นกเหยี่ยวดำ อพยพนับพันตัวที่ อ.ปากพลี จ.นครนายก
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
สื่อแพร่ข่าวเรื่องเหยี่ยวอพยพเข้ามาประเทศไทย ว่ากันถึงสองแสนตัว ฟังแล้วตื่นเต้นบรม ตามกระแสข่าวบอกว่านกเหยี่ยวและอินทรีอพยพไปแถวเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ใจก็ว้าวุ่นตะหงิดๆ ทำยังไงดีน๊าถึงจะได้ไปถ่ายรูปกับเขามั่ง เพียงนึกถึงก็ได้รับโทรศัพท์จากบรรณาธิการท่องเที่ยวของ นสพ.โพสท์ทูเดย์ คุณจำลอง บุญสอง ช่างภาพระดับพระกาฬ
ท้องทุ่งนาเขียวขจี สดใส แทบไม่อยากกลับกรุงเทพ
“พี่ ไปถ่ายเหยี่ยวกับผมไหม”
ผมถามกลับด้วยเสียงตื่นเต้น “ที่เพชรบุรีหรือประจวบครับ”
“ไปทำไมตั้งไกล ไปนครนายกแถวอำเภอปากพลี ใกล้ๆแค่นี้เอง ถ้าไปพี่นั่งรถแท็กซี่มาสมทบกับผมได้เลย”
ชุมชนที่อยู่ไม่ไกลแหล่งดูเหยี่ยวดำ จะมีโฮมสะเตย์ไหมหนอ
เท่านั้นเองสำหรับคำเชิญชวน ผมสะพายเป้ไปจิ๋วคู่ใจพร้อมกล้องและขาตั้ง แล้วเผ่นแหนบไปหาคุณจำลองทันที ผมมีเพื่อนดีๆที่มักชวนไปถ่ายรูปด้วยเสมอ เพื่อนำภาพและเรื่องราวมาเล่าในหน้าต่างของใครก็หน้าต่างของมัน เขาเขียนหน้าท่องเที่ยวในสื่อรายวันของเขา ผมเขียนลงในwww.thongthailand.com เช่นที่เป็นอยู่ตลอดเวลา 4 ปี 7 เดือน
คุณจำลองเขากว้างขวาง มีเพื่อนหลายวงการ การประสานการเดินทางและแหล่งข้อมูลจึงไม่ได้ยุ่งยากแต่อย่างใด เสียงโทรศัพท์ดังแล้วก็มีการโต้ตอบไปตลอดทาง ได้ยินแต่ชื่อของคุณหมูๆ นครนายก แล้วก็วางหู มุ่งหน้าขับรถไปให้ทันเวลาที่เหยี่ยวดำอพยพจะถลาลงมาอวดโฉม
“ช่วงเวลาระหว่าง 16.00-18.00 น. เป็นช่วงเย็นที่เขาจะลงมาหาน้ำกินและหาคอนเกาะเตรียมนอน” คุณจำลองเล่าสู่กันฟัง
นอกจากเหยี่ยวดำ ยังมีนกยาง นกกาน้ำเล็ก นกกระสาแดง กระสานวล ให้ชม
รถวิ่งผ่าน รังสิต-องค์รักษ์ จนเข้าเขตจังหวัดนครนายกก็เลี้ยวขวาไปทางจังหวัดปราจีนบุรี ถนนชั้นดีพาเราไปจนผ่าน รพ.ปากพลี ไม่ไกล เราไปยูเทิร์นกลับด้าน แล้ววิ่งเข้าซอยที่มีป้ายเขียนว่า วัดโพธิ์ปากพลี ถนนลาดยาง เรียบบ้าง เป็นหลุมบ้าง คละเคล้ากันไปตามสภาพ ผ่านทุ่งนาและชุมชนคนปากพลีอย่างง่ายดาย ผ่านวัดจิกสูง แล้วก็เลาะไปตามชายทุ่งริมนา บรรยากาศยามบ่ายสวยใสๆกับนาข้าวเขียวขจี
พื้นที่ที่จะไปเฝ้าถ่ายนกเหยี่ยวดำแห่งนี้ เป็นที่รกร้างของรัฐที่มีน้ำท่วมขัง มีต้นยูคาลิปตัสไม่สวยงามอะไรนัก ขึ้นกระจายทั่วหนองน้ำสาธารณะแห่งนี้ ซึ่งมีพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ มีถนนดินลูกรังล้อมรอบ บนไหล่ถนนปลูกยูคาลิปตัสพันธุ์เลวๆ อยู่สองข้างทาง จึงได้อาศัยร่มเงาเจ้าต้นยูคาลิปนี่แหละช่วยคัดกรองความร้อนแรงของแสงแดดได้ระดับหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนบังไพรจากสายตานกเหยี่ยว
ภายในพื้นที่เป็นเหมือนหนองน้ำธรรมชาติที่ลุ่มต่ำน้ำขัง มีหญ้าน้ำหลายชนิดขึ้นทั่วไป มีปลาแหวกว่ายให้เห็นพรายน้ำจากการเคลื่อนไหวไม่น้อย บนต้นยูคาลิปตัสมีนกเหยี่ยวดำต้นละ 5-9 ตัว บ้างก็แยกเกาะคู่ บ้างก็เกาะรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เวลาผ่านไปสักพักหนึ่ง นกเหยี่ยวนับพันบินว่อนไปทั่วท้องฟ้า ช่างน่าตื่นตะลึง
เจ้าเหยี่ยวดำตัวนี้มีขนคลุมหูและแถบตาดำชัดเจน เหยี่ยวดำใหญ่มั้ง
ช่างภาพมีให้เห็นเย็นนั้น 7-8 คน แต่ละคนแบกขากล้องและเลนส์กล้องตัวใหญ่ๆ เหมือนที่เห็นช่างภาพถ่ายกีฬายังไงก็ยังงั้นเชียว ซึ่งก็รวมทั้งคุณจำลองด้วย ผมเห็นแล้วก็ห่อเหี่ยวไปถนัดใจ เพราะว่าผมพกพากล้องพ็อกแพคขนาดเล็กๆ น้ำหนักเบาๆ ขาตั้งกล้องก็เล็กกว่าเขาอื่นมากมายนัก
กระบอกโต โอ้โฮ หนักเกินกำลังคนแก่
“เหมาะสำหรับคนแก่ ไม่หนักหลอกนะ ประสิทธิภาพของเลนส์ซูม 50x ราวๆ 1200 มม.” ผมเขินตอบเหมือนปลอบใจไปในตัว แต่เรื่องความคมชัดสู้กล้องกระบอกโตๆไม่ได้อย่างแน่นอน
ตะวันโรยตัวลงต่ำทุกวินาที ตลอดช่วงเวลาเหล่านี้ ผมทำจิตใจให้นิ่งสนิท เตรียมความพร้อมแล้วเริ่มหายใจเข้าออกให้เป็นปกติ ไม่สั่น ไม่ประหม่า ทันใด นกเหยี่ยวดำฝูงใหญ่บินผาดโผนเข้ามา แล้วฝูงที่เกาะหลบตามต้นไม้ก็แตกฮือ นกเหยี่ยวบินถลาขึ้นไปสู่ห้วงนภากาศ ผมได้ภาพขณะนกเหยี่ยวดำบินติดมาด้วย เป็นภาพไกลเห็นเหยี่ยวทั้งฝูง
เหยี่ยวผวาจากขอนที่เกาะ ตกใจอะไรหนอ
นกเหยี่ยวดำเป็นนกสังคม ชอบอยู่และออกจากแหล่งที่อยู่อาศัยเป็นหมู่ใหญ่ แต่เมื่อบินหาอาหาร ก็ต่างคนต่างไป ซึ่งจะเห็นเขาบินอยู่ไกลโพ้นบนท้องฟ้า เหยี่ยวดำก็เหมือนเหยี่ยวอื่นๆ สายตาดี คม สามารถมองเห็นเหยื่อได้ในระยะไกล มีปีกยาวใหญ่ ขณะบินใต้ปีกเห็นแถบสีขาวเล็กๆ บริเวณโคนขนปลายปีก ปลายปีกมีขนแยกเหมือนนิ้ว
ภาพไม่คมแสงอ่อนเต็มทีและไกลเกินกำลังกล้อง
บ้างก็ชอบปลีกวิเวก เค้าชอบอะ
ปีกด้านบนมีแถบสีน้ำตาลอ่อนบริเวณขนคลุมปีก หางแฉกลึก แบบหางปลา หนังคลุมจมูก แข้ง และตีนเหลือง ปากสั้นโค้งงอแหลมคม หัวใหญ่ คอสั้น นกวัยอ่อน ลำตัวด้านล่างมีลายขีดสีขาวแกมน้ำตาลลำตัวด้านบนมีลายจากขนสีอ่อน เป็นนกประจำถิ่น หายาก ใกล้สูญพันธุ์ ถิ่นอาศัยชอบพื้นที่ชุ่มน้ำ
จะกลับมาอย่างงามสง่า ท่าบินสวย
ในประเทศไทยพบแถวป่าภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ อาหารได้แก่ ปลา หนู กระรอก ฯลฯ หากินกลางวัน หากจับเหยื่อได้กินบนพื้นดินนั้นเลยหรือบนต้นไม้ ทำรังบนต้นไม้ ด้วยกิ่งไม้หยาบๆ ไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง สีขาวแต้มน้ำตาล ช่วยกันฟักไข่ ฟักไข่นาน 29-32 วัน นกอายุ 2 ปีจึงจะผสมพันธุ์
จับคู่คุย หรือจับคู่ดู๋ดี๋
นกเหยี่ยวดำ มีชื่อสามัญว่า Black Kite มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Milvus migrans Boddaert,1783 อยู่ในวงศ์ ACCIPITRIDAE เป็นนกขนาด 60-66 ซม. พบที่ยูเรเซีย ออสเตรลาเซีย โอเซียเนีย ฯลฯ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535
เฮ้ พี่มากมาแย้วววววว
นอกจากนกเหยี่ยวดำแล้ว ชนิดที่ใกล้เคียงกันคือนกเหยี่ยวดำใหญ่ หรือเหยี่ยวหูดำ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างไปเล็กน้อยเช่น หางเว้าเป็นแฉกน้อยกว่าเหยี่ยวดำ ขนลำตัวน้ำตาลเข้มแต่จางกว่าเหยี่ยวดำ หน้าและคอออกสีขาว ขนคลุมหูสีคล้ำ เห็นเป็นแถบชัดเจน ขณะบินใต้ปีกเห็นสีขาวใหญ่และชัดเจนกว่ามาก หนังคลุมจมูก แข้ง และตีนสีเทาแกมฟ้า
ไม่รู้เขาคุยอะไรกัน หรือปรึกษาเรื่องสุดซอย
โผผินบินกลับรวงรัง(ขอนนอน)
นกวัยอ่อน ลำตัวด้านล่างมีลายขีดสีขาวแกมน้ำตาลชัดเจนกว่าเหยี่ยวดำ หน้ามีแถบดำชัดเจน เสียงร้อง “พี้ททท...” หรือ “อิ้ววว-แอววว” ถิ่นอาศัยในทุ่งนา พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่เปิดโล่ง มักพบใกล้แหล่งพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นนกอพยพในบางพื้นที่
มีชื่อสามัญว่า Black-eared Kite มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Milvus lineatus เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เช่นเดียวกัน
แทบจะขี่กัน ภาพนี้หลังตะวันตกดินไปแล้ว
ข้อแตกต่างระหว่างเหยี่ยวสองชนิดนี้คือ เหยี่ยวดำใหญ่ มีแถบขนคลุมหูเป็นปื้นสีดำยาวชัดเจน ขนสีน้ำตาลอ่อนกว่า แฉกหางตื้นกว่า ใต้ปีกบินเห็นสีขาวใหญ่กว่า หนังคลุมปาก แข้งและตีนสีเทาแกมฟ้า ส่วนเหยี่ยวดำขนสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ใต้ปีกขาวน้อยกว่า แฉกหางลึกกว่า หนังคลุมปาก แข้งและตีนเหลือง พบหรืออาจไม่พบในนกอพยพชุดเดียวกัน
ตะวันคล้อยต่ำลงทุกวินาที แดดผีตากผ้าอ้อมเข้มขึ้น นกเหยี่ยวจับกิ่งไม้ตามใจชอบ กลุ่มใครกลุ่มมัน ผมถ่ายรูปช่วงนี้ด้วยความเมามัน เป็นภาพเงาดำ หรือเรียกในภาษาตากล้องว่า ซิลลูเอท ได้เห็นจงอยปากแหลมคมและโค้งงอ ได้เห็นหัวโตๆคอสั้นๆ ได้เห็นหางแฉกลึกรูปหางปลาแบบนกแซงแซวหางปลา ได้เห็นพฤติกรรมสังคมของเขาเมื่อยามเย็น ช่างงดงาม
ช่างวังเวงเหลือใจ เนอะ
เราเฝ้าอยู่จนแสงสุดท้ายเมื่อดวงตะวันดวงโตสุกปลั่งหลุบหายไปจากขอบฟ้า สารพัดสีบนท้องฟ้ายังเชิญชวนให้บันทึกภาพความสวยงามไว้ แต่ภาพความประทับใจบ้านทุ่งปลายนากับสายลมแผ่วๆต้นฤดูหนาว อากาศที่สดชื่นของท้องทุ่ง เงาทะมึนของเทือกเขาใหญ่ที่ทอดตัวอยู่เบื้องหน้า ช่างเป็นภาพพิมพ์ใจ...ไม่รู้ลืม ปากพลี นครนายก
บางคู่ แยกจากหมู่
ใครรู้ตัวนี้เหยี่ยวดำอะไร ช่วยด้วย
หรือจะเล่นเงาในน้ำที่เจิ่งนอง
มาถ่ายรูปพระอาทิตย์อัสดง ก็ไม่เลวนะ