http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,957,496
Page Views16,263,809
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

บทวิจารณ์ของอาจารย์ นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์

บทวิจารณ์ของอาจารย์ นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์

บทวิจารณ์ของอาจารย์ นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์

ก่อนอื่น ต้องขอประทานโทษอาจารย์ประเวศ วะสี เป็นอย่างยิ่ง ที่ขอเอาบทความของท่านมาวิจารณ์ ไม่ใช่เพื่อคัดค้านท่านในฐานะบุคคล แต่เพื่อชี้ให้เห็นว่า การมองปัญหาและทางออกของชนชั้นนำตามประเพณี แม้ในบุคคลที่มีความหวังดีอย่างสุจริตใจต่อส่วนรวม ก็ยังขาดความเข้าใจต่อความซับซ้อนที่มีอยู่จริงในสังคมไทย และทำให้ทั้งปัญหาและทางออกในทรรศนะของเขา มันง่ายเกินกว่าความเป็นจริง จนนำไปปฏิบัติไม่ได้
หากไม่นับการปฏิวัติแล้ว มีจุดพลิกผันในประวัติศาสตร์อย่างที่ท่านอาจารย์ประเวศจินตนาการถึงหรือไม่ เท่าที่ผมทราบ อาจกล่าวได้ว่า ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์เลย คนรุ่นหลังอาจชี้ว่าที่จุดใดจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ แนวทางความเป็นไปของสังคมได้เปลี่ยนอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น การค้นพบเครื่องจักรไอน้ำ หรือเพลโต หรือการขยายตัวของพุทธศาสนาสายที่เรียกกันว่าลังกาวงศ์ แต่หากศึกษากรณีต่างๆ เหล่านี้เท่าที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์เหลือให้ศึกษาได้ ก็จะพบว่า มีความเปลี่ยนแปลงอื่น เล็กๆ จนแทบจะไม่มีใครสังเกตเห็น เกิดสะสมมาจนกระทั่ง "โครงสร้าง" (ตามคำที่ท่านอาจารย์ชอบใช้) เก่า ไม่อาจดำรงอยู่ต่อไปได้ ต้องถูกปรับเปลี่ยนตามไปด้วย เช่น การผลิตในอังกฤษก่อนเครื่องจักรไอน้ำได้พัฒนาไปสู่การผลิตเพื่อตลาดอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว ไม่ว่าในทางหัตถอุตสาหกรรม, เกษตรกรรม รวมแม้กระทั่งภาคการเงิน มีความต้องการอย่างเหลือล้นที่จะได้แหล่งกำเนิดพลังงานใหม่ ที่สามารถทำงานได้เร็วขึ้น และหนักขึ้น มากกว่ากำลังคนและกำลังสัตว์หรือสายน้ำ เครื่องจักรไอน้ำเป็นคำตอบที่ตรงกับความต้องการที่สุด เพราะผลิตขึ้นได้ไม่ยากไปกว่าความรู้ทางเทคโนโลยีที่อังกฤษมีอยู่เวลานั้น
เราไม่อาจชี้ต้นเหตุของการปฏิวัติอุตสาหกรรมไปที่เครื่องจักรไอน้ำได้ แต่ต้องชี้ไปที่ความเปลี่ยนแปลงนานาชนิดที่เกิดขึ้นในรอบกว่าศตวรรษที่ผ่านมาว่าเป็นต้นเหตุสำคัญกว่า ซึ่งยากที่จะพูด จึงชี้ไปที่เครื่องจักรไอน้ำ เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่เข้าใจได้ง่ายดี
แม้แต่การปฏิวัติ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะใครคนใดคนหนึ่ง มีเหตุทั้งเล็กและใหญ่สั่งสมกันมานาน ก่อนที่จะปะทุขึ้นเป็นการปฏิวัติอเมริกัน, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, จีน หรือเวียดนามและอินโดนีเซีย หรือแม้แต่สยาม (เราไม่อาจพูดถึงนักเรียนไทยคุยกันที่ปารีส โดยไม่พูดถึงความเสื่อมโทรมและความแย้งกลับของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามได้)
นี่ดูเหมือนเป็นเรื่องถกเถียงทางวิชาการ (สายสังคมศาสตร์) เท่านั้น แต่ที่จริง การมองโลกแบบจุดพลิกผัน มักทำให้เห็นการกระทำหรือไม่กระทำของคนหรือสถาบันว่าเป็นตัวตัดสินมากเกินไป ดังเช่น การขอพระราชอำนาจในการตั้งนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ว่าจะแก้ปัญหาประชาธิปไตยไทยให้สงบราบเรียบได้ เพราะเป็นประชาธิปไตยแบบ "ราชประชาสมาศัย" หรือใช้รัฐประหารในการแก้ปัญหาประชาธิปไตย ก็มาจากความเชื่อเรื่องจุดพลิกผันนั้นเอง
เพื่อความเป็นธรรมต่ออาจารย์ประเวศ ท่านไม่ได้คิดว่าบุคคลหรือสถาบันจะสร้างจุดพลิกผันได้ ท่านเสนอว่าสังคมเข้มแข็งต่างหากที่จะสร้างจุดพลิกผันได้ แต่สังคมเข้มแข็งเป็นอย่างไร แค่คนออกมาชุมนุมกันตามท้องถนนเท่านั้นคือสังคมเข้มแข็งหรือ คนในสังคมไทยออกมาชุมนุมในท้องถนนกันมาหลายครั้งหลายหนแล้ว นับตั้งแต่เรียกร้องให้รัฐบาลไทยชิงดินแดนมาจากอินโดจีนของฝรั่งเศส และเลือกตั้งสกปรก จนถึง 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภามหาโหดปี 35, ขับไล่ระบอบทักษิณเมื่อปี 48-56 และปัจจุบัน, รวมทั้งเมษา-พฤษภาเลือดใน 2553 ด้วย แต่ยิ่งมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น "พื้นที่" ให้ประชาชนมีส่วนร่วมก็ไม่ได้ขยายขึ้นแต่อย่างไร สื่อเคยถูกรัฐควบคุม แต่เมื่อปล่อยให้สื่อคุมกันเองแล้ว ถามว่าในทุกวันนี้สื่อยังเป็น "พื้นที่" แห่งเสรีภาพที่รับผิดชอบอยู่หรือไม่ การเลือกตั้งถูกทำให้ไม่น่าไว้วางใจ และต้องมีอำนาจอื่นที่ไม่ต้องยึดโยงกับประชาชนคอยตรวจสอบควบคุมเสมอ (ดังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งล่อนจ้อนกับทฤษฎีนี้จนหมดตัว) "พื้นที่" ในกระบวนการตุลาการก็ถูก "อภิวัตน์" ไปส่วนหนึ่งเสียแล้ว
กัมมันตภาพของประชาชนมี "พื้นที่" น้อยลง แม้เรามีพลเมือง "ที่มีจิตสำนึก รู้เท่าทัน" มากขึ้นก็ตาม
ท่านอาจารย์พูดถึงอำนาจที่ยิ่งใหญ่จนตรวจสอบไม่ได้ว่าคือ "ระบอบทักษิณ" คำนี้แปลว่าอะไร? เกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับคุณทักษิณ ชินวัตร ถ้าเกี่ยวก็ไม่ใช่ "ระบอบ" ถ้าไม่เกี่ยว อำนาจนี้ย่อมสลับซับซ้อนกว่าคุณทักษิณและพรรคเพื่อไทย
ผมจึงเชื่อมานานแล้วว่า "ระบอบทักษิณ" เป็นระบอบที่ผู้นำทางการเมืองไทยทุกยุคทุกสมัย ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐประหารล้วนทำอย่างเดียวกันตลอด คือหลีกเลี่ยงและขจัดการตรวจสอบ รับประโยชน์จากการวางนโยบายสาธารณะ (ตัวเองรับหรือพรรคพวกรับก็ไม่ต่างกัน) นอกจากหีบบัตรเลือกตั้งแล้ว ก็ไม่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากไปกว่านั้น และด้วยเหตุที่ยังใช้การเลือกตั้งเป็นความชอบธรรมทางการเมือง จึงพยายามทุกวิถีทางมิให้การเลือกตั้งเป็นการแข่งขันที่เท่าเทียมและเสรี
การทำลายระบอบทักษิณจึงอาจไม่เกี่ยวกับคุณทักษิณ ไม่ว่าแกเป็นนายกฯ หรือคนอื่นเป็น ก็ต้องช่วยกันทำลายระบอบนี้
และระบอบนี้ไม่ได้ดำรงอยู่ในเมืองไทยเพียงเพราะคุณทักษิณมีอำนาจ "ทางการเงิน, การเมือง และสังคม" เท่านั้น ถึงคนอื่นๆ ไม่มีอำนาจเท่านั้น ก็ยังบริหารประเทศในระบอบทักษิณอยู่เหมือนกัน การยกสาเหตุทั้งหมดไปให้อำนาจของคุณทักษิณ ดูจะง่ายเกินไป เพราะอำนาจในสังคมไทยมีความหลากหลายและซับซ้อนกว่านั้นมากทีเดียว
นักวิชาการบางกลุ่มกล่าวถึงอำนาจในการเมืองไทยว่า แบ่งออกเป็นหลายเครือข่าย ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองเท่านั้น นักธุรกิจ ปัญญาชน นักการศาสนา นักปลุกระดม นักวิชาการ ฯลฯ หรือแม้แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นเครือข่ายอำนาจอีกอย่างหนึ่ง เครือข่ายเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันอย่างสลับซับซ้อน ในบางครั้งบางสถานการณ์ บางเครือข่ายอาจเป็นศูนย์รวม (node) ของเครือข่ายอำนาจกว้างขวางที่สุด เพราะเครือข่ายอื่นพากันเข้ามาเชื่อมเป็นพันธมิตร เพื่อร่วมแบ่งปันผลประโยชน์ แต่ในอีกบางครั้งบางสถานการณ์ ก็อาจปลีกตัวออกไปเพื่อไปร่วมกับเครือข่ายอื่น
ไม่มีใครหรอกครับที่มีอำนาจขึ้นมาอย่างโดดเดี่ยว ไม่ว่าจะมาด้วยหีบบัตรเลือกตั้งหรือรถถัง เขาคือคนหนึ่งในเครือข่ายของเขา และเครือข่ายของเขาก็ร่วมเชื่อมพันธมิตรกับเครือข่ายอื่น และนี่คือฐานรากของ "ระบอบทักษิณ" ที่ไม่ได้เกิดกับคุณทักษิณคนเดียว อย่างไรก็ตาม ในรอบสักสองทศวรรษที่ผ่านมา เกิดคนหน้าใหม่ที่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น นั่นคือคนชั้นกลางระดับล่าง หรือที่บางคนเรียกว่าคนชั้นกลางใหม่ (คงเพื่อเทียบกับคนชั้นกลางที่สนับสนุนนักศึกษาใน 14 ตุลา และเป็นม็อบมือถือในเหตุการณ์พฤษภามหาโหด ซึ่งต่างก็ "ใหม่" ในตอนนั้นเหมือนกัน) คนเหล่านี้สร้างเครือข่ายที่อาจแตกต่างจากเครือข่ายในการเมืองไทยมาก่อน เพราะเน้นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันน้อยกว่า แต่เน้นความเหมือนด้านจุดยืนทางการเมืองมากกว่า เครือข่ายเหล่านี้มีมาก่อนเสื้อแดงเสียอีก แต่อาจถูกบดบังด้วยระบบ "หัวคะแนน" เสียจนทำให้เรามองไม่เห็น และคิดว่าพรรคทรท.ชนะการเลือกตั้งจากระบบหัวคะแนนแต่เพียงอย่างเดียว (คำอธิบายที่นักวิชาการฝรั่งให้ก็คือ พรรคทรท.สามารถควบรวมพรรคเล็กได้หมด จึงทำให้ได้หัวคะแนนเกือบทั้งระบบในกำมือ แต่ผมสงสัยว่าเป็นคำอธิบายที่ไม่เพียงพอ และคงต้องมีการศึกษาประเด็นเชิงประจักษ์มากกว่านี้)
เครือข่ายที่เกิดใหม่ของคนเหล่านี้เริ่มเชื่อมพันธมิตรกับเครือข่ายอื่น ที่สำคัญคือเครือข่ายของพรรค ทรท.เก่า (รวมทั้งพรรค พท.ด้วยแน่) แต่ไม่สามารถเชื่อมพันธมิตรกับเครือข่ายอำนาจอื่นๆ ได้ แม้กระนั้นก็เป็นระบบเครือข่ายที่มีคนจำนวนมากอยู่ในนั้น เรื่องจึงอยู่ที่ว่า เขาจะสามารถเชื่อมพันธมิตรกับเครือข่ายอื่นได้หรือไม่ หรือในทางกลับกัน เครือข่ายอื่นจะสามารถเข้ามาเชื่อมพันธมิตรกับเขาได้หรือไม่ แต่ความคิดที่จะทำลายเครือข่ายทั้งกลุ่มออกไปทั้งยวงนั้น เป็นไปไม่ได้ และไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
จริงอย่างที่อาจารย์ประเวศคิด นั่นคือหากคนส่วนใหญ่หลุดจากเครือข่าย และกลายเป็นพลเมืองผู้รู้เท่าทันและกัมมันตะ สภาพการเมืองไทยย่อมเปลี่ยนไปแน่นอน แต่นี่คือวิธีคิดถึงสังคมในฐานะเป็นที่รวมของปัจเจกบุคคล แต่สังคมเช่นนี้ไม่มีในความเป็นจริงทั่วโลก นอกจากจินตนาการของผู้คน
สังคมไหนๆ ก็ตาม ปัจเจกบุคคลย่อมมีพฤติกรรม (รู้ทันและกัมมันตะ) จากปัจจัยแวดล้อม มงคลสูตรพูดถึงปฏิรูปเทสวัสโส ก็หมายถึงปัจจัยแวดล้อมทางสังคมนี่แหละครับ และหนึ่งในปัจจัยแวดล้อมของมนุษย์คือความสัมพันธ์หรือเครือข่าย การเกิดเครือข่ายใหม่จึงเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะมีคนจำนวนมากขึ้นที่ได้ข่าวสารข้อมูลมากขึ้นจากหลายมุมมอง และกัมมันตะมากขึ้น (อย่างน้อยก็มากกว่าสังกัดอยู่แต่ในเครือข่ายเก่าตลอดไป)
ผู้ร่วมชุมนุมในระยะ 7-8 ปีที่ผ่านมา จะเป็นพลเมืองที่ "รู้เท่าทัน" ได้อย่างไร ในเมื่อการชุมนุมของทุกฝ่ายล้วนถูกกำกับโดยผู้นำการชุมนุม ผู้เข้าร่วมไม่ได้มีส่วนร่วมมากไปกว่ามือตบและตีนตบ ทั้งสองฝ่ายต่างส่งเสียงเชียร์ให้แก่คำพูดที่บิดเบือนความจริง เพราะไม่สนใจติดตามข้อมูลเพียงพอจะรู้ว่าอะไรจริงหรือไม่จริง รวมทั้งจริงแค่ไหน และไม่จริงแค่ไหน
ผมนึกอย่างไรก็นึกไม่ออกว่า นี่คือสัญญาณของการเกิดสังคมเข้มแข็งได้อย่างไร
แทนที่จะไปกำหนดสังคม เราปล่อยให้สังคมได้ต่อสู้ขัดแย้งกันด้วยความเท่าเทียมและยุติธรรมไม่ดีกว่าหรือครับ พลเมืองที่รู้เท่าทันและกัมมันตะ เกิดขึ้นจากการได้ร่วมในการต่อสู้ถกเถียงกันบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และแน่นอนโดยมีเสรีภาพเต็มเปี่ยม หากเราต้องการความก้าวหน้าของสังคม ช่วยกันระแวดระวังให้การต่อสู้ถกเถียงนั้นได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน และได้รับความยุติธรรมเสมอหน้ากัน น่าจะช่วยให้เกิดขึ้นได้ง่ายกว่า การวางแผนให้เสร็จว่าต้องเดินไปอย่างไร ไม่ใช่หรือครับ
ที่จริงผมยังสงสัยด้วยว่า พลเมืองที่รู้เท่าทันและกัมมันตะสามารถแก้ไขอะไรในสังคมประชาธิปไตยปัจจุบันได้ ระหว่างความพยายามจะหยุดยั้งการละเมิดชีวิตของผู้คนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ กับความพยายามยุติการเหยียดผิว(ดำ)ในสหรัฐ อย่างแรกไม่ประสบความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันแต่อย่างใด ในขณะที่อย่างหลังประสบความสำเร็จอย่างมาก ความแตกต่างอยู่ที่ว่าอย่างหลังสามารถเอาชนะสมองของคนอเมริกันได้ แต่อย่างแรกไม่สามารถทำสำเร็จ คนอเมริกันยังเชื่อว่าอย่างไรเสีย บรรษัทควรมีอำนาจมากกว่ารัฐ
อำนาจในโลกปัจจุบันไม่ได้มาจากปากกระบอกปืน แต่มาจากการช่วงชิงนิยามความชอบธรรมต่างหาก

 

 

 

(ที่มา:มติชนรายวัน 25 พ.ย. 2556)

 

 

 

(ที่มา:มติชนรายวัน 25 พ.ย. 2556)

 

Tags : จำลอง บุญสอง

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view