุฑ มีการเปลี่ยนชื่อเป็นเขาพระอังคารแต่บัดนั้น

 

                      หลักฐานอันแสดงว่าเป็นโบราณสถานนั้นก็คือ ใบเสมาเขาพระอังคาร ที่แกะสลักด้วยหินทรายจำนวน 15 แผ่น มีขนาดสูง 1.08-2.10 ม. ฐานกว้าง 0.23-0.90 เมตร หนา 0.15-0.32 เมตร มีเพียงแผ่นเดียวที่ไม่ได้แกะสลัก ภาพแกะสลักภายในใบเสมานั้นเป็นรูปทิพยบุคคลในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ประทับยืนในท่าตรีภังค์บนแท่นสี่เหลี่ยมด้านบนเป็นฉัตรสองข้างเป็นพัดโบกทรงภูษาสั้น ชายพกข้างขวา ศิลปกรรมทวารวดีท้องถิ่นอีสาน

 

พระประธานในอุโบสถงามละมุน

 

                       พระอังคารธาตุประดิษฐานไว้บนอุโบสถ และพระพุทธรูปปางมารวิชัยรอบอีก 109 องค์ ตัวอุโบสถมีพระพุทธรูปบนหลังคารายรอบ ทรวดทรงอุโบสถแปลกแตกต่างไปจากอุโบสถทั่วไป กึ่งเมืองในจินตนาการและปราสาทของฝรั่งมังค่า ศิลปะปูนปั้นงดงาม วางตั้งไว้แต่ละจุดอย่างน่าทึ่งในความมานะพยายามของผู้สร้าง ซึ่งไม่มีประวัติกล่าวถึงแต่อย่างใด

 

                        น่าหวั่นใจเมื่อนั่งรถลงมาตามทางลาดเขา มีการระเบิดย่อยหินอย่างขนานใหญ่ เกรงว่าสักวันหนึ่งแรงระเบิดจะทำให้สิ่งก่อสร้างของวัดเขาพระอังคารชำรุดเสียหายไปได้ และมีเหตุการณ์ทำนองนี้ในหลายๆจังหวัด ตอบไม่ได้ว่าเกิดขึ้นเมื่อไร แต่เมื่อครั้งที่ สส.โสภณ เพชรสว่าง ได้เคยพามาชมนั้นเมื่อ 20 ปีที่แล้วนั้นไม่มีเหมืองระเบิดย่อยหินแต่อย่างใด

 

                          นายอำเภอเฉลิมพระเกียรติ นาย ชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล โทร.044-628119//081-8672696 ได้นำชมหมู่บ้านเจริญสุขซึ่งเป็นหมู่บ้านพัฒนาเรื่องผ้าทอพื้นถิ่น แต่แปลกมากตรงที่ได้มีการใช้สีย้อมผ้าฝ้ายจากหินภูเขาไฟ ได้สีอิฐสวยงาม อันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของอำเภอเฉลิมพระเกียรติ นอกจากนั้นยังมีลำไยผลไม้ที่เคยว่ากันว่าปลูกได้แต่ภาคเหนือ กลับเจริญงอกงามและให้ผลผลิตดกดีมีรสชาติหวานหอม

 

นายอำเภอเฉลิมพระเกียรติ เล่าเรื่องให้ฟัง

                        นี่คือเรื่องร่ายยาวของการเดินทางไปท่องเที่ยวบุรีรัมย์ เมืองรื่นรมย์ ชมวัฒนธรรมขอมโบราณ และศิลปะการถักทอผ้าไหมอันเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นทั้งวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น เกี่ยวข้องกับการย้อมเส้นไหมและฝ้ายด้วยสีย้อมจากธรรมชาติ มีเรื่องเล่าแต่อดีตกาลน่าฟังและฟังเพลิน แม้ว่าจะจดจำได้ยาก แต่อย่างไรก็ตาม เกิดความรู้สึกว่าน่าหวงแหนแผ่นดินอีสานใต้แห่งนี้ยิ่งนัก เป็นทรัพยากรท่องเที่ยวที่เชิดหน้าชูตา และน่าสนใจยิ่ง

ผ้าสีอิฐที่ย้อมจากหินภูเขาไฟ

                  กลับจากบุรีรัมย์ ได้มีโอกาสแวะร้านบ้านขนม ได้ดื่มกาแฟเย็นเลิศรส และได้ชิมชิฟฟ่อนเค๊กด้วย มีขนมชวนซื้อมากมายหลายอย่าง 

 

 

Tags : มหัศจรรย์บุรีรัมย์รื่นรมย์

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view