http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,989,420
Page Views16,297,459
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ท่องอุบลแบบคนอุบล6 ถนนแห่งข้าว ในสายบุญจุลกฐิน วัดไชยมงคล

ท่องอุบลแบบคนอุบล6 ถนนแห่งข้าว ในสายบุญจุลกฐิน วัดไชยมงคล

ท่องอุบลแบบคนอุบล ๖

ถนนแห่งข้าว ในสายบุญจุลกฐิน วัดไชยมงคล

“เอื้อยนาง”

             ข้าว Rice ธัญพืชที่เลี้ยงคนค่อนโลก เป็นพืชตระกูลหญ้าที่มีอยู่มากมายหลายสายพันธุ์ทั่วโลก  เจริญเติบโตได้ง่ายในสภาพดินแทบทุกประเภท ตั้งแต่ทะเลทรายอันแห้งแล้งในออสเตรเลียไปจนกระทั่งเทือกเขาอันเย็นเยือกอย่างหิมาลัย  แม้วัฒนธรรมการบริโภคข้าวจะแตกต่างกันออกไปโดยการแปรรูป ปรุงให้สุก เพื่อประกอบเป็นอาหาร ไม่ว่าจะในรูปแป้ง ทำเป็นแผ่น เป็นก้อน เป็นเส้น เป็นน้ำนม หรือรูปแบบอื่น ๆ หลากหลาย   ก็ล้วนมาจากเมล็ดข้าว(ส่วนที่เป็นผลของต้นข้าว)  จนกระบวนการผลิต การบริโภคข้าวเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณี


            ข้าวที่บริโภคในประเทศไทยและแถบอุษาคเนย์แต่เดิมมาจนถึงปัจจุบัน คือ ข้าวในกลุ่ม Indica แบ่งเป็นข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ซึ่งได้รับการพัฒนาเป็นหลากหลายชนิดพันธุ์โดยกรมวิชาการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปัจจุบัน

            สำหรับชาวอีสานเรา เดิมนิยมบริโภคข้าวเหนียวเป็นส่วนใหญ่  แต่ปัจจุบันทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียวมีความสำคัญพอกัน

            “มาบ้านได้กินข้าว  ไปบ้านเจ้าได้กินปลา

มีสุรา มีพาข้าว ของหมู่เฮาเผ่าฟังแคน

กวีสองฝั่งโขงท่านหนึ่งเคยรจนาไว้  นั่นหมายถึงน้ำใจไมตรีของผู้คนในมื้ออาหารที่เลี้ยงดู ต้อนรับกันในวง “พาข้าว”

“พาข้าว”  ไม่ว่าจะเป็น  “พาจังหัน”   “พางาย”  “พาเพล”  หรือ “พาแลง”  ล้วนหมายถึงวัฒนธรรมการบริโภคข้าวของชาวอีสาน(ลาวล้านนา ล้านช้างด้วย)ที่มีข้าวและกับข้าวจัดใส่ถาด(พา-ภาชนะ)รับประทานร่วมกัน

             

              ในพาข้าวในอดีตนั้นนอกจากกับข้าวแล้วยังมีข้าวที่แปรรูปหลากหลายทั้งคาวและหวาน ทั้งข้าวต้ม ข้าวหนม ข้าวปุ้น ข้าวปาด โดยเฉพาะพาข้าวในยามโอกาสพิเศษเช่นงานบุญ งานวัด ลงแขก หรือรวมญาติพี่น้องที่มาเยี่ยมยามกัน

              ชื่ออาหารคาวหวานที่แปรรูปจากข้าว และแป้งข้าวในวัฒนธรรมเดิมหลายอย่างเริ่มเลือน ๆ ไปจากห้วงความทรงจำด้วยสภาพสังคม วัฒนธรรมที่แปรเปลี่ยนเป็นความสะดวกสบายในปัจจุบัน

             ครั้นได้มาพบเจอถนนแห่งข้าวในสายบุญงานบุญประเพณีจุลกฐินวัดไชยมงคลประจำปี  ๒๕๕๗ นี้ทำให้รู้สึกคล้ายคนนอนหลับฝันไปเพลิน ๆ...  พลันก็สะดุ้งตื่นมาพบโลกอันสดใสและสวยงามที่คุ้นเคย


              สดใสด้วยสีสันแห่งทุง(ธง)ทิวที่กวัดไกวประดับประดา  ทั้งธงสัญลักษณ์ประจำงานแห่งประเพณีที่ติดยาวย้อย  และธงประดับประดาร้อยเป็นทิวหลากสีปลิวไสว และสีสันจากการตกแต่งซุ้มของกลุ่มผู้ศรัทธาจากหน่วยงานราชการและชาวบ้านร้านตลาดทั้งใกล้และไกลจากวัด 

              สวยงามด้วยทุกสีหน้าและแววตาแห่งความสุขของผู้คน ทั้งผู้มาเที่ยวงานและผู้จัดบริการในซุ้มต่าง ๆ ที่ดูช่างล้วนแต่สุขสันต์  เต็มเปี่ยมด้วยมีน้ำใจไมตรีต่อกัน  โดยเฉพาะผู้บริการและสาธิตการผลิตแต่ละกระบวนการในซุ้มต่าง ๆ  ดูช่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยแม้จะถูกรุมล้อมจากผู้ชม  ผู้มาเที่ยวงานบุญ รวมถึงเด็ก ๆ ที่คุณครูพามาเป็นขบวนยกโขมงมาศึกษาหาความรู้และชิมอาหาร


              สวยงามด้วยเสื้อผ้าการแต่งกายแบบพื้นเมืองอุบล ฝ้าย ไหมทอมือของไทอุบลนั้นยังครองความงามละมุนละไมในสายตาน่าภาคภูมิใจเสมอ

หากวิญญาณเจ้าปู่พระพรหมเทวานุเคราะห์ (เจ้าเมืองคนที่๔แห่งอุบลราชธานีศรีวนาไลยประเทศราช)ผู้ก่อตั้งวัดได้พื้นตื่นขึ้นมาทอดตามองในวันนี้ท่านคงดีใจ สุขใจ ที่ได้เห็นเหล่าหลาน เหลน สืบทอดความงามนี้  แสดงความมั่นคงดำรงเรืองรุ่งแห่งวัดที่ท่านสร้างไว้เป็นแน่

               เฉพาะถนนแห่งข้าวที่ถักทอทอดยาวหักเลี้ยวตามอาคาร โบสถ์ วิหาร กุฏิ ศาลา ภายในวัดอันเป็นที่ตั้งซุ้มต่าง ๆ นั้น ยิ่งสร้างคนหลับฝันอย่างเอื้อยนางให้ตื่นตะลึงเชียวหละ  ก็อาหารจากข้าวชื่อข้าวปุ้น ข้าว ปาด ข้าวโป่ง และอื่น ๆ ที่ชวนชิมในถนนสายบุญนั่นแหละ

               ถนนข้าวจี่ ทอดยาวจากประตูทางเข้าวัดทิศใต้สู่เหนือ มีหลายซุ้ม จากหลายชุมชนและหน่วยงาน  มีการปั้นข้าว ตั้งเตาปิ้ง(จี่)หอมกรุ่น ให้ชิมกันจนอิ่มหนำ  หัวถนนทิศเหนือคือที่ตั้งซุ้ม ถนนข้าวตอก  ข้าวตอก หรือ ข้าวตอกแตก  ซึ่งเป็นของศักดิ์สิทธิ์ใช้เป็นเครื่องบูชาในพิธีกรรมมาแต่โบราณ  มักใช้คู่กับดอกไม้ เป็น ข้าวตอกดอกไม้  ทำจากเมล็ดข้าวแห้งนำไปคั่วจนร้อนส่วนที่เป็นแป้งจะพองตัวดันเปลือกข้าวแตกออก(เป็นที่มาแห่งชื่อ ตอกแตก ๆ นั่นแหละ)เผยส่วนที่เป็นแป้งที่กลายเป็นปุยสีขาวสะอ้านนำไปใช้ประโยชน์ปรุงแต่งเป็นอาหาร และนำมาร้อยเป็นพวงใช้ร่วมร่วมกับดอกไม้  หรือใช้โปรยในบางพิธีกรรม

              นั่นก็เป็นที่เข้าใจ  แต่มาลัยสายสร้อยจากข้าวตอกแตกที่ห้อยเป็นพวงระย้าระย้อยระยับที่ตาได้ประสบในวันนี้คนหลับฝันไม่พลันตื่นตาโตก็เกินไปละ

              มาลัยข้าวตอก(แตก) ในซุ้มแสดงใช่จะมีเพียงมาลัยสายยาวระย้าย้อยดังกล่าว ยังมีที่ทำเป็นมาลัยวงเล็กสำหรับสวมมือ (หรือถือ) มาลัยสายสวยในเรือนแก้วใช้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และอื่น ๆ ที่บอกไม่ถูกอีกแยะล้วนตระการตา

            

               ถนนข้าวปุ้น  ข้าวปุ้น   หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า ขนมจีน เป็นอาหารประจำในงานบุญใหญ่บุญเล็กของชาวบ้านอีสานมาแต่เนิ่นนาน  ด้วยกระบวนการผลิตที่ยุ่งยากซับซ้อนใช้เวลาหลายวันหลายคืนกว่าแป้งจะกลายเป็นเส้นสาย  เป็นข้าวปุ้นนี้เองทำให้การบริโภคข้าวปุ้นเป็นเรื่องต้องรอคอย  และมักจัดทำกันในช่วงเวลาพิเศษ มีบุญ มีงานมีการรวมกลุ่ม จึงถือเป็นอาหารพิเศษเลยทีเดียว

             เนื่องจากข้าวปุ้นมักกินคู่กับส้มตำอาหารขึ้นชื่อของชาวอีสาน  ซุ้มนี้จึงมีส้มตำบริการคู่กับข้าวปุ้นไปด้วย เรียกว่าผู้ชมได้เรียนรู้ในกระบวนการผลิตแล้วยังได้แซบนัวตามอัธยาศัยด้วย

               ถนนข้าวปาด  ข้าวปาด  เป็นขนมคู่กับข้าวปุ้นที่เป็นอาหารคาว  แต่ข้าวปาดเป็นเครื่องหวาน  หลายวัฒนธรรมอาจเรียกชื่อต่างออกไป  หรือเรียกตามส่วนผสมในเนื้อแป้งให้เป็นสีสัน รสชาติ เพื่อเพิ่มคุณค่า หรือเรียกชื่อไปตามภาชนะแพ็กกิ้งก็มี  แต่ข้าวปาดที่จำได้สมัยเป็นเด็กคือการกวนแป้งกับน้ำอ้อย สุกแล้วใช้ไม้พายปาดออกใส่ลงในถาดปล่อยให้เย็นจึงโรยหน้าด้วยมะพร้าวทึนทึกที่ขูดเป็นเส้นสาย

               ซุ้มข้าวปาด  วันนี้นอกจากสาธิตกานกวนข้าวปาดแล้ว ยังมีการสาธิตวิธีพันใบเตยหอมให้เป็นดอกกุหลาบเรียกความสนใจจากเด็ก ๆ และเยาวชนกลุ่มแล้วกลุ่มเล่าจนใบเตยหลายหอบที่นำมาหมดไปนั่นแหละจึงได้หยุดกัน


                ถนนข้าวโป่ง  ข้าวโป่ง หรือ ไทยกลางเรียกข้าวเกรียบว่าว  เป็นคล้ายขนมกรุบกรอบของชาวอีสานโบราณ  มีกระบวนการผลิตที่ยุ่งยากซับซ้อน ทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ เช่นครกตำ บด ก็เป็นสิ่งขนย้ายไม่ง่าย ซุ้มข้าวโป่งวันนี้จึงสาธิตเพียงการปิ้งหรือย่างแผ่นข้าวโป่ง ซึ่งเด็ก ๆ คงสนใจตรงนี้มากกว่าจึงปรากฏยืนกันแออัดรอคอยแผ่นข้าวที่โป่งพองกันสนุก ได้อร่อยด้วย

                ถนนข้าวหลาม  ข้าวหลามเป็นการหุงข้าวในกระบอกไม่ไผ่  เป็นภูมิปัญญาการแก้ปัญหาของคนโบราณที่หาหม้อหุงข้าวได้ยาก  จึงใช้หุง(เผา)ในกระบอกกลวง ๆ ของไม้ไผ่แทน  มิคาด...กลับได้ข้าวสุกหอมกรุ่นออกมากินกัน  ที่สำคัญเยื่อไม่ไผ่ที่ห่อหุ้มอยู่ทำให้ได้ข้าวสุกแท่งยาวสะดวกในการกินและได้รสชาติของเยื่อไม้ไปด้วย เด็กหลายคนเพิ่งเคยเห็นการเผาข้าวหลามมาตั้งตารออยู่แต่เช้า  หลายคนยื่นมือจะคว้ากระบอกข้าวจากกองไฟไปทดลองปอก

              “อันนั้นยังไม่สุกนะ มาทางนี้”  คุณพี่คนหนึ่งร้องบอกด้วยสีหน้าเอ็นดู  พลางปาดเหงื่อที่ไหลย้อยเพราะความร้อนที่อยู่ใกล้ไฟ  แต่แววตานั้นยังเปี่ยมเมตตาต่อน้องผู้ไม่รู้จักข้าวดิบข้าวสุก

                 ถนนข้าวต้มมัด  ข้าวต้มมัด  ข้าวต้มผัด เป็นการทำข้าวให้สุกในห่อใบตอง(กล้วย)  กระบวนการทำคล้ายข้าวหลามแต่ใช้การต้มแทนการเผา 

ซุ้มนี้ให้ความประทับใจกระบวนการห่อข้าวต้มที่มีผู้เฒ่าผู้สาวจำนวนมากตั้งวงล้อมอุปกรณ์การทำข้าวต้ม ช่วยกัน  เป็นสิ่งที่เห็นทั่วไปในวัดบ้านอีสานสมัยก่อน  ที่นอกจากจะได้ข้าวต้มสักปี๊บสองปี๊บแล้วยังเป็นการรวมใจของผู้คน  สมัยเป็นเด็กที่บ้านผับแล้งจะได้ฟังนิทาน เรื่องเล่าปากเปล่าจากวงแบบนี้จนประทับในส่วนลึกของห้วงสมองเป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน  ตัวละครจากนิทาน ท้าวการะเกด  สินไซ  และ เซี่ยงเมี่ยง ... ออกมาเต้นยิบ ๆ ในความรู้สึกเชียวเมื่อผ่านซุ้มนี้ 

                  ถนนข้าวเม่า  ข้าวเม่า  ข้าวเหม้า  เป็นข้าวพิเศษกว่าข้าวทั้งหลายที่กล่าวมา  เพราะข้าวเม่านั้นผลิตจากเมล็ดข้าวที่ไม่แก่ไม่อ่อนซึ่งเป็นช่วงหนึ่งของฤดูทำนาแต่ละปีเท่านั้น  นำเมล็ดข้าจากรวงมาคั่วให้สุกแล้วตำฝัดเอาเปลือกออกทิ้งไป  จึงได้เมล็ดข้าวสีเขียว นุ่ม หวาน มากินกัน

มีเวลาเพียงสั้น ๆ จะได้ข้าวที่ไม่แก่ไม่อ่อนมาทำข้าวเม่าในแต่ละปี  นี่จึงเป็นความพิเศษของข้าวเม่า  เป็นของหวานที่ใช้ทำทานแล้วได้บุญหลายเชียว(ในความรู้สึกของผู้เขียนเองนะ)

ซุ้มข้าวเม่าก็ทำให้ประทับใจที่เห็นกลุ่มคุณยายช่วยกันทำข้าวเม่าด้วยใจเมตตาทั้งที่ต้องฝัด ตำ ฝัด ตำ ... อยู่หลายเที่ยวกว่าเปลือกข้าวจะยอมแยกออกจากเนื้อแป้งที่หวงแหนของมัน  สงสารคุณยาย  ...


                  ถนนข้าวมธุปายาส  ข้าวมธุปายาสเป็นข้าวในตำนานพุทธศาสนาที่นางสุชาดาธิดาเศรษฐีเมื่อครั้งพุทธกาลทำถวายเจ้าชายสิทธถะ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา  ในวันก่อนตรัสรู้  นับเป็นข้าวแห่งการกุศล  เมื่อก่อนการจะกวนข้าวนี้จึงต้องมีข้อจำกัด  ข้อปฏิบัติ  ปัจจุบันถือเป็นข้าวทรงคุณค่าทางสารอาหาร  เป็นของหวานทานอร่อย  เมื่อครั้งไปอินเดียมีข้าวนี้เสิร์ฟในโรงแรมที่ไปพักด้วย

                 ซุ้มข้าวมธุปายาสดูน่ารักด้วยผู้กวนข้าวล้วนเป็นหนุ่มน้อยแต่งชุดขาว และชุดโสร่งแบบอีสาน มีอาจารย์สาวเป็นผู้กำกับดูแล  เป็นซุ้มสุดท้ายก่อนไปชมแก่นหลักของงาน คือการปั่นฝ้ายเป็นสายเส้น และถักทอผ้าเป็นผ้ากฐินตามความมุ่งหมายของงาน

คงต้องเล่าถึงในตอนต่อไปค่ะ

๐๐๐

 

 

 

               

 

Tags : ท่องอุบลแบบคนอุบล5

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view