ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่สวนป่าเกริงกระเวีย
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
กลางเดือนกุมภาพันธ์-กลางเดือนพฤษภาคม ถือว่าเป็นฤดูร้อนของบ้านเรา ถ้าช่างสังเกตุจะเห็นว่าตอนเที่ยงวันพระอาทิตย์จะตรงหัวพอดี ความร้อนจากแสงแดดที่แผดเผาจึงร้อนแรงกว่าช่วงเวลาอื่นๆ
ช่วงนี้แหละที่ผมได้ไปเยือนสวนป่าเกริงกระเวีย ตั้งอยู่ ริมถนนสายทองผาภูมิ-สังขละบุรี ซึ่งมีที่พักแรมและเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติให้ทดสอบสมรรถนะพละกำลัง
บ้านพักแรมอยู่บนเนินเขาสูงลดหลั่นไปตามไหล่เขามองเห็นทัศนียภาพของป่าไม้ สายหมอกและทิวเขาสลับซับซ้อน หน้าบ้านมีระเบียงให้นั่งเล่น ลมกระโชกมาทีก็รู้สึกชื่นใจ ยามค่ำมีเสียงหริ่งหรีดเรไรขับขานไปทั้งราวป่า ท้องฟ้าที่มืดมิดชวนดื่มด่ำไปกับราตรีกาล ก่อนที่จะเข้าไปนอนในห้องแอร์เย็นฉ่ำ
ตะวันชิงขึ้นเหนือขอบฟ้าเร็วกว่าฤดูอื่นๆ ผมดื่มกาแฟร้อนแกล้มไข่พะโล้สองลูกที่สำรองไว้เสมอเมื่อเดินทาง สวมรองเท้าพร้อมออกเดินชมไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนไหล่เขา เป้าประสงค์ชัดเจน หวังจะทดสอบสมรรถนะของร่างกาย อันประกอบไปด้วยวัย 66 ปี (นน.75 กก.เช้า) ไล่ลงมา 52 ปี 50 ปี จนถึง 14 ปี บทพิสูจน์สัจธรรมของคำว่า “สังขาร”
จุดเริ่มต้นอยู่ต่ำสุด เป็นตีนเขาข้างที่ทำการสวนป่า เส้นทางเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กอย่างดี รถยนต์แล่นขึ้นลงได้ เป็นเส้นทางที่ไต่ความสูงไปทีละระดับ วกไปเวียนมา ป้ายสื่อความหมายบอกว่า 1,300 เมตร ผมนึกในใจ ก็แค่กิโลกว่าๆ แค่นั้นเอง
ดอกต้นเส้าดำ หรือเสลาเปลือกหนา
สองข้างทางที่มีทั้งพรรณไม้ป่ายืนต้น เช่นต้นสักกำลังผลัดใบจนโกร๋น ต้นเส้าดำไม่ผลัดใบก็มีให้เห็นอยู่ ต้นนี้มีดอกสีขาว ได้เห็นร่องรอยของไฟป่าที่ไหม้เปลือกต้นสัก แต่ไม่รุนแรงจนต้นสักหักโค่นล้มลง ธรรมชาติของต้นสักมีเปลือกหนาจึงทนไฟป่าได้ระดับหนึ่ง
กระโปรงหุ้มเมล็ดสัก
กลุ่มผลต้นสักร่วงหล่นบนพื้นถนน ยังมีกระโปรงสีน้ำตาลห่อหุ้มเมล็ด ที่ยุบสลายไปแล้วเหลือแต่เมล็ดสักล้วนๆก็มี ลมฝนจะพัดพาให้เมล็ดสักลงไปกองรวมกันบนพื้นดินชายเขา วันหนึ่งเมื่อถึงเวลาและนิเวศน์เหมาะสม เมล็ดสักจะงอกออกมาแทงรากลงไปสะสมอาหารอยู่ใต้ดินเรียกว่า เหง้าสัก ในขณะเดียวกันก็ส่งลำต้นขึ้นพ้นผิวดิน เป็นกล้าไม้สักที่งอกงามตามธรรมชาติ
กล้าไม้สักเหล่านี้เติบโตไปตามปกติจากต้นฤดูฝนไปจนถึงปลายหนาว เหง้าใต้ดินสะสมอาหารเพิ่มขึ้น แต่เมื่อย่างเข้าหน้าร้อน ถ้าไม่มีไฟป่าต้นสักก็จะเติบโตได้ต่อไป แต่ถ้าไฟป่าไหม้โหมมาคราวเดียว ต้นบนดินจะถูกไฟไหม้ไปจนหมด โชคดี ยังเหลือรากเหง้าใต้ดินที่สะสมอาหารไว้เพียบก็จะส่งลำต้นขึ้นมาอีก ปีแล้วปีเล่าที่ต้นสักต้องต่อสู้กับไฟป่า กว่าจะรอดตายจากไฟป่า เชื่อไหม ต้นสักก็ต้องใช้เวลาถึง 15 ปี (ผลงานวิจัยของนายสมเพิ่ม กิตตินันท์ พ.ศ.2511)
เพื่อนๆต่างอายุของผมเดินตัวปลิวนำไปแล้ว แต่ผมยังเดินไต่ไปตามระดับที่เริ่มเพิ่มน้ำหนักให้รู้สึกว่า ตัวเราหนักขึ้นเมื่อก้าวเดินขึ้นที่สูง เหงื่อไหลโทรมตั้งแต่หนังศีรษะ ใบหน้า คอ ซอกรักแร้ หน้าอก และง่ามขา เปียกปอนไปทั่ว ข้อเข่าตึง น่องก็ตึง หายใจไม่ทั่วท้อง ผมเลยใช้ยุทธวิธี “หยุดดู” กล้าไม้ป่าอีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นไม้เถาเลื้อยใบสีเขียวเรียวปลายแหลม กลีบดอกสีม่วง สวย
นั่นคือเถาย์และดอก “ต้นรางจืด” ซึ่งนักเลงเหล้าชาวเหนือ นิยมเคี้ยวรากหรือเหง้าหรือเถาจนน้ำลายแตกฟอง แล้วกลืนกิน ก่อนจะไปนั่งดื่มเหล้าเคล้าเสียงเพลง กินเหล้าเข้าไปเท่าไรก็ไม่รู้สึกเมา แต่ในวิทยาการทางสมุนไพรไทยในปัจจุบันนี้ ใช้ “ใบรางจืดตากแห้ง” แล้วชงเป็นน้ำชาดื่มแทนน้ำ ล้างพิษให้กับร่างกาย สุขภาพจะแข็งแรงและสบายตัว หายปวดเมื่อย
ผมตีโค้งขึ้นไปตามเส้นทาง หยุดอีกอึดใจเดียว เพื่อถ่ายรูปกล้วยป่ากำลังตกเครือ นึกถึงความหลังเมื่อครั้งต้องไปลุยเดี่ยวอยู่บนยอดดอยอินทนนท์ ผมเคยตัด”หัวปลี”และตัดต้นเอา “หยวกกล้วย” มาแกงแคกับปลาย่าง นึกขอบคุณต้นกล้วยป่าที่เคยให้อาหาร ซึ่งที่สวนป่าเกริงกระเวียแห่งนี้มีขึ้นเยอะมาก ป้ายสื่อความหมายบอกว่าเดินมาแล้ว 1,300 เมตร
เพื่อนๆ เดินมาปรบมือเชียร์ แล้วชวนเดินลงเพื่อกลับไปตามถนนอีกเส้นระยะทาง 300 เมตร ก่อนจะลงไปเอาเท้าแหย่น้ำตกเล็กๆข้างทาง นั่งพักเหนื่อย รอให้เหงื่อที่ไหลย้อยโทรมกายแห้ง รวมระยะทางทั้งสิ้น 1,600 เมตรแค่นั้นเอง ก่อนสิ้นสุดการเดินทาง ผมจับภาพนกเหยี่ยวนกเขาชิคราได้หลายภาพ ดีใจหลายทีเดียว
นกเหยี่ยวนกเขาชิครา
ขอขอบพระคุณ คุณพิพัฒน์ ชนินทร์ยุทธวงศ์ รองผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ E-mail:pipattt@gmail.com
และคณะเจ้าหน้าที่สวนป่าเกริงกระเวีย หัวหน้าอาคม ตุ้นรัตน์ วน.63 โทร. 087-0153210 ผู้ช่วยเกียรติธานี คลังทอง วน.64 โทร.081-7092724 และผู้ช่วย ธีระพล ใบธรรม วน.60 โทร.084-4135169 ที่อำนวยความสะดวก