รัฐบาลเฉพาะกาล ทางออกของความขัดแย้งในชาติ
โดย จำลอง บุญสอง
ความขัดแย้งผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ “เศรษฐกิจ” และ “สังคม” ของชาติพินาศลงอย่างรุนแรงและมีแนวโน้มว่าจะส่งผลต่อเนื่องไปอีกยาวนานอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย
ความขัดแย้งดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่เกิดมาจากผลพวงของ “ระบอบเผด็จการ ระบบรัฐสภา” ที่สั่งสมปัญหามาอย่างยาวนานกว่า 80 ปี
ระบอบเผด็จการรัฐสภาที่เป็นบ่อเกิดของความยากจนสะสมในคนส่วนใหญ่ของประเทศผกผันกับความร่ำรวยของ “คนส่วนน้อย” ที่อยู่ทั้งต่อหน้าและลับหลังของการเมืองในระบอบนี้
ช่องว่างทางรายดังกล่าวส่งผลให้ “ความเสมอภาค” “ต่อหน้ากฎหมาย” และ “ความเสมอภาค” ใน “โอกาส” ของ “คนจน” ผู้ถูกปกครองกับคนรวยที่อยู่ทั้งต่อหน้าและลับหลังของการเมืองระบอบนี้ “ถ่างออกจากกัน”
โดยอำนาจอธิปไตยของคนส่วนน้อยที่ร่ำรวย ไม่สามารถแก้ไขปัญหาสั่งสมนี้ได้ การที่ประชาชนถูก Double Standard ซ้ำแล้วซ้ำจึงนำมาซึ่งความ "เสื่อมศรัทธา” ของประชาชนที่มีต่อนักการเมือง พรรคการเมืองจนถึงขั้น ไม่ยอมรับการปกครอง!
การไม่ยอมรับการปกครองของประชาชนทั้งต่อเหลืองและต่อแดงนั่นเอง ที่ส่งผลทำให้เกิด “ความขัดแย้ง” ระหว่าง “ประชาชน” กับ “นักการเมือง” “ประชาชน” กับ “พรรคการเมือง” อย่างต่อเนื่อง
วิชาการทางการเมืองให้ “คำจำกัดความ” ความขัดแย้งดังกล่าวว่าเป็นความขัดแย้งระหว่าง“ประชาชน” กับ “ระบอบเผด็จการ”
ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับระบอบเผด็จการที่สั่งสมมายาวนาน หาใช่ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลเหลืองหรือรัฐบาลแดงก็หาไม่ แต่มันทยอยสั่งสมจากรัฐบาลในระบอบเผด็จการหนึ่งสู่รัฐบาลในระบอบเผด็จการเดียวกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ต่างอะไรกับการกิน “ยาพิษ” สั่งสมไปทีละเล็กละน้อย ไม่ต่างอะไรกับการเติม “ดินปืน” ลงในสังคมเพื่อรอการระเบิด
ครั้นมาถึงระยะหนึ่งของการกินยาพิษสะสม การเติมดินปืนสะสมเข้าสู่โครงสร้างสังคม ร่างกายคน ประเทศก็ออกอาการเตือนเจ้าของร่างกาย เจ้าของประเทศทุกๆคนไม่ว่าจนหรือรวยว่า“โครงสร้างอำนาจอธิปไตยคนส่วนน้อย” ที่ครอบงำประเทศของคุณอยู่นั้น มันคือสารก่อปัญหา!
โดยที่พรรคการเมือง นักการเมือง อาจารย์มหาวิทยาลัยหาได้สำเหนียกไม่ว่า อาการสัญญาณอันตรายดังกล่าวกำลังจะนำมาซึ่ง “สงครามกลางเมือง” หรือ “สงครามประชาชน” (Civil War) หรือ “สงครามปฏิวัติ” ดังที่เกิดในอังกฤษ ในฝรั่งเศส ในรัสเซีย ฯลฯ อันมีผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและเกิดการคลี่คลายระบบเศรษฐกิจจาก Sufficiency Economy มาเป็นระบบเศรษฐกิจแบบ “ทุนนิยม”
สภาพการดิ้นรนต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้สอดคล้องกับความต้องการประชาธิปไตยของประชาชนในสภาวะนี้ ทางวิชาการทางการเมืองเรียกว่าสถานการณ์นี้ว่า สถานการณ์ปฏิวัติกระแสสูง!
สถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นกับโลกทั้งโลกที่ถูกทุนนิยมครอบงำ ที่เกิดก็เพราะการ “สั่งสมทุน” เพื่อการเอาชนะคะคานทางธุรกิจของแต่ละกลุ่มทุน ในการสั่งสมทุนดังกล่าวนั่นเองที่นำมาซึ่งการ “ขูดรีดค่าแรง” เพื่อที่พวกนายทุนจะได้กำไรมากๆโดยที่ไม่ใส่ใจต่อความเป็นมนุษย์ของกรรมกร
การเข้ามาถือครอง “อำนาจอธิปไตยคนส่วนน้อย” ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ผู้เข้ามาลงทุนในทางการเมือง “ได้กำไร” กลับไปอย่างเป็นกอบเป็นกำ ในระยะแรกๆกลุ่มทุนสปอนเซ่อร์ผ่านนอมินี ต่อๆมาก็เข้ามาเล่นการเมืองด้วยตัวเอง จนนำมาซึ่ง Conflict of Interest ของ “ค่ายการเมือง” ในวันนี้
อำนาจอธิปไตยเป็นของใครก็ให้ประโยชน์แก่ชนชั้นนั้น ประเทศไทยแม้ว่าอำนาจอธิปไตยมาจากการเลือกตั้งทั่วไปก็จริง แต่อำนาจอธิปไตยที่ได้ไม่ว่าจะบริหารโดยรัฐบาลเหลืองหรือรัฐบาลแดง ก็ล้วนแต่เป็น “อำนาจอธิปไตยคนส่วนน้อย” เสมอไป คนยากคนจนแม้จะมีความต้องการที่จะเข้าไปสะท้อนปัญหาของตัวเองในสภาก็ไม่มีทางผ่านด่านทุนใหญ่เข้าไปได้ คนที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนจะเข้าสู่ประตูนี้ได้ก็ต้องยื่นใบสมัครเข้าสังกัดพรรคทุนใหญ่ เลือกตั้งได้ก็ต้องเข้าไปอยู่ใน “มุ้ง” ของก๊วนใดก๊วนหนึ่งที่ต้องยกมือหาเงินตามคำสั่งของก๊วนเสมอไป
ผลของการปกครองโดยอำนาจอธิปไตยคนส่วนน้อยที่ร่ำรวยที่สะสมปัญหามาทุกรัฐบาลไม่ว่าเหลืองหรือแดงหรือสีใดจึงทำให้ราษฎร “มือสั้น” จนลงๆทุกๆวัน ยิ่งไปกว่านั้นทุนใหญ่ที่มีทั้งเงินและโนวฮาวที่เหนือกว่าประกอบธุรกิจแบบทำลายอุตสาหกรรมขนาดกลางขนาดย่อมไปโดยปริยาย และไปทำลาย “กลุ่มทุน” ที่ไม่ได้เข้ามาถือครองอำนาจอธิปไตย จนนำมาซึ่ง Conflict of Interest ทางการเมือง (เหลืองVSแดง) ในวันนี้
ลำพัง Conflict of Interest ทางการเมืองไม่มีทางรุนแรงขึ้นมาได้ เพราะกลุ่มทุนมีเพียงไม่กี่คน แต่ที่ Conflict ดังกล่าวรุนแรงขึ้นมาก็เพราะ “กลุ่มการเมือง” เหลืองแดงถูกประชาชนที่ได้รับผลสะเทือนจากการบริหารของรัฐบาลแต่ละยุคดันให้พวกเขาออกมาต่อสู้กันนั่นเอง
และตราบใดที่เราไม่ขจัด “เงื่อนไขสงคราม” คือระบอบเผด็จการลงและสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้นมาเพื่อเฉลี่ยรายได้แห่งชาติอย่างเป็นธรรมแล้วความขัดแย้งและสงครามประชาชน ไม่มีทางยุติลงได้ไม่ว่าจะหาวิธีไหนๆมา “กลบ” ก็ตาม
การ “ปฏิวัติประชาธิปไตย” ในอันที่จะตอบสนองต่อการกินดีอยู่ดีและความเสมอภาคขึ้นในสังคม ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยประเทศเดียว แต่เกิดขึ้นในอังกฤษหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ตามด้วยฝรั่งเศสและลามไปทั่วยุโรปแบบถูกบังคับสภาพ (บางประเทศอย่างรัสเซียเลยไปถึงการปฏิวัติของชนกรรมาชีพหรือที่เรียกกันว่าปฏิวัติคอมมิวนิสต์)
ดรรชนีชี้วัดสถานการณ์ปฏิวัติกระแสสูงในแต่ละชาติเหมือนๆกันก็คือ
1.ประชาชนไม่ยอมรับการปกครอง
2.ผู้ปกครองหมดความสามารถในการปกครอง
3.ประชาชนล้าหลังตื่นตัว
และทั้ง 3 เงื่อนไขดังกล่าวนั่นแหละที่ไป “บังคับสภาพ” ให้เกิด 4.พรรคปฏิวัติให้เกิดขึ้นในแต่ละประเทศเพื่อการแก้ไขปัญหาของชาติอย่างยั่งยืน จะบอกให้ว่า..วันนี้ประเทศไทยมีองค์ประกอบครบแล้วทั้ง 4 ข้อ
ดังที่กล่าวแล้วว่าความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองเหลืองกับผู้ปกครองแดงนั้นหาใช่ “ความขัดแย้งหลัก” ไม่ แต่ความขัดแย้งดังกล่าวมีผลมาจากความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับระบอบเผด็จการ ประชาชนที่เห็นต่างในการกล่าวโทษรัฐบาล ต่างหากที่ออกแรงผลักให้ผู้ปกครองเหลืองแดงเผชิญหน้ากันในวันนี้
ดังนั้น..ถ้าจะไม่ให้มวลชนเพื่อการเปลี่ยนแปลง ออกมากดดันเพื่อโค่นล้มผู้ปกครองฝ่ายที่ตนเห็นว่าผิดก็คือ การสลาย “เงื่อนไขสงคราม” แบบเดียวกับการ “ดับแหตุแห่งทุกข์” เพื่อไม่ให้ทุกข์ของพระพุทธเจ้า
เงื่อนไขสงครามคือระบอบเผด็จการหาใช่ตัวบุคคลไม่ แต่คำว่าระบอบนั้นออกจะเป็นนามธรรม ผู้คนทั่วไปมองเห็นได้ยาก พวกเขาเห็นแต่คนที่เต้นได้คือรัฐบาล ดังนั้นพวกเขาจึงตั้งหน้าตั้งตาแต่จะโค่นรัฐบาลแต่ไม่โค่นระบอบ เพราะพวกเขามองไม่เห็นระบอบ โค่นรัฐบาลเหลืองให้รัฐบาลแดง โค่นรัฐบาลแดงให้รัฐบาลเหลือง สลับกันไปสลับกันมาแบบอวิชชาในปัญหาจนกลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่หาคำตอบให้กับตัวเองไม่ได้ โค่นเหลืองก็แล้ว โค่นแดงก็แล้ว โค่นทหารก็แล้ว ไม่เห็นจะตอบโจทย์ประชาชนและชาติบ้านเมืองตรงไหน คนจนก็ยิ่งจนมากกว่าเดิม คนรวยก็รวยมากขึ้นในท่ามกลางอาชญากรรมและความขัดแย้งอันไม่มีที่สิ้นสุดของเหลืองแดง
ทีนี้เป็นปัญหาว่าใครจะเป็นทำ จะให้ผู้ปกครองทำหรือจะให้ประชาชนทำ ถ้าผู้ปกครองทำ การเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยนั้นก็ลดความรุนแรงลงเหมือนกับพระเจ้าจักรพรรดิทำการปฏิวัติประชาธิปไตยในญี่ปุ่นเหมือนกับในหลวงรัชกาลที่ 5 เลิกทาสโดยไม่เสียเลือดเนื้อในประเทศไทย แต่ถ้ารอให้ประชาชนทำเมื่อไหร่ก็จะนำมาซึ่งความพินาศแบบเดียวกับที่ประเทศต่างๆประสบมาแล้ว
แล้วเราจะสร้างประชาธิปไตยกันได้อย่างไร?
คำตอบเบื้องต้นก็คือ “ยุติบทบาทของพรรคเหลืองและพรรคแดงลงก่อน เพราะทั้งคู่คือ “สารก่อปัญหาชาติ” ในเบื้องต้น หลังจากยุติบทบาทของทั้งคู่ลงแล้วก็ให้ตั้ง “รัฐบาลเฉพาะกาล” Provisional Government ขึ้น เพื่อทำการ “เปลี่ยนผ่านการปกครอง” เผด็จการให้เป็นประชาธิปไตย (อำนาจอธิปไตยของปวงชน) เสีย ปัญหาต่างๆก็จะบรรเทาลง
ก่อนอื่นต้องเข้าใจโครงสร้างหลักของยุคทุนนิยมเสียก่อนว่า ประกอบไปด้วยนายทุนและกรรมกรที่หลากหลายอาชีพ รัฐบาลเฉพาะกาลต้องเอาตัวแทนอาชีพ (เช่นสภาอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หอการค้าและสภากรรมกรสาขาอาชีพต่างๆ) เข้าไปอยู่ในองค์อำนาจอธิปไตย พร้อมๆกับผู้แทนเขต (จังหวัดต่างๆ)
การที่ต้องให้มีสภาอาชีพและสภาเขตไปพร้อมๆกันก็เพื่อให้คนเหล่านั้นมาสะท้อนปัญหาและผลประโยชน์ของพวกเขาอย่างรอบด้านนั่นเอง
รัฐบาลเฉพาะกาลมาจากไหน 1.มาจากประมุขแต่งตั้งก็ได้ หรือ2.จะมาจากพรรคปฏิวัติที่เข้ามาควบคุมอำนาจอธิปไตยไว้ในกำมือก็ได้
ถ้าประมุขทำก็สันติ ถ้าประชาชนทำก็รุนแรง ปัญหาว่าคนไทยจะเลือกเอาวิธีไหน?
มีแนวโน้มว่าการแก้ไขปัญหาในวันนี้ กำลังจะตกลงไปที่ Caretaker Government หรือรัฐบาลรักษาการ เพราะผู้มีอำนาจไม่ต้องการเปลี่ยนระบอบหรือต้องการการเปลี่ยนระบอบแต่ทำไม่เป็น โดยไม่ทำ Provisional Government ตามหลักวิชาของการแก้ทุกข์ด้วยการขจัดเหตุแห่งทุกข์ของพระพุทธเจ้า
บอกได้เลยว่า Caretaker Government แบบ พล.อ.สุรยุทธ จุฬานนท์หรือสัญญา ธรรมศักดิ์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ลุ่มลึกนี้ได้ เพราะท้ายสุดก็ต้องร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ เลือกตั้งกันใหม่ภายใต้ระบอบระบอบเดิมที่เป็นเงื่อนไขสงคราม
ดังนั้นถ้าใครอยากจะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนก็ให้เรียกร้องการเปลี่ยนระบอบเผด็จการให้เป็นระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่การโค่นรัฐบาลดังที่ทำมาเป็นวงจรอุบาทว์กันในทุกวันนี้
คนมือยาวเหล่านี้นี่แหละที่เมื่อเกิดการช่วงชิงโอกาส