http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,943,132
Page Views16,248,546
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

สวนป่าไม้ยางนา สวนป่าเห็ดระโงกเหลือง

สวนป่าไม้ยางนา สวนป่าเห็ดระโงกเหลือง

สวนป่าไม้ยางนา สวนป่าเห็ดระโงกเหลือง

                                                                                    โดย นพพร  นนทภา เรื่อง-ภาพ


*ฮะโหล นพพร แมนบ่

**ครับ พี่พัลลภ ว่าจังได๋

*วันเสาร์นี้สะดวกบ่ เห็ดระโงกออกแล้ว เด้อ ถ้าอยากมาเบิ่งกะมาเด้อ

**สะดวก ครับ สะดวก


                พี่พัลลภแห่งสวนรุ่งอรุณ โทรบอกผมว่าเห็ดระโงกเหลือง ที่สวนเริ่มออกอีกรอบ ผมตอบรับคำเชิญทันที  โดยไม่รั้งรอ ปกติตัวผมก็ไปสวนนี้บ่อยครั้ง แต่คราวนี้จะพิเศษกว่า เพราะผมจะได้เห็นเห็ดระโงกเหลืองยืนเข้าแถวอวดสีสัน เหลืองอร่าม ใต้ต้นยางนา


                เช้าวันเสาร์ ตามเวลานัดหมาย  ผมขับมอเตอร์ไซต์คู่ชีพ วิ่งทะลุหมู่บ้านไปทางทิศเหนือ พอพ้นหมู่บ้านก็เป็นทางลูกรัง ไปอีกราวๆ 500 เมตรก็ถึงจุดหมาย พี่พัลลภและภรรยา มาเตรียมตัวรออยู่ก่อนแล้วตอนแรกผมเข้าใจว่าผมจะได้ดูเห็ดคนเดียวแบบเหมาสวน 


                 ในขณะที่นั่งคุยกับพี่พัลลภเพื่อรอแสงแดดให้เหมาะกับการถ่ายภาพ และไล่ยุ่งให้น้อยลง ก็มีผู้คนที่สนใจทยอยมาจนลานจอดรถเต็มถนัด พี่พัลลภบอกว่า ปีนี้มีคนขอเข้าชมเยอะเป็นพิเศษ จึงต้องนัดหมายให้มาพร้อมๆกัน เพราะเห็ดออกแต่ละงวดใช้เวลาเพียง 5 วันก็หมดงวดแล้ว หลายคนที่ขอเข้าชมสวนในวันนี้  เตรียมอุปกรณ์ครบครัน ทั้งกล้องถ่ายภาพ กล้องวีดีโอ บางคนมีตะกร้าและไม้จิ้มสำหรับเก็บเห็ด และยังมีนักข่าวจาก NBT และ อสมท. มาทำสกรุ๊ปพิเศษด้วย


                  เมื่อแสงแดดพร้อม คนพร้อม พี่พัลลภจึงนำพวกเราเข้าไปในสวนป่ายางนา ขนาด 4 ไร่ ทันทีที่ทุกคนเห็นภาพที่อยู่ข้างหน้า ต่างตะโกนออกมาพร้อมกัน 

                  *โอ้โฮ้ มันช่างอัศจรรย์จริงๆ * 

                  สวนเล็กๆแค่นี้ และก็ไม่ได้รกทึบอะไร ดูโปร่งๆ โล่งๆ ด้วยซ้ำ กลับเห็ดระโงกเหลืองอร่ามเต็มทั่วพื้นป่า มีทั้งที่ยังเป็นลูกขาวๆ ดอกตูมๆ และดอกบาน ที่น่าทึ่ง ที่สุดคือ เห็ดเกิดเป็นแถวเรียงกันเป็นระเบียบ  ราวกับว่า มีคนเอาดอกเห็ดมาตั้งเรียงกันยังไงยังงั้น หน้าที่หนักในวันนี้จึงตกอยู่กับพี่พัลลภเจ้าของสวน เมื่อทุกคนเริ่มยิงคำถามด้วยความสงสัย ว่า 


                 *เห็ดเกิดขึ้นอย่างไร ทำยังไงถึงมีเห็ด ได้ใส่อะไรหรือไม่  * พี่พัลลภก็ยินดีตอบคำถามทุกคำ  และยังใจดีสาธิตวิธีการให้เห็นกันแบบสดๆ                              พี่พัลลภเล่าว่า  เดิมทีสวนนี้เป็นไร่มันสำปะหลังเก่า  หลังจากที่ซื้อจากเจ้าของเดิมเมื่อปี 2546  ด้วยความเป็นคนชอบปลูกต้นไม้ จึงคิดหาต้นไม้มาปลูกให้เต็มพื้นที่ 4 ไร่ จึงนึกถึงเมื่อตอนเป็นเด็กที่เข้าป่าไปเก็บเห็ดกับพ่อแม่ ว่า เห็ดระโงกเหลือง มักจะเกิดกับต้นยางนา และยางนาก็เป็นต้นไม้ที่โตเร็วกว่าต้นอื่นๆ จึงตัดสินใจปลูกยางนา    ในช่วงแรกหลายคนดูถูกว่าบ้าไปแล้ว ปลูกยางนา ตัดก็ไม่ได้ป่าไม้จับ และกว่าจะโต30 40 ปีตัวเองคงตายก่อน


                 แทนที่พี่พัลลภจะท้อใจในคำดูถูก กลับตั้งหน้าตั้งตา หมั่นดูแล รดน้ำ ดายหญ้า ให้ต้นยางนาที่ปลูกไว้อย่างดี  และเมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี ในฤดูฝน  สิ่งที่พี่พัลลภคาดหวัง ก็เป็นผลเมื่อเริ่มมีเห็ดป่าต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็น เห็ดเผาะ เห็ดน้ำหมาก เห็ดถ่าน เห็ดระโงกเหลือง ถึงจะไม่มากแต่ก็พอสำหรับพี่ดวงตาภรรยาพี่พัลลภเก็บไปแกงและแจกจ่ายเพื่อนบ้าน   ส่วนพี่พัลลภจะนำดอกที่ บานเต็มที่ ไปฝังไว้ที่บริเวณโคนต้นยางนา   เพื่อเพิ่มปริมาณของเชื้อเห็ดในสวน

                 เช้าวันหนึ่งของฤดูฝน ปี 2554 นับเวลาจากวันปลูกวันแรก 7 ปี  สิ่งมหัศจรรย์ก็ได้เกิดขึ้น  พี่พัลลภพบว่า มีเห็ดระโงกเหลืองจำนวนมหาศาล  กำลังแทงจากดินใต้เรือนยอดของต้นยางนา  พี่พัลลภดีใจอยางมาก  ข่าว "สวนรุ่งอรุณ" มีเห็ดระโงกเหลือง แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว 


                 นับจากนั้นมาทุกปีฤดูฝน หลังจากที่ฝนได้ตกหนักสองสามวัน สวนรุ่งอรุณ จะมีเห็ดจำนวนมาก นอกจากพี่พัลลภจะอนุญาตให้ผู้สนใจเข้าชมเห็ดฟรีๆแล้ว  ยังเก็บขายเป็นรายได้เสริม ในราคากิโลกรัมละ 300 บาท  พี่พัลลภบอกว่าตามที่จดบันทึกไว้ทุกปี  เห็ดจะออกประมาณ 4-5 ครั้ง ครั้งละประมาณ 20 – 30 กิโลกรัม โดยจะมีเยอะที่สุดในช่วงเดือนกรกฎาและสิงหาคม


                  หลายคนที่เข้าเยี่ยมชมในวันนี้ต่างปลื้มใจที่มีโอกาสได้เห็นเห็ดระโงกเหลือง เกิดในสวนยางนาที่ปลูกขึ้นมา หลายคนสงสัยว่าทำไมต้องเป็นต้นยางนา  ผมจึงถือโอกาสอธิบายหลักทางวิชาการเป็นการเสริมจากเทคนิคแบบภูมิปัญญาพื้นบ้านของพี่พัลลภ 


                  "จริงๆแล้วเห็ดเป็นเชื้อราชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในราที่มีชื่อว่า ไมคอร์ไรซ่า (Mycorrhiza) ซึ่งเห็ดป่าที่เราเห็นขายตามข้างทางเวลาไปเที่ยวต่างจังหวัดเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เห็ดเผาะ เห็ดระโงกเหลือง เห็ดตะไค เห็ดน้ำหมากและอื่นๆ ก็จัดเป็น ไมคอร์ไรซา ที่อาศัยอยู่ที่ส่วนปลายของรากฝอย ของพืชในวงศ์ยางนา ได้แก่ ยางนา ตะเคียนทอง  เต็ง รัง พลวง  เหียง พะยอม กระบาก เป็นต้น"

                  "หากใครนึกไม่ออกก็ให้นึกถึงป่าเต็งรัง หรือป่าโคก   ไมคอร์ไรซ่า ของเห็ดจะอาศัยกับต้นไม้ตามที่กล่าวมา แบบภาวะพึ่งพา (Mulualism) โดยจะเกาะอยู่ที่ปลายรากฝอย คอยดูดน้ำ ธาตุอาหาร และป้องกันเชื้อโรคให้กับต้นไม้ ที่มันอาศัยอยู่  ส่วนและตัวไมคอร์ไรซ่า ก็จะดูดอาหาร จากรากพืชอีกที  และเมื่อ อุณหภูมิ ความชื้น ธาตุอาหารเหมาะสม ก็จะโผล่พ้นจากดิน กลายเป็นดอกเห็ด  ตามที่เราเห็นนั้นเอง แต่เห็ดจะเปลี่ยนไปตามสภาพความสมบูรณ์ของป่า ยิ่งป่าสมบูรณ์ชนิดและจำนวนของเห็ดก็จะมากขึ้น"

 

                   "สำหรับการทำให้เกิดเห็ดระโงกเหลืองนั้น  สวนป่ายางนาควรมีเรือนยอดปกคลุม 70-50 % หรืออีกในหนึ่ง คือมีแสงส่องถึงพื้นดิน ประมาณ 30-50 %  และมีเศษใบไม้ที่ย่อยสลายไม่หมดหนาไม่เกิน 2 เซนติเมตร  พื้นสวนไม่มีวัชพืชหนาแน่น และที่สำคัญต้องไม่มีสารเคมีใดๆ รวมถึงการรบกวนพื้นสวน หลังจากฝนตกหนักๆ 2-3 วันและมีแดดส่องถึงพื้น อากาศอบอ้าว เห็ดก็จะเริ่มทยอยงอกจากดิน เป็นแถว ตามแนวรากของต้นยางนา"


                    พี่พัลลภฝากบอกว่า หากท่านใดสนใจจะเข้าเยี่ยมชมสวน ก็ยินดีต้อนรับ แต่ขอให้ประสานงานล่วงหน้าหากเห็ดออกช่วงไหนพี่พัลลภจะประสานงานกลับ  เบอร์โทรศัพท์พี่พัลลภ 0859248828 หรือ จะติดต่อมาทางผมก็ได้ครับ 0894182100  ขอบคุณที่ติดตามเรื่องราวของสวนป่าเห็ดระโงกเหลือง และหวังว่าเรื่องราวนี้จะเป็นคำตอบที่ดีและเป็นอีกทางหนึ่ง  สำหรับท่านที่กำลังจะตัดสินใจจะปลูกป่าครับ 

                    เดิม ชาวบ้านเข้าป่าธรรมชาติเก็บเห็ดมากินเป็นอาหารและขายเมื่อได้จำนวนมาก แต่ปัจจุบันนี้ สามารถสร้างป่าขึ้นจากการปลูกและเกิดเห็ดดังที่กล่าวมาข้างต้่น หลักสำคัญคือ มีต้นไม้เป็นป่า มีใบไม้ร่วงหล่นตามธรรมชาติ มีแสงแดดส่องถึงพื้น มีฝนเป็นความชุ่มชื้น มีไมคอร์ไรซ่าในดินที่ปลายราก

ต้นไม้ตระกูลยาง ใบไม้ร่วงหล่นจึงไม่ควรเผาทำลาย ปล่อยให้ผุพังเป็นอินทรีวัตถุผิวดิน  

                    ชื่อวิทยาศาสตร์ Amanita hemibapha (Berk.Et.Br.) sacc javanica cORNER et Bas อยู่ในวงศ์ AMANITACEAE 

 

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view