http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,957,006
Page Views16,263,313
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

เมื่อหนุ่มใหญ่วัย 66 ปี ตอน 3.

เมื่อหนุ่มใหญ่วัย 66 ปี ตอน 3.

เมื่อหนุ่มใหญ่วัย 66 ปี

ท้าทายด้วยระยะทาง 1,760 กิโลเมตรบนถนนนับพันโค้ง ตอน 3

โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

บนเส้นทางที่คดเคี้ยว อุตรดิตถ์-เด่นชัย-แพร่และร้องกวาง

                      รถเก๋งเล็กๆไต่ระดับความสูงจากอุตรดิตถ์ขึ้นไปบนสันปันน้ำสูงเสียว เพราะว่าคดเคี้ยว ผ่านจุดพักรถแต่ฝากไว้ก่อน เอาไว้ขากลับจะแวะพักรถนะ เนื้อวัวน้อยนึ่งจิ้มน้ำพริกข่าของโปรดจะมีไหม  สวนป่าไม้สักปางต้นผึ้งจะยังอยู่ครบไหม หรือว่ามีมอดไม้สักข้ามเขามาตัดไหม ความห่วงใยในป่าไม้ไพรพงยังกังวลอยู่ในใจเสมอ

 

ไส้หวานย่าง

                       บนสันปันน้ำเขาพลึง มีศาลเจ้าหรือศาลเพียงตาสร้างไว้หนาตามากขึ้นกว่าทุกปี เครื่องเซ่นไหว้เหี่ยวเฉาและทับซ้อนกันอยู่ ผมไม่รู้ว่าทำไมเขาถึงต้องมาสร้างกันไว้ตรงนี้หลายศาล แต่ก็บีบแตรแสดงความเคารพ จากนั้นรถวิ่งลงเขาไปเรื่อยๆ แต่คดเคี้ยวไปตามไหล่เขา มุ่งหน้าผ่านไปจนถึงสามแยกอำเภอเด่นชัย ซ้ายไปลำปาง-เชียงใหม่ ขวาไปแพร่-น่าน

           

คอหมูย่าง        

                       ผมยังมีพลังเหลือจากฤทธากาแฟสด ซึ่งช่วยให้ตาแข็ง สติมั่นคง ไม่ง่วงเหงาหาวนอน ผ่านแยกพระธาตุช่อแฮได้แต่รำลึกว่า คนเกิดปีขาลต้องมากราบไหว้เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต  ในที่สุดผ่านแยกเหมืองหม้อ บ้านโฮ่ง ด้วยทางเลี่ยงเมือง จนถึงอำเภอร้องกวาง

 

                      ผมหยุดพักเครื่องแล้วเดินลงไปหา ”ของกินสุก” ในกาดแลง(เย็น) ของอำเภอนี้ มีแม่ค้าขายของมากมายหลายเจ้า หัวหมูต้มสุก ไก่บ้านนึ่งสุก ไส้อั่ว แคบหมูไร้มันและแคบหมูติดมัน น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกตาแดง แมงดา สารพัดชนิด ผักต้ม ผักสดมีให้แกล้มพร้อม

 

                      ได้ของกินสุกตามต้องการแล้วก็ขับรถต่อไปตามถนนที่กำลังก่อสร้าง เป็น 4 ช่องจราจร ภูเขาหลายแห่งถูกพังลง ดินถมลงไปในเขตห้วย ทำให้ไม่สามารถขับรถได้เร็วนัก 80-90 กม. จากแพร่ไปอำเภอเวียงสา แค่ 100 กม.ไม่สะดุ้งสะเทือน ประกอบกับเป็นถนนที่เคยขับมาแล้วระหว่างปีพ.ศ.2521-2531

 

ไร่เลื่อนลอยยังมีเหลืออยู่ทั่วไป


การท่องเที่ยวทำให้เกิดการหมุนเวียนรายได้

                       ถึงสามแยกเวียงสา ซ้ายเข้าไปจังหวัดน่าน 24 กมบนถนนสองช่องจราจร ขวาแยกเข้าตลาดเวียงสา ผมเลี้ยวไปตามทางขวามือแล้วแถรถเข้าไปในปั๊มน้ำมัน “เต็มถัง” สั่งแล้วไปเข้าห้องสุขาสบายๆ ยืดเส้นยืดสายเป็นครั้งสุดท้าย 

                      “โอย เดี๋ยวนี้มีนักท่องเที่ยวเข้าออกเยอะเจ้า” เด็กปั๊มสาวเหนือเล่าให้ฟัง

                      “ส่วนใหญ่ไปถึงอำเภอนาน้อย 32 กม. แล้ว หากจะไปดูทะเลหมอกต้องเลี้ยวซ้ายขึ้นดอย ไปที่ “ดอยเสมอดาวหรือที่ผาชู้”(อุทยานแห่งชาติศรีน่าน) อีก16 กม. และถ้าจะไปดู”ดอกนางพญาเสือโคร่ง” ก็เลี้ยวขวาขึ้นไปที่ดอยขุนสถาน ว่ากันว่าที่อุทยานแห่งชาติขุนสถานไม่มีดอกนางพญาเสือโคร่ง แต่ถ้าที่สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน มีเยอะขนาดเน้อเจ้า ทางนี้ไปอีก 35 กม.จากตัวอำเภอนะเจ้า”

 

                       ผมฟังอย่างตั้งใจเพื่อเก็บงำข้อมูล หากผมแสดงตนว่าเป็นคนบ้านกิตตินันท์ เขาก็จะไม่กล้าเล่าอะไรให้ฟัง นี่คือกลการหาข่าวสารผ่านการพูดคุย สอบถาม ชี้นำ และรับฟัง อันเป็นพฤติกรรมที่ผมใช้มาทุกก้าวย่าง ส่วนใหญ่จะได้ข้อมูลจริงจากปากของคนท้องถิ่นที่เต็มไปด้วยจิตใจที่เอื้ออารีย์

 

เวียงสาแห่งนี้เคยมีความหลังฝังใจจำ

                       หลังการ รูดปืดๆ แล้วก็หันหัวรถมุ่งหน้าไปทางวงเวียนเวียงสา  นึกถึงค่ำยามหนาวเมื่อปีพ.ศ.2514 ผ่านมาแล้ว43 ปี แต่ผมยังมองเห็นภาพแม่ค้าสาวผิวขาวเนียนละมุน  ผมเธอดำยาวสยายคลอเคลียแก้มแดงอ่องต้อง  กำลังใช้พายไม้ไผ่เล็กๆพลิกตลบตัวขนมปากหม้อ ไอสีขาวลอยจากปากหม้อ ช่างงดงาม ช่วงเวลานั้นเป็นหน้าหนาวอย่างวันนี้นี่แหละ 

                       เช้ามืด บัณฑิตหนุ่มจากแดนไกลใช้เวลายามว่างกับการเดินค้นหาสิ่งแปลกใหม่ เวียงสาในปีนั้นหนาวจนสั่นเหมือนปีนี้ สายหมอกขาวนวลไหลไปทั่วตลาด เวียงสาเป็นแอ่งกระทะที่มีหมอกลงจัดทุกหนาว  ผมชอบเดินไปนั่งดื่มกาแฟร้อนแบบยกล้อที่มุมตลาด หยิบปาท่องโก๋เหลืองอ่อนใส่ปากเคี้ยวช้าๆ  กวาดสายตาไปทั่วๆด้วยความสนใจ ใช่แล้ว 

                        ผมชอบมองดูผู้คนล้นตลาด ส่วนใหญ่เป็นแม่หญิง แต่งตัวด้วยเสื้อผ้ากันหนาว สีสันสวยงามแปลกตา  พันคอหลากสี สวมถุงเท้าและรองเท้ามิดชิด บางคนสวมถุงมือ แขนคล้องซ่าหรือตะกร้าจ่ายตลาด

                         เว้นแต่เจ๊ เจ้าของร้านขายรถมอเตอร์ไซค์ เธอสวมสร้อยเพชรที่ข้อเท้าไปจ่ายตลาดทุกวัน รวยจนหาที่ใส่สร้อยเพชรไม่พอ

  

บ้านทาร์ซานหลังเก่า

 

ค่ำคืนแห่งความหลังกลางหุบเขา

                       ตื่นจากภวังค์ รถก็โลดแล่นไปบนถนนลาดยางสายอำเภอเวียงสา-อำเภอนาน้อย เป้าหมายบ้านกิตตินันท์ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 22-23 ถนนคดเคี้ยวเลี้ยวลดไปตามไหล่เขา ซึ่งในอดีตเมื่อปีพ.ศ.2514 มีแต่ถนนดินลูกรังลาดฝุ่นสีแดงหนาเป็นคืบ  

                       ไฟส่องสว่างสาดใส่ “บ้านทาร์ซาน” หลังเดิมบนต้นมะค่าใหญ่  จึงเลี้ยวรถลงทางเข้าหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำห้วยสามสบ หน่วยงานที่ผมเคยมาประจำทำงานระหว่างปีพ.ศ.2521-2531

 

หน.สมพล จินดาคำ เสื้อแดง

                       คืนนี้ ฟ้าหลัวจนมองหาดาวและเดือนไม่เห็น ผมพักแรมที่บ้านพักสำนักงานมูลนิธิเฮียะ เปาอินทร์และสมเพิ่ม กิตตินันท์  มีเพื่อนร่วมงานเก่าก่อนมารอร่วมกินข้าวมื้อค่ำด้วยกัน  แม่บ้านตำแหน่งลูกจ้างประจำ ทัศนีย์ กาพรหม ช่วยกันขนถ่ายอาหารมาพร้อมเพียบ ผมควักไก่บ้านต้มจากร้องกวางมาเสริม แจ๊คและภรรยาสมทบด้วยน้ำพริกผักต้มและปลานิง 3 ตัวย่อมๆ

 

                        ค่ำคืนแสนเดียวดาย ผมต้องนอนคนเดียวในบ้านทั้งหลัง อุณหภูมิลดลงเหลือราวๆ 14-16 องศาเซลเซียส แต่มีความสุขเหมือนได้กลับบ้านเก่า มีเพื่อนบ้านในหุบเขากว่า 200 ชีวิต โอบล้อม เสียงตีเกราะเคาะจังหวะเงียบไปแล้ว  เพื่อนๆกลับไปแล้ว บ้านใครบ้านมัน  “สมพล จินดาคำ” หัวหน้าหน่วยคนใหม่ กลับขึ้นไปนอนบนที่พักสำนักงาน

 

                       ผมนอนคิดถึงความหลัง คิดถึงความผูกพันของพี่น้องคนเมืองน่านพื้นถิ่น อดีตไม่อาจหวนคืนแต่ความทรงจำที่ลืมไม่ลงคงอยู่ในใจเสมอ  ซึ่งมีทั้งสุขและเศร้าคละเคล้ากัน  

                      เสียงไก่ขันขานกันเพรียกตอนย่ำรุ่ง หมอกลงจางๆ แต่ท้องฟ้ายังปลาสนาการไปด้วยแสงตะวัน ผมเสียบปลั๊กกาน้ำร้อน แล้วหากาแฟนั่งดื่มในความมืดสลัว อากาศหนาวเย็นกว่าชีวิตคนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ผมสวมเสื้อกันหนาวสีแดงตัวเก่ง แล้วเอนลงนอนอีกครั้ง ห่มคลุมด้วยผ้านวมผืนใหญ่  เผลอหลับใหลไปกับความหนาวเย็นอีกครั้ง

 

                     ค่ำคืนที่แสนสงบ ผมหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย จากการขับรถยนต์บนเส้นทางยาวไกลกว่า 750 กิโลเมตร ดื่มวิสกี้แก้หนาวไปอีกหลายแก้ว และอิ่มอกอิ่มใจในไมตรีของเพื่อนร่วมงานระดับรากหญ้าที่เคยฟันฝ่าอุปสรรคนานามาด้วยกัน เรื่องเล่าขานกันปากต่อปากถึงความหลัง การพัฒนาหมู่บ้านที่เริ่มต้นเมื่อเวลาหกโมงแลงและเลิกเมื่อสองยามย่างมาถึง ทุกค่ำคืนกว่า 5 ปี มีเรื่องราวมากมายให้เล่าขานถึง 

                      อดีตผู้ใหญ่บ้าน เผ่น(เอนก จันเป็ง) คนหนุ่มในอดีตวันนี้อายุกว่า 52 ปี ใบหน้าเกรียมกร้าน แต่มือที่เคาะจังหวะบนกล่องน้ำมันเครื่องและขวดแก้วยังแม่นพอๆกับเสียงเพลงที่เจื้อยแจ้ว เคล้าคลอไปด้วยเสียงร้องประสานต่างโทนดนตรีคีย์เพลง  มันคือความสุขในอดีตที่หวนคืนให้ได้ยิน

                     “ปี่นี้ นาไม่มีข้าวสักต้น .......ของศรคีรีศรีประจวบดังก้องไปทั้งหุบเขา

 

                     บทเพลงที่คร่ำครวญด้วยเสียงใสๆวันนี้ เมื่ออดีตเคยใช้ร้องเพื่อให้กองผ้าป่าสามัคคีไม่เงียบเหงา เรื่องเล่าจากชาวดงหลุดจากปากแต่ละคนด้วยความสุขแต่หนหลัง 

                      แจ๊ค เทิดศักดิ์ สารผัด เด็กชายจอมซนแห่งห้วยสามสบ กลายเป็นผู้พิการจากรถยนต์พลิกคว่ำ วันนี้นั่งอยู่บนรถเข็นมีภรรยาแนบข้าง ดีดกีต้าโปร่งตัวเก่า พร่ำรำพรรณนาภาษากวีของเขาให้ฟัง  ภรรยาน่ารักปิ้งหมูหอมชวนน้ำลายสอบนเตาถ่านแดงๆ  แถมส่งประกายไออุ่นทางด้านข้างให้คลายหนาว  

                     “บ่ต้องสุกดีก็หั่นมากินเตอะ ใคร่อยากแล้ว” เสียงตะโกนหาหมูปิ้งดังขึ้น

                     เป็นเสียงของ”อึ่งกัดเม่า” สมญานามที่ชาวบ้านเรียกขาน  เมื่อยามที่ผมขึ้นเวทีจะวาดลีลาภาษาสนุกๆ ชวนหัว

                     ธวัช ราชต๊ะจักร  เด็กน้อยวันวาน คืนนี้เป็นคนหนุ่มห้าวกร้าวเสียงเพลงร่วมวงด้วยอารมณ์สนุก  อาเนตรนั่งปรบมือเข้าจังหวะ  อารอบประสานเสียงไปด้วยความมัน   ผู้ใหญ่บ้านทองชั้น ธิเขียว มาสมทบหลังสุด   

 

                      หัวหน้าหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำห้วยสามสบคนใหม่แต่หน้าเก่า หนุ่มเมืองแพร่แห่ระเบิด คนเมืองเหนืออารมณ์ดีขอเวลา

                    “ซอสติงหื้อลุงธงฟังสักกำ”แต่ร่ายซะยาวตามปกติวิสัยพ่อเพลงช่างซอ 

                    ความสุข สนุกสนาน ผ่านกาลเวลาไปไม่รู้ตัว เป็นความหลังที่เคยร่วมสานสัมพันธ์ มีความหมายที่ยังหลงเหลือเยื่อใยในน้ำใจไมตรีต่อกันและกัน  น้ำตาจะไหล

 

 

โชคชะตาฟ้าลิขิต  ย่อมแตกต่าง

                   “ตอนปีพ.ศ.2529-2533 ผมมาประจำทำงานกับพี่ธง สำนักพัฒนาป่าไม้ที่นน.2 ครั้งนั้น ผมเคยขึ้นไปนอนบนบ้านทาร์ซานต้นมะค่าใหญ่หน้าหน่วย ผมตั้งจิตอธิษฐานบนบานเจ้าป่าเจ้าเขา

                   “ขอให้ผมได้มาเป็นหัวหน้าหน่วยนี้สักครั้ง ตั้งใจจะพัฒนาให้สวยงามตลอดไป”

                    วันนี้ผมสมใจปรารถนาแล้ว สมพลมาแล้ว

 

                    “งานแรกที่ผมมารับงาน ผมยกศาลเจ้าพ่อพรานตนขึ้นใหม่ ไหว้สาตามธรรมเนียม ท่านให้โชคผมถูกหวยครั้งแรก ห้าหมื่นบาท ครั้งที่สองอีก หนึ่งแสนแปดหมื่นบาท และครั้งที่สาม......”

                    หน.สมพลหยุดลมหายใจ เอ้ย หยุดนึกในใจ แล้วไม่ต่อความ  พวกเราตั้งตารอฟัง แต่ก็รู้แค่ว่า เจ้าพ่อให้โชคท่านถึง 3 ครั้งแล้ว 

                     “เจ้าพ่อลำเอียง ผมอยู่มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2521-2531 ไม่เคยให้ผมสักครั้ง”


                     ผมฟ้องร้องเสียงดัง ซึ่งกาลก็เป็นเช่นนั้นจริง เพราะว่าสิบปีแห่งความหลังมีแต่งานหลวงทุกเช้าเย็น งานราษฎร์ทุกค่ำคืน  ผู้ช่วยประสิทธิ์ พัฒนใหญ่ยิ่ง ทสจ.น่านคนปัจจุบันนี้ ยังได้โชคใหญ่ในชีวิต ได้คู่ครูแหวว เธียรทอง ทองสุวรรณ ไปครอง เป็นศรีภรรยาตราบทุกวันนี้  คิดแล้วก็น่าน้อยใจในโชควาสนา ก่อนมาเป็นหนี้ปลูกบ้าน 3 แสน กลับบ้านเป็นหนี้ 3 แสน เป๊ะ

Tags : บ้านกิตตินันท์ 

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view