http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,960,938
Page Views16,267,288
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

นพพร นนทพา ต้นธารนักวิชาการป่าไม้ในสายเลือด

นพพร นนทพา ต้นธารนักวิชาการป่าไม้ในสายเลือด

นพพร นนทพา

ต้นธารนักวิชาการป่าไม้ในสายเลือด

และเพื่อนบ้านนักอนุรักษ์

โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

นพพร นนทพา วน.58

          วันหนึ่ง ผมได้รู้จักเพื่อนเฟสบุ๊กนามว่า นพพร นนทพา จบปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิต(วนศาสตร์ 58) จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  เขาตั้งตนเป็น “ขุนดง 58 แจกพันธุ์ไม้ 24 ชม.” เปิดเว็บไซต์ชื่อ www.khundong.com เพื่อแจกเมล็ดพันธุ์ไม้ให้ฟรี 24 ชม. โดยมีเงื่อนไขตามที่กำหนดในเว็บไซต์


           คุณนพพร นนทพา จบวนศาสตร์รุ่น 58 สาชาชีววิทยาป่าไม้ ระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิต(ว.ท.บ.)คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ทำงานลูกจ้างกรมป่าไม้ช่วงเวลาหนึ่ง จึงได้สอบบรรจุเป็นข้าราชการที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์  ปัจจุบันนี้เป็นนักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ


ดอกหมักหม้อ

            แต่งงานแล้วกับสาวพยาบาลสังกัดโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีบุตรชาย 2 คน ชื่อบักเข็มและบักต้นไม้ กู้เงินธนาคารปลูกบ้านชั้นเดียวบนที่ดินขนาดกำลังดี ผ่อนรถเก๋งเล็กๆอีกคันหนึ่งเพื่อรับส่งพ่อแม่ลูกตามหน้าที่ แต่หลังจากเวลางานราชการ คุณนพพรทำหน้าที่นักวิชาการป่าไม้ ในสายเลือด ทุกวัน 24 ชั่วโมง


             เขาเปิดเว็บไซต์ชื่อ www.khundong.com เพื่อเป็นสื่อกลางให้คนที่ชื่นชอบและอยากปลูกต้นไม้ รอบบ้านเป็นแปลงเพาะกล้าไม้ รถซุกหรือรถเข็นพร้อมขนส่งกล้าไม้ หรือบรรจุกล่องบรรทุกรถเก๋งไปส่งยังท่ารถ หรือบริษัทที่รับส่งสินค้า โดยไม่มีค่าถุงพลาสติก ค่าดินที่ใช้เพาะชำ ค่าเมล็ดไม้ที่ตระเวนเก็บหาเอาจากป่าดงหัวไร่ปลายนา เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้คิดเป็นตัวเงิน


             คุณนพพรมีความรู้เรื่องชนิดพันธุ์ไม้มากกว่าวนศาสตร์อีกหลายพันคน  แม้แต่ผมเองซึ่งเป็นคนเขียนหนังสือชื่อต้นไม้ยาน่ารู้ 2 เล่มจำหน่ายก็ยังรู้จักพันธ์ไม้น้อยกว่า เป็นความหวังของวงการป่าไม้ที่ไม่มีใครล่วงรู้ เขาปิดทองหลังพระมาตลอดเวลาหลายปี แจกเมล็ดพันธุ์ไม้ไปกี่หมื่นกี่แสนเมล็ดไม่ได้บันทึกไว้ แต่ใครขอมา เขาส่งให้(ช่วยจ่ายค่าส่งด้วยนะครับ)


           วันหนึ่งเขาโพสท์รูปดอกต้นหมักหม้อ สีขาวงามตา ผมตามติดและพยายามจะไปถ่ายรูปดอกต้นหมักหม้อ แต่ก็พลาดกันไป ดอกต้นหมักหม้อถูกแมลงกัดกินจนหมดรูป นึกในใจ ฝากไว้ก่อน ตามดอกต้นนี้มากว่า 10 ปีแล้ว ปีหน้ารออีกครั้ง ตกลงกันแล้วก็ปล่อยเวลาให้ผ่านไปตามกรรม จนเมื่อลมร้อนแห่งเดือนเมษายนผ่านมา ดอกหมักหม้อผลิดอกออกช่อพราวไปทั่ว


ผลและดอก

           “พี่ธง ดอกหมักหม้อบานแล้ว” คุณนพพร เฟสแจ้งมา ผมตื่นเต้นที่เผลอแป๊บเดียวหมักหม้อบานอีกแล้ว ความจริง ปีหนึ่งเต็มๆ แต่การรอคอยมีความหวังจึงเหมือนไม่รู้สึกว่าช้านาน

           “คืนนี้ ผมจะนั่งรถทัวร์ขึ้นไปนะ” ผมตอบแล้วเตรียมตัวเดินทางเข้ากรุงเทพ เพื่อไปรอเวลารถทัวร์ออก 23.45 น.คืนวันที่ 17 เมย.57


             เช้ามืด คุณนพพรมารับด้วยรถเก๋งเล็กๆ ผมเพิ่งได้เห็นตัวจริงของคุณนพพรครั้งแรก หนุ่มวนศาสตร์ผิวดำกร้านแดด ตัดผมสั้นประหยัดน้ำมันใส่ผม ตาแป๋วแหววแบบคนมีไฟและมีความจริงใจ ท่าทางบ้านนอกๆ ถ้าไม่บอกใครว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ชำนาญการหรือเป็นข้าราชการของมหาวิทยาลัย ก็นึกว่า ชาวบ้านธรรมดา

              คุณนพพรพาผมไปแวะซื้อกาแฟกระป๋องดื่มกัน ผมเป็นคนขี้หิวได้กลิ่นหมูปิ้งและไก่ย่างหน้าร้านก็เดินรี่เข้าถึง ซื้อข้าวเหนียว 2 ถุง 10 บาท หมูปิ้ง 10 ไม้ ไก่ย่าง 2 ไม้ ใส่รถแล้วออกเดินทางไปตามถนนลาดฝุ่นแดงๆ ผ่านดงไม้หัวไร่ปลายนาปลายสวนคุณนพพรก็ชี้ชวนให้ชมพันธุ์ไม้ป่าที่หลงเหลืออยู่

               “โคกพวกนี้ มีโฉนดครับ แต่ป่าหย่อมเล็กหนย่อมน้อยยังเหลืออยู่ ครูคนหนึ่งดัดแปลงป่าในที่ดินเป็นค่ายลูกเสือ ก็มีลูกเสือมาใช้บริการ เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่เจ้าของที่ดินจะรักษาป่าเหล่านี้ไว้ให้คงอยู่ ผมขนกล้ายางนามาให้ปลูกเสริมไปด้วยบางส่วน” คุณนพพรเล่าไปเรื่อยๆ

                “โน่นครับ ต้นหมักหม้อดอกขาวไปทั้งต้น แต่เราจะไม่แวะนะครับ” เลยไปอีกที่สองที่มีต้นหมักหม้อขึ้นและออกดอก จนถึงหน้าวัดป่าแห่งหนึ่ง มีต้นไม้ป่ามากกว่าปกติ ต้นหมักหม้อผลัดใบทิ้งเกลี้ยง บางกิ่งกำลังผลิใบใหม่   แต่ผลิดอกสีขาวรูประฆังช่อละ 3-5 ดอก เต็มไปทั้งต้น กลิ่นหอมฟุ้งมาแต่ไกล หอมจัง


                เราลงไปยืนชมดอกหมักหม้อนอกรถ แล้วเปิดท้ายรถยกถุงของกินมายืนกินกันไปง่ายๆแบบหนุ่ม เอ้ย แก่คนหนึ่ง นี่แหละวิถีชีวิตของหนุ่มวนศาสตร์ หรือที่ผมชอบเรียกตัวเองว่า นักวิชาการป่าไม้ มื้อไม้ไม่ได้ล้าง ขี้ตาควักล้างไปแล้วจากห้องสุขา บขส. แปรงฟันพร้อม กินกันไปก็คุยกันไป ดูโน่นนี่ไม่มีพ้นต้นไม้


                 ข้างๆต้นหมักหม้อหน้าวัดป่า มีต้นมะกอกเกลื้อน หรือหมากเลี่ยม แตกสามนาง มียางไหลออกมากองใหญ่ แห้งสนิท สีดำน้ำตาล ต้นมะกอกเกลื้อนต้นนี้มีผลสุกร่วงหล่นเมื่อไร พรานไพรก็จะสุ่มยิงเก้งกวางและหมูป่าที่มากินผลสุก นั่นเป็นวิถีชีวิตของพรานป่าในอดีต ต้นไม้ป่าหน้าร้อนจะทิ้งผลสุกเป็นอาหารสัตว์ป่าได้แก่ มะกอกป่า มะเกิ้ม มะกอกเกลื้อน  เขลง  ฯลฯ แต่มะกอกเกลื้อนต้นนี้ผลใช้ปรุงอาหารแทนหนำเลี๊ยบจีนได้อร่อยคือกัน


ยางต้นมะกอกเกลื้อน

                บนต้นหมักหม้อมีผลแก่คากิ่งอยู่ก็มี ร่วงหล่นใต้ต้นก็มี คุณนพพรเดินไปบี้หาเมล็ดแล้วก็บ่นว่า ไม่เหลือ แมลงกินไปหมด อาจมีเบี้ย(กล้าไม้ที่ขึ้นใต้ต้นแม่)งอกอยู่ แต่ก็ไม่เห็นมี ผมทำหน้าที่ถ่ายรูปอย่างโหยหา เพราะว่าหิวถ่ายดอกหมักหม้อมากว่า 10 ปี ครั้งนี้โชคดี ขอถ่ายให้สะใจ ดอกตูมสื่อความหมายว่าช่อดอกหนึ่งๆมีกี่ดอก ดอกบานรูประฆังคว่ำแต้มสีน้ำตาลใต้กลีบดอก ใบที่ผลิใหม่ๆใกล้ๆก้านดอก ถ่ายๆๆๆ


                  สายแล้ว คุณนพพรขัยรถวนกลับไปยังค่ายลูกเสือ แต่ไม่ได้เข้าค่าย แวะไปสวนรุ่งอรุณของคุณพัลลภ-ดวงตา ชัยนิคม สองสามีภรรยามีที่ดินป่ารุ่นสองแห่งนี้ 9 ไร่เศษๆ บ้านสวนที่ปลูกด้วยวัสดุพื้นถิ่น เป็นที่นั่งเสวนา รับประทาอาหาร ดื่มน้ำแดงแช่เย็น มีต้นพลวงหรือที่คนอีสานเรียกว่าต้นกุง แต่คนเหนือเรียกต้นตองตึง


คุณนพพร คุณดวงตา ทำงานคณะเดียวกัน

                คุณนพพรเล่าว่า “คนอีสานใช้ “ใบตองกุง” ห่อข้าวเหนียว ไม่นิยมใช้ใบมุงหลังคาบ้านหรือกระต๊อบ ซึ่งต่างจากคนเหนือที่นิยมใช้ใบตองตึงมุงหลังคาบ้าน กั้นฝาเรือน และห่อข้าวนึ่งหรือข้าวเหนียวไปกินในสวนหรือเดินป่า แต่เนื้อไม้ใช้สร้างบ้านเรือนได้อย่างดีเหมือนกัน”


ปีกผลต้นพลวง

               ต้นพลวงเป็นไม้ป่าเต็งรัง หรือป่าโปร่ง ขึ้นผสมกับต้นเต็ง ต้นรัง ต้นแดง ต้นประดู่ ฯลฯ สวนรุ่งอรุณเหลือต้นใหญ่ต้นเดียว แต่มีลูกไม้ขึ้นจากผลที่ร่วงหล่นหลายต้น ในดงไม้รุ่นสองนั้นมีพันธ์ไม้หลายชนิดปะปนกัน มีต้นยางนารุ่นๆแซม


คุณพัลลภกับเตาเผาถ่าน

              “ผมเห็นพี่พัลลภกับพี่ดวงตาชอบต้นไม้ อนุรักษ์ไว้เยอะก็เลยเอากล้ายางนามาฝากให้ปลูก พูดติดตลกว่า ต่อไปจะมีเห็ดระโงกให้กินนะ วันนี้ต้นยางนากำลังเติบโตผสมกับไม้ป่านานาชนิด เกิดเห็ดระโงกออกจากเชื้อไมคอไรซ่าที่ติดมากับต้นยางเพียบ แต่ละปีเก็บขายได้หลายร้อยกิโลกรัม เห็ดระโงกนี่กก.ละ 2-300 บาท เป็นรายได้เสริมให้กับพี่เขาครับ” คุณนพพรเล่าไปเรื่อยๆ พร้อมกับชี้ให้ดูรูปเห็ดระโงกและสองผัวเมีย


              คุณพัลลภเล่าเสริมว่า “ผมชอบใช้ชีวิตในบ้านสวน ไม่มีงานใดก็เข้ามาอยู่กับต้นไม้ กระหายก็มีน้ำแดงแช่ตู้เย็นไว้ดื่มกิน บางทีก็เก็บไม้มาเผาถ่านไว้ใช้ ว่างๆก็นั่งก็”แย้ลงรู” ตัวผู้ก็เจ้าสีสดๆลายพร้อยนั่นแหละ ส่วนตัวเมียก็สีน้ำตาลเทา มีแผงท้องสีส้ม นานทีได้เห็นบทรักของเขาด้วย”  


แย้ตัวเมีย

              “แย้นี่มีวินัยดี เช้าๆจะเปิดปากรูแล้วออกมาหากินมดแมลงจนอิ่มก็จะลงรูตอนสายๆ ตอนกลางวันหิวก็จะออกมาหากินจนอิ่ม

หลังจากนั้นลงรูแล้วจะปิดปากรูไม่ให้ใครรบกวน “จำศีล” จนกว่าจะถึงเช้าตรู่อีกวันหนึ่ง แต่ร่องรอยการเลื้อยคลานลงรูยังเห็นได้


              “ที่นี่เราไม่กินแย้ เราอนุรักษ์ไว้ อ๋อ เมื่อก่อนตอนเด็ก ตีกินประจำแหละ แฮะๆๆ”

              “บ้านผมที่กาฬสินธุ์ ถือว่าแย้เป็นสัตว์จำศีล ไม่กินกันทั้งหมู่บ้านครับ” คุณนพพรเสริม


แย้ตัวผู้

              ผมเคยเดินป่าทำงานแถงริมฝั่งโขงอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เห็นชาวบ้านคล้องคอกิ้งก่าและตีแย้กินกันหมด ลาบบ้าง ปิ้งย่างบ้าง ห้อมหอม ผมก็เคยได้กินกับเขาด้วย ในช่วงเวลานั้นผมไม่เคยรู้เลยเรื่องแย้จำศีล กินอร่อยอย่างเดียว ส่วนเรื่องกิ้งก่า อ้าวพูดไม่ทันขาดคำ โผล่มาเกาะต้นพลวงได้ไง หัวและคอสีเขียวน้ำเงิน เกล็ดพองวาว ท่าทางเหมือนว่าจะเข้าฤดูผสมพันธุ์ หรือกำลังจะออกศึก


กิ้งก่าเปลี่ยนสี สู้กัน

                ทันใด ก็ได้เห็นว่ามีกิ้งก่าอีกตัวทางใต้ต้นพลวง กำลังเปล่งสีขับสารสู้ก๋าออกมาเหมือนกัน เขาค่อยๆคืบคลานเข้าหากัน ผมนึกในใจ “มันตีกันแน่” กดชัดเตอร์กล้องทีละช็อตๆคอที่เปล่งพองมีเกล็ดสีน้ำเงินแกมเขียวอมม่วง ดูสวยดี ครีบบนแนวสันหลังตั้งกาง ดึงภาพมาใกล้ๆเหมือนไดโนเสาร์โบราณ นาทีหนึ่งเขาพุ่งเข้าหากัน ใช้ปากกัดใส่กันและกัน  ไม่โหด ไม่เห็นเลือดนอง และไม่เห็นแผลเหวอะหวะ ไม่สยดสยองอย่างในหนังเลย น่ารักมากๆ


               มนุษย์ 4 คนนั่งมองและหัวเราะขำขันกับบทบาทการต่อสู้ของสัตว์โบราณที่ยังเหลืออยู่ ช่างสวยงามและน่ารักมากๆ ดูเพลินจนผมพยายามถ่ายวิดีโอพลาด เลยได้แต่ภาพนิ่ง


สัตว์โลกล้านปีหรือเปล่าหนอ

               นำเสนอในฉากหนึ่งของเรื่องราวน่ารักที่บ้านหนองหลุบ ตำบลแดงใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น อำนวยการสร้างโดยคุณนพพร นนทพา ถ่ายทำโดยธงชัย เปาอินทร์ อดีต ผอ.ส่วนผลิตสื่อ กรมป่าไม้ กำกับโดยคุณพัลลภ ชัยนิคม เจ้าของสวน และนั่งเชียร์โดยนางดวงตา ชัยนิคม คนงานถากหญ้า 

               

Tags : คืนคนดีสู่สังคม

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view