http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,993,122
Page Views16,301,355
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ประจวบคีรีขันธ์ในม่านฝนตอน5.ช้างและกระทิงที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซาฟารีเมืองไทย

ประจวบคีรีขันธ์ในม่านฝนตอน5.ช้างและกระทิงที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซาฟารีเมืองไทย

ประจวบคีรีขันธ์ในม่านฝน

ตอน5.ช้างและกระทิงที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซาฟารีเมืองไทย

โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

               ผมกลับจากประจวบคีรีขันธ์แล้วกว่าสัปดาห์ ระหว่างขับรถจากวนอุทยานเขาตาม่องล่าย อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กว่า 10.00 น. ผ่านอุทยานแห่งชาติกุยบุรีมีป้ายโฆษณาช้างป่าซาฟารีเมืองไทยหนาตา เกิดความรู้สึกอยากรู้อยากเห็นตามประสาคนแก่ แต่ได้ข้อมูลมาจากคุณมนตรี แสงสวัสดิ์ อดีต หน.หาดวนกร ว่าช้างและกระทิงจะออกมาเดินอวดโฉมก็เป็นช่วงเวลา 15.00-18.00 น.ทุกวันไม่เว้นวันหยุด

               จึงตัดสินใจขับรถผ่านไป ได้แต่นึกในใจ  “ฝากไว้ก่อน ช้างและกระทิง กุยบุรี”

      ถนนเข้าไปยังจุดส่องช้าง

               ด้วยความเสียดายว่าลงไปจนถึงที่แล้วเหลืออีกเพียง 32 กม.ก็เข้าถึงอุทยานแห่งชาติกุยบุรีได้ แต่เวลาจำกัดมีภาระสำคัญต้องกลับ กลับมานั่งเขียนเฟสบุ๊กรำพึงรำพันถึงความอยาก แต่ไม่ใช่กิเลสตัณหา ว่าอยากไป เสียดาย จนเพื่อนเฟสบุ๊กใช้ชื่อว่า arkira normal เขียนมาชวนให้ไป จะดูแลในการพาไปชมช้างอย่างที่ผมอยาก  เขาทำงานที่นั่น บอกแค่ว่า ผมสัก วน.75 ครับ แค่นั้น ชื่อจริงนามสกุลจริงก็ไม่รู้ ถามไกด์ๆก็ไม่รู้ เฮ้อ....ปิดทองตูดพระแท้ๆ

 ผึ้งหลวงร้างรังข้างทาง

               ผมตัดสินใจเดินทางไปด้วยรถยนต์อีกครั้ง ด้วย 3 เหตุผลคือ อยากถ่ายรูปช้างและกระทิงด้วยตนเอง เห็นภาพช้างและกระทิงออกไปต้อนรับนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นฝูงๆ ตื่นเต้นมาก ยิ่งอยากไป ประจวบกับคำเชิญชวนของคุณสักวน.75 เลยตัดสินใจไปกัน คิดกันว่าไปกลับ 600 กม.เศษๆ จะหมดเงินสักแค่ไหนเชียว(1,600 บาท) กินข้าวผัดจานเดียวมื้อเที่ยงไป 30 บาท  อิอิ น้ำแข้งเปล่าฟรี

 

               รถยนต์แล่นไปตามถนนเพชรเกษม จนถึงปากทางเข้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี กม.295 เลี้ยวขวาเข้าไปบ้านยางชุมอีกราวๆ 18 กม.ก็เลี้ยวขวาอีกทีเพื่อไปหน่วยพิทักษ์ป่า กร.1 บ้านรวมไทย มีป้ายบอกทาง “ไปดูช้าง” ติดไว้เป็นระยะ งงๆขึ้นมาก็จอดรถถามชาวบ้าน ง่ายนิดเดียว “ทางอยู่กับปาก” แต่มีทางเข้าก่อนกม.295 เข้าถึงได้ใกล้กว่า โปรดสังเกต

 

หอดูสัตว์ป่าโป่งสลัดได

               ผมไปจนถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว พบพนักงานพิทักษ์ป่าชื่อจารุวัฒน์ อำนวยความสะดวกให้ทันทีเมื่ออ้างถึง สักวน.75 (ขอบคุณคุณทั้งคู่) มีไกด์ท้องถิ่นชื่อ สมพล คล้ายแก้ว นำทาง  ระหว่างทางก็เล่าถึงพฤตกรรมช้างป่าให้ฟัง เพลินทีเดียวครับ ซึ่งแสดงว่า ได้ผ่านการฝึกอบรมมาตามระบบที่ถูกต้อง พูดจาดี หน้าตายิ้มแย้ม มีความรู้เรื่องช้างและสัตว์ป่าอื่นๆ

 

โป่งสลัดได

               จุดแรกที่ได้ชมช้างคือ โป่งสลัดได เป็นตลิ่งเหนือร่องห้วย มีหอคอยส่องสัตว์สีแดงเข้มอมน้ำตาลสองชั้นให้ขึ้นไปชมได้ แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยืนข้างล่าง   ได้เห็น มีช้างโทนเดินโชว์ความเป็นตัวผู้หรา สมพลเล่าว่า ช้างตัวผู้อยู่ในฝูงแค่อายุ 15 ปีก็โดนขับออกจากฝูง หัวหน้าฝูงหรือโขลงเป็นตัวเมียตัวอย่างใหญ่ ผมถ่ายรูปไว้แล้วก็เดินทางต่อไป

 

ช้างโทนโดดเดี่ยว

                ระหว่างทาง เห็นช้างโขลงหนึ่งกำลังเดินข้ามถนน ผมจอดรถนิ่งแล้วถ่ายรูป ได้รูปสมใจอีกแล้วครับ มีทั้ง ช้างใหญ่ ช้างวัยรุ่น และช้างเด็กๆ เดินปะปนกันไปเป็นระยะ   สมพลเล่าว่า เขากำลังจะลงไปอาบน้ำที่หนองข้างหน่วยพิทักษ์ป่า กร.1(ป่ายาง)

 

ช้างใหญ่ช้างน้อย

                พอพ้นขบวนช้างที่เดินผ่านก็รีบขับรถไปยังหน่วยดังกล่าว ฝนพรำลงมาอย่างหนา ต้องใช้ร่มกันฝนบังกล้องเดินลุยม่านฝนไปยังจุดที่จะเห็นช้างอาบน้ำได้อย่างชัดเจนที่สุด ที่นั่นมีนักท่องเที่ยวทั้งชายหญิง เด็กและผู้ใหญ่ คนไทยและฝรั่งต่างชาติ หลายสิบคน บางคนมีแค่กล้องเล็กๆแบบพกพา บางคนมีกล้องชั้นดีมีราคาแพงมากๆ ถ่ายเอาๆ

 

                ในหนองน้ำ ช้างใหญ่ใช้งวงเป็นฝักบัว สูบน้ำเข้าแล้วก็พ่นใส่หลังไหล่ มีช้างน้อยใช้งวงถูไถให้ น่ารักซะไม่มี ระหว่างนั้นฝนก็ยังตกพรำๆอยู่ ผมต้องถ่ายรูปใต้ร่มที่กางกั้น ได้ภาพมาหลายสิบภาพ สมใจอยาก ไม่รู้สึกผิดหวังเลยสักนิด รู้สึกขอบคุณเจ้าหน้าที่และไกด์ท้องถิ่นที่นำชมไม่ผิดพลาด สมพลเล่าว่า  เข้ามาที่นี่ยังไงก็ได้เห็นช้างแน่ๆ ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะออกเวลาไหนตรงจุดไหน เขาวิทยุสื่อสารถึงกันตลอดว่า จุดไหนช้างหรือกระทิงออก

 

อาบจนอิ่มใจก็เดินกลับไปหากินกันต่อ

นักท่องเที่ยวมาชมคับคั่งทุกวัน

               แม่ช้างหัวหน้าโขลงเดินนำขบวนช้างเด็กๆขึ้นตาฝั่งด้านที่เขาเดินลงมา แล้วก็หายลับไปจากสายตา ผมรีบกลับไปขึ้นรถแล้วก็มุ่งหน้าไปยังจุดที่ 3 เรียกว่า จุดส่องสัตว์หน้าผา หรือบางทีก็เรียกจุดส่องสัตว์ 100 ไร่ เพราะว่าจุดที่ยืนอยู่ในสวนป่ายูคาลิปตัสตรงสุดขอบเขาเป็นหน้าผาสูงชัน และพื้นที่โล่งๆที่เห็นสัตว์ป่าออกหากินฝั่งตรงเชิงเขานั้นมีพื้นที่ราวๆ 100 ไร่    

 

                ฝนยังโปรย แต่บางเบากว่าช่วงก่อน นักท่องเที่ยวมีทั้งนิสิตนักศึกษา ประชาชนคนทั่วไป ตากล้องท่าทางเหมือนมืออาชีพ สังเกตจากลักษณะกล้องที่มีราคาแพง กระบอกใหญ่ๆ ตัวตากล้องเหมือนเชี่ยวชาญ มีแต่กล้องผมเท่านั้นที่ตัวเล็กนิดเดียว นึกขำๆ ตัวนิดเดียวเที่ยวไปทั่ว แฮ่..พนักงานพิทักษ์ป่ายืนถือปืนท่าทางน่าเกรงขาม ผมถามว่าถือปืนไว้ทำไม เขาตอบว่าระวังภัยเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เป็นระเบียบที่ทางอุทยานฯให้ปฏิบัติ เยี่ยม..เยี่ยม

 ดร.มัทนา ศรีกระจ่าง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องช้างๆๆ

             ผมโชคดี ได้พบดร.มัทนา ศรีกระจ่าง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องช้าง ของกรมอุทยานฯ พานิสิตปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยมหิดลกลุ่มหนึ่งราว 20 คน มาดูช้างและกระทิงเช่นกัน แต่ก็ไม่มีโอกาสได้เสวนากัน ด้วยภารกิจของท่านคือเล่าเรื่องช้างและกระทิงให้ลูกศิษย์ฟังเป็นระยะๆ ผมก็มีหน้าที่สอดส่ายสายตาหาเป้าหมายครับถ่ายรูป

  

สมพล คล้ายแก้ว ไกด์ท้องถิ่น

                 ยืนรอท่ามกลางฝนโปรยปรายได้พักหนึ่ง สมพลบอกว่าไปนั่งรอในรถเถอะ เดี๋ยวกระทิงหรือช้างออกพนักงานพิทักษ์ป่าจะเรียกเอง เขาหลบฝนอยู่ใต้ร่มไม้ชายหน้าผา 2 คน ได้เวลา 16.50 น.เศษๆ กระทิงตัวแรกโผล่ออกมาจากชายป่า เขาของเขาสวยมาก เห็นหมดตัวในพริบตา แล้วตามด้วยกระทิงอีกตัว ผมนึกหมั่นไส้ แหม ตอนนายกยิ่งลักษณ์มานี่ ออกมาเสนอหน้ากันตั้ง 80 ตัว เวลาผ่านไปอีกพักใหญ่ ไม่มีทั้งช้างและกระทิงอีกเลย ฝนยังโปรยเบาๆเหมือนเดิม

 

                  1738 น.ดร.มัทนา ตะโกนมาบอกว่า ที่หน่วยสลัดได มีช้างโขลงหนึ่งกำลังเดินกินหญ้า รีบไปกันเถอะ  สมพลเดินมาสมทบแล้วชวนเหมือนกัน ผมขึ้นรถแล้วขับไปจอดรถริมถนนหน้าโป่งสลัดได แล้วเดินจ้ำอ้าวไปยังหน่วย มองเห็นแต่ไกลว่าช้างโขลงนี้กำลังเดินไปเกินกึ่งกลางทุ่งแล้ว ต้องเร็วขึ้น 

 

 

                   ช้างโขลงนี้มีทั้งช้างแม่ขนาดใหญ่ ช้างวัยรุ่นกำลังกินกำลังนอน และก็ลูกช้างตัวเล็กๆ กำลังน่ารัก แถมซุกซน เดินชนขาแม่บ้าง เดินไปตัดหน้าแม่บ้าง บางทีก็ยืนขวางซะยังงั้นแหละ เหมือนเด็กๆ หรือลุกหมาลูกแมวเล็กๆ เด็กน้อย เจ้าช้างน้อยเอ๊ย

 

                 สมพลบอกว่า เขานับได้ 16 ตัว ผมมัวแต่ถ่ายรูปได้ภาพเยอะมาก หลากหลายสไตล์ สมใจอยากจริงๆ สมพลเล่าว่า พอแม่ช้างคลอดลูกออกมาจะมี “แม่รับ”มาคอยเป็นพี่เลี้ยงแทนแม่ คอยดูแลความปลอดภัยเป็นการแบ่งเบาภาระให้แม่ช้าง ส่วนช้างตัวผู้จะถูกขับออกจากโขลง เพราะว่ากลัวจะทำร้ายลูกช้างเล็กๆ นี่คือธรรมชาติของโขลงช้าง

 

                 ผมฟังแล้วก็รู้สึกสงสารพ่อช้าง โถ  ปีหนึ่งจึงจะมีอารมณ์รักและผสมพันธุ์ได้เพียงช่วงเวลาเดียว  หลังผสมพันธุ์แล้วก็ต้องโดดเดี่ยวเปลี่ยวเอกาเป็นช้างโทนต่อไป  เหมือนเร่ขายน้ำรักต่อไป  ตอนที่แม่ช้างอุ้มท้องจนถึงลูกจะคลอดก็ไม่ได้ทำหน้าที่พ่อและไม่ได้รับรู้ถึงความรักต่อสายเลือดของเขาเลย  เขาจึงเป็นแค่ พ่อพันธุ์เพื่อผสมเอาลูก แค่นั้น  ไม่มีความรักความผูกพันระหว่างเขา เมียเขาและลูกของเขาเลย  อาภัพจริงเจ้าช้างเอ๋ย

 

โขลงช้างที่โป่งสลัดได ไม่แน่ใจว่าใช่ฝูงที่อาบน้ำหรือไม่

                   ตะวันกำลังจะลับทิวแมกไม้ ผมขับรถออกปากทางคือที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว  มีป้าย “ช้างกุยบุรี” ให้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก 

 

ไกด์ท้องถิ่น บ้านรวมไทย

                     นักท่องเที่ยวที่ขับรถยนต์มาเอง ก็เพียงลงไปจ่ายค่าผ่านเข้าอุทยานฯตามจำนวนคนและรถยนต์ จะมีไกด์ท้องถิ่นนำทาง 1 คน ไม่มีค่าตัวแน่นอน แล้วแต่นักท่องเที่ยวจะมีน้ำใจหยิบยื่นให้  ในความคิดผมควรระบุเป็นค่าบริการนำเที่ยวไปเลยว่าครั้งละ เท่าไร จะได้ชัดเจน

 

                     แต่ถ้าขับรถเก๋งมา จะจอดทิ้งไว้ที่หน้าศูนย์บริการแล้วใช้บริการรถนำเที่ยวของชาวบ้านที่มารอรับการบริการอยู่ เหมาคันละ 750 บาท ซึ่งรวมเบ็ดเสร็จทั้งค่าบัตรเข้าอุทยานฯค่ารถเช่าและไกด์ท้องถิ่น

                     นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวที่มากับรถยนต์เหมาของรีสอร์ทหรือโรงแรม ซึ่งขายทริปวันเดียวเที่ยวดูช้างและกระทิง อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซาฟารีเมืองไทย ส่วนใหญ่มาจากหัวหิน ปราณบุรีบ้าง กุยบุรีมีน้อย  แม้กระทั่งมาจากกรุงเทพโดยตรง

 

                     เดิมทีเดียว ช้างป่ามีปัญหากับชาวบ้านมาก ก็เรื่องที่เขาออกมาหากินในไร่สับปะรด และอ้อย ของชาวบ้านมาก เกิดกรณีพิพาทระหว่างช้างกับชาวไร่ โดยเฉพาะบ้านรวมไทย ซึ่งอยู่ใกล้อุทยานแห่งชาติกุยบุรีที่สุด  ชาวบ้านไล่ยิงช้าง ช้างไล่กระทืบชาวบ้าน บางทีถึงขั้นบุกรื้อบ้านในตอนกลางคืนอย่างกับไม่ใช่เรื่องจริง 

                      ระหว่างขับรถผ่านไปตามถนนลาดยางกลางไร่สับปะรด จะเห็นเส้นลวดไฟฟ้ากันช้าง เสาที่ปักขึงลวดต้นเล็กๆ    ช้างรู้ด้วยประสบการณ์ว่า นี่คือ ลวดเจ็บ ไปถูกเข้าจะเจ็บแปล๊บ ช้างแก้ลำด้วยการใช้งวงถอนต้นไม้มาต้อนหนึ่งแล้ววางทาบไปบนเส้นลวด  แล้วเหยียบ โครมเดียวรั้วพังราบ เดินเข้าไปกินสับปะรดสบายบรื๊อ  

                      มีป้ายเขียนไว้ หากพบช้างบุกไร่โทรแจ้งที่...........เพื่อจะได้ระดมคนออกมาไล่ช้าง

                      ผมชอบมากที่ได้มาเห็นอุทยานแห่งชาติกุยบุรีซึ่งมีปัญหา ช้างกับคน แต่ในที่สุดมีโครงการปลูกพืชอาหารช้างในพื้นที่ที่ช้างออกหากิน เช่นทุ่งโป่งสลัดได จุดส่องสัตว์หน้าผา หรือ..........เจ้าหน้าที่อุทยานฯร่วมกับชาวบ้านรวมไทยร่วมใจกันใช้ทรัพยากรช้างและสัตว์ป่าที่มีอยู่เป็นฐานการจัดการท่องเที่ยวส่องสัตว์ เจ้าหน้าที่คอยระวังภัยที่อาจเกิดขึ้น ชาวบ้านทำหน้าที่ไกด์ท้องถิ่นโดยผ่านการอบรมหน้าที่ไกด์และความรู้เรื่องช้าง เห็นว่าเป็นนายอำเภอกุยบุรีคนหนึ่งเข้ามาดำเนินการ  ยอดเยี่ยมครับ

 

                      ตั้งแต่มีการจัดการอุทยานแห่งชาติโดยอิงความร่วมใจของประชาชนคนในท้องถิ่น และมีช้างและสัตว์ป่านานาชนิดเป็นทรัพยากรท่องเที่ยว เหมือนว่าเป็นตัวแสดง ละครเรื่องช้างป่าทะเลาะกับชาวบ้านป่า หมดไป โดยได้รับผลประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย ชาวบ้านได้เงินค่ารถนำเที่ยวและไกด์ท้องถิ่น อุทยานแห่งชาติได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งนันทนาการกลางแจ้งให้กับประชาชนและปกป้องทรัพยากรสัตว์ป่า ตามวัตถุประสงค์การก่อตั้ง  สัตว์ป่าได้”บ้านอยู่อาศัย หาอาหารกิน และขยายเผ่าพันธุ์” เกิดการท่องเที่ยวที่มีสีสันชวนสนใจ ชดโช้

 

ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว หน้าด่านเข้าไปดูช้าง

                     ผมจากลากับไกด์ท้องถิ่นด้วยภาพที่ระลึก และไม่ได้พบคุณสัก วน.75 ได้ยินเพียงเสียงทางโทรศัพท์ ก็ได้ทักทายกัน ขอขอบพระคุณทุกคนที่อำนวยความสะดวกให้ และขอขอบพระคุณล่วงหน้าหากคราวหน้าผมจะไปอีกหลายครั้ง เพื่อถ่ายภาพ กระทิงเป็นฝูงอย่างที่ออกมาต้อนรับนายก ผมอยากได้ภาพนกกกหรือนกเงือก หรือนกแก๊ก และผมก็อยากได้ภาพหมาไนยที่กำลังไล่ล่าเหยื่อตามธรรมชาติ

 

                    จบแล้วครับ ประจวบคีรีขันธ์ในม่านฝนตอน5. ถ้ามีภาพและข้อมูล จากพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์เช่น รีสอร์ท โรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร ร้านของฝาก ก็จะเขียนเป็นตอนต่อๆไป อาจจะเป็น ประจวบคีรีขันธ์ในม่านหมอก เมื่อลมหนาวมาเยือน ฮา.......... 

ปล.อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ประกาศตั้งในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 116 ตอน 20 ก. ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2542 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 90 ของประเทศไทย พื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมอำเภอกุยบุรีและอำเภอสามร้อยยอดบางส่วน 605,625 ไร่ เด่นดังมากเรื่องช้างและกระทิง ติดต่อโทร.032-646292 โทร.081-7762410  Kuiburi_np@hotmail.co.th ข้อคิด สำรวจปีพ.ศ.2532 ประกาศเมื่อพ.ศ.2542 รวม 10 ปี ช้าไปไหม

Tags : ประจวบคีรีขันธ์ในม่านฝนตอน4.

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view