http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,993,094
Page Views16,301,326
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

จาริกธรรม 4 ตำบล3.การเดินทางไกลมีอะไรให้สนุก

จาริกธรรม 4 ตำบล3.การเดินทางไกลมีอะไรให้สนุก

จากริกธรรม 4 ตำบล

3.การเดินทางไกลมีอะไรให้สนุก

โดย ธงชัย เปาอินทร์  เรื่อง-ภาพ

                 ในสมัยพุทธกาล ชมพูทวีปนั้นกว้างใหญ่ไพศาล ครอบคลุมภูมิภาคเอเชียwไม่น้อย   มีรูปลักษณ์คล้ายรวงผึ้ง  ประกอบด้วยชาติเชื้อเผ่าพันธุ์หลากหลายเช่น อินโด-อารยัน 72% ดราวิเดียน 25% มองโกลอยด์ 2% และอื่นๆอีก 1%  มีภาษาใช้ 16 ภาษาและภาษาท้องถิ่นอีกกว่า 100 ภาษา มีศานาในอินเดียวันนี้ ฮินดู 79% อิสลาม 15% คริสต์ 2.5% พุทธและอื่นๆ 3.5% ประชากรรวม 1,222 ล้านคน(พ.ศ.2555) เยอะมากรองจากจีนเลยทีเดียว


บ้านเมืองของเขา ทุ่งกว้างๆ นั่ง.....สบาย

หมู่บ้านที่ผ่านไปจึงได้เห็น

                   ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศที่แตกต่าง ปัจจัยเหล่านั้นส่งผลถึงถึงวัฒนธรรม  ประเพณี  วิถีชีวิต  และความเชื่อ ของแต่ละชนชาติ   แตกต่างกันอย่างไรหรือ กลุ่มชนเผ่าที่มีภาษาพูดและเขียนอย่างเดียวกันก็รวมกลุ่มกันเหนียวแน่นด้วยว่าสื่อสารถึงกันเข้าใจ กลุ่มที่มีลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศใกล้เคียงกันก็จะส่งผลถึงวัฒนธรรมเรื่องที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม อาหารการกิน ใกล้เคียงกัน  กลุ่มที่มีวัฒนธรรมและประเพณีเรื่องวิถีชีวิตและความเชื่อใกล้เคียงกันก็จะผูกพันกันและกัน


ความวุ่นวายในเมือง ทุกเมือง

สาวห่มสาหรี่สีสวยๆ ชายเมื่อชรานิยมนุ่งห่มสีขาว

                   ชมพูทวีปแบ่งอินเดียออกไปเป็น 8 ประเทศคือ อินเดีย ศรีลังกา เนปาล บังคลาเทศ ปากีสถาน ภูฐาน สิกขิม มีอ่าวเบงกอลในมหาสมุทรอินเดีย แม่น้ำสำคัญมากมายเช่นคงคา ยมุนา ฯลฯ เทือกเขาสำคัญหิมะปกคลุมตลอดปี เอฟเวอร์เรสท์ อยู่เหนือสุดของทวีป


วิถีชีวิตชาวชนบทงดงาม

บ้านเรือนและชีวิตความเป็นอยู่

                   อินเดียรวมตัวเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่เพียงใดก็ลองนึกภาพดูว่าตำบลลุมพินีซึ่งเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงประสูติก็เคยเป็นดินแดนชมพูทวีปเช่นกัน ปัจจุบันนี้อยู่ในอาณาเขตประเทศเนปาล ส่วนสถานที่ทรงตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน อยู่ในอาณาเขตประเทศอินเดีย การเดินทางมาจาริกแสวงธรรมทั้ง 4 ตำบลครั้งนี้เป็นโอกาสอันพิเศษชวนมาอย่างยิ่ง


กระเช้าไฟฟ้าสากล

เสลี่ยงคานหามด้วยแรงคน

                    วันแรกที่มาถึงสนามบินเมืองคยา(GAYA) ได้พาไปท่องเที่ยวเพื่อกราบไหว้สถานที่ที่ทรงประทับที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารเป็นเจ้าผู้ครองนครแห่งนี้ เป็นเมืองในหุบเขา 5 ลูกคือ เวปุลละ เวการะ ปัณฑวะ อิสิคิริ และคิชกูฏ  อันเป็นการเดินขึ้นเขาเพื่อไปนั่งสวดมนต์และทำสมาธิ ซึ่งเป็นกุฏิพระพุทธองค์ กุฏิพระอานนท์ ถ้ำสุกรขาตาที่พระสารีบุตรบรรลุพระอรหันต์ อีกทั้งยังได้ชมจุดที่พระเทวทัตต์กลิ้งก้อนหินใส่พระพุทธองค์


พระมหาบุญทิ้งพาเดินเวียนบนกุฏิพระพุทธเจ้า

ขอทานน่ารักมากๆ

                    เขาคิชกูฏสูงไม่มากนัก ทางการได้ทำถนนคอนกรีตอย่างดีให้เดินขึ้นไปจนถึงราวๆ 800 เมตร  ส่วนเขาอีกลูกมีกระเช้าขึ้นลงได้สะดวกกว่า แต่เส้นทางไปเขาคิชกูฏก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้แสวงบุญที่สูงอายุ ขาไม่แข็งแรง เป็นโรคหัวใจ เหนื่อยหอบได้ง่ายด้วย “เสลี่ยง”คานหาม สนนราคาก็ราวๆ 1,000 รูปี(450 บาท)  ริมถนนทางขึ้นมีขอทานรอรับการให้ทานตลอดเส้น แต่ละคนนั่งขอเป็นระเบียบเรียบร้อย เห็นแล้วชวนเวทนา

ชาวอินเดียมาท่องเที่ยวกันมากมาย

                    ขาลง ได้นั่งรถผ่านวัดอัมพวันของหมอชีวกโกมารภัจจ์ เหลือแต่ซากอาราม  ณ ที่แห่งนี้ พระพุทธองค์ทรงถูกเศษหินจนพระบาทห้อเลือด หมอชีวกจึงปฐมพยาบาลให้  ที่นี่พระเจ้าพิมพิสารยังได้ทรงยกพระราชอุทยานสวนไม้ไผ่ให้เป็นวัดแห่งแรกเพื่อเข้าพรรษา อีกทั้งยังเป็นที่ประชุมสงฆ์ 1,250 รูปในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่ภิกษุเหล่านั้น เรียกกันว่า “จาตุรงคสันนิบาต” และเป็นมูลเหตุให้เกิดวัน “มาฆะบูชา” นั่นเอง

                   จากนั้นจึงเดินทางไปยังสถานที่ที่ทรงตรัสรู้ ณ ตำบลพุทธคยา รัฐพิหาร ไปถึงก็ค่ำรำไรเต็มที อ่านย้อนหลังจาก จาริกธรรม 4 ตำบลตอน 1.พุทธคยา สถานที่ทรงตรัสรู้ยามค่ำ และจาริกธรรม 4 ตำบลตอน2.พุทธคยาและการเสวยวิมุตติสุข 7 แห่ง 49 วัน


พุทธคยาคราเมื่อแสงสีน้ำเงินทาทาบ

                     หยุด หยุดก่อน  ระหว่างทางจากสนามบินถึงเขาคิชกูฏนั้นมีที่พักสงฆ์ให้แวะพักเข้าห้องสุขากันอย่างดียิ่ง พระอาจารย์บุญทิ้งเล่าว่า เป็นสถานที่ที่อยู่กึ่งกลางทาง กำลังสลักหินทรายให้เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่มาก วันหน้า ผู้แสวงบุณจาริกธรรมจักได้กราบไหว้กัน  ว่าแล้วก็หยิบเงินบาทขึ้นมาจบแล้วหย่อนตู้ที่ตั้งไว้ให้ได้ร่วมกันสร้างตามธรรมเนียม สาธุ สาธุ

ที่พักสงฆ์แห่งนี้กำลังสลักพระพุทธรูปองค์ใหญ่

                    กลับมาเดินทางด้วยรถยนต์ติดแอร์ เย็นฉ่ำ คนขับเนี๊ยบ แอดรถที่ตะโกนโหวกเหวกตลอดเส้นทาง ฟังไม่รู้เรื่องแต่เหมือนว่าตะโกนต่อว่ารถที่เกะกะหรือผู้คนที่เดินอยู่ตามสองข้างทาง ไกด์ทอม(สุวิทย์ คำอาจ)เล่าว่า รถแต่ละคันเมืองนี้จะขับกันไปด่าทอกันไป บีบแตรไล่เพื่อขอทางไม่หยุดหย่อน เป็นวัฒนธรรมหนึ่งของการสัญจรอินเดีย ด่าได้ เถียงกันได้ บีบแตรใส่กันได้ เป็นเมืองไทยได้ตายคาปืนไปแล้ว ฮา

บีบฉันซิ....บีบฉันซิ

                     “สังเกตซิครับ ท้ายรถจะเขียนคำว่า “Blow Horn” คือให้บีบแตรขอทางได้ เป็นสัญลักษณ์ว่ามีรถตามหลังมาเร็ว อยากขอทาง หลบไปหน่อย ที่นี่เขาแฟร์ครับ ไม่มีการโกรธกัน ถนนส่วนใหญ่มีเพียงสองช่องจราจร คับแคบ รถสามล้อ รถตุ๊กๆ รถบรรทุก แม้แต่ร้านขายของข้างทางระเกะระกะไปทุกแห่ง เขาบีบแตรขอทางกันไป เสียงแปร้แปร้นจึงได้ยินทั่วไป เชื่อไหมครับ วุ่นวายขนาดนี้ ไม่เคยเห็นรถชนกันเลย”  

                     ในการจาริกธรรม 4 ตำบลครั้งนี้ เริ่มต้นที่ ตำบลพุทธคยาแล้วนั่งรถยนต์คันเดิมไปยังตำบลสารนาถ(Sarnath) เมืองพารานาสี รัฐอุตรประเทศ หรือแคว้นมคธ ชมพูทวีป ระยะทาง 260 กม.ใช้เวลาเดินทางราวๆ 6 ชม.

นั่งดื่มชาร้อนสบายใจ

                     จากนี้เดินทางต่อไปยัง “เมืองสาวัตถี” เมืองที่พระพุทธองค์จำพรรษานานที่สุด 25 พรรษา ระยะทาง 300 กม. ใช้เวลาเดินทาง 9 ชม. รุ่งขึ้นเดินทางต่อไปยังตำบลลุมพินี ประเทศเนปาล  ระหว่างทางมีวัดไทย 390 ให้แวะพักเข้าห้องสุขา กินของว่าง


                     จากตำบลลุมพินีเดินทางต่อไปยังเมืองกุสินารา ระยะทาง 200 กม.ใช้เวลาเดินทาง 5 ชม. ตำบลกุสินารา นมัสการสถูปปรินิพพาน พักแรม 1 คืน แล้วเดินทางกลับไปเมือง ไพสารี 4 ชม. แล้วเดินทางต่อไปยังตำบลพุทธคยาใช้เวลาเดินทางอีก 5 ชม. รวมเวลาการเดินทางแต่ละตำบล 29 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย


เทินหัวทุกอนงค์นาง

สามล้อเป็นพาหนะสำคัญ

                   ด้วยเหตุนี้ ผมจึงได้ใช้เวลามหาศาลเหล่านั้นถ่ายภาพจากสองข้างทางไปเรื่อยๆ เพื่อนำเรื่องราว วิถีชีวิต วัฒนธรรม มาเล่าสู่กันอ่าน เช่นท่านผ่านทุ่งนาอาจได้เห็นคนนั่งห้อยก้นอยู่บนคันนา เขากำลังอึครับ เป็นปุ๋ยธรรมชาติจากคนสู่ท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ และก็อาจจะได้เห็นผู้ชายยืนหันหน้าเข้ากำแพง แล้วแยกขาออก 25 องศา ทันใดก็มีน้ำใสๆไหลจ๊อกๆๆๆ เขากำลังเหยี่ยวซิครับ

ยืนหันหน้าเข้ากำแพงแล้วแยกขาออก 25 องศา งัดออกมาเลย ฮา

                   ไม่พ้นแม้พวกเราจากกรุงเทพเมืองฟ้าอมร  เมื่อได้เวลาเหมาะสม ไกด์ทอมยกนิ้วก้อยชูขึ้น แล้วยื่นนิ้วนั้นให้โชว์เฟอร์เห็น ก็เป็นอันรู้กันว่า เขาต้องหาสถานที่ที่เหมาะเหม็งสำหรับท่านสุภาพสตรี มีป่ารกชัฏให้หลบสายตาเพื่อไปนั่งบริกรรมคาถาหาจิ้งหรีดในทุ่งได้ ส่วนท่านชายนั้นที่ไหนก็ได้ ใช้วัฒนธรรมเดียวกับหนุ่มอินเดีย หาที่ได้ก็ยืนแยกขา 25 องศาแล้วก็ควักออกมา ฉี่ ได้เลย


ชูนิ้วก้อย สัญลักษณ์พิเศษ

                     แต่ขอเตือนนะครับว่า ก่อนจะควักออกมานั้น กรุณา เหลียวหน้าแลหลังให้ดีก่อนว่า มีนกอยู่แถวนั้นไหม เผลองัดออกมาแล้วมันบินมาเห็น จะนึกว่าเป็นหนอนน่ากินละก็ ยุ่งตายห่า เมื่อมันบินถลาเข้ามาจิกไอ้จ้อนของคุณเข้า สาเหตุ ก็ของเราไม่เท่าของเขาชาวภารตะนะจะบอกให้ 5555

ผู้หญิงควรเตรียมผ้าถุงไปด้วย จะได้นั่งซุ้มโป่งได้ถนัดใจ

                    บ้านเรือนอยู่อาศัย ผมได้เห็นตั้งแต่บ้านหลังคามุงหญ้าคา จนถึงมุงกระเบื้องขอแปลกตา ฝาบ้านก็สานด้วยหญ้าแขมเรียงตั้งขึ้น จนถึงใช้ดินทาทาบซะสวยงาม  แต่ที่เห็นมากก็เป็นบ้านใช้อิฐก่อ ก่อแล้วก็ไม่ได้ทาสีมากกว่า บางทีเห็นทำฐานไว้แล้วก็ปล่อยร้างไปจนตะไคร้น้ำขึ้นเขียวครึ ได้ความว่า ครอบครัวนั้นเตรียมขยายบ้านให้ลูกๆ แต่ทำไม่เสร็จ ก็รอจนกว่าลูกๆจะมีกำลังมาต่อเติมขึ้นจนเป็นบ้านในอนาคต มรดกอีกแบบหนึ่งครับ


บ้านเรือนตามชนบท

                    ชนบทนั้นได้เห็นบ้านเป็นหลัง ส่วนใหญ่สร้างติดดิน หลังเล็กๆ หน้าบ้านมีกระถางอาหารของวัวหรือควายที่ใช้เชือกผูกคอสั้นๆ เพื่อให้เขาได้กินอาหารที่ผสมไว้ให้อย่างดี แต่”ขี้”แต่ละกองนั้นคือผลิตภัณฑ์ล้ำค่า วัวและควายจึงต้องกินขี้อยู่ที่เดียว ขืนปล่อยให้เดินหากินอย่างบ้านเรา ก็ตามไปเก็บขี้ไม่ไหวละซิ

คุกกี้ขี้วัว-ควายใช้เป็นสินค้าเชื้อเพลิงหุงต้ม

                   บางทีก็ทันได้เห็นผู้หญิงอินเดีย กำลังขยำขี้กับฟางข้าวหรือหญ้าหรือเศษวัชพืช คลุกเคล้าจนได้ที่ก็นำไปแปะไว้ตามผนังบ้าน ขอบทาง คอนกรีตริมถนน หรือปั้นเป็นก้อนตากด้วยการเรียงไว้สวยงาม ก้อนเล็กสุดเท่าฝ่ามือ ก้อนใหญ่ๆก็ขนาดท่อนไม้ฟืน เขาตากแดดไว้ตามธรรมชาติ เมื่อแห้งดีแล้วก็เก็บรวมกอง รอขาย เขาเรียกกันว่า คุกกี้


ก้อนใหญ่ราคาก็แพงขึ้น

                  สนนราคาก็ตามขนาดของก้อนคุกกี้ เล็กสุดก็ราวๆ 2 รูปี ขยับราคาขึ้นตามขนาดก้อนคุกกี้ วัตถุประสงค์ในการซื้อขายก็เพื่อใช้เป็นก้อนเชื้อเพลิงหุงต้ม และให้ความร้อนแทนฟืนซึ่งไม่มีป่าไม้เหลือให้ใช้แล้ว ระหว่างทางจึงเห็นว่ามีคนตัดต้นแขมเพื่อเอาไปซอยผสมกับขี้แล้วปั้นเป็นคุกกี้นี่เอง แม้กระทั่งตอวังข้าวก็ไม่เว้นครับ


                    พูดถึงชาวนา ที่นี่ปลูกข้าวอาศัยความชุ่มชื้นจากฟ้าและดิน  ไม่มีลำรางน้ำเข้านา ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี ข้าวที่ปลูกต้นเตี้ยๆราว 60-70 ซม. ชาวนาเกี่ยวข้าวด้วยการนั่งเกี่ยว เขาเกี่ยวทีละกอ เกี่ยวจนติดดิน เพราะว่าฟางข้าวคืออาหารของวัวและควาย ในท้องนาจึงไม่เหลือซังข้าวยาวๆ เขาจึงไม่ต้องเผาทุ่งอย่างบ้านเรา ที่นี่ใช้วิถีทำนาอย่างโบราณ

ลงข่ายดักปลา วิดน้ำจนแห้งก็ได้

                   บางพื้นที่ผมเห็นหนองน้ำ ก็ได้ภาพชาวอินเดียกำลังเหวี่ยงแหหาปลามากินเป็นอาหาร มีการดักด้วยลอบและตาข่ายเหมือนการหาปลาในบ้านเรา บางกลุ่มเป็นเด็กๆก็วิดน้ำจับปลา เหมือนผมเมื่อตอนเด็กๆที่ทุ่งแขวงเมืองวิเศษชัยชาญเสียจริงๆ ตัวเปื้อนโคลนดินไปทั่ว แต่นั่นคือความสนุกและเป็นชีวิตที่แท้จริงของเด็กบ้านทุ่งริมนา

                  ที่นี่ยังมีเหยี่ยวและแร้งให้เห็น ด้วยว่าเมื่อสัตว์ต่างๆตายลง เขาจะปล่อยให้แร้งกาและเหยี่ยวมาจิกกินกันเป็นที่สนุกสนาน นี่ก็เป็นภาพในอดีตเมื่อผมยังเด็กๆ หมาหมูตายก็ลากไปทิ้งในทุ่งไกลๆ เพื่อปล่อยให้อีแร้ง อีกา บินลงมาจิกกินซากเหล่านั้น บางทีซากหมาตายลอยน้ำมาตามคลอง อีกาก็บินไปเกาะแล้วจิกกิน พวกเราเหล่าทโมนจะกระโจนขึ้นฝั่งหนีหมาเน่าอิอิ

                  สองข้างทางมีชีวิตที่แตกต่าง บ้างก็เดินไปเดินมา ถ้าเป็นสาวๆหรือหญิงก็สวยพลิ้วไปกับสาหรีสีสวยๆของเธอ ถ้าเป็นชายก็มอมแมมตามประสาคนอินเดียหน้าดำๆ ถ้าเป็นคนเม่าแก่ก็มักนิยมห่มคลุมด้วยผ้าสีขาวถือไม้เท้าเดินย่องๆ เด็กๆไม่ค่อยเห็น ส่วนใหญ่ไปโรงเรียน อินเดียเป็นเมืองที่มีการศึกษาดีถึง  52.1% 


โขว์ห่วย

ผักเป็นอาหารสำคัญ ส่วนใหญ่ไม่กินเนื้อสัตว์ใหญ่

                    ถ้าเป็นร้านค้าแบบว่าสโตร์หรือช็อปของเขาก็นั่งกันในกระต๊อบเล็กๆที่เต็มไปด้วยสินค้า บางคนขายหมาก บางคนขายโชว์ห่วย บางคนตัดผม บางคนก็ตัดเสื้อผ้า  ขายน้ำชาร้อน(คารัมจาย)ซึ่งมีอยู่ทั่วไป มีทุกชุมชนแม้กระทั่งหน้าแถวขอทานหน้าวัดพุทธคยา ที่เด็ดมากก็ร้านซักรีด ตั้งโต๊ะรีดผ้ากันริมบาทวิถีนั่นเลย

ขายหมาก มีทั่วไป 

                    นอกจากนี้ยังได้เห็นธุรกิจขัดรองเท้า  แม้กระทั่งรับโกนหนวด ขายถั่วลิสงคั่วทราย  ขายผักสด ผลไม้ขึ้นหน้าขึ้นตา อุปกรณ์เครื่องใช้ มากมายก็มีวางขายได้ทั่วไป เช่น ขายกระเป๋าเดินทางริมถนน ใกล้ๆกันก็ยืนฉี่ริมกำแพง วัวพระเจ้าเดินหากินกับกองขยะ อ้อ ถ้าวัวควายตัวไหนมีเชือกผูกคอไว้แสดงว่าเป็นวัวมีเจ้าของ ไม่ใช่วัวของพระเจ้านะครับ


โกนหนวด-ขัดรองเท้าริมทาง

                   การคมนาคม พาหนะที่ใช้ มีทั้งรถยนต์ขนาดใหญ่เพื่อขนสินค้าระหว่างเมือง รถม้าเพื่อการเดินทางในเมือง วัวเทียมล้อลาก สามล้อถีบ และสามล้อเครื่อง มีมากมายกระจายไปทุกซอกมุม กฎการจราจรง่ายๆ จะขับกันอย่างไรก็ได้ไม่ว่ากัน จะวิ่งเลนไหนก็ได้อีก แต่ห้ามชนกัน เมื่อเกิดกรณีก็จะส่งเสียงเถียงกันดังขรม เหมือนว่าจะต้องฆ่ากันตาย เปล่าเลย ไม่มีการลงไม้ลงมือ "ดีแต่เถียง" กันไปงั้นแหละ แล้วก็แยกจากกันไป

                   ไม่มีแม้คำขอโทษ เฮ้อ เหมือนนายกรัฐมนตรีเมืองไหน ว่ะ! นี่ที่ดีแต่พูด 

                   ไม่ลงจากรถยนต์ ไม่มีขอทานมาชวนทำทาน แฮ่ ลงเมื่อไร เจอทันที ฮา

กัลบกอินเดีย

การัมจาย หรือชาร้อนๆจ้า 

รับจ้างตัดเสื้อผ้า

รับจ้างซักรีดริมทาง

ชีวิตที่เรียบง่าย บ้านกินและต้นแขม

แปลงปลูกพืชอาหารหลักชาวอินเดีย

คาร์แคร์ริมทาง

วัวเทพเจ้า

 

Tags : จาริกธรรม 4 ตำบล1.-2

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view