http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,960,887
Page Views16,267,236
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ไผ่ โดย แพงขวัญ เรื่อง-ภาพ

ไผ่ โดย แพงขวัญ เรื่อง-ภาพ

ไผ่ : หญ้ายักษ์สารพัดประโยชน์

“แพงขวัญ”

บางซอกอไผ่ล้อม                   หลายกอ

บ้านบ่มีสีซอ                         สักน้อย

เรือใกล้ไผ่พุ่มกอ                     พยุโยก  โชกแฮ

ไผ่เบียดเอียดออดอ้อย              เอื่อยอ้อซออินทร์

                                      พระสุนทรโวหาร(ภู่)  “นิราศสุพรรณ”

 

             ไผ่ เป็นพืชตระกูลหญ้าที่มีอยู่มากมายหลายชนิด หลายขนาด ลำต้นกลวงกลม แบ่งเป็นข้อปล้อง บางชนิดมีลำต้นชะลูดลิ่วเสียดฟ้าสอดหาอินทร์พรม และเลยเป็นหญ้าที่สูงที่สุดในโลก

             เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ระบบรากฝอยพยุงลำต้นไว้อย่างแน่นหนา และชอนไชใต้พื้นออกหากินเลี้ยงลำต้นได้ในดินแทบทุกสภาพ  ลำต้นก็มักแตกกอเบียดเสียด บางพันธุ์แตกกิ่งแขนงเป็นหนามแข็ง คนและสัตว์เข้าใกล้ไม่ได้  แต่บางพันธุ์นั้นมักแตกกิ่งแตกแขนงน้อยมากโดยเฉพาะตรงโคน ปล่อยลำต้นให้เปลือยเปล่ายืดยาวเบียดเสียดกันขึ้นไปจนถึงช่วงปลายจึงจะมีกิ่งใบมากมายให้ลำต้นแบก  ลำต้นที่สูงเรียวจึงต้องก้มลงอ่อนโค้งสร้างสมดุลรองรับน้ำหนัก  ยามลมพัดพาก็จะโยกไหวแกว่งไกว เริงร่า  ดูราวกับนางฟ้าสีเขียววาดกรฟ้อนแอ่น 


             และเนื่องจากเป็นหญ้ายักษ์ลำต้นยาวแตกกอขึ้นหนาแน่นเบียดเสียดดังกล่าว ในยามลมพัดพาจนยอดที่เสียดฟ้าแกว่งไกว ลำต้นก็จะโยกไหวเสียดสีกันจนเกิดเสียงดังดั่งซอของพระอินทร์ที่ท่านสุนทรภู่บรมครูทางบทกลอนได้บรรยายไว้ในนิราศสุพรรณบทที่ยกมานั้นไง

             ไผ่เบียดเสียดออดอ้อย  เอื่อยอ้อซออินทร์

              ปัจจุบันมีใครสักกี่คนกันหนอที่ยังโชคดีได้ฟังเสียงสวรรค์แบบ  “เอียดอ้อย เอื่อยอ้อซออินทร์” นี้อยู่อีก  เพราะสภาพสังคมในเมืองที่ตึกรามขึ้นเบียดเสียดแทนกอไผ่  ทำให้ผู้คนแทบไม่รู้จักต้นไม้ไผ่ต้นที่สูงใหญ่เสียดฟ้ากันแล้วกระมัง

ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา

สำนวนนี้อาจจะคุ้น ๆ มากกว่ากระมัง

              แต่ช่างเถอะ  ใครลืมเลือนเรื่องไม้ไผ่ก็จงใจจะรื้อฟื้นให้ฟังกันละ  เพราะแกงหน่อไม้  หมกหน่อไม้  เอ๊าะหน่อไม้  ซุบหน่อไม้ใส่น้ำใบหญ้านาง  และผัดหน่อไม้ส้ม(ดอง)ใสไข่ และโดยเฉพาะอ่อมหน่อไม้ส้มใส่ปูปลากบเขียด(น้อย)โรยด้วยใบผักกะแยง(น้อย) เป็นอาหารที่ผู้เขียนชอบมาก 

ก็หน่อไม้มันก็คือหน่อของต้นไผ่นั่นแหละ เนื่องจากใบของไผ่มีโคนกาบใบแผ่กาบห่อหุ้มลำต้นเอาไว้ หน่อไม้ที่โผล่จากดินใหม่ ๆ จึงมีกาบห่อหุ้มไว้หลายชั้น  หน่อไม้ของไผ่บางพันธุ์มีขนหุ้มไว้สัมผัสแล้วคันด้วยนะ

              ไผ่พันธุ์ใหญ่ ๆ ก็ให้หน่อใหญ่ ๆ ขนาดใช้หน่อเดียวทั้งต้ม ทั้งแกง ทำซุบหน่อไม้กินกันหลายมื้อแล้วยังเหลือทำหน่อไม้ดองส้มไว้กินนาน ๆ อีกแน๊ะ  ไผ่พวกนี้แหละที่ลำต้นสูงลิ่วยื่นยอดสอดส่ายขึ้นไปถึงปลายฟ้า ส่วนพันธุ์ที่เล็กกว่ามีตามป่าหัวไร่ปลายนาเราเรียกหน่อของมันว่า “หน่อโจด” รสจะหวานอร่อยมากเป็นพิเศษถ้ามันเกิดหลังไฟไหม้ป่าในหน้าแล้ง แล้วเกิดฝนโปรยลงมาให้ความชื้นในผืนดินที่มันสามารถผุดโผล่ขึ้นมาได้เพื่อขยายดำรงเผ่าพันธุ์ของมัน

                 ใช่ว่าจะเป็นเพียงอาหาร  ประโยชน์ของไผ่นั้นมหัศจรรย์เชียวหละ


                 ว่ากันว่าในโลกนี้มีไผ่อยู่กว่า๑,๐๐๐ ชนิดทีเดียว  บางชนิดเป็นพืชต้นจิ๋วปลูกในกระถางเป็นไม้ประดับสวยงามไม่แพ้ไม้กระถางอื่น ๆ ไผ่บางชนิดมีสีและลักษณะของลำต้นสวยแปลก เช่น ไผ่สีสุก ไผ่สีทอง ไผ่น้ำเต้า ไผ่ประดับ ไผ่เลี้ยง ไผ่ใบด่าง หญ้าไผ่  นิยมปลูกเป็นไม้มงคล ไผ่บางชนิดใช้เป็นยาโดยเฉพาะรากที่งอกเป็นกระจุกยึดกันแน่น และผลของมัน

                 ไผ่ที่รู้จักคุ้นเคยกันทั่วไปของไทยคือไผ่ที่ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันตั้งแต่หน่อ ลำต้น ใบ ส่วนมากจึงเป็นไผ่ที่มีขนาดกลางขึ้นไปถึงใหญ่ เช่น ไผ่ตง ไผ่ป่า ไผ่ใหญ่ ไผ่หนาม ไผสร้างไพ ไผ่น้อย ไผ่โจด เล็กลงมาหน่อยก็ไผ่เพ็กที่นำมาทำไม้กวาด เป็นต้น 

                 นับเป็นความฉลาดและวิวัฒนาการสุดยอดเมื่อมนุษย์ค้นพบลักษณะพิเศษของไม้ไผ่ ในความที่อ่อนนุ่มแต่แข็งแกร่งของเนื้อไม้นี้ สามารถเหลา จัก ดัดให้โค้งงอได้นำไปฝั่น ผูก แทนเชือกได้ราวกับเครือเถา

                 เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องดักจับสัตว์ เครื่องทำร้ายศัตรูมากมายจึงถูกประดิษฐ์ขึ้นจากไม้ไผ่

                ไผ่ในวิถีชีวิตไทยแต่โบราณมานั้นเกี่ยวข้องตั้งแต่ลืมตาดูโลกที่หมอตำแยใช้ผิวไม้ไผ่คมเฉียบตัดสายสะดือ  กระทั่งวันตายก็ถูกหามไปบนแคร่ หรือเตียงไม้ไผ่นำไปป่าช้า แถมคานหามก็ยังเป็นท่อนไม้ไผ่อีก  เผลอ ๆ เสื่อที่ม้วนเอาร่างไปนั้นอาจเป็นเสื่อที่สานจากตอกไม้ไผ่ก็ได้ เพราะไม้ไผ่แม้จะได้ชื่อว่าหญ้า ลำต้นกลวง แต่เนื้อไม้กลับแข็งแกร่งทนทาน เหลาให้เล็กและจักเป็นตอกให้แบบบางได้โดยไม่เปราะหักง่าย   จึงใช้ได้ทั้งงานเล็ก ๆ ประเภทงานจักสานไปจนถึงการก่อสร้างที่อยู่อาศัย


                 หากจะแจกแจงประโยชน์ของไม้ไผ่ก็จะได้มากมาย เช่นใช้ประกอบอาหาร โดยใช้ส่วนที่เป็นหน่ออ่อนต้มสุกรับประทานเป็นผัก  หรือนำมาปรุงต้ม แกง ผัด ร่วมกับส่วนประสมอื่น ๆ ได้มากมายหลายชนิด แต่โดยทั่วไปในเนื้อหน่อไม้จะมีสารบางอย่างที่เป็นพิษจึงต้องต้มเสียก่อนที่จะนำมาปรุงเป็นอาหาร คนโบราณอีสานใช้น้ำคั้นใบหญ้านางสีเขียวสดเป็นส่วนผสมในน้ำแกงที่คู่กันกับหน่อไม้ เพิ่มสารอาหารและรสชาติ ในงานวิจัยบางชิ้นระบุว่าน้ำใบหญ้านางนี้ทรงคุณค่าและยังช่วยขจัดต้านสารพิษจากหน่อไม้ได้อีกด้วย นับว่าบรรพบุรุษท่านฉลาดมากจึงเลือกใช้คู่กันมาตั้งแต่ยังไม่มีการวิจัยอย่างเป็นระบบ  เอาความจำและประสบการณ์ถ่ายทอดกันมา ใบของไผ่เป็นอาหารของสัตว์กินพืชหลายชนิด  ช้างตัวใหญ่ ๆ นั้นจะมีความสุขมากที่ได้ใช้งวงมือของมันโน้มกิ่งไผ่ลงมาเคี้ยวกินใบ 

                   เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องมือที่ใหญ่ที่สุดได้จากวัสดุไม้ไผ่ คือ หลี่ดักปลา โดยใช้ลำไม้ไผ่ใหญ่ทั้งลำตั้งแต่โคนต้นจรดปลายหลายลำมาเรียงซ้อนเป็นพื้นขวางลำน้ำ แล้วใช้เสื่อที่สานด้วยตอกไม้ไผ่ผืนใหญ่ปูทับรองรับตัวปลายามมันถูกกระแสน้ำพัดพามาไม่ให้มุดลอดหนีลงไปตามช่องระหว่างลำไม้กลม ๆ ได้  หลี่บางแห่งใหญ่โตจนเป็นที่พักสำหรับคนได้หลายคนเลยทีเดียว การจับปลาในหลี่เป็นกิจกรรมที่สนุกตื่นเต้นมากสำหรับเด็ก ๆ สมัยก่อน

                  หลี่ที่มีชื่อเสียงมากคือหลี่ผี ที่ขวางทางน้ำตกสายหนึ่งกลางโขดกินบนเกาะแก่งแถวเมืองสีพันดอน ในแม่น้ำโขง  ในนิทาน และตำนานหลายเรื่องกล่าวถึงหลี่ผีว่าเป็นหลี่ที่ผีกองกอยทำไม้  หากมีคนมาขโมยปลาในหลี่นางผีก็จะจับเอาไปเป็นผัว

เครื่องมือจับปลาที่เล็กลงมา กว่าหลี่ที่ใช้ตอกไม้ไผ่สานมีมากมาย เช่น ตุ้ม ไซ ลอด จิบ เป็นต้น จับปลาได้ยังใส่ลงในภาชนะที่ทำจากไม้ไผ่ขนถ่ายกลับบ้านอีก เช่น ครุ ข้อง ตะกร้า

                   สำหรับเครื่องใช้อื่น ๆ ที่ทำด้วยไม้ไผ่นั้นคงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก เพราะมันนับตั้งแต่ไม้จิ้มฟัน ไม้ตะเกียบที่วางบนโต๊ะก๊วยเตี๋ยวไปจนถึงกระติบข้าวเหนียวใบจิ๋ว  และหากจะไล่ตามกระบวนการเดินทางของข้าวกว่าจะมาถึงกระติบก็จะได้เครื่องมือที่ทำจากไม้ไผ่ได้เยอะแยะ เช่น หวดนึ่งข้าว  กระด้ง กระเบียน กระบุง ตะกร้า กระชอน

                  ใช้เป็นภาชนะหุงต้มแทนหม้อ เช่น ข้าวหลาม  หรือ ห่อหมกปลาหรือเนื้ออื่น ๆ ที่ทำในลักษณะเดียวกับข้าหลาม  บางครั้งเรียกว่าปลาหลาม

ในด้านอุตสาหกรรม ไผ่ใช้ทำไหมเทียม  ใช้ผลิตฮอร์โมนบางอย่างใช้ในทางแพทย์ ผลของไผ่เรียกว่า ขุย ใช้เป็นอาหารจำพวกแป้ง โดยนำมาหุง ต้ม เช่นเดียวกับข้าวได้ นอกนั้นยังสามารถนำมาสกัดเอาน้ำมันไผ่ได้ด้วย ใช้ในการก่อสร้าง  ก่อสร้างบ้านเรือน  กระท่อม  สร้างแพลอยน้ำ

ปลูกประดับบ้านเรือนปลูกเป็นแนวรั้ว ปลูกเป็นแนวกันลม ทำไม้ค้ำยัน  ทำนั่งร้าน  ทำห้างดักสัตว์ ช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติ นี่เป็นคุณสมบัติที่ยิ่งใหญ่เยี่ยมยอดของไม้ทุกต้นอยู่แล้ว และไม้ไผ่นั้นยังช่วยป้องกันตลิ่งพังเพราะน้ำเซาะอีกด้วย 

 

Tags : ท่องอุบลแบบคนอุบล3.

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view