เผยข้อมูล UNWTO ระบุเทรนด์ย้อนยุคมาแรง
แนะชุมชนใช้จุดแข็ง“local friendly” บูมท่องเที่ยว
UNWTO ระบุการท่องเที่ยวย้อนยุคมาแรง อดีต รมว.กระทรวงการท่องเที่ยว แนะใช้จุดแข็ง“local friendly” หนุนท่องเที่ยวชุมชน ชมการทำงานของ อพท. มาถูกทาง ช่วยเรียกจิตสำนึกคนไทยให้คิดต่อยอดจากอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้เป็นสินค้าทางการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน แนะชุมชนใช้เครื่องมือทางการตลาดด้วยสัญลักษณ์ภาพ และ word of mouth รับมือ AEC
ในงานเสวนาวิชาการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน จัดโดยสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวในการขึ้นปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ เปิดมิติใหม่ท่องเที่ยวโดยชุมชนบนพื้นฐานวิถีไทยอย่างยั่งยืน”ว่า จากข้อมูลขององค์การการท่องเที่ยวโลก หรือ UNWTO ที่ระบุว่า ปัจจุบันกระแสการท่องเที่ยวโลกหันกลับไปสู่การท่องเที่ยวแบบย้อนยุคเพื่อการพักผ่อนที่แท้จริง และมองการท่องเที่ยวเป็นการเดินทางหาความรู้ หาประสบการณ์ โดยตลาดที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวแบบศึกษาหาความรู้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนชั้นกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นตลาดใหญ่สุด
สำหรับประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับโลกว่า เป็นที่สุดในใจนักท่องเที่ยว 2 เรื่อง ของการเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยว คือ Best Value for Money และ Local Friendly ที่ผ่านมา รัฐบาลและภาคเอกชนต่างมุ่งทำการตลาดแบบให้ความสำคัญกับการเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยว จึงชูมูลค่ามากกว่าคุณค่า นั่นคือ Value for Money จำนวนนักท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นกลับกระจุกตัวเพียงจังหวัดท่องเที่ยวหลักเท่านั้น สิ่งที่ตามมาคือปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะ มีคนต่างถิ่นเข้ามาทำธุรกิจจึงไม่มีเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมา ในส่วนของจุดขายเรื่อง Local Friendly ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยควรนำออกมาใช้และพัฒนา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือคัดกรองนักท่องเที่ยวคุณภาพได้ดีกว่าการใช้กฎการออกวีซ่าของรัฐเป็นตัวคัดกรองนักท่องเที่ยว
***อพท. ผู้นำการสร้างสำนึกให้คนคนไทย ***
“ การทำงานของผู้อำนวยการ อพท. ในวันนี้ ไม่ได้เป็นผู้นำแค่องค์กร แต่เป็นผู้นำให้กับคนไทย เป็นผู้นำให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เพราะใช้แนวทางการนำสำนึกของคนไทยกลับคืนมา ช่วยกันส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งเสน่ห์สำคัญของรูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนคือ นักท่องเที่ยวจะได้ความรู้จากคำบอกเล่าถึงที่มาที่ไป การเล่าตำนานของแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ จากปากของเจ้าของพื้นที่ การได้ร่วมทำกิจกรรมซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนในชุมชน โดยที่คนในชุมชนไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ก่อเกิดการกระจายการท่องเที่ยวลงสู่ท้องถิ่น ไม่กระจุกตัวแค่แหล่งท่องเที่ยวหลัก วันนี้หลายฝ่ายเริ่มเห็นแล้วว่า การมุ่งเน้นเพียงปริมาณ ไม่ได้ช่วยให้ท่องเที่ยวยั่งยืนได้ เพราะจะได้แต่นักท่องเที่ยวไม่มีคุณภาพ”
***สร้างสมดุลจากชนชั้นกลาง***
ดร.วีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า แนวคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ของ อพท. ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ จัดเป็นก้าวสำคัญ สะท้อนได้ว่า อพท. ได้มองเห็นและถ่ายทอดออกไปได้ว่า มุมมองของภาครัฐเปลี่ยนไปจากเมื่อ 40 ปีก่อน ที่มุ่งทำงานตามเป้าหมายด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่ได้เข้าใจวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชน ภาพที่เห็นคือมีแต่ผู้สูงอายุอยู่บ้าน ส่วนหนุ่มสาวและวัยทำงานต้องเข้าเมืองหลวงมาทำงาน แต่วันนี้การมุ่งพัฒนาให้เกิดการท่องเที่ยวชุมชนโดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง มีรูปแบบการทำงานผ่านภาคีเครือข่าย ได้ทำให้ครอบครัวเกิดความอบอุ่น มีรายได้เพียงพอเลี้ยงชีพ เพราะรูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน ไม่ได้มุ่งให้บริการ ชุมชนยังใช้ชีวิตแบบเดิมๆ แต่ให้ชาวบ้านได้มีโอกาสเปิดชุมชนให้คนอื่นได้เข้ามาเรียนรู้ในอัตลักษณ์ของตัวเองและยินดีที่จะถ่ายทอด การท่องเที่ยวรูปแบบนี้ช่วยให้คนดำรงชีวิตอยู่ได้แม้ในภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน เพราะการท่องเที่ยวชุมชนเป็นเสมือนหินลับมีด สอนให้ชนชั้นกลางรู้จักวิธีการใช้ชีวิต ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เป็นตลาดใหญ่ เป็นรากฐานเศรษฐกิจของประเทศ เป็นตัวแปรสำคัญของความไม่สมดุล แต่ชุมชนซึ่งเป็นหินลับมีดจะช่วยขัดเกลาคนกลุ่มนี้
“อพท. ทำงานโดยหยิบจุดแข็งของแต่ละภาคีมาเชื่อมต่อกัน มาถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อนำไปปรับใช้ให้เหมาะสม ตลอด ๑๐ ปี ของ อพท. ที่ทำงานด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้แสดงบทบาทหน้าที่ชัดเจนด้านการประสานส่งเสริมและสนับสนุน คือ ไม่ได้แสดงตัวเป็นเจ้าของ แต่ช่วยเป็นเจ้าภาพ คือประสานภาคีให้เข้ามาทำงานร่วมกัน และเป็นเจ้ามือ หากโครงการใดขาดหน่วยงานดูแล ขาดเงินทุน ก็จะเป็นผู้จัดหางบประมาณมาช่วยสนับสนุนเป็นทุนประเดิมให้ได้”
***ชุมชนมีความสุข ท่องเที่ยวยั่งยืน***
ท้ายสุด ดร.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการสื่อสารไร้พรมแดนที่ดีที่สุดคือการสื่อด้วยรูปภาพ เพราะไม่มีอุปสรรคแม้จะพูดคุยกันคนละภาษา เห็นได้จากในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่มี Line มีการส่งรูปแสดงอารมณ์ โดยไม่ต้องเขียน ควรนำตรงนี้ไปปรับใช้ เพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย ส่วนด้านการตลาดของการท่องเที่ยวชุมชน ดีที่สุดคือการตลาดแบบบอกต่อ หรือ word of mouth เพราะสังคมคนไทย และคนเอเชีย เป็นสังคมฟังและพูด ไม่ได้เป็นสังคมของการอ่านและเขียนเหมือนทางยุโรป ดังนั้นหัวใจของการท่องเที่ยวชุมชนที่สำคัญจะต้องไม่มุ่งเรื่องการขยายตัวของนักท่องเที่ยว หรือมุ่งปรับตัวเพื่อเอาใจนักท่องเที่ยว แต่สิ่งสำคัญของการท่องเที่ยวรูปแบบนี้คือ มุ่งที่ความสุขของคนในชุมชนเป็นที่ตั้ง และจะนำเสียงข้างมากมาเป็นตัวชี้วัดก็ไม่ได้ หากเสียงข้างมากไม่ได้ทำให้ชุมชนมีความสุข ซึ่งกระบวนการขัดเกลาของ อพท. จะช่วยให้เกิดการยอมรับได้ในความคิดเห็นที่ขัดแย้ง คือทำให้เกิดฉันทามติ คือความคิดเห็นร่วมกัน การใช้ภาคีเครือข่ายเป็นแหล่งเรียนรู้ ไม่ใช่เลียนแบบ เพราะถ้าเลียนแบบจะเป็นการทำลายมากกว่ายั่งยืน ที่สำคัญคือชุมชนต้องรู้จักตัวเอง หากไม่รู้จักตัวเองก็จะเข้าสู่วงจรของการทำลายอีกเช่นกัน
***ใช้การมีส่วนร่วมคู่วิชาการเสริมแกร่งชุมชน***
ทางด้านพันเอก ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า อพท. ตระหนักดีว่า ความยั่งยืนที่แท้จริงต้องมาจากรากฐานที่เริ่มต้นจากชุมชน ในฐานะที่เป็นเจ้าของทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่แท้จริง โดยทรัพยากรการท่องเที่ยวนั้นจะต้องได้รับการบริหารจัดการอย่างถูกวิธี อพท. จึงให้ความสำคัญกับภาคีในระดับชุมชนเป็นอย่างมาก ด้วยการส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชนของตัวเอง บวกกับการเสริมสร้างศักยภาพด้านความรู้ทางวิชาการการท่องเที่ยวให้กับบุคลากรในชุมชน
###
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ อพท.
มัธนา เมนแก ๐ ๒๓๕๗ ๓๕๘๐ ต่อ ๔๐๔ matana.m@dasta.or.th,m_matana@hotmail.com