ไหว้พระเมืองลี้ ลำพูน
ตอน 1. วัดบ้านปาง ชมพิพิธภัณฑสถานครูบาเจ้าศรีวิชัย
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
การเดินทางที่ยาวไกลและคดเคี้ยว
จากกรุงเทพมหานครถึงเมืองเถิน จังหวัดลำปาง รถยนต์วิ่งได้สบายๆไม่น่าวิตกกังวลแต่อย่างใด แต่เมื่อถึงเมืองเถินและกำลังจะแล่นผ่านแดนดินถิ่นภูเขาสูงสลับซับซ้อน เพื่อไปยังเมืองลี้ จังหวัดลำพูน บนถนนสาย 1 (พหลโยธิน แล้วแยกจากเถินไปลี้-บ้านโฮ้ง สาย 106) สองช่องจราจร ลาดยางอย่างดี ถนนเลาะเลียบไปตามไหล่เขาและไต่ระดับสูงขึ้นไปทุกกิโลเมตร ระยะทาง 65 กิโลเมตรไม่ไกลเลย แต่ทางคดเลี้ยวได้ใจไม่น้อย
แต่ถ้านั่งรถปรับอากาศประจำทางจากกรุงเทพมหานคร ถึงเมืองลี้โดยตรง ไปลงที่หน้าธนาคารออมสิน ติดกับตลาดสดของอำเภอลี้ ที่นี่เอง เมื่อรถไปถึงราวๆ 05.20 น. ท้องฟ้ายังเปล่งแสงสีน้ำเงินทาบทา ให้ลงไปกราบไหว้อนุสรณ์สถาน 3 ครูบาที่หน้าตลาดสดเทศบาลลี้ นั่งรับลมเย็นๆและเดินไปหากาแฟรองท้องตอนเช้าตรู่ได้ใกล้ๆกันนี้เอง
อนุสรณ์สถาน 3 ครูบาเจ้า
หน้าตลาดสดเทศบาลเมืองลี้ มีอนุสรณ์สถานครูบา 3 องค์นั้นคือ ครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง พระอริยะสงฆ์ผู้ถูกดำนินคดีความถึง 3 ครั้ง ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม พระอริยะสงฆ์ผู้สร้างพระบรมธาตุศรีเมืองทอง ด้วยพลังศรัทธาของชาวพุทธกะเหรี่ยง และครูบาอภิชัย ขาวปี เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทผาหนาม พระอริยะสงฆ์ผู้ถูกจับสึก 3 ครั้ง นุ่มห่มผ้าสีขาว 3 ครั้ง แต่ก็ไม่สามารถลพลังศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนได้
พระครูบาทั้ง 3 องค์นี้ เป็นศูนย์รวมจิตใจชาวเมืองลี้ได้อย่างเหนียวแน่นและงดงามอย่างยากจะหาพระอริยะสงฆ์องใดในแผ่นดินล้านเทียบเทียมได้
ครูบาเจ้าศรีวิชัย
ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา
ครูบาอภิชัยขาวปี
วัดบ้านปาง วัดประจำบ้านเกิดของครูบาเจ้าศรีวิชัย
รถแล่นผ่านตัวเมืองลี้ เมืองเล็กๆที่ยังไม่มีสิ่งก่อสร้างใหญ่โต บ้านเรือนปลูกตามไหล่เขาและลาดเนิน แวะกราบไหว้อนุสรณ์ 3 ครูบาแล้วเลยไปตามถนนสายลี้-บ้านโฮ้ง อีก 38 กม.วัดบ้านปางอยู่ทางซ้ายมือ
เดิมบ้านปาง ตำบลแม่ตื่น ต่อมาเปลี่ยนเป็นตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน หมู่บ้านนี้เป็นบ้านเกิดของนายอินท์เฟือน
วันหนึ่ง ครูบาขัตติยะ ธุดงค์มาจากป่าซาง ชาวบ้านนิมนต์ให้อยู่ที่บ้านปาง พร้อมกับช่วยกันสร้างวัดบ้านปางขึ้นบนเขา
อุโบสถสวยตระการตา
ชาติภูมิของท่าน ท่านเป็นหลานปู่ของ หมื่นผาบหรือหมื่นปราบหมอควาญช้างของเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ เจ้าผู่ครองนครลำพูน อ.ค์ที่ 7 (พ.ศ.2414-2431) ครอบครัวปู่ได้ไปบุกเบิกที่ทำกินอยู่ที่บ้านปาง พ่อท่านชื่อนายควายอยู่ที่บ้านสันป่ายางหลวง ทางด้านเหนือของตัวเมืองลำพูน ก็ตามไปอยู่ด้วย ท่านจึงถือกำเนิดเป็นคนบ้านปาง เมืองลี้
อินท์เฟือน(เสียงกัมปนาทสะท้านฟ้าสะท้านดิน) เกิดเมื่อ 11 มิถุนายน พ.ศ.2421 ตรงกับเดือน 7 ขึ้น 11 ค่ำ เมื่อท่านอายุ 17 ปี สมัครใจเป็นลูกศิษย์ครูบาขัตยะ เจ้าอาวาสวัดบ้านปาง และเมื่ออายุ 18 ปี ได้พรรพชาเป็นสามเณร และปีพ.ศ.2442 ได้อุปสมบทที่วัดบ้านโฮ้งหลวง ฉายา สิริวิชโยภิกขุ พระศรีวิชัย ที่นี่เองครูบาเจ้าศรีวิชัยได้บวชเรียนจนแตกฉาน
ครูบาเจ้าศรีวิชัย อุปสมบทด้วยนิกายเชียงใหม่และนิกายยอง นุ่งห่มแบบรัดอก สวมหมวก ถือพัด ถือไม้ท้าว แขวนลูกประคำ ตลอดชีวิตท่านได้บูรณะวัดวาอารามไปถึง 105 วัด ในท้องที่จังหวัด ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปาง ตาก ท่านตัดถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ ด้วยพลังศรัทธาใน 6 เดือน
ท่านเคยต้องคดี ถึง 3 ครั้ง แต่คดีเหล่านั้นไม่สามารถลบล้างพลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชนคนล้านนาได้เลย
รูปปั้นเหมือนจริงครูบาเจ้าศรีวิชัย
ท่านมรณะเมื่อ 22 มีนาคม พ.ศ.2481 ที่วัดบ้านปาง อายุ 59 ปี ศานุศิษย์ได้ร่วมกันสร้างพิพิธภัณฑสถานให้บรรจุเครื่องใช้ในวัตรปฏิบัติของท่าน รูปปั้นขนาดใหญ่ไว้ที่หน้าวัด และเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของเมืองลี้ จังหวัดลำพูน ท่านอุปสมบทเป็นพระสงฆ์ที่วัดนี้ ท่านเดินทางไปทั่วล้านนาเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์วัด พระบรมธาตุ มากมายและท่านกลับมามรณะที่วัดบ้านเกิดของท่านอย่างเรียบง่าย
สานุศิษย์ได้นำอัฐิธาตุของท่านไปบรรจุที่วัดต่างๆถึง 7 วัด บนแดนดินถิ่นล้านนาที่ท่านได้ปวารณาตนก่นสร้างและทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา เพื่อสร้างพลังศรัทธาและแผ่ส่วนกุศลไปทั่วทุกตัวชาวล้านนาและพุทธศาสนิกชนคนพุทธทั่วโลก เป็นพระอริยะสงฆ์ที่ได้รับการกราบไหว้และบูชาอย่างเหนียวแน่น ท่านเป็นศิษย์พระตถาคตโดยแท้
อัฐิธาตุของท่านได้บรรจุที่ วัดจามเทวี อ.เมือง จ.ลำพูน วัดสวนดอก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ วัดพระแก้วดอนเต้า อ.เมือง จ.ลำปาง วัดศรีโคมคำ อ.เมือง จ.พะเยา วัดพระธาตุช่อแฮ อ.เมือง จ.แพร่ วัดน้ำออกรูหรือวัดน้ำฮู อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน และวัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน อันเป็นวัดบ้านเกิดของท่าน วัดที่ท่านอุปสมบทและมรณภาพ
ไม้สลี ไม้ค้ำบุญค้ำบารมีตามประเพณีชาวล้านนา