http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,956,990
Page Views16,263,297
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

นครพนมฟื้นฟูประเพณีทอดผ้าป่าทางน้ำ นมัสการพระธาตุสองฝั่งโขง

นครพนมฟื้นฟูประเพณีทอดผ้าป่าทางน้ำ นมัสการพระธาตุสองฝั่งโขง

นครพนมฟื้นฟูประเพณีทอดผ้าป่าทางน้ำ

นมัสการพระธาตุสองฝั่งโขง

โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ


EX-po สี่ชาติ มิติใหม่เมืองนครพนม

             ค่ำที่เดินทางมาถึงนครพนม ได้เวียนเข้าไปชมสินค้า 4 ชาติ ที่หน้าศาลากลางจังหวัดนครพนม ได้ความรู้จากพ่อค้าแม่ค้าว่า     งาน EX-Po  สี่ชาติ  นี้เกิดขึ้นจากแนวความคิดของ นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม คนใหม่ เมื่อมาถึงได้เสนอขอความร่วมมือจากทุกชาติ(ไทย-ลาว-เวียดนามและจีน) โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าโอท็อปนครพนม ซึ่งซบเซาไปจากวงการนิทรรศการการตลาด

นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผวจ.นครพนม 

              ผมเดินท่อมๆไปเรื่อยๆ รูปแบบ ตลาด EX-PO สี่ชาติ เพิ่งเริ่มต้น จึงยังมีปริมาณสินค้าไม่มากนัก สินค้านำมาขายยังเริ่มต้นที่เครื่องนุ่งห่มชาติต่างๆ  แบบดั้งเดิมก็มี แบบพัฒนาขึ้นแล้วก็มี  เครื่องประดับยังมีไม่มากนัก แต่ก็พอมีให้เดินชมกันได้  อาหารนี่มากหน้าหลายตาตามแบบตลาดนัดกันเลยทีเดียว เครื่องจักรกลหนักทางการเกษตร  รถยนต์เพื่อการเกษตรและการท่องเที่ยว สมุนไพรที่พัฒนาจากงานโอท็อป เครื่องดื่มประเภท อุ   ไวน์   ทั้งจากโอท็อปและต่างประเทศพอมีให้ชิม

 

ผ้าซิ่นทอมือจากสปป.ลาว

               ด้านหลังสุดเป็นเวทีการแสดงออกบนเวที ได้แก่การจัดการประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง ได้รับความนิยมไม่น้อย มีทั้งนักร้องชายและหญิงที่สมัครเข้ามาแข่งขัน ส่วนเงินรางวัลจะมากน้อยเพียงใดไม่ทราบจริงๆ จุดนี้กลายเป็นที่พักเหนื่อยสำหรับนักช็อป  เมื่อมากๆก็มานั่งฟังเยาวชนร้องเพลงแข่งกัน พอให้หายเหนื่อยจึงเดินต่อไป


สินค้าโอท็อป

              เมื่อผ่านครั้งแรกแล้ว ในครั้งต่อๆไปก็จะต้องมีการพัฒนารูปแบบ สินค้า  การจัดบูธ ช่วงเวลาที่จัดงาน การกระตุ้นให้เกิดการนำเสนอสินค้า และเพิ่มชนิดสินค้าให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ต้องทำให้ได้ มาซื้อที่นี่ถูกกว่า ดีกว่า พ่อค้าแม่ขายใจดี ลดแหลกแจกแถม พร้อมด้วยรอยยิ้มแห่งไมตรี ถ้ามาซื้อถึงที่นี่แล้วแพงกว่าซื้อที่กรุงเทพผมก็ไม่ซื้อละครับ แฮ่......

 

ผ้าถักทอชนเผ่าพัฒนา

ค่ำคืนแสนสุขที่โรงแรมเดอะริเวอร์ เตรียมพร้อมไปตักบาตรข้าวเหนียว

              ลงจากเครื่องบิน โยนกระเป๋าเสื้อผ้าในห้องพักโรงแรมเดอะริเวอร์ นครพนม โรงแรมหรูริมฝั่งแม่น้ำโขง แล้วรีบลงไปสมทบกับเพื่อนๆสื่อที่มุ่งเน้นตามโปรแกรมการเดินทางในครั้งนี้ แน่นอนงานนี้คือ EX-PO สี่ชาติ หน้าที่ว่าราชการจังหวัดนครพนม เดินชม-ชิม และเลือกถ่ายรูปสินค้านานาชนิดจนอิ่มใจได้ภาพมาใช้งานได้

 

โรงแรม เดอะริเวอร์ นครพนม

              ตามกำหนดการต้องกลับมาพักแรมที่โรงแรมเดอะริเวอร์ นครพนม ได้คีย์การ์ดผลัดประตูเข้าไป อลังการ เตียงนอนขนาด 6 ฟุต ผ้าปูตึงเปรี๊ยะ ผ้าเช็ดตัววางขดเป็นรูปให้ดูเก๋บนเตียง  หมอนนุ่มไม่ใหญ่เกินจนคนคอสั้นๆมีปัญหา โต๊ะตั้งทีวีจอแบนแบบLCD32นิ้ว ชุดน้ำชา-กาแฟ พร้อมกาน้ำร้อน ตู้เย็นขนาดเล็ก ไดเป่าผม แอร์เย็นฉ่ำเริ่มทำงาน ตู้นิรภัยใต้ตู้เสื้อผ้าขนาดเล็ก  มีให้ครบถ้วนจริงๆ    

 

อาหารเช้ากับแดดอุ่นๆ

              ห้องน้ำและสุขา น่ารัก สะอาด น้ำร้อนน้ำอุ่นอัตโนมัติ ฝักบัวมีให้เลือกทั้งฝักเล็กฝักใหญ่ ซิ้งค์ล้างหน้าแปรงฟันเอี่ยมลออ โดยรวมห้องพักคลาสสิค  มีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งชมบรรยากาศผ่านกระจกห้องลงไปยังแม่น้ำโขง  ระเบียงเล็กๆ เปิดเข้าออกได้ ผมหลับไปตอนไหนไม่รู้ แต่ลืมปิดทีวี ไม่มีเสียงกรนของเพื่อนร่วมห้องเพราะว่านอนเดี่ยวคนเดียวจริงๆ

 

วัดมหาธาตุ นครพนม จุดที่ตักบาตรข้าวเหนียว

               เสียงโทรศัพท์ดังกร่างๆ  ตื่นขึ้นเมื่อเวลา 05.30 น.เพื่อลงไปสมทบกับเพื่อนๆสื่อมวลชนคนทำข่าว นั่งรถตู้เลียบแม่น้ำโขงไปยังลานชายโขงหน้าวัดมหาธาตุ  แหงนมองท้องฟ้าเห็นแสงสีน้ำเงิน ผมตั้งขากล้องแล้วลงมือถ่ายวัดมหาธาตุในแสงรับอรุโณทัย หันไปอีกทีผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งชายและหญิงเดินอุ้มกระติบข้าวเหนียวมานั่งรอ 

 

ผู้เฒ่ารอตักบาตรข้าวเหนียว

               เมืองนครพนมเลาะเลียบไปตามแม่น้ำโขง เทศบาลสร้างเป็นทางเดินเพื่อการออกกำลังกายและพักผ่อนยามเช้าและยามเย็น อากาศเย็นสบายแม้ปลายหนาว  หาดทรายทองทอดยาวตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์-มีนาคม-เมษายน-พฤษภาคม ชาวบ้านปลูกผักไว้กินและเหลือไว้ขายริมฝั่งแม่น้ำโขง วิวทิวทัศน์ฝั่งตรงข้ามเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ช่างสวยงาม

 

พระมาแล้ว ภาพที่ถ่ายจากธรรมชาติที่เป็นจริง

                ริมถนนชายโขงเมืองนครพนมเป็นที่ตั้งวัดหลายวัด ไม่ไกลกันนัก พระเณรจากทุกวัดได้รับนิมนต์ให้มาบิณฑบาตบนถนนสายนี้ มีพุทธศาสนิกชนมารวมกันที่นี่ เสียงตะโกนว่า “พระมาแล้ว” ดังขึ้น ทุกคนรีบไปยืนเรียงแถวเพื่อให้พระท่านเดินรับบาตร ผมทำหน้าที่ถ่ายรูปเพื่อใช้งานเขียนสารคดี แต่ท้ายสุดก็ยังได้ตักบาตรกับเขาด้วย มีรูปมาอวด

 

รับศีลรับพร 

               ความงดงามของผู้ใจบุญล้นเหลือ ตักบาตรแล้วก็เสวนากันไป ยืนชมธรรมชาติรอบๆตัวกันไป โดยเฉพาะเมื่อแสงสุรีย์เริ่มเปล่งประกายสีทองขึ้นที่สุดขอบฟ้า เป็นความงดงามที่ธรรมชาติบันดาลให้  ครั้นตะวันขึ้นสูง หมอกจางๆละลายพรายพลิ้วไปทั่ว ทิวเขาฟากฝั่งพี่น้องลาว ณ แขวงคำม่วน  สวยใสๆ ตราตรึงหัวใจและสายตา

 

แสงสีทองสาดส่องท้องน้ำ

               กลับมารับประทานอาหารเช้าที่คาเฟททีเรีย ผมเริ่มต้นด้วยสลัดผักสด  กาแฟร้อน น้ำส้ม  เติมต่อด้วยไข่กระทะน่ารักๆ แล้วแถมก๋วยจั๊บญวนอีกถ้วยหนึ่ง แต่เมื่อต้องเดินทางไปทำงานตามหน้าที่ จึงไม่อาจปรามาสได้ ข้าวสวยร้อนๆกับไก่ผัดขิง อร่อย  ตบท้ายด้วยผลไม้ตามฤดูกาลอีกจานเล็ก อิ่ม พร้อม ออกเดินทางไปทำงาน

 

หน้าโรงแรมมีหาดทรายสีทองให้ชม

แม่น้ำโขง ชมวิถีชีวิต  แสนงาม

                ภาพที่ผมอยากให้พี่น้องได้ชมต่อไปนี้ เป็นภาพที่ผมถ่ายมาจากแม่น้ำโขงในช่วงเวลาต่างๆกัน เช้าตรู่ที่โรงแรมเดอะริเวอร์ นครพนม สายๆ ขณะที่เรือแม่โขง พาราไดซ์ ครูยส์ กำลังล่องจากหน้าเมืองนครพนมไปยังวัดพระธาตุศรีโคตรบอง เป็นวิถีชีวิตธรรมดาของพี่น้องสองฝั่งไทย-ลาวที่หากินร่วมแม่น้ำเดียวกัน

 

ในแม่น้ำโขง นครพนม

                เครื่องมือหาปลาของพี่น้องไทยลาวไม่แตกต่างกัน ด้วยว่าชาติพันธุ์เดียวกัน สืบสานวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตที่ใกล้เคียงกัน เช่นเรือขุดยาวราวๆ 12 ศอก  กว้าง 70 ซม. มีพายไม้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อน หัวเรือ ท้องเรือ ท้ายเรือ รูปลักษณ์เดียวกัน

 

ศาลพิธีกรรมเวินปลาและเครื่องมือหาปลา

                เครื่องมือหาปลามีตั้งแต่ แห ตาข่าย ลอบยืน ลอบนอน เบ็ดราว  ฉมวก  เบ็ดตกปลาเดี่ยว เหล่านี้เป็นเครื่องมือที่พี่น้องไทยลาวใช้กันมาแต่โบราณกาล  แม้กระทั่งการเวินปลาบึก ปลายักษ์แห่งแม่น้ำโขง ก็ยังคงพิธีกรรมการเซ่นไหว้เฉกเช่นเดียวกัน

 

                 ตั้งแต่เช้า เมื่อแสงสีทองสาดส่องท้องน้ำ แสงเงาและริ้วคลื่นจะเปลี่ยนภาพให้แตกต่าง เป็นอีกมิติที่ชวนให้นักถ่ายภาพมองหา บางรายอาจชอบอีกมิติ แต่ผมชอบมิติเรียบง่าย แม้ไม่งดงามสักเพียงใด

 

ก่อนที่พระอาทิตย์จะโผล่พ้นเหลี่ยมเขา

ล่องมหานที สืบสานประเพณีทอดผ้าป่าสองฝั่งโขง

                 หลังอาหารเช้า เดินทางไปยังท่าเรือป่าไม้หน้าเมืองเลียบฝั่งแม่น้ำโขง เดินผ่านร้านอาหารเช้าริมโขง บรรยากาศน่านั่งทอดอารมณ์ สั่งไข่กระทะมาและเล็มกับกาแฟร้อนๆ ไม่เลว โผล่พ้นชายเขื่อน เห็นเรือแม่โขง พาราไดซ์  ครูยส์  ซึ่งมี คุณ ธารินทร์  พันธุมัย   กรรมการผู้จัดการ บริษัท แม่โขง พาราไดซ์ ครูยส์  จำกัด  (โทร.081-3804673//042-512551//E-mail:lakhon_2012@hotmail.com)  

 

ก่อนลงเรือไหว้เศียรพญานาคและนั่งดริ้งสักนิด

                 เรือแม่โขง พาราไดซ์ ครูยส์  เป็นเรือภัตตาคารกึ่งสำราญ เพื่อการท่องเที่ยวแม่น้ำโขงช่วงจังหวัดนครพนม เป็นเรือล่องแม่น้ำโขงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด พรั่งพร้อมไปด้วยความสุขบนสายน้ำที่สุด ขนาดเรือยาว 42 เมตร กว้าง 7  เมตร ประกอบด้วย 3 ชั้น ชั้นหนึ่งเป็นห้องจัดเลี้ยงและคาราโอเกะ ชั้นสองเป็นห้องสัมมนาและพักผ่อนสบายๆ ชั้นสามเป็นดาดฟ้าใช้เพื่ออาบแดดอุ่นๆและสัมผัสบรรยากาศงดงามสองฟากฝั่งไทย-ลาว

 

นี่ไง เรือภัตตาคาร แม่โขง พาราไดซ์ ครูยส์ 

                 ได้เวลากำลังดี นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม และแขกผู้มีเกียรติร่วมการเดินทางเพื่อโครงการล่องเรือ สายใยสายสัมพันธ์ นมัสการพระธาตุสองฝั่งโขง ฟื้นฟูประเพณีทอดผ้าป่าทางน้ำ เส้นทางเมืองนครพนม-ท่าแขก-วัดพระธาตุศรีโคตรบอง –วัดพระธาตุพนม วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557 กว่า 200 ชีวิต

 

ภายในเรือชั้นสอง ร่ม ลมเย็น สบายๆ

                 นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ได้กล่าวว่า  ลุ่มแม่น้ำโขงเป็นอู่อารยะธรรมสำคัญของชนชาติไตมาแต่โบราณกาล โดยมีร่องรอยอารยะธรรมสำคัญสองฟากฝั่งคือ องค์พระธาตุพนม ณ ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง และองค์พระธาตุศรีโคตรบอง  ณ ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ว่ากันตามตำนานพระอุรังคธาตุกล่าวว่า องค์พระธาตุพนมลงหลักปักธรรม ณ ดินแดนนี้มาตั้งแต่ปีพ.ศ.8 นานกว่า 2,549 ปี แล้ว

 

บนดาดฟ้าชั้นสาม อาบแดดอุ่นๆ

                 พี่น้องร่วมสายเลือดกระจัดกระจายอยู่ทั้งสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งเป็นจังหวัดนครพนมในปัจจุบันนี้ อีกฝั่งหนึ่งเป็นแขวงคำม่วน สปป.ลาวในปัจจุบันนี้ พี่น้องสองฝั่งไปมาหาสู่กันผ่านสายน้ำแม่โขงมหานที   และมีประเพณีทอดผ้าป่าสามัคคีสองสายสัมพันธ์มาตลอดระยะเวลายาวนาน ซึ่งเคยถือปฏิบัติเป็นพุทธประเพณีดีงาม บัดนี้ ประเพณีทอดผ้าป่าสานสัมพันธ์สองฝั่งโขงได้ห่างหายไปกว่า 50 ปี จึงใคร่ชวนเชิญให้พี่น้องไตเราได้สานสายสัมพันธ์อีกครั้ง          

                          

สองฝั่งแม่น้ำโขงสวยงาม         

                  ประกอบกับในโอกาสอันดีงามที่นครพนมมีเรือล่องท่องแม่น้ำโขงขนาดใหญ่ที่สุด จึงเชิญชวนให้ร่วมใจกันทอดผ้าป่าสามัคคีทางน้ำ เชื่อมสัมพันธ์พี่น้องร่วมสายเลือดเดียวกัน สถิตในพระธาตุสำคัญสองฝั่ง พระธาตุศรีโคตรบอง และพระธาตุพนม นับเป็นมหามงคลที่คนนครพนมจะได้ร่วมสานสัมพันธ์พี่น้องเชื้อสายไตเดียวกัน

 

คุณธารินทร์ พันธุมัย ผจก.เรือแม่โขงพาราไดซ์ ครูยส์

ทางขึ้นท่าวัดพระธาตุศรีโคตรบอง

                   แสงแดดเช้าชายโขง ร่มรื่น อากาศที่เย็นสบาย สายลมเอื่อยๆ ผมตัดสินใจไปนั่งตากแดดและลมบนดาดฟ้า ด้วยว่าอยากมองไปได้ 360 องศา ได้เห็นเทือกเขาหินปูนของแขวงคำม่วน โค้งโดดเด่น สวยงามสลับไปกับบ้านเรือนของพี่น้องลาว  เมืองที่กำลังจะเติบโต อาคารโรงแรมสูงๆกำลังก่อสร้าง ถือเป็นเมืองคู่แฝด

 

ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม,รองผู้ว่าและรองเจ้าแขวงคำม่วน

พี่น้องสุภาพสตรีจาก สปป.ลาว 

                  บางช่วงเป็นหาดทรายทอดยาวยื่นลงในแม่น้ำโขง เรือแล่นเข้าเขตสปป.ลาวเพื่อไปยังท่าเรือของเมืองท่าแขก รับรองเจ้าแขวงคำม่วน นายสมใจ  เพ็ดสีนวน  พร้อมด้วยญาติโยมจากพี่น้องแขวงคำม่วน พระสงค์ลงเรือร่วมด้วยกลุ่มหนึ่ง  เมื่อเรือล่องไปตามแม่น้ำโขง ผมจึงได้ภาพนกกระสานวลบินหากินชายหาดทราย ได้เห็นชาวประมงลงข่ายหาปลา

 

พระสงค์สปป.ลาววัดพระธาตุศรีโคตรบอง 

สืบสานสัมพันธ์สายใยสองฝั่งโขง

                  ได้เวลาเหมาะสม เรือเทียบท่าหน้าวัดพระธาตุศรีโคตรบอง คณะสงค์เดินนำหน้า ตามด้วยคณะผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมและรองเจ้าแขวงคำม่วน พี่น้อง สปป.ลาวและไทยเดินขึ้นไปร่วมการทอดผ้าป่าสามัคคีสืบสานประเพณีสองฝั่งโขง ได้กราบไหว้องค์พระธาตุศรีโคตรบอง ได้กราบไหว้พระประธานในอุโบสถ ได้ถ่ายภาพร่วมกัน ได้เห็นว่า วัฒนธรรมสังคมพุทธสองฝั่งนั้นละม้ายเหมือนกันยิ่งนัก  แท้จริง เราเป็นพี่น้องกัน

 

พระธาตุศรีโคตรบอง พุทธสถานสำคัญพี่น้องสปป.ลาว

                  กลับลงมายังเรือแม่โขง พาราไดซ์ ครูยส์ อีกครั้ง รับประทานอาหารหวานคาวพอดี มีอะไรให้กินบ้างหนอ จะอร่อยไหมหนอ

 

นักศึกษาลาว เข้าวัดด้วยความงดงาม สมสตรี

อิ่มอร่อยกับอาหารมื้อกลางวันบนสายน้ำโขงมหานที

                   อาหารมื้อกลางวันที่เรือแม่โขง พาราไดซ์ ครูยส์ เตรียมไว้รองรับแขกผู้มีเกียรติมากมายหลายอย่าง ห้องเตรียมอาหารจัดไว้ที่ชั้นหนึ่ง ซึ่งส่วนหน้าเป็นเวทีตั้งวงดนตรีมีไมค์ร้องคาราโอเกะ ส่วนท้ายของเรือเป็นที่จัดตั้งอาหารแบบบุฟเฟท์  อาหารคาวประกอบด้วย

 

                    ปลาเนื้ออ่อนทอดกระเทียม ปลาขนาดกำลังกิน ไม่ใหญ่เกินไป และก็ไม่เล็กเกินไป ทอดได้กรอบนอกนุ่มใน กินได้ไม่เหลือแม้แต่ก้างและหัวปลา

                    น้ำพริกปลาป่น เข้มข้นด้วยรสชาติ หอมชวนกินด้วยพริกที่ย่างไฟจนสุกและหอมตามสูตร แจ่วอีสาน ผักเคียงมีทั้งผักสดอันได้แก่แตงกวาหั่นเฉียง มะเขือม่วงลูกกำลังกิน ผักลวกรวมหลายอย่าง สะใจพี่น้องไทยและลาว

 

น้ำพริกแจ่วปลาย่างหอมๆ

                    ต้มยำปลาเผาะ เนื้อนิ่ม สดสะอาดหวานชวนกิน หอมกลิ่นเครื่องเทศพื้นบ้าน น้ำปรุงกำลังดีไม่เปรี้ยวจี๊ดและไม่เผ็ดโดดจนคนกรุงเทพแหยง ผักชีฝรั่ง ผักชีลาว โรยหอมกรุ่น ซดน้ำแกล้มกับข้าวร้อนๆ เด็ดนัก ไม่ผิดหวัง (อารามหิว เลยลืมถ่ายรูป) 

                    ผัดฉ่าปลานิบทอด เป็นอาหารดัดแปลงจากปลาสดเป็นปลาทอด เครื่องปรุงผัดฉ่าครบเครื่อง ไม่หวงเครื่องเทศ โดยเฉพาะพริกไทยอ่อน กระชาย เป็นอีกเมนูที่คิดไม่ถึงว่าจะได้มากินบนเรือล่องแม่น้ำโขง กินได้ด้วยความอร่อย เผ็ดกำลังดี แต่ห้อมหอมเครื่องเทศจ้า

 

ผัดฉ่าปลานิลทอดกับลาบหมูแบบอีสาน

                    มาอีสานทั้งทีไม่มีลาบกินก็เกินไป ลาบหมูธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ด้วยว่าหมูสับเป็นตัว ร่วนชวนกิน หนังหมูแนมมาไม่มากเกิน เครื่องปรุงลาบครบถ้วน หอมข้าวคั่วกว่าลาบกรุงเทพ เพราะว่าคั่วสดๆ เฉพาะกิจ โรยด้วยใบสะระแหน่ ผักชีลาว ต้นหอมซอย อร่อยๆๆๆ

 

                    บนเวที เพื่อนที่อิ่มเอมแล้วช่วยขับกล่อม น้องนักข่าวเว้าวอนด้วยเสียงออนซอน ยังเป็นสาวน้อยที่หลงกลิ่นน้ำหมึกน่ารักจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ทับแก้ว นครปฐม ส่วนอีกคนเป็นสาวนครพนมโฉมงาม ผิวผ่องยองใจชวนรัญจวนใจ จบที่หนุ่มใหญ่ไฟยังแรง อดีตนักดนตรีเก่า ที่ยังไม่เรื้อเวที                      

 

 บุญผ้าป่าสามัคคี ณ วัดพระธาตุพนม พุทธสถานโบราณล้ำค่า

                  แม้ผิดเวลาไปกว่าสองชั่วโมง แต่พี่น้องไทย-ลาว ยังเฝ้ารอขบวนผ้าป่าสามัคคีสืบสานพี่น้องสองฟากฝั่งแม่น้ำโขง อย่างใจจดจ่อ ยังหัวเราะได้ ยิ้มดี ไม่มีหน้าบึ้งหน้าตึง คณะสงฆ์เดินนำขบวนขึ้นบันไดหน้าซุ้มวัดพระธาตุพนม ตามด้วยขบวนของผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมและรองเจ้าแขวงคำม่วน ติดตามด้วยคณะสองพี่น้องริมฝั่งโขงยาวย้วย

 

แม้รอนานแต่ยิ้มยังชื่นบานหัวใจเด้อค่ะ

                  หลังการถวายผ้าป่าสามัคคีเรียบร้อย คณะจึงเดินไปกราบไหว้พระธาตุพนม พระธาตุเก่าแก่แต่ปีพ.ศ.8 นับได้กว่า 2,549 ปี พระธาตุพนมเป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจพี่น้องไทยสองฝั่งโขง ทุกปีประเพณีไหว้พระธาตุจะคลาคล่ำไปด้วยพุทธศาสนิกชน เป็นความสุขและความหวังที่จะได้มากราบไหว้ ปิดทอง ถวายจตุปัจจัยให้พระสงฆ์

 

ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมและรองเจ้าแขวงคำม่วนนำขบวนฝ่าฝูงชน

                  ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมและรองเจ้าแขวงคำม่วน ร่วมลงนามในผืนผ้าบูชาพระธาตุ อันเป็นวัฒนธรรมหนึ่งซึ่งพี่น้องสองฝั่งทำร่วมผืนผ้าเดียวกัน ต่อจากนั้นก็ปล่อยให้พี่น้องร่วมลงชื่อด้วย ชาติหน้าจะได้เกิดมาร่วมแผ่นดินธรรมเดียวกัน ผมทำหน้าที่ถ่ายภาพ ผมจึงยังไม่มีโอกาสลงชื่อแซ่กับเขาด้วย เสียดายจัง

 

                  ในแต่ละปี ประเพณีรำถวายพระธาตุของพี่น้อง 7 ชนเผ่าแห่งนครพนม ชวนให้ได้ชมความงดงาม อ่อนช้อย และอลังการ การสวดมนต์ นั่งทำสมาธิ ทุกวันเพ็ญของแต่ละเดือน พระธาตุพนมมิใช่เพียงพุทธสถานสำคัญ แต่ได้กลายเป็นแหล่งท่องแดนแผ่นดินธรรมที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก เป็นงานที่ทุกคนเฝ้ารอ เป็นหนึ่งใน 7 พระธาตุและเป็นหนึ่งใน 7 ประเพณีดีงามแห่งนครพนม

       

                 แรกเห็นรู้สึกแปลกใจ พุทธศาสนิกชนทุกกลุ่มที่เดินเวียนเทียนรอบพระธาตุพนม มีการบรรเลงกลองยาวประกอบทุกคณะ กว่าจะกลับจึงได้ความรู้ว่า คณะกลองยาวและมโหรีเหล่านี้เป็นมืออาชีพ ตั้งวงรอพุทธศาสนิกชนมาจ้างวาน เป็นคณะที่สร้างสีสันความบันเทิงและสนุกสนานให้กับขบวนไม่น้อย คณะเหล่านี้จึงมีรายได้ประจำปี

 

                  ตั้งแต่ซุ้มประตูท่าเรือหน้าวัดพระธาตุพนม มีการออกร้าน ขายสินค้าแลกเปลี่ยนกันตามประสา พ่อค้าแม่ค้าจากทั่วทิศแห่แหนกันมาออกร้าน  ที่ประทับใจมากก็ สมุนไพรไทยมากมายหลายร้อนเหลือเกิน มีทั้งอย่างสดและอย่างแห้ง มีกระทั่งเป็นต้นเพื่อนำไปปลูกในบริเวณบ้านได้เลย แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นสมุนไพรจากฝั่งไหน ไทยหรือลาว

                  ถ้าตั้งใจไปไหว้พระธาตุพนม ต้องเดินชมสินค้าพื้นบ้าน อย่างน้อย 3 วัน 2 คืน  จึงต้องจัดเวลาให้ลงตัว


 

อุ มีวางขายทั่วงาน

  ไหว้พระธาตุเรณู  พาแลงไปดูรำภูไทไป สุดชื่นมื่น

                 ใกล้ค่ำ ออกเดินทางจากวัดพระธาตุพนมหลังไหว้เอามงคลใส่กระหม่อม เดินทางต่อไปอีก 20 กม.มุ่งสู่ย่ำค่ำเพื่อไปกราบไหว้พระธาตุเรณู  พระธาตุอีกหนึ่งในเจ็ดพระธาตุนครพนม เส้นทางใกล้ๆบนถนนลาดยาง รถแล่นฉะลุย ปลอดภัยไร้กังวล ประทับใจมากเมื่อพี่น้อง”ชาวภูไท”แต่งกายด้วยชุดประจำชนเผ่า ดูสวยงามเย็นตา รอต้อนรับคณะ

  

พี่น้องชาวภูไทสวมใส่ชุดชนเผ่ามารอรับ

                     พระธาตุเรณู สง่างามในแสงไฟส่องสว่างอย่างมีศิลปะ ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่แสงสีน้ำเงินสาดส่องท้องฟ้าช่วงหัวค่ำเพียง 10 นาที ก็จะจางหายไปกับราตรีที่มืดมน  นี่เป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสมากราบไหว้พระธาตุเรณู  แต่ได้ถ่ายภาพงดงามตราตรึงใจมาประกอบเรื่องอย่างคาดไม่ถึง เป็นความประทับใจลำดับที่สอง ณ ที่แห่งนี้

 

พระธาตุเรณู งามในแสงสีน้ำเงินที่สาดส่อง

                  ประทับใจลำดับที่สาม เมื่อได้รับการนำชมโรงละครท้องถิ่นชมวัฒนธรรมการแสดงในบริเวณใกล้ๆกัน มีภาพสาธิตกระบวนท่าการฟ้อนภูไทของชายหญิงให้ได้เรียนรู้ ได้ชมบ้านตัวอย่างของชาวภูไท ได้รู้ว่าแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวมาเยือน เพื่อชมวัฒนธรรมการแต่งกายและการฟ้อนภูไท

 

                   ประทับใจลำดับที่สี่ เมื่อท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชิญชวนให้ร่วมเดินทางไปยังสถานที่จัดงานตามแบบอย่างวัฒนธรรม “พาแลง” ยามค่ำ ด้วยบรรยากาศกลางแจ้ง อร่อยลิ้นกับอาหารพื้นบ้านเรียบง่ายที่ไม่ได้ดัดแปลงให้แตกต่างเพื่อการโชว์ แต่เป็นวัฒนธรรมเรื่องอาหารการกินปกติของพี่น้องชาวภูไท อันเป็นชนเผ่าหนึ่งในเจ็ดชนเผ่าชาวนครพนม

 

นักเรียนสาวภูไทเตรียมฟ้อน

                   ประทับใจลำดับที่ห้า เมื่อเดินผ่านนักเรียนนักแสดง “ฟ้อนภูไท” อันเป็นศิลปะ วัฒนธรรมทางการแสดง เฉพาะชนเผ่า ได้ชมชุดสวยงามจากนักแสดงชายหญิง ได้เห็นลีลาการฟ้อนที่มีลูกเล่นลูกฮาอย่างหาชมจากไหนไม่ได้ ได้ร่วมฟ้อนตามกระบวนท่าที่น่าสนุก ด้วยอาการฟ้อนยกขาค้างเพื่อรอของฝ่ายชายจนกว่าฝ่ายหญิงจะฟ้อนเปลี่ยนลีลาไปแล้วสามท่ากระบวนงาม ยืนไม่ไหวก็จะเซถลา

 

ลีลาฟ้อนภูไท หนุ่มสาวได้หยอกเอิน

                    ประทับใจลำดับที่หก เป็นการ”ชนช้าง” ระหว่างหญิงและชาย เป็นวัฒนธรรมหนึ่งการต้อนรับพี่น้องเพื่อนฝูง ด้วยเครื่องดื่มที่เกิดแต่ภูมิปัญญา “ดูดอุ”ผมจึงได้ภาพชนช้างระหว่างชายหญิงมาอวด ว่ากันว่า เมื่อเริ่มชนนั้น ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะแข่งกันดูดอุ(อุคือเครื่องดื่มหมักมีนเมาชนิดหนึ่ง) ศีรษะของสองฝ่ายต้องจรดกัน จึงเรียกว่าชนช้าง

 

ผู้ว่าและรองผู้ว่าเตรียมชนช้าง

                    ประทับใจลำดับที่เจ็ด เป็นวัฒนธรรมและประเพณีหนึ่งของพี่น้องชาวภูไท ที่จะทำ”พิธีบายสีสู่ขวัญ”แด่ผู้มาเยือน แล้วผูกข้อมือด้วยด้ายสายสีญจน์ เช่นเดียวกับประเพณี “ผูกเสี่ยว”ของพี่น้องชาวไทยอีสาน เป็นความงดงามของพี่น้องชาวภูไทต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง เป็นวัฒนธรรมประเพณีที่เหลืออยู่ไม่กี่แห่ง 


พิธีบายสีสู่ขวัญแขกผู้มาเยือน แสนประทับใจ

                     การเดินทางกลับละล้าละลัง ไม่อยากกลับ อยากจะชนช้าง และอยากจะสู่ขวัญ สาวเรณูนครเสียจริง 

 คิดถึงนครพนม คิดถึง 7 ชนเผ่า 7 พระธาตุ 7 วัฒนธรรมและ 7 ประเพณี

                     คำถามว่าถามว่า  ถ้านึกถึงนครพนม  คิดถึงอะไร  คนนครพนมจะตอบเช่นไร ไม่มีใครรู้ทั้งสิ้น แต่ถ้าเป็นผม คนเดินทางท่องเที่ยวและเขียนสารคดี ผมคิดถึงนครพนม สวยสมและสุขสงบ ด้วยนครพนม เป็นนครแห่งประวัติศาสตร์ อาณาจักรโคตรบูร  ซึ่งมีเรื่องราวเล่าขานกันสืบมา นครพนมเป็นแหล่งอารยะธรรมโบราณ ประกอบด้วย

 

บ้านจำลองชาวภูไท

อีกลีลาของการฟ้อนภูไท ได้เกี้ยวพาราสี  อิอิ

                     7 ชนเผ่า 2  ได้แก่ ชนเผ่าภูไท  ชนเผ่าโส้   ชนเผ่าญ้อ  ชนเผ่าแสก  ชนเผ่าข่า ชนเผ่ากะเลิง  และชนเผ่าลาว    ชนเผ่าด้วยเหตุนี้ จึงมีภาษาพูด ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตและความเชื่อหลากหลาย

                        7 พระธาตุ  ได้แก่ พระธาตุพนม  พระธาตุเรณู  พระธาตุประสิทธิ์  พระธาตุท่าอุเทน   พระธาตุศรีคุณ  พระธาตุมหาชัย  และพระธาตุนคร 


                    7  วัฒนธรรม  ได้แก่ วัฒนธรรมด้านบ้านอยู่อาศัย  ด้านอาหารการกิน  ด้านเครื่องนุ่งห่ม   ด้านวิถีชีวิตทำมาหากิน  ด้านความเชื่อเรื่องบุญ-บาป  ของ 7 ชนเผ่า ที่อาจเหมือน ละม้าย หรือแตกต่าง     

                    7 ประเพณี  ได้แก่ ประเพณีไหลเรือไฟวันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 และวันแรม 1 ค่ำ เดือน11 ของทุกปี ประเพณีนมัสการพระธาตุพนมของ 7 ชนเผ่า  ในวันขึ้น 10 ค่ำ ถึงแรม 1 ค่ำเดือน 3 ของทุกปี  ประเพณีแสกเต้นสาก บ้านอาจสามารถ ณ ศาลเดนหวังโองมู้ ขึ้น 2 ค่ำเดือน 3 ของทุกปี ประเพณีโส้ทั่งบั้ง ของชาวโส้หรือข่า จัดวันขึ้น 3 ค่ำเดือน 3 ของทุกปี  งานประเพณีบุฯสงกรานต์ปีใหม่ไทย-ลาวที่ถนนข้าวปุ้น บริเวณริมเขื่อนหน้าเมือง ประเพณีบุญสงกรานต์ชาวภูไทและพาแลงมื้อค่ำ สุดท้ายที่ ประเพณีส่วงเฮือ (แข่งเรือ) ตรงกับงานบุญออกพรรษาของทุกปี แม่น้ำโขงหน้าตลาดอินโดจีน

 

นายอำเภอ อำเภอเรณูนคร เข้มแข็ง

 ผอ.ททท.นครพนม นส.ปุณยนุช วรรณยิ่ง  เยี่ยมๆ

                 สรุป คิดถึงนครพนม คิดถึง 7 ชนเผ่า 7 พระธาตุ 7 วัฒนธรรม 7 ประเพณี  ขอขอบคุณ นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม  คุณทรงศักดิ์ สีเคลือบ สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย  คุณธารินทร์ พันธุมัย  ผู้จัดการบ.แม่โขง พาราไดซ์ ครูช จำกัด คุณปุณญานุช  วรรณยิ่ง ผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดนครพนม คุณสีภูวง จันทร์ชมพู ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวีดนครพนม  คุณชาญยุทธ อุปพงษ์ ประธานหอการค้านครพนม โรงแรมเดอะริเวอร์ นครพนม  และท้าวสมใจ เพชรสีนวน  รองเจ้าแขวงคำม่วน สปป.ลาว  

  

เครื่องเซ่นไหว้วัดพระธาตุศรีโคตรบอง

เจ้าของโรงแรมเดอะริเวอร์ นครพนม

นกกระสานวลบินโชว์

ประตูอุโบสถวัดพระธาตุศรีโคตรบองงามมาก

วิวทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำโขง ฝั่งลาวสวยมาก

ผ้าซิ่นถิ่นสปป.ลาว งามแปลกตา

                  

Tags : บ้านทุ่งแสนสุขตอน 27.เฝ้าน้ำไก่

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view