คาราวาน “นิสสัน อีโค คาร์ พาท่องเที่ยวไทย ด้วยใจอนุรักษ์ ปีที่ 3”
ทริปที่ 3 บอกรักไกลไปถึงปากเซ สปป.ลาว
เรื่อง/ภาพ สุเทพ ช่วยปัญญา
บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดคาราวาน “นิสสัน อีโค คาร์ พาท่องเที่ยวไทย ด้วยใจอนุรักษ์ ปีที่ 3”ตอน...เช็คอิน ฟินทุกทริป พร้อมส่งเสริมกิจกรรม ซีเอสอาร์ นิสสัน ปันความสุข เชิญชวนลูกค้านิสสัน อีโค คาร์ ทั้งมาร์ชและอัลเมร่า เข้าร่วมทริปคาราวาน 10 เส้นทางกับกิจกรรม “นิสสัน อีโค คาร์ พาท่องเที่ยวไทย ด้วยใจอนุรักษ์ ปีที่ 3” ตอน...เช็คอิน ฟินทุกทริป มาขับรถท่องเที่ยวและร่วมทำกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมส่งเสริมกิจกรรมตอบแทนสังคม (CSR) ตอกย้ำความเป็นผู้นำของนิสสันในกลุ่มรถยนต์ อีโค คาร์ รถประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างแท้จริง พร้อมเชิญสื่อมวลชนร่วมคาราวาน นิสสัน อีโค คาร์ ทริปที่ 3 บอกรักไกลไปถึงปากเซ สปป.ลาว เดินทางไปด้วย
เมื่อเย็นวันที่ 3 ตุลาคม 2556 สื่อมวลชนที่จะไปกับคาราวาน นิสสัน อีโค คาร์ ทริปที่ 3 บอกรักไกลไปถึงปากเซ สปป.ลาว นัดรวมตัวกันที่เคาน์เตอร์เช็คอินสายการบินแอร์เอเชีย สนามบินดอนเมือง เพื่อเดินทางไปยัง บริษัทสยามนิสสัน อุบลราชธานี สถานที่ปล่อยตัวของขบวนคาราวานในเช้าวันพรุ่งนี้ ทริปนี้จากกรุงเทพฯ – อุบลฯ ไปเครื่องครับ เพราะ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เขาดูแล้วสื่อมวลชนเป็นอย่างดี “รู้สึกตื่นเต้นครับไม่ได้ขึ้นเครื่องบินมาหลายปี”
คาราวาน นิสสัน อีโค คาร์ ทริปที่ 3 บอกรักไกลไปถึงปากเซ สปป.ลาว พร้อมออกเดินทาง
เช้าวันที่ 4 ตุลาคม 2556 สมาชิกคาราวาน นิสสัน อีโค คาร์ ทริปที่ 3 บอกรักไกลไปถึงปากเซ สปป.ลาว รวมตัวกันที่ สยามนิสสัน อุบลราชธานี กันอย่างพร้อมเพรียง หลังฟังบรรยายสรุป กฎกติกาข้อแนะนำต่างๆในการเดิน แปดโมงตรง นายภูมิชัย ธัญนิพัทธ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามนิสัน อุบลราชธานี ร่วมกับ นายวิชุกร กุหลาบศรี ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุบลราชธานี ตีธงปล่อยตัวคาราวาน นิสสัน อีโค คาร์ ทริปที่ 3 มุ่งหน้าไปบอกรักไกลไปถึงปากเซ สปป.ลาว ขบวนรถนิสสันยาวเกือบ 1 กิโลเมตร ประกอบไปด้วยรถสมาชิกคาราวาน นิสสัน อีโค คาร์ 38 คัน รถสื่อมวลชน 4 คัน รถนำขบวนและทีมงานรวมแล้ว 50 กว่าคัน นับว่าเป็นคาราวาน นิสสัน อีโค คาร์ ที่ใหญ่และยาวที่สุดที่เดินทางไปใน สปป.ลาว
เริ่มต้นก็หลงทางเสียแล้วต้องมาจอดรอขบวนอยู่ที่วัดคูหาสวรรค์
เริ่มต้นของการเดินทางไปกับ คาราวาน นิสสัน อีโค คาร์ ทริปที่ 3 บอกรักไกลไปถึงปากเซ สปป.ลาว พิธีปล่อยขบวนคาราวานเสร็จก็มีเรื่องให้ตื่นเต้นทันที่ครับ เพราะผมหลงทางตั้งแต่หัววันเลยทีเดียว ตามขบวนเขาไม่ทันเนื่องจากรถสตาร์ทไม่ติด ไม่ใช่รถเขาไม่ดีนะครับผมในฐานะพลขับสตาร์ทไม่เป็นเอง แผ่นที่เขาก็มีให้นะครับด้วยความรีบจึงดูหมายเลขทางหลวงผิด ทีมงานเขาก็โทร.ตามให้วุ่นว่ารถ Press 4 หายไปไหน ในรถผมมีสื่อมวลชนทั้งหมด 4 คน รวมทั้งผมด้วย “เขาไม่เป็นห่วงพวกผมหลอก เขาห่วงรถเขามากกว่ากลัวจะโดนเชิดรถไป” (ล้อเล่นขำๆ) ดีที่ในรถมีเนวิเกเตอร์ที่เคยเป็นคนพื้นถิ่นแถวนี้คอยบอกทางให้ เลยจอดรอขบวนอยู่ที่วัดคูหาสวรรค์ วัดคูหาสวรรค์ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 2222 ก่อนถึงอำเภอโขงเจียม 3 กม.ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2521 โดย “หลวงปูคำคนิง จุลมณี” เอาไว้เป็นที่ปฏิบัติธรรม
นิสสัน ปันความรู้ อยู่คู่ธรรมชาติ ณ โรงเรียนบ้านหนองชาด
แล้วก็มาถูกทางจนได้หลังจากติดต่อกันทางวิทยุสื่อสารกัน (รถในขบวนคาราวานจะมีวิทยุสื่อสารใช้ติดกันทุกคัน) รถ Press 4 ตามมาทันขบวนที่โรงเรียนบ้านหนองชาด ลงรถได้ก็วิ่งซิครับเพราะพิธีการ นิสสัน ปันความรู้ อยู่คู่ธรรมชาติ ณ โรงเรียนบ้านหนองชาด เริ่มไปแล้วแต่ยังทันครับ น้องๆนักเรียนยังฟ้อนรำพื้นเมืองให้การต้อนรับคณะของเราอยู่ หลังจากนั้นเป็นการมอบทุนการศึกษาให้น้องๆผ่านทางผอ.โรงเรียน เด็กๆน่าตายิ้มแย้มแจ่มใส งดเรียนในตอนเช้าเพื่อให้การต้อนรับ คาราวาน นิสสัน อีโค คาร์ ของเรา
อนุรักษ์ธรรมชาติ ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ม้าพื้นบ้าน สิรินธร อุบลราชธานี
ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ม้าพื้นบ้าน สิรินธร อุบลราชธานี ตั้งอยู่ที่บ้านหนองชาติ ต. คำเขื่อนแก้ว อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี อาจารย์ชูชาติ วารปรีดี ประธานชมรมอนุรักษ์พันธุ์ม้าพื้นบ้าน สิรินธร อุบลราชธานี ให้การตอนรับและเล่าถึงที่มาที่ไป ให้ฟังว่า “แต่เดิมเป็นคนลำปาง มีอาชีพเป็นครูย้ายไปมาหลายจังหวัด จนสุดท้ายก็มาสอนประจำอยู่ที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เนื่องจากเป็นคนลำปางก็เลยรักม้าพันธุ์พื้นเมืองมาตั้งแต่เด็ก กลัวมันจะสูญพันธุ์จึงไปซื้อม้ามาเลี้ยงและจัดตั้งชมรมอนุรักษ์ม้าพันธุ์พื้นเมืองขึ้น ตอนแรกมีอยู่ตัวเดียวลองผิดลองถูกมาจนถึงปัจจุบันมี 30 กว่าตัว”
หลังจากฟังบรรยายให้เห็นภาพของศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ม้าพื้นบ้านฯแล้ว เด็กๆและผู้ใหญ่ที่เข้ามาเยี่ยมชมในศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ม้าพื้นบ้านฯ จะได้สัมผัสม้าอย่างใกล้ชิด ในศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ม้าพื้นบ้านฯ มี 3 สถานี สถานีแรกเป็นสถานีให้หญ้าน้องม้า เด็กๆจะได้มีโอกาสป้อนหญ้าใส่ปากน้องม้าด้วยมือของเด็กๆเอง สถานีที่ 2 ตัดขนและอาบน้ำให้ม้า คงต้องเป็นเด็กโตหน่อยหรือไม่ก็ผู้ใหญ่ จึงจะหัดตัดขนและอาบน้ำม้าได้ สถานีที่ 3 ถือเป็นสิ่งสำคัญของที่นี่ เด็กๆจะได้ทดลองขี่ม้าโดยมีพี่เลี้ยงจูงให้เดินไปรอบสนาม การให้เด็กๆขี่มายังช่วยรักษาโรคสมาธิสั้นหรือดาวน์ซินโดรมได้ดีอีกด้วย
ผ่านด้านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองที่ช่องเม็ก
คาราวานพักทานมื้อกลางวันกันที่ ร้านแพอารยา แพริมน้ำที่ อ.โขงจียม ข้าวเหนียว ส้มตำ ปลาเนื้ออ่อนทอด ต้มยำปลาน้ำโขง อาหารอร่อยอากาศเย็นสบาย อิ่มกันแล้วก็เดินทางต่อครับ ผ่านด่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองที่ช่องเม็ก ประมาณบ่ายโมงกว่าๆ ไม่ต้องลงจากรถและไม่มีพิธีรีตองอะไรมาก เนื่องจากทีมงานประสานล่วงหน้าไว้เรียบร้อยแล้ว รถวิ่งผ่านไปได้เลยทั้งขบวน ผ่านด่านฝั่งไทยเข้ามาถึงด่านวังเตา สปป.ลาว ก็รู้สึกแปลกๆแล้วครับ เนื่องจากที่ สปป.ลาว เขาใช้รถพวงมาลัยซ้ายต้องขับชิดซ้าย ส่วนรถนิสสัน อีโค คาร์ ของเราพวงมาลัยขาวแต่ต้องขับชิดซ้าย ดีที่ขับตามกันไปเป็นขบวนเลยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
ชมความงามปราสาทหินวัดภู ปากเซ สปป.ลาว
จากด่านช่องเม็กขับตรงไปตามถนนลาดยาง หมายเลข ท.10 ขนาด 2 ช่องจราจร พื้นผิวเรียบบ้างหลุมบ้างตามอัตภาพ (ถนนบางสายที่มีด่านเก็บค่าผ่านทาง รัฐบาลสปป.ลาว ให้เอกชนมาลงทุนทำถนนลาดยาง แล้วให้สัมปทานเก็บค่าผ่านทางเป็นระยะเวลา 30 ปี หมดสัมปทานก็ไม่เก็บค่าผ่านทางแล้ว ไม่เหมือนบางประเทศเก็บตลอดชาติ ไม่มีหมดสัมปทาน) มุ่งหน้าปราสาทหินวัดภู รถโล่งตลอดทางมีสวนทางมาบ้างก็บางเวลา มองสองข้างทางเป็นทุ่งนาและป่าเขาเป็นส่วนใหญ่ ป่าเป็นป่ามีต้นไม้ขึ้นรกชัฏเขียวขจี ภูเขาหัวโล้นแบบฝั่งไทยมองหาไม่มี มาถึง กม.40 เลี้ยวขาวไปตามถนนหมายเลข ท.14 A ตรงไปอีก 36 กม. ก็จะมาถึงปราสาทหินวัดภู
ขับเข้ามาเรื่อยๆฝนตกตลอดทางที่ผ่านมา นึกในใจคงเปียกปอนแน่นอน แต่พอมาถึงปราสาทหินวัดภู ฝนหยุดตกกะทันหัน เพื่อเป็นการต้อนรับคาราวาน นิสสัน อีโค คาร์ ทริปที่ 3 มุ่งหน้าไปบอกรักไกลไปถึงปากเซ ของเราโดยแท้ แถมยังให้สายหมอกพัดผ่าน เพิ่มบรรยากาศความงามให้ปราสาทหินวัดภู ดูสดชื่นยิ่งนัก
ปราสาทหินวัดภูสร้างขึ้นในสมัยไหนนั้นหลักฐานยังไม่ปรากฏชัด สันนิษฐานว่าปราสาทหินวัดภู เมืองปากเซ มรดกโลกแห่งที่ 2 ของ สปป.ลาว สร้างในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ราวปลายศตวรรษที่ 4 สร้างขึ้นมาเพื่อทำพิธีบูชายันต์ถวายแด่ศิวะลึงค์ ตามความเชื่อของศาสนาฮินดูในสมัยก่อน ถือเป็นต้นแบบของปราสาทหินแบบขอม สร้างก่อนนครวัดแต่สร้างไม่เสร็จ เนื่องจากมีภัยสงครามจากพวกเข้ามารุมล้อม (ข้อมลูประวัติวัดภูได้จากไกด์ท้องถิ่น)
การวางผังของตัวปราสาทจะวางตามความเชื่อของศาสนาฮินดู ด้านหน้ามีบารายหรือสระน้ำขนาดใหญ่ ด้านข้างซ้ายขาวล้อมรอบอีก 2 บาราย มีเสานางเรียงหรือเสาเสมาตั้งเรียงรายไปตามทางขึ้นตัวปราสาทหิน ตรงกลางจะเป็นกลุ่มปราสาทหิน ปรางค์ประธานอยู่ตรงกลางหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เทวสถานด้านซ้ายเป็นที่ประทับพระมหากษัตริย์ และข้าราขบริพารที่เป็นผู้ชาย ด้านขวาเป็นที่ประทับของพระมเหสีและสนมกำนัล ส่วนด้านหลังจะติดภูเขามีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ไหลลงมาจากภูตลอดทั้งปี เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ให้นักท่องเที่ยวนำไปบูชาได้
ในปรางค์ประธานช่วงแรกที่นับถือเทวะนิกายในศาสนาอินดู จะประดิษฐานศิวลึงค์ ด้านหลังของปรางค์ประธานมีรูปแกะสลักของพระตรีมูรติ ประกอบด้วยเทพสามองค์ในศาสนาฮินดู คือพระพรหม พระนารายณ์ และพระศิวะ ซึ่งเป็นสัญญาลักษณ์ของศาสนาฮินดู ต่อมาชนพื้นเมืองเปลี่ยนนับถือผีอยู่ช่วงหนึ่ง ตอนที่ศาสนาฮินดูเสื่อมลง และมานับถือพุทธศาสนา ในปรางค์ประธานจึงเปลี่ยนมาประดิษฐานพระพุทธรูปหินทราย จนถึงปัจจุบัน
ข้างประตูซ้ายขาวมีนางอัปสรให้การต้อนรับแขกผู้มาเยือนอยู่ 2 นาง และทวารบาลเฝ้าประตูอยู่ 2 ตน เหนือประตูทางเข้ามีทับหลังประดับอยู่ทั้งสามบาน ช่องกลางแกะสลักรูปพระนารายณ์ทรงช้างสามเศียร บานขาวแกะสลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ บานซ้ายแกะสลักรูปพระนารายณ์กวนเกษียรสมุทร ซึ่งยังคงคมชัดสวยงามเหมือนเมื่อครั้งเริ่มสร้างใหม่ๆ
ตลาดใหม่เมืองปากเซ หรือตลาดดาวเรือง
นอนหลับยาวยันเช้าเลยด้วยความอ่อนเพลีย หลังจากทานอาหารเย็นและการต้อนรับ ด้วยพิธีบายศรีสู่ขวัญให้กับคณะของเราที่ โรงแรม แกรนด์จำปาสัก เมื่อคืนนี้ ทานอาหารเช้าแล้วออกมาเดินเล่นชมตลาดใหม่เมืองปากเซ หรือตลาดดาวเรือง (คุณนายดาวเรืองคือคหบดีชาวลาวเชื้อสายเวียดนาม เจ้าของดิวตี้ฟรี กาแฟดาวเรือง ตลาดดาวเรืองและอีกหลายธุรกิจ ประกอบธุรกิจใน สปป.ลาว ประสบผลสำเร็จจนร่ำรวย) ที่อยู่ตรงข้ามกับโรงแรม สินค้าที่จำหน่ายก็มีทั้ง แก้ว แหวน เงิน ทอง นาค ผ้าซิ่น กระเป๋าถือ กระเป๋าเดินทาง มีทั้งก๊อบแท้ ก๊อบเทียม ให้เลือกซื้อกันอย่างจุใจ ส่วนของกินก็มี ขนมปังฝรั่งเศส ข้าวหลาม ข้าวเกรียบว่าว จะแม่ค้าหาบเร่เดินขายอยู่ในตลาด
น้ำตกหลี่ผี มหานทีสีพันดอน ยิ่งใหญ่อลังการ
จับจ่ายสินค้าที่ตลาดใหม่ปากเซ กันพอหอมปากหอมคอ คาราวานของเราก็ตั้งขบวนใหม่พร้อมออกเดินทางอีกครั้งในเช้านี้ น้ำตกหลี่ผีคือจุดหมายต่อไป ขบวนคาราวานเคลื่อนออกจากโรงแรม เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหมายเลข ท.16 ขับมาได้ประมาณ 6 กม. เลี้ยวขาวอีกทีเข้าถนนหมายเลข ท.13 มาจอดพักรถที่บ้านขี้นาคให้เข้าห้องน้ำดื่มน้ำปัสสาวะกัน ที่บ้านขี้นาคก็มีเครื่องดื่มของขบเคี้ยวขาย ส่วนมากนำเข้าจากประเทศไทยทั้งนั้น สำหรับสินค้าพื้นเมืองก็มี กระจับ ฝักบัวสด ไฮไลต์อยู่ทีของปิ้งย่างมีทั้ง นกย่าง หนูย่าง เก้งแดดเดียวย่าง ผมชิมเก้งแดดเดียวพวงละ 20 บาท มีอยู่ 4 – 5 ชิ้น (ใช้เงินไทยซื้อได้เลยไม่ต้องแลกเงินกีบ) เป็นของแท้ครับมีกลิ่นสาปหน่อยๆ ไม่ใช่เอ๋งแดดเดียวอย่างที่เขานินทากัน
น้ำตกหลี่ผี มหานทีสีพันดอน ตั้งอยู่ในเขตดอนคอน ห่างจากจุดพักรถบ้านขี้นาคประมาณ 76 กม. ไปตามถนน ท.13 เลี้ยวขวาเข้าน้ำตกอีก 3 กม. ยังไม่ถึงครับต้องมาลงเรือที่ท่าเรือบ้านนากะสังอีกทอดหนึ่ง จากนั้นก็ต้องนั่งรถสามแถวพื้นเมือง (มีที่นั่ง 3 แถว) เข้าไปตามท้องไร่ท้องนาอีกประมาณ 4 กม. ก็ยังไม่ถึงอีกอยู่ดีต้องเดินเข้าไปอีก 1 กม. ถึงเสียทีน้ำตกหลี่ผี มหานทีสีพันดอน
“หลี่ผี” มาจากสองคำผสมกัน “หลี่” หมายถึงเครื่องมือดักจับที่ทำจากไม้ไผ่ ส่วน “ผี” ก็คือคนตาย ความหมายก็ตรงตัวแหละครับคือที่ดักคนตาย เขาเล่ากันว่าสมัยสงครามอินโดจีน มีคนตายลอยมาติดแก่งทุกวัน เลยเรียกแก่งนี้ว่าหลี่ผี แต่ผมว่าชื่อนี้เขาคงเรียกกันมานานแล้วละครับ เพราะมันน่าจะมีคนตายลอยมาติด “หลี่” ที่แก่งนี้ก่อนสงครามอินโดจีนแล้วครับ (เห็นต่างไม่เป็นไรนะครับ)
ยืนมอง น้ำตกหลี่ผี มหานทีสีพันดอน ด้วยตาตัวเองแล้วต้องบอกว่า “ยิ่งใหญ่อลังการจริงๆครับ” สายน้ำโขงกว้างใหญ่ไหลเชี่ยวกราก ตกลงกระทบแก่งหินที่ต่างระดับ แตกกระสานเป็นฟองละอองฟุ้งกระจาย สมกับเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่บอกต่อกันมา เล่นเอาหายเหนื่อยเลยครับ สมน้ำสมเนื้อที่ต้องดั่นดลมา
น้ำตกคอนพะเพ็ง ไนแองการาแห่งเอเชีย
พักครับ พักทานอาหารกลางวันกันก่อนที่ร้านอาหารแม่บุญเฮียง กว่าอาหารกลางวันจะตกถึงท้องก็ปาเข้าไปบ่ายสองโมง ทุกเมนูปลาจากแม่น้ำโขงอร่อยหมด (ไม่รู้ว่าเป็นเพราะหิวหรือเปล่าคงไม่นะ) ห่อหมกปลา ปลาทอด ต้มยำปลา และที่ขาดไม่ได้ก็คือส้มตำอาหารประจำชาติ สปป.ลาว มีทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้าให้เลือกทานด้วย
อิ่มแล้วก็ไปต่อครับ “น้ำตกคอนพะเพ็ง ไนแองการาแห่งเอเชีย” ยังรอคาราวานของเราอยู่ ออกจากร้านแม่บุญเฮียงไปตามถนน ท.13 เหมือนเดิม เพราะน้ำตกคอนพะเพ็งอยู่ห่างจากทางเข้าน้ำตกหลี่ผีประมาณ 8 กม. เลี้ยวขวาไปตามถนนลูกรังอีกประมาณ 2 กม. ที่นี่ไม่ต้องลงเรือและต่อรถไปอีกเหมือนน้ำตกหลี่ผี จอดรถแล้วก็ลงเดินเข้าไปได้เลย ผ่านทางเข้าตรงช่องเก็บบัตร เสียค่าบัตรเข้าชมคนละ 30,000 กีบ เท่ากับ 150 บาท (เกือบทุกที่ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว รัฐบาล สปป.ลาว จะให้สัมปทานกับเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ไปบริหารกันเองตามระยะเวลาสัมปทานที่ได้รับ)
เดินเข้ามาผ่านสะพานไม้สีแดงสองข้างทาง เต็มไปด้วยต้นไม้ลำต้นสูงใหญ่ใบ สีเขียว เหลือง น้ำตาล สลับกันไป จุดหมายปลายทางเป็นศาลาจุดชมวิวหลังใหญ่ เห็น “น้ำตกคอนพะเพ็ง ไนแองการาแห่งเอเชีย” จากจุดชมวิวแล้วกว้างใหญ่จริงๆครับ มองด้วยตาเปล่าคาดคะเนเอาว่าน่าจะกว้างกว่า “น้ำตกหลี่ผี” ประมาณ 2 เท่าเห็นจะได้ ถ้าอยากสัมผัสให้ใกล้ชิดต้องลงไปข้างล่างครับ จะเห็นว่ากว้างใหญ่จริงๆ สายน้ำโขงเชี่ยวกรากแบ่งออกเป็น 4 สาย ก่อนไหลตกลงสู่แก่งหินต่างระดับเบื้องล่าง เรียงรายกันอยู่เบื้องหน้าผม สมนาม”ไนแองการาแห่งเอเชีย”
น้ำตกผาส้วม ห้องหอบนทิพวิมาน
เช้าขึ้นอีกวันเป็นวันที่ 3 ของการเดินทาง มีโปรแกรมอีก 2 ที่สำหรับวันนี้ แต่อยู่ที่เดียวกันกับน้ำตกผาส้วมจุดหมายของเราในวันนี้ ไม่ต้องตกใจครับผมไม่ได้พิมพ์หัวเรื่องผิดครับ ชื่อ “น้ำตกผาส้วม” แปลเป็นภาษาไทยว่า “น้ำตกผาห้องหอทิพย์วิวาน” อยู่ห่างจากโรงแรม จำปาสัก แกรนด์ ไปตามถนน ท. 16 ประมาณ 22 กม. แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางดินลูกรังอีก 13 กม.
ปากทางเข้าไปน้ำตกมีแผงลอย ขายสินค้าที่ระลึกของขบเคี้ยวพื้นเมืองอยู่ 2 ข้างทาง เด็กๆมาช่วยพ่อแม่ทำมาหากินด้วยการขายของบ้าง ให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปบ้าง พอได้กินได้ใช้ไปวันๆ ดูแล้วคงยังไม่ได้เรียนหนังสือกันหลอกเพราะปากท้องสำคัญกว่า เดินผ่านสวนย่อมเล็กๆมาก็มาถึงสะพานแขวน ขึงด้วยลวดสลิงหุ้มสานด้วยไม้ไผ่ เดินไปก็เสียวไปเพราะมันโยกไปเอนมาตื่นเต้นดี ถ้าเป็นบ้านเราสะพานแขวนนี้ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยแน่นอน
เดินข้ามมาแล้วค่อยหาตื่นเต้นหน่อย น้ำตกผาส้วมแม้จะดูไม่ยิ่งใหญ่เหมือน 2 น้ำตกที่ผ่านมา แต่ก็มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง คือเดินทางไปมาสะดวกใกล้ไม่ต้องเดินไกล เป็นน้ำตกชั้นเดียวเหมือนสายน้ำกำลังตกลงสู่หอห้อง ที่โอบล้อมไปด้วยแมกไม้สูงใหญ่นานาพันธุ์ นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสน้ำตก ถ่ายรูปกับน้ำตกได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีหมู่บ้านชนเผ่า ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วิถีของชนพื้นเมืองอีกด้วย
หมู่บ้านชนเผ่า หลากหลายวิถีชน
หลังจากทานอาหารกลางวันที่ร้านตาดผาส้วม อยู่ด้านบนของน้ำตกผาส้วมแล้ว ก็เดินกลับออกมาเพื่อไปสัมผัสวิถีของชาวชนเผ่ากันต่อ หมู่บ้านชนเผ่า หลากหลายวิถีชน สปป.ลาว ต้องเดินผ่านป่าไผ่เข้าไป เหมือนเดินลอดอุโมงค์ไปยังอีกยุคหนึ่งครับ บ้านของชาวชนเผ่าก็จะเป็นกระต๊อบทำจากไม้ไผ่ หลังคามุงแฝก ตั้งอยู่เรียงกันเป็นรูปวงกลม เนื่องจากจำลองขึ้นมาใหม่เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้าถึงอย่างแท้จริง
มีหลายชนเผ่าเหมือนกัน เผ่ากiะเsรีjยง เผ่าโอย เผ่าราลัก เผาละแว เผ่ายะเหิน เผ่าแงะ แต่ละชนเผ่าก็มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ทั้งเรือนนอนและเครื่องแต่งกาย เช่น เผ่ากะเรียงเรือนเป็นทรงกลม เผ่าราลักเรือนเป็นทรงจั่ว เผาโอยบันไดขึ้นเรือนเป็นไม้ไผ่ลำเดียว เผาละแวก็เจาะหูให้มีรูขนาดใหญ่ ส่วนเผ่าแงะหัวหน้าเผามีเมียได้ 7 คน เผ่าแงะนี่น่าสนใจมากครับ
สิ้นสุดการเดินทาง ทริปคาราวาน NISSAN “บอกรักไกลไปถึงปากเซ” ลงที่น้ำตกผาส้วมครับ หลังจากนั้นคาราวาน NISSAN ของเราก็เดินทางกลับสู่ประเทศไทยอย่างปลอดภัยและมีความสุขทุกคัน หลังจากได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ในการเดินทางท่องเที่ยวแบบขบวนคาราวาน ที่ต้องขับรถเองโดยมีเพื่อนในรถเป็นคนนำทาง (ถึงจะหลงไปบ้างก็ไม่เป็นไร) เพิ่มเพื่อนใหม่อีกหลายคน สัมผัสกับธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่สวยงาม และได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม วิถีท้องถิ่นของ สปป.ลาว แม้จะละม้ายกับไทยแต่ก็มีความต่างที่น่าค้นหา แล้วพบกันใหม่กับ คาราวาน “นิสสัน อีโค คาร์ พาท่องเที่ยวไทย ด้วยใจอนุรักษ์ ปีที่ 3 ในทริปต่อไปครับ
ขอขอบคุณ
บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุบลราชธานี