http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม14,003,423
Page Views16,312,277
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ท่องอุบลแบบคนอุบลตอน3.เที่ยวทุ่งศรีเมือง

ท่องอุบลแบบคนอุบลตอน3.เที่ยวทุ่งศรีเมือง

ท่องอุบลแบบคนอุบล

๓.เที่ยวทุ่งศรีเมือง : รำลึกเรื่องเจ้านางเจียงคำ

เอื้อยนาง

 

          ทุ่งศรีเมือง เป็นสนามกว้างใหญ่ใจกลางเมืองอุบลราชธานี  รายรอบทั้งสี่ด้านเป็นสถานที่สำคัญในจังหวัด เช่น วัด โรงเรียน ศาลากลางจังหวัด ที่ทำการเทศบาลนครอุบลราชธานี  และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี  ด้านทิศใต้ต่อเชื่อมกับพิพิธภัณฑ์ฯนั้นเป็นที่ตั้งศาลหลักเมือง 

            ปัจจุบันทุ่งศรีเมืองจัดเป็นสวนสาธารณะ  เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ  ที่ออกกำลังกายสำหรับชาวเมือง  ภายในร่มรื่น  สวยงาม  ยังมีคูน้ำล้อมรอบทั้งสี่ด้าน ประตูทางเข้าทั้งสี่ทิศมีสะพานเชื่อมข้ามคู   ภายในเด่นเป็นสง่าสะดุดตาด้วยต้นเทียนปูนปั้นขนาดมโหฬารแสดงไว้เป็นสัญลักษณ์ของอุบลราชธานี

ทุ่งศรีเมืองแห่งนี้  ในโอกาสสำคัญ ๆ ใช้เป็นที่จัดงานของทางราชการ ตลอดงานออกร้าน  งานแสดงต่าง ๆ

            ในเนื้อที่ ๓๕ ไร่ที่ล้อมรอบด้วยคูน้ำนั้นจัดแบ่งโซนปลูกไม้ใหญ่  ไม้ประดับไว้อย่างสวยงาม   มุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์แห่งความดีที่แสดงถึงประวัติศาสตร์อุบลเกี่ยวพันกับสงครามมหาเอเชียบูรพา  ถัดมาคืออนุสาวรีย์ท่านท้าวคำผงพ่อเมืองคนแรกผู้นำพาลูกหลานจากล้านช้างอพยพหนีภัยและต่อสู้ข้าศึกศัตรูโชกโชนกว่าจะรอดมาตั้งอยู่ ณ ดงอู่ผึ้งแห่งนี้  และทุ่งศรีเมืองแห่งนี้ก็คือสถานที่จัดงานพิธีฌาปนกิจท่านตามแบบประเพณีดั้งเดิม แบบสร้างเมรุบนนกหัสดีลิงก์(คำพื้นเมืองเรียก-นกสักกะไดลิง)ซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษจากเชียงรุ่งแสนหวีฟ้า(เซียงฮุ่ง) 


             ทุ่งศรีเมืองจึงถูกใช้งานสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ความบันเทิง หลากหลายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  เคยเป็นสนามลงข่วง  สนามมวย  สนามม้า  เป็นที่ประชันวงหมอลำ  วงดนตรี  หนังกลางแปลง  เป็นที่จัดงานแสดงสินค้า  ออกร้านงานกาชาด  งานมหกรรมกีฬา  เกษตรกรรม งานโอทอป  งานเทศกาลวันสำคัญ ๆ ต่าง ๆ และประเพณีบวงสรวงท่านท้าวคำผง    ถนนที่ล้อมรอบสี่ด้านคือเส้นทางขบวนแห่ที่บางครั้งคึกครื้นชวนรื่นเริง  อย่างเช่นแห่เทียนพรรษาเป็นตัวอย่าง  และก็เคยมีบางโอกาสที่มันเงียบสงัดด้วยบรรยากาศแห่งความกลัวเพราะเป็นที่ใช้ประหารนักโทษเสียบหัวประจาน(ยุคปราบกบฏผีบุญอีสาน)เป็นต้น

เคยมีกลอนลำเอื้อนเอ่ยถึงทุ่งศรีเมือง และอุบลราชธานีเป็นภาษาลาวอีสานว่า 

ไผหว่าเมืองอุบลล่ม  ให้เชิญมันไปเบิ่ง

ท่งศรีเมืองยังอยู่โจ้โก้  สิไปล่มได้จั่งใด๋...เดน้อ...

 

                ทุ่งศรีเมืองจึงเป็นทุ่งคู่บ้านคู่เมืองอุบลราชธานีมาตั้งแต่ก่อนจะได้เป็นศรีวนาลัย ประเทศราช   ตั้งแต่ครั้งยังเป็นบ้านห้วยแจระแม  ดงอู่ผึ้ง จนถึงกลายมาเป็นที่ตั้งมณฑลลาวกาว  และจวบจนปัจจุบันที่เป็นจังหวัดอุบลราชธานีเมืองแห่งเทียนคำเทียนหอม

เที่ยวทุ่งศรีเมือง ไหว้อนุสาวรีย์ท่านท้าวคำผง(พระประทุมวรราชสุริยวงษ์)แล้วทำให้รำลึกถึงเจ้านางเจียงคำ เชื้อสายโดยตรงของท่าน(รุ่นเหลน) ซึ่งเป็นเจ้าของเดิมของทุ่งแห่งนี้ที่ได้รับเป็นมรดกตกทอดมา  และเป็นเจ้านายสตรีที่มีความสำคัญมากสำหรับความเป็นอุบลราชธานีสัมพันธ์กับสยามในช่วงยุคต้น ๆ แห่งรัตนโกสินทร์


                 เจ้านางเจียงคำ เป็นชื่อในสำเนียงภาษาพื้นเมืองอุบลที่ยินแล้วให้ความรู้สึกอ่อนโยน สงบ เย็น ยลแล้ว(ภาพถ่ายเก่า ๆ)ให้รู้สึกถึงความน่ารัก บริสุทธิ์ ใส ซื่อ  รวม ๆ แล้วเป็นความเย็นชื่นน่าวางใจเสมอสำหรับชาวอุบลราชธานีผู้คุ้นเคยอยู่กับเรื่องราวเก่า ๆ ยุคสร้างบ้านแปงเมือง  ไม่ว่าจากการฟังเรื่องเล่าขาน   หรือ การอ่านเรื่องพื้นบ้านพื้นเมืองภาษาไทยน้อย(อักษรลาว) ที่กลายมาเป็นกลอนเทศน์ กลอนลำ  คำผญา  และบทเสวนาทางวิชาการในเวลาต่อมา(ยังประทับใจการเล่าเรื่องเหล่านี้จาก พ่อใหญ่บำเพ็ญ ณ อุบลไม่รู้ลืมแม้สิ้นท่านไปแล้ว)

                 ผู้เขียนสะดุดใจนาม “เจ้านางเจียงคำ” หรือ “หม่อมเจียงคำ”  นี้เป็นครั้งแรกเมื่อย้ายจากสกลนครมาทำงานอยู่ที่สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี   ซึ่งตั้งอยู่หลังศาลากลางหลังเก่าที่ถูกเผาไปแล้วนั้น(ทิศตะวันตกของทุ่งศรีเมืองคั่นด้วยถนนอุปราช) และที่บริเวณนี้เองเป็นอีกแปลงหนึ่งที่เคยเป็นมรดกตกทอดของเจ้านางเช่นกับอีก ๕ แปลงรวมทั้งทุ่งศรีเมืองด้วย


                 นั่นเป็นช่วงเวลาที่ทางจังหวัดอุบลราชธานี กับหน่วยงานราชการ  และ  ห้างร้านเอกชนร่วมกันจัดงานใหญ่ฉลอง ๒๐๐ ปี  ซึ่งแม้งานนี้จะมีผู้บ่นหงอดแหงดว่า  ฝ่ายจัดงานนับวันเวลา อายุของเมืองไม่ถูกต้อง  อุบลราชธานีน่ามีอายุมากกว่านี้  เพราะตั้งมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีแล้ว ก่อนกรุงเทพฯซะอีก  บางคนชี้ว่าต้องเริ่มนับตั้งแต่สมัยอยู่หนองบัวลุ่มภู หรือจำปาศักดิ์ที่ร่วมยุคสมัยปลายกรุงศรีอยุธาโน่น  ... แน๊ะ...

                 แต่อย่างไรก็ตามเสียงบ่นนั้นก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร  งานก็ดำเนินต่อไปด้วยดี  ได้รับผลสำเร็จในระดับหนึ่ง  หลายคนที่ถูกยุคสมัยถูกความเจริญทุกด้านผลักดัน ผันแปรวิถีชีวิตไป  ให้ลืมเลือนรากเหง้าเสียนาน  ก็เหมือนถูกสะกิดเตือนให้หวนกลับมามองดูตัวเองได้ทีเดียว  เช่นผู้เขียนเป็นต้น

ภาพและเรื่องราวที่จัดแสดงในทุ่งศรีเมืองส่วนหนึ่งงานนี้นี่เองทำให้เกิดความสนใจอยากรู้เรื่องราวของเจ้านางเจียงคำ


                เพราะบังเอิญผู้เขียนได้ไปถ่ายรูปจากภาพของเธอที่ยืนอยู่กับพระโอรส  ได้ภาพออกมาแบบสะดุดใจเพราะแสงที่สะท้อนกับกระจกและกรอบภาพนั้น กลายเป็นแสงเงาให้ภาพที่ดูแปลก และลึกลับ   คล้ายเป็นสื่อที่เจ้านางต้องการสื่อสารออกมา  บอกเล่าเรื่องราวบางอย่างให้รับรู้  และค้นหา

 อาจเป็นความเชื่อส่วนตัว  แต่ก็คือความฝังใจ  โดยเฉพาะความรู้สึกที่ว่า  สถานที่แห่งนี้ที่เรามาทำงานทุกเช้า คือผืนดินที่เคยเป็นของเจ้านางเจียงคำ 

                ต้น “มะฮอกกานี”  ที่เรียงรายอยู่หน้าสำนักงานฯสูงใหญ่ แตกกิ่งก้านสาขาแผ่ร่มเงาให้เป็นที่จอดรถเย็นสบายของเจ้าหน้าที่  มันเป็นต้นไม้พันธุ์แปลกใหม่ที่แพร่เข้ามาแทนที่ไม้พื้นเมืองในช่วงกำลังเปลี่ยนผ่านยุคสมัย  พร้อม ๆ กับในอินโดจีนของฝรั่งเศสโดยฝรั่งเศส (ในลาวเห็นต้นใหญ่มาก ๆ ที่ริมถนนเมืองท่าแขก) นำรถเข้าจอดใต้ต้นมะฮอกกานีนี้ทีไรให้นึกถึงเจ้านางเจียงคำเสมอ


เจ้านางเจียงคำ

                บริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของดงอู่ผึ้ง  ซึ่งบรรพบุรุษของอุบลราชธานีเข้าจับจองสร้างบ้านแปลงเมือง  มีคำบรรยายในหนังสือประวัติเมืองอุบลเป็นภาษาไทยน้อย(ลาว)ไว้ว่า(ถ่ายเป็นตัวไทยโดย ปรีชา พิณทอง) เผิ้งแลมิ้มมีแท้สู่หง่ายาง  (มีผึ้ง มีมิ้มอยู่ทั่วทุกกิ่งของต้นยาง) เข้าบุกเบิกถากถางกันแล้วที่ตรงนี้คงเคยเป็นสวน หรือไร่นา  ต้นยางพร้อมรวงผึ้งหายไปช่วงไหนเราไม่รู้ได้  ระหว่างที่เจ้านางเป็นเจ้าของ  หรือไร ก่อนมะฮอกกานีที่นี่มีต้นอะไรอยู่ก่อน 

ทุกอย่างแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา  สิ่งเก่าหายไป  สิ่งใหม่เข้ามาแทนที่ เช่นเจ้าของที่ตรงนี้  และป่าดง  เช่นมะฮอกกานีมาแทนป่ายางป่ายูง(ยางนา และพะยูง)  สำนักงานของรัฐมาแทนเจ้านาง  เพื่อประโยชน์ของปวงชนรุ่นหลัง

              

                  เจ้านางเจียงคำ  (หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา)ถือเป็นลูกหลานสายตรงจากเจ้าพระตา  เจ้าคำผง บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งเมืองอุบลราชธานี เป็นธิดาหล้า(คนสุดท้อง)ของท้าวสุรินทร์ชมพู(หมั้น บุตโรบล)กับ ญาแม่ดวงจันทร์ ถือกำเนิดเมื่อ ๔ ธันวาคม ๒๔๒๒  เป็นช่วงที่ประเทศราชชายขอบอย่างอุบลราชธานี(รวมเมืองใกล้เคียงเป็นหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ)เริ่มสั่นคลอนด้วยการเข้ามาของการล่าอาณานิคมชาติตะวันตก  รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงมีสายพระเนตรยาวไกล  ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครองหัวเมืองมาอย่างต่อเนื่อง  เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ให้เข้มแข็งรับมือกับอำนาจนักล่าผู้กระหายทรัพยากรจากตะวันออกทั้งหลายได้

                 อุบลราชธานีนับเป็นศูนย์กลางการศาสนา  การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม ความเจริญที่รับมาจากกรุงเทพฯสำหรับภูมิภาคนี้อยู่แล้วในช่วงนั้น  ด้วยความสัมพันธ์แนบแน่นช่วยเหลือ อุ้มชู กันมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมืองแล้ว  ช่วงยุคสมัยรัชกาลที่ ๒-๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีกุลบุตรชาวอุบลลงไปบวชเรียนจนสำเร็จได้รับยศตำแหน่งทางพุทธศาสนา  และกลับขึ้นมาช่วยพัฒนาด้านนี้  เป็นพระภิกษุผู้มีตำแหน่งครูบาอาจารย์   มาตั้งสำนักสั่งสอนถ่ายทอดทั้งอักษรสมัย(เดิมมีแต่อักษรขอม  อักษรไทยน้อย) และศิลปะวิทยาการที่ผสมสานความเป็นรากเหง้าจากล้านช้างกับสยามจนเกิดช่างฝีมือ  สร้างสรรค์รูปแบบเฉพาะตน  อันโดดเด่น เรียกว่าตระกูลช่างเมืองอุบลขึ้นในหลายแขนงทั้งสถาปัตยกรรม  จิตรกรรม  และหัตถกรรม


                  เจ้านางเจียงคำของเรา  ยังเป็นเจ้านางน้อยอายุ เพียง ๑๒ ขวบเองเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองหัวเมืองลาว  โดยรวมหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือ(อุบลราชธานี และจำปาศักดิ์)เป็นหัวเมืองลาวกาว เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๔ มีกรมหลวงพิชิตปรีชากร(ทรงเป็นพระเจ้าน้องยาเธอของรัชกาลที่ ๕)เสด็จมาเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำ ณ จำปาศักดิ์แต่ทรงประทับว่าการอยู่ที่อุบลราชธานี

                  ครั้นปี พ.ศ.๒๔๓๖ กรมหลวงพิชิตปรีชากรทรงย้ายจากไป  บุคคลสำคัญยิ่งสำหรับเจ้านางเจียงคำกับอุบลราชธานี รวมถึงอีสานจึงมาปรากฏที่อุบลราชธานี  นั่นคือพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช  กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์  พระเจ้าน้องยาเธออีกพระองค์หนึ่ง  เสด็จมาพร้อมข้าราชบริพาร ทหาร ตำรวจ จำนวนกว่า ๒๐๐ นาย  สร้างความตื่นเต้นให้ชาวอุบลราชธานีซึ่งมีทั้งหวาดหวั่น และชื่นชมยินดีในระยะแรก ๆ ที่มา(ชาวอุบลขานนามพระองค์ท่านว่า เสด็จในกรม)

๐๐๐

(ยังมีต่อ)

 

Tags : ท่องอุบลแบบคนอุบล2.

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view