ท่องอุบลแบบคนอุบล
๒.ชมเทียนพรรษาไหว้พระแก้วคู่เมือง
โดย เอื้อยนาง เรื่อง-ภาพ
บุญประเพณีแห่เทียนพรรษาแม้จะผ่านไปแล้ว แต่ความยิ่งใหญ่อลังการมหัศจรรย์แห่งเทียนต้น ยังคงเป็นภาพพิมพ์ประทับในความทรงจำอยู่อีกนานแสนนาน
หลายคนแวะเวียนไปทุ่งศรีเมืองและสถานที่โดยรอบตั้งแต่ก่อนวันงานบุญ วันแห่ต้นเทียน กระทั่งหลังวันเข้าพรรษาอีกหลายวัน อยากได้ภาพต้นเทียนล้วน ๆ ในมุมสวย ๆ ไร้เงาผู้คน แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย เพราะใคร ๆ ก็ชื่นชม อยากถ่ายรูปกับต้นเทียน อยากดูใกล้ ๆ อยากลูบคลำ(ซึ่งก็มีผู้ทำจนเทียนสึกกร่อนน่าเสียดาย)
อยากท่องอุบลอยากดูต้นเทียนเต็มตาจึงต้องแวะเวียนไปแถวทุ่งศรีเมืองและวัดต่าง ๆ ใกล้เคียงหลายครั้งทั้งก่อนและหลังวันแห่เทียน พ่วงลูกเล็กเด็กแดงไปเที่ยวกันสนุก เพราะเป็นช่วงโรงเรียนหยุดด้วย
“ไหนล่ะต้นเทียน นี่หรือต้นเทียน” น้องจีด้ามองหุ่นรูปเทวดา พญาครุฑ พญานาค ที่ตั้งตระหง่าน อร่ามเรืองอยู่ตรงหน้าแล้วถามพลางขมวดคิ้วสงสัย
นับประสาอะไรกับเด็กวัยอนุบาลอย่างน้องที่ต้องสงสัย เพราะความวิจิตรพิสดาร ประณีต ลออละอองอ่อนช้อยแห่งฝีมือสลักเสลาเกลากลึงที่ได้เห็นนั้น มันช่างเหลือเชื่อ เหนือจินตนาการ แม้แต่ผู้ใหญ่ยังสงสัยอยู่ว่านี่คือเทียน หรือขี้ผึ้งแน่หรือ
ช่างยากในการจะอธิบายให้เด็กวัยน้องจีด้าให้เข้าใจ โชคดีเหลือเกินในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานีที่อยู่ใกล้กันนั้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)อุบลราชธานี จัดให้เป็นสถานที่ที่จัดกิจกรรมหนึ่งในหลายกิจกรรมในเทศกาลงานแห่เทียนพรรษานี้ นั่นคือ “กิจกรรมประติมากรรมเทียนศิลปะร่วมสมัย” โดยศิลปิน ๑๓ ศิลปินจาก ๘ ประเทศขึ้น มีการแสดง สาธิต การทำเทียนให้แก่ผู้สนใจ และได้ตอบคำถามน้องผู้ช่างสงสัยได้ทดลองกันสนุกด้วย
มีเทียนที่ต้มจนละลายร้อนๆ ใส่ถังตั้งไว้ให้ทดลองด้วยการจุ่มมือลงไปนำขึ้นมาแช่ในน้ำเย็น หลาย ๆ ครั้งจนเทียนพอกเต็มฝ่ามือ ได้ต้นเทียนรูปฝ่ามือชูขึ้นมาอวดกัน
พี่อิ๊กคิวนั้นเป็นหน่วยกล้าหาญกระทำการหล่อเทียนให้น้องดูจนสิ้นสงสัย ขอบคุณผู้คิดโครงการนี้ขึ้นมา ขอบคุณเจ้าของสถานที่เขาละ
หลังจากชมเทียนรูปแปลกตา ของศิลปินนานาชาติแล้วก็ได้เวลาไปไหว้พระ และดูต้นเทียนของจริงในวัดกันละ
ใกล้ ๆ กันนั้น ฝั่งตรงกันข้ามกับพิพิธภัณฑสถานฯนั้นเป็นที่ตั้งวัดศรีอุบลรัตนาราม(ที่ตั้งโรงเรียนพี่อิ๊กคิวด้วย) ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วบุษราคัม พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอุบลราชธานี โอกาสอย่างนี้ควรไปกราบไหว้ขอพรอย่างยิ่ง
พระแก้วบุษราคัม เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของอุบลราชธานี และเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปตระกูลแก้วนพรัตน์ซึ่งบรรพบุรุษอุบลราชธานีนำมาด้วยจากล้านช้าง เพื่อปกปักรักษาป้องกันเภทภัยจากข้าศึกศัตรู เป็นมิ่งขวัญส่งเสริมกำลังใจให้ลูกบ้านชาวเมืองเข้มแข็ง ยืนหยัด ต่อสู้กันมาจนรุ่งเรืองเป็นเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัย ประเทศราช ตลอดมาตราบปัจจุบัน ซึ่งถูกเก็บรักษาซุกซ่อนไว้อย่างดีในช่วงเวลาที่บ้านเมืองยังไม่ตั้งมั่น หวั่นไหว ภายหลังจึงได้อัญเชิญมาไว้ที่เปิดเผยให้ลูกหลานสาธุชนได้กราบไหว้เป็นสิริมงคล
พระพุทธรูปตระกูลแก้ว(แก้ว๙ชนิด)ในเมืองอุบลมีอยู่หลายองค์ กระจายในหลายวัด ต่างมีตำนานการเก็บซ่อน และได้มาคล้าย ๆ กัน คือ
พระแก้วหยดน้ำค้าง วัดสุปัฏนาราม พระแก้วมรกต วัดเลียบ พระแก้วโกเมน วัดมณีวนาราม(วัดป่าน้อย) พระแก้วนิลกาฬ วัดเลียบ พระแก้วไพฑูรย์ วัดหลวง
สำหรับ พระแก้วบุษราคัม วัดศรีอุบลรัตนาราม เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสร้างด้วยแก้วสีน้ำผึ้ง(เหลืองเข้ม) ขนาดหน้าตัก ๓ นิ้ว สูง ๔ นิ้ว ตามตำนานเป็นสมบัติของเจ้าปางคำ(เชื้อพระวงศ์จากเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า)ซึ่งมาพึ่งเวียงจันทน์ตั้งเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน(หนองบัวลุ่มภู) ต่อมาตกเป็นของลูกหลาน คือ พระตา พระวอ จนถึงท้าวคำผง เมื่อเกิดเหตุต้องทิ้งนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานก็จึงเป็นสมบัติติดตัวมาจนถึงเมืองอุบลราชธานี ศรีวนาลัยประเทศราช ในช่วงหนึ่งได้นำไปเก็บซ่อนไว้ที่วัดบ้านนอกห่างไกลจากตัวเมือง(วัดบ้านวังกางฮุง อ.วารินชำราบคนละฟากฝั่งแม่น้ำมูล)เป็นเวลาหลายปี ต่อมาเมื่อเห็นว่าปลอดภัยและมีการสร้างวัดศรีทอง(นามเดิมของวัดศรีอุบลรัตนาราม)จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่นี่ และทุก ๆ ปีในช่วงเทศกาลสงกรานต์จึงได้อัญเชิญลงไปแห่รอบเมืองก่อนกลับมาประดิษฐานไว้ที่ศาลาด้านนอกให้ประชาชนได้มาสรงน้ำประจำทุกปี
วันนี้ไม่ใช่สงกรานต์แต่เป็นเทศกาลเข้าพรรษา เราจึงได้กราบพระแก้วกันในโบสถ์ นอกจากพระแก้วบุษราคัม ในวัดศรีอุบลรัตนารามแล้ว พระแก้วในวัดใกล้ ๆ ที่ได้ไปกราบไหว้ ก็คือ พระแก้วโกเมนวัดมณีวนาราม(วัดป่าน้อย) เพียงขับรถอ้อมทุ่งศรีเมืองไปด้านทิศตะวันออก ผ่านหน้าวัดทุ่งศรีเมืองไปทิศเหนือก็ถึงวัดป่าน้อยที่มีต้นไม้ใหญ่ ๆ สูงเสียดฟ้า ประกาศความเป็นดงอู่ผึ้งในอดีตให้เห็นอย่างภาคภูมิใจอยู่มากมาย
พระแก้วโกเมนก็เป็นหนึ่งในมรดกล้ำค่าที่มีตำนานการเก็บรักษาเช่นกันกับพระแก้วบุษราคัม แต่พระพุทธรูปสำคัญองค์นี้พบในผอบไม้จันทน์ในวัดบ้านกุดระงุม อำเภอวารินชำราบ ซึ่งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำมูลกับอุบลราชธานีเช่นกัน