http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,960,320
Page Views16,266,645
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

รำลึกวันประวัติศาสตร์รถไฟรถม้าลำปางครั้งที่ 15

รำลึกวันประวัติศาสตร์รถไฟรถม้าลำปางครั้งที่ 15

รำลึกวันประวัติศาสตร์รถไฟ รถม้าลำปาง

แล้วไปไหว้พระ 5 วัด

โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

             ผมนั่งทอดอารมณ์ช่วงแสงแดดอ่อนๆของเย็นวันที่ 31 มีนาคม 2557 ที่ร้านอาหารหน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง พร้อมสั่งข้าวขาหมูของโปรดมากินจนอิ่ม  ตะวันลับเหลี่ยมตึกไปแล้ว แสงไฟสว่างขึ้นมาทดแทน  ผมคว้ากล้องถ่ายรูปคู่ใจเดินไปหามุมแล้วรอเวลาเพื่อถ่ายภาพสถานีรถไฟหัวลำโพงในแสงสีน้ำเงิน  นี่เป็นโอกาสดี  ก่อนที่จะรีบเดินไปให้ทันรถไฟ ชานชาลาที่ 3 โบกี้ 8 กรุงเทพ-นครลำปาง เวลา 19.30 น.


             การเดินทางครั้งนี้ไปกับเพื่อนๆสื่อมวลชนคนทำข่าว ตามคำเชิญชวนของบริษัทพรพิทักษ์ทัวร์จำกัด 084-9498269 เพื่อไปร่วมทำข่าวงานรำลึกวันประวัติศาสตร์รถไฟ รถม้า ลำปาง ครั้งที่ 15 ในวันที่ 1-5 เมษายน 2557 ณ สถานีรถไฟนครลำปาง  แต่กว่าจะนอนได้ก็ดึกโข แอร์เย็นสบาย ห้องหับสะอาดเอี่ยม


              คืนนั้น หลับแทบไม่ลง คิดถึงความหลังเมื่อครั้งที่เดินทางด้วยรถไฟชั้นสาม เพื่อไปรายงานตัวเป็นนักวิชาการป่าไม้ตรี ปฏิบัติงานสวนสักห้วยทาก อำเภองาว  ปีพ.ศ.2516  หนุ่มตะกรอเลยครับ เช้าตรู่ ตื่นขึ้นมาชมบรรยากาศสองข้างทางรถไฟ เห็นต้นสักผลัดใบเกลี้ยงตามธรรมชาติของเขา คิดถึงกลิ่นเหงื่อเมื่อย่ำไปตามสันดอยเพื่อปลูกต้นสักทดแทนในไร่ร้าง


              แต่เมื่อรถไฟเทียบชานชาลาหน้าสถานีนครลำปาง ความหลังก็ดับสิ้นไปด้วยความตื่นเต้น เมื่อได้เห็นคณะมวลชนคนชั้นนำของจังหวัดลำปางให้เกียรติมารอรับสื่อมวลชน โดยมีท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นาย ฤทธิ์พงศ์ เตชะพันธุ์ และท่านผู้มีเกียรติมากมายหลายสิบคน แนมด้วยสาวคาวบอยและวงดนตรีประเภทประเภทคันทรีๆมาบรรเลง


               โอ้โฮ นี่ผมเดินทางมาด้วยรถไฟเทียบเคียงว่า เป็นรถไฟเที่ยวแรกที่แล่นมาถึงนครลำปาง เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2459 ถึงวันนี้ เวลาล่วงเลยมาแล้วถึง 98 ปี มีภาพและตำนานให้ชมในสถานี  ได้เห็นรูปวิศวกรผู้สร้างทางรถไฟขุดถนน ตัดอุโมงค์ วางรางรถไฟ ตอกหมุดเหล็กตรึงราง แค่เห็นภาพก็นึกถึงกลิ่นเหม็นเปรี้ยวของหยาดเหงื่อที่ไหลโทรมกาย น้ำตาซึมครับ


                หลังพิธีเปิดงานรำลึกวันประวัติศาสตร์รถไฟ รถม้าลำปาง ครั้งที่ 15 ผู้มีเกียรติทั่วถ้วนได้ร่วมกันตักบาตรพระสงฆ์ รับประทานอาหารว่างร่วมกันท่ามกลางแสงแดดอุ่นละไมหัวใจเป็นปลื้ม ใบหน้ายิ้มระรื่นเหมือนตื่นจากฝัน  วันนี้แม้จะอายุกว่า 66 ปี ก็ขอบอกว่า  หลงรักเสียแล้ว ลำปาง เขลางนคร

                หน้าสถานีมีรถม้าลำปางสีสันหนึ่งที่ยังอนุรักษ์ไว้คู่กัน รถม้านั้นแต่งแต้มกันด้วยดอกไม้พลาสติก  สารถีมีทั้งหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่สวมหมวกปีกกว้างอย่างคาวบอย โก้ นั่งรอเพื่อนสื่อมวลชนให้ขึ้นไปนั่ง แล้วเรียงกันออกไปชมเมือง ดังนั้น หลังอาหารเช้าด้วยก๋วยจั๊บหน้าสถานีรถไฟลำปาง จึงขึ้นนั่งกันคันละ 3 คน  ไปเที่ยวชมวิถีลำปาง วัดเก่าแก่และบ้านเรือนสวยๆ

               รถม้าควบไปตามถนนมุ่งสู้เป้าหมายแรก  ข้ามแม่น้ำวังแล้วเลาะเลียบไปตามถนนท่ามะโอจนถึงวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม  ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ฝ่ายเถรวาท วัดพระแก้วดอนเต้านี้เคยเป็นที่ประดิษฐาน “พระแก้วมรกต” (พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร) ตั้งแต่ปีพ.ศ.1979 เป็นเวลากว่า 578 ปีมาแล้ว วัดนี้มีตำนานเล่าต่อกันมาว่า


               นางสุชาดาได้พบแก้วมรกตในแตงโม(หมากเต้า) จึงนำมาถวายพระเถระๆองค์นี้จึงได้ให้ช่างนำไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูปเรียกว่า “พระแก้วดอนเต้า” แต่ด้วยวจีกรรมของคนช่างฟ้อง ได้ไปฟ้องเจ้าเมืองว่า นางสุชาดานี้เป็นชู้กับพระเถระองค์นั้น เจ้าเมืองประหารชีวิตนางสุชาดา ส่วนพระเถระองค์ดังกล่าวได้อุ้มพระแก้วดอนเต้าไปฝากไว้ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง พระแก้วดอนเต้าจึงประดิษฐานที่นั่นตราบทุกวันนี้


                ในวัดพระแก้วดอนเต้าแห่งนี้มีพระธาตุหลังโบสถ์ บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า มีมณฑปศิลปะพม่าอยู่หน้าพระธาตุ ในอุโบสถขนาดใหญ่มีพระประธานองค์ใหญ่ประดิษฐาน เป็นที่สักการะของเหล่าพุทธบริษัทโดยทั่วกัน  ในบริเวณวัดมีศาลานางสุชาดาให้ชมและกราบไหว้อยู่ด้วย


               ออกจากวัดพระแก้วดอนเต้า รถม้าพาห้อตะบึงไปตามถนนประตูม้า-อ.แจ้ห่ม  ถึงสุสานไตรลักษณ์  อันเป็นป่าช้าเก่าที่หลวงพ่อเกษม เขมโก บำเพ็ญภาวนาตลอดเวลายาวนาน จะกล่าวถึงหลวงพ่อเกษมสักนิดว่า เดิมท่านชื่อเจ้าเกษม ณ ลำปาง บุตรเจ้าน้อยหนู มณีอรุณ กับเจ้าแม่บัวก้อน ณ ลำปาง ที่บ้านท่าเค้าม่วง ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง

               ท่านเกิดวันพุธ แรม 4 ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด ศึกษาสูงสุดจากโรงเรียนบุญทวงศ์ บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ.2475 อายุ 20 ปี สอบได้นักธรรมโท อุปสมบทเป็นพระสงฆ์เมื่อปีพ.ศ.2476 อายุ 21 ปี ได้สมญานามว่า เขมโก ภิกขุ บำเพ็ญเพียรด้วยนานาวิธี ทรมานร่างกายด้วยการนั่งตากแดดตากลม อดอาหารถึง 48 วัน ด้วยพระกัมมัฏฐานสมาธิ และปลีกวิเวกไปอาศัยตามป่าช้า ป่าดงพงไพร แต่ในที่สุดท่านจำพรรษาที่สุสานไตรลักษณ์แห่งนี้


               หลวงพ่อเกษม เขมโก ได้รับความเคารพกราบไหว้ไปทั่วแคว้นแผ่นดินไทย เป็นอริยะสงฆ์องค์สำคัญของจังหวัดลำปาง ท่านสอนให้พุทธศาสนิกชนที่เข้ามาพบให้ไหว้ท่านด้วยการยกมือพนมไหว้เพียงอก ท่านกล่าวว่า ท่านไม่ใช่พระพุทธเจ้า จึงไม่ต้องกราบแนบพื้น 3 ครั้ง  คาถาบูชาที่ท่านให้กล่าวคือ “สังฆ รูปัง วันทา มิหัง” ศพของท่านอยู่ในโลงแก้วให้ไหว้ได้เสมอ


               ออกจากสุสานไตรลักษณ์ก็พากันเดินทางไปยัง วัดเจดีย์ซาวหลัง ตำบลต้นธงชัย อำเภอเมือง ถนนสายลำปาง-แจ้ห่ม(ถนนประตูม้า )ซึ่งห่างไปจากสุสานไตรลักษณ์ไม่ไกลนัก วัดนี้เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ศิลปะเชียงแสนผสมพม่า จุดเด่นคือ เจดีย์ซาวหลัง หรือเจดีย์ 20 องค์ มีหลักฐานสำคัญอีกประการคือขุดพบพระเครื่องสมัยหริภุญชัย ที่องค์เจดีย์ซาวหลัง


              นอกจากนี้ ชาวบ้านได้ขุดพบพระพุทธรูปทองคำหนัก 100 บาทสองสลึง ขนาดหน้าตัก 9 นิ้ว สูง 15 นิ้ว ปางมารวิชัย เชื่อว่าสร้างในพุทธศตวรรษที่ 21 จึงมอบให้วัด ได้ชื่อว่า “พระเจ้าแสนแซ่ทองคำ” ประดิษฐานในบริเวณเดียวกัน  ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแห่งแรกของประเทศ  ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย ประดับด้วยแก้วสารพัดสีสวยงาม ภาพเขียนตามผนังศิลปะพื้นบ้าน สวยดี



                  แดดร้อนจัด  เดินนับเจดีย์ซาวหลังกันด้วยความฉงน เคล็ดลับอยู่ที่ต้องนับเฉพาะองค์ที่อยู่ในกำแพงเท่านั้น มิเช่นนั้นนับอย่างไรก็ไม่ตรงกับคำว่า ซาว สักที

                  เลี้ยวกลับทางเดิมแล้วแยกไปตามถนนจามเทวี  เลี้ยวเข้าซอยไปเจอต้นก้ามปูหรือต้นจามจุรีขนาดใหญ่ ร่มรื่น หน้าวัด


               วัดปงสนุก  ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง เป็นวัดเก่าแก่มาแต่โบราณ บันทึกที่บ่งบอกว่าเมื่อปีพ.ศ.1223 พระเจ้าอนันตยศ ราชบุตรเจ้าแม่จามเทวีแห่งหริภุญไชย นครลำพูน ได้เสด็จมาบูรณปฏิสังขรณ์  พ.ศ.1929 หมื่นโลกนคร ผู้รักษาเมืองเขลางค์ ใช้เป็นที่ตั้งทัพเพื่อต่อสู้กับพม่า แต่ช่วงนั้นวัดนี้ชื่อวักเชียงภูมิ  ต่อมาอีก 400 ปีพ.ศ.2352 จึงปรากฏชื่อวัดปงสนุก


                  ปีพ.ศ.2346 พญากาวิละ ยกทัพไปตีเชียงแสน กวาดต้อนชาวเชียงแสนและชาวพะยาวหรือพะเยาลงมาด้วย ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่รอบๆวัดปงสนุก ช่วงนั้นชื่อวัดพะยาว แต่เพียงปีพ.ศ.2386 เจ้าหลวงมหาวงศ์ ได้ยกทัพไปตีเอาคืนเมืองพะยาว จึงได้อพยพชาวพะยาวกลับไป การปรับเปลี่ยนชื่อวัดนี้จึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่นวักเชียงภูมิ วัดศรีจอมไคล วัดดอนแก้ว วัดพะยาว และวัดปงสนุก


                  เมื่อปีพ.ศ.2429 ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ ครั้งใหญ่ ด้วยซ่อมพระเจดีย์ สร้างฉัตรเพิ่ม ก่อซุ้มประตูโขง  และวิหารพระเจ้าพันองค์ ซึ่งเป็นวิหารโล่งปราศจากกำแพง ประดิษฐานพระพุทธรูป 4 องค์ หันหลังชนกัน ความสวยงามของวิหารหลังนี้เป็นที่ยกย่อง และที่เรียกว่าวิหารพระเจ้าพันองค์ก็เพราะว่ามีพระพิมพ์ 1,080 องค์ติดประดับไว้ทั่ว   รวมความว่าบนดอยองค์น้อยแห่งนี้มีเจดีย์บรรจุพระสารีริกธาตุ วิหารพระเจ้าพันองค์ และวิหารพระพุทธไสยาสน์


                   ปีพ.ศ.2551 องค์การยูเนสโกได้ให้รางวัลด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม (Award of Merit) เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของชาวลำปาง ในเขตเมืองลำปาง มีวัดสวยงามมากมายศิลปะพม่า หรือผสมผสานรามัญ หรือล้านนา มากมายหลายแห่ง เรียกว่าถ้าจะเที่ยววัดในเมืองลำปางแล้ว เที่ยวกันเหนื่อยเชียวครับ พักเที่ยงที่ BB.coffee ร้านสวย อาหารอร่อยครับ


พระธาตุลำปางหลวง ฝีมือสุเทพ ช่วยปัญญา

                   พักเหนื่อยกันเต็มอิ่ม อร่อยกับสารพัดน้ำปรุงแต่งและไอครีม ขบวนสื่อมวลชนจึงได้ขึ้นรถเพื่อมุ่งสู่ วัดพระธาตุลำปางหลวง  ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา ตั้งอยู่บนเขาลูกหนึ่งทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดลำปาง  18 กม. อันเป็นเมืองเกาชื่อ ลัมพกัปปะนคร  เป็นวัดราษฎร์ ฝ่ายเถรวาท จุดเด่นของวัดพระธาตุลำปางหลวงคือ


                   เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาวลำปางคือ เมื่อปีพ.ศ.2275 นครลำปางเว้นว่างจากเจ้าผู้ครองนคร พม่าครองเมืองเชียงใหม่-ลำพูน ท้าวมหายศผู้ครองนครลำพูนได้มาตั้งค่ายอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ถูกหนานทิพย์ช้าง   ชาวบ้านปงยางคกใช้ปืนยิงตาย ต่อมาหนานทิพย์ช้างสถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระเจ้าทิพย์จักรสุละวะฤาไชยสงคราม ต้นสกุล ณ ลำปาง เชื้อเจ็ดตน ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน ณ น่าน รูลูกปืนอยู่ที่รั้วทองเหลืองรอบพระธาตุลำปางหลวง    

    

                   เป็นพระธาตุประจำปีคนเกิดปีฉลู  พระธาตุลำปางหลวงสร้างขึ้นด้วยศิลปะล้านนา ทรงระฆังคว่ำ ฐานบัวลูกแก้ว ภายนอกบุทองจังโก ยอดฉัตรสลักลายประจำยามต่างๆ เป็นทองคำแท้ ภายในบรรจุพระเกศาธาตุ พระบรมสารีริกธาตุจากพระนลาฏข้างขวา พระศอด้านหน้าและด้านหลัง       

               วิหารหลวง  เดิมเป็นวิหารไม้สัก ปฏิสังขรณ์โดยเจ้าหมื่นคำเป็ก เมื่อปีพ.ศ. 2019  ต่อมาได้ปฏิสังขรณ์ใหม่ให้เป็นศิลปะล้านนา  ภายในมีปราสาททองประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง ด้านหลังประดิษฐานพระเจ้าทันใจ บนแผงไม้คอสองมีจิตรกรรมฝาผนังศิลปะล้านนาสวยงาม เล่าเรื่องทศชาติและพรหมชาติของพระพุทธเจ้า



                  อัศจรรย์ภาพหัวกลับของพระธาตุลำปางหลวง นักท่องเที่ยวนิยมเข้าไปชมกัน ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานว่า เกิดขึ้นจริง ซึ่งเกิดขึ้นตามทฤษฎีการหักเหของแสง นอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐาน”พระแก้วดอนเต้า”ตราบทุกวันนี้  ส่วนวิหารพระพุทธ สร้างเมื่อพ.ศ.2019 สมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่

                บันไดนาคทางขึ้นวัดพระธาตุลำปางหลวง สร้างขึ้นเมื่อ ปีพ.ศ.2331 โดยเจ้าหอคำดวงทิพย์ มีปูนปั้นรูป มกรคายพญานาค และมีสิงห์สองตัวประจำยาม ผมชอบมาก ปูนปั้นสวยงาม อ่อนช้อย และดูมีพลัง  หางนาคเป็นซุ้มประตูโขง ฝีมือช่างหลวง ก่ออิฐถือปูน ชูยอดแหลมเป็น 4 ชั้น ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นสัตว์ในเทพนิยาย สวยงามน่าจับตามอง

ในซุ้มโค้งประตูโขง งดงาม

                 สุดท้าย ได้ใจเมื่อไปตักบาตรลอยฟ้า ข้างวิหารหลวง ได้ทั้งบุญและได้ทั้งการทะนุบำรุงวัดพระธาตุลำปางหลวง ก็ขออนุโมทนาสาธุแด่ผู้ใจบุญใจกุศล พี่หนานที่นั่งป่าวร้องบอกบุญด้วยปิยะวาจาสารพัดสารเพที่สามารถพรรณนาจนเคลิ้ม  เป็นโฆษกงานวัดที่มากความสามารถ และนุ่มนวล ฟังแล้วเย็นใจอยากให้ทาน สิ้นสุดการเที่ยวไหว้ 5 วัดนะบัดนี้ ขอขอบคุณคุณนพพร ไชยวงศ์ นายกสมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดลำปาง 084-9498269 ที่อำนวยการนำชมแก่สื่อมวลชนด้วยดี



Tags : นกกาแวน

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view