http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 07/08/2024
สถิติผู้เข้าชม14,331,367
Page Views16,660,793
« October 2024»
SMTWTFS
  12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031  
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ตำนานไพร ตำนานห้วยขาแข้ง

ตำนานไพร ตำนานห้วยขาแข้ง

ตำนานไพร ตำนานห้วยขาแข้ง

โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

บารมีของผู้อาวุโส ผมจึงได้ร่วมเดินทาง

              “ท่านครับ มีที่นั่งว่าง 1 ที่ให้ผมไปด้วยไหมครับ” ผมถามด้วยความหวังแล้วก็สมหวัง

              “เหลือ 1 ที่ ไปด้วยรถคามิโอกับผมและครอบครัว”  

              เท่านั้นเองผมเก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋า แล้วนั่งรถตู้จากอำเภอกำแพงแสนไปรอที่สี่แยกนพวงศ์ ริมถนนสายตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี(340) และจากนี้คือการเริ่มต้นเดินทางไปยังเป้าหมาย หน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันได อ.บ้านไร่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี


              หัวหน้าทริปเป็น ท่านอุดม หิรัญพฤกษ์ อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้ อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีตศิษย์เก่าวนศาสตร์ รุ่น 15 ประธานกรรมการมูลนิธิสมเพิ่ม กิตตินันท์ เพื่อส่งเสริมการศึกษาต่อเนื่องตั้งแต่ระดับอนุบาล-ปริญญาตรี และประธานชมรมคุณเหี่ยว ตลอดชีพ  หนุ่มน้อยวัยใสอายุเกือบ 90 ปี


              “คณะของเรานี่ไปกันด้วยรถ 4 คัน 2 คันออกจากกรุงเทพบนเส้นทางเดียวกัน อีกคันหนึ่งท่านธานี ภมรนิยม อีซูซุมิวเซเว่นจากปันเจนไฮด์อะเวย์ อ.วังชิ้น จ.แพร่ และคันสุดท้าย ป่าไม้บัวพาน จาก อ.ด่านซ้าย จ.เลย ฮ้อแรดมาสมทบกัน ณ จุดนัดพบ ตลาดสด อ.บ้านไร่ เพื่อเตรียมซื้อเสบียงกรังครั้งสุดท้าย ก่อนเดินทางไกลอีก”

              หัวหน้าทริปจากวังชิ้น ท่านธานี ภมรนิยม อดีตป่าไม้เขตแพร่ อดีตผู้อำนวยการกองจัดการที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้ อดีตศิษย์เก่าวนศาสตร์รุ่น 15 ประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิสมเพิ่ม กิตตินันท์  ติดตามด้วยเจ้าของ ปันเจนไฮด์อะเวย์ รีสอร์ท อ.วังชิ้น แหม่มนิ้ง และเกษม ....ลูกป๋าคนเดิม อดีตข้าราชการกรมป่าไม้ ซึ่งต้องเดินทางไกลจากแพร่มาจนถึงอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ตามกำหนดเวลา


              ณ ร้านอาหารจุดนัดพบตลาดบ้านไร่ ทุกคนมาถึงด้วยสภาพอารมณ์ที่เรียกว่า  ยามจะไปเหมือนไก่กำลังจะบิน มีแต่เสียงตะโกนทักทายกันด้วยความสนุกสนาน เหมือนได้หนีออกจากบ้านและพันธะกิจจำเจ เพื่อมุ่งหน้าสู่ป่าเขาลำเนาไพรในความรู้สึกลึกซึ่งผูกพันในใจของเหล่า”วนกร”(ป่าไม้) ทุกคน


              หลังอาหารอิ่มหนำสำราญตามสมควร ก็เดินทางไปยังตลาดสดบ้านไร่ เตรียมเสบียงกรังเพื่อเอาไปทำกินในป่ากว้างทางรกและทุรกันดาร

              บนถนนลาดฝุ่นจากอำเภอบ้านไร่มุ่งไปจนถึง “หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยแม่ดี” ที่นี่ทุกคนลงไปพักเปลี่ยนอิริยาบถ เข้าห้องสุขา ดื่มน้ำชากาแฟและน้ำเย็นๆจากพนักงานเจ้าหน้าที่แสนดี              ที่นี่เป็นหน่วยพิทักษ์ป่าที่มีบ้านพักหลายหลัง สามารถติดต่อเข้าไปพักผ่อนและเดินชมสัตว์ป่าได้


น้องเยียร์ เชื้อไม่ทิ้งแถว

              “ไม่ค่อยมีใครมาพักหรอกค่ะ น้อยมาก” เจ้าหน้าที่ลูกจ้างสาวเล่าให้ฟังขณะยืนบริการน้ำดื่มและกาแฟร้อน

              ผมนึกในใจ ช่างน่าเสียดายจัง บ้านพักแต่ละหลังสร้างไว้สวยดี สะดวกสบายตามสมควร อยู่กลางป่าเปลี่ยว หากสนใจไปชมสัตว์ตามโป่งต่างๆ จะมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ ทำไม จึงไม่มีนักอนุรักษ์หรือนักนิยมไพรเข้าไป ต้องถามว่า ทำไม ทำไม


              ผู้ช่วยหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ชื่อบุญนาค  ......อาสานำทางไปส่งให้ถึงหน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันได พร้อมเจ้าหน้าที่เต็มกระบะท้ายรถ เส้นทางขรุขระตามสภาพแห่งฤดูกาล (หน้าฝนคงเข้าได้ยาก) ผ่านป่าเบญจพรรณ ป่าแดงหรือป่าเต็งรัง ป่าไผ่เป็นบางช่วง ต้นไม้ที่พบเห็นใหญ่น้อยคละกันไป แต่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้รุ่นสอง

              เมื่อรถทุกคันถึงหน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันได พนักงานขับรถคามิโอได้รับการปรบมือจากผู้ช่วยเขตฯ

              “โอ้โฮ ฝีมือจริงๆครับ ขับเก่งมากๆ” คุณแป๊ด  นันทวัน หิรัญพฤกษ์ ยิ้มรับความจริง ขณะเดินลงไปเปิดประตูให้ทุกคน พร้อมตอบคำชมว่า “ขอบคุณค่ะ”


                ตลอดการเดินทาง รถยนต์โขยกจนเอวแทบเคล็ด เป็นไปตามสภาพถนนที่มีทั้งหลุมบ่อและร่องล้อลึกๆจากฝนที่ผ่านมา เราได้เห็นรถกระบะจอดตามแนวป่าข้างทาง ได้ความว่าเป็นนักนิยมไพร มาซุ่มถ่ายรูปสัตว์ป่า แต่ละคณะมาและเข้าไปแบบ 5-7 วันไม่เคลื่อนออก กินนอนขี้เยี่ยวที่ ”ห้างส่องสัตว์ป่า” ซึ่งทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งสร้างเอาไว้ให้นักนิยมไพร “ซุ่มโป่ง


                ในอดีต การซุ่มโป่งคือการทำห้างส่องสัตว์ป่าเพื่อการล่า มักสร้างไว้บนคาคบไม้สูงกว่า 3-5 เมตร เพื่อความปลอดภัย ต้นไม้ที่จะสร้างต้องแข็งแรง มีขนาดใหญ่ และกิ่งก้านสาขาแข็งแรง การซุ่มโป่งคือการซุ่มยิงหรือล่า เพื่อเอาเนื้อ-เขา-งา-เขี้ยว-อุ้งตีนหมี ฯลฯ

                 ส่วนใหญ่จะเลือกทำซุ้มซุ่มโป่งใกล้ “โป่ง”ที่มีแร่เกลือล่อใจสัตว์ป่า ลงมากิน หรือใกล้แหล่งน้ำ  ใกล้ลำห้วย หรือใกล้ต้นไม้ที่ตกผลแก่ให้สัตว์ป่ามาหากิน เช่นใต้ต้นมะกอกป่า  มะม่วงป่า มะกัก มะดูก หรือยามที่ดอกแคหางค่างร่วงหล่น


หน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันได ใจกลางป่าห้วยขาแข้ง

                ที่ศาลาริมป่าเหนือลำห้วยขาแข้ง อาคารโอ่โถงโล่ง กว้างขวาง มุมหนึ่งนอนเตียงผ้าใบชมเวิ้งลำห้วยขาแข้งได้ชัดเจน มองไกลสุดลูกหูลูกตา เห็นทิวเขาสลับซับซ้อน  ลำห้วยขาแข้งมีน้ำใสไหลเอื่อยๆ สองฝั่งมีหญ้ารกเรื้อบ้าง เว้นว่างเป็นหาดทรายบ้าง สลับกันไป ณ จุดนี้ หากนั่งนิ่งๆฟังเสียงสัตว์ป่าร่ำร้องก็เหลือคณาแล้ว


                “เสียงนกกก ร้องดังมาก เสียงแปลกกว่านกชนิดอื่นๆ บางทีก็เรียกนกเงือก หรือนกกาฮัง  นกยูงก็ร้องเสียงดังแว่วๆมาแต่ไกล “กาโฮ่งๆ” น่าจะปรากฏตัวให้เห็นนะ” ท่านธานี ภมรนิยม เล่าพลางส่องกล้องส่องทางไกลคู่กายไปในลำห้วยขาแข้ง

                “โน่นไง นกยูงออกมาอวดโฉมแล้ว ตัวผู้เดี่ยวๆ กำลังเดินย่ำน้ำไปตามชายหาดทราย ถ่ายได้ไหมๆ” ท่านหันมาทางผม ผมตั้งขากล้องแล้วจ้องถ่ายได้มาตามปรารถนา

                “ได้ครับท่าน ได้จะจะเลยครับ” ผมตอบแล้วกล่าวต่อ


นกยูงที่ลำห้วยขาแข้ง หน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันได 

                “ผมพยายามหาถ่ายรูปนกยูงไทยไปทั่วสวนสัตว์ดุสิตครับ แต่ที่นั่นไม่มีนกยูงไทยสักตัว แหม โชคดีที่สุดที่ผมถ่ายได้จากป่าห้วยขาแข้งจริงๆ เสียดายไม่ได้รูปกำลังรำแพนหาง”

                หลังจากนั้น ตำนานไพรในห้วยขาแข้งก็เริ่มไหลจากปากของท่านธานี ภมรนิยม

                “เมื่อปีพ.ศ. 2503 ผมมาเป็นป่าไม้จังหวัดอุทัยธานี ตอนนั้นอายุแค่ 32 ปี กำลังหนุ่มและแข็งแรง ผมมีเพื่อนเป็นครูใหญ่สอนหนังสืออยู่ที่บ้านไร่นี่แหละ นัดกันกับพรานนำทางอีกคนหนึ่งเพื่อใช้ช้างหนึ่งเชือกบรรทุกเสบียงเข้าไปตรวจป่า เดินด้วยเท้าจากบ้านไร่เลยทีเดียว”


                “สมัยนั้นบริษัทไม้อัดไทยจำกัดรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับอนุญาตให้ทำไม้จากป่าโครงการห้วยทับเสลา-ห้วยขาแข้ง ปีพ.ศ.2498 สัญญาสัมปทานที่ 84  แต่ป่ากว้างนับล้านๆไร่ ยังไงก็ทำไม่หมด”

                  “หลังจากออกจากป่าเขาบันได้คราวนั้น ผมรู้สึกเสียดายป่าไม้และสัตว์ป่าซึ่งมีชุกชุมมาก เดินไปตามทางพบไก่ป่าบินผ่าน นกยูง เก้ง กวาง เดินผ่านไปมา ขี้ช้างเหรอ เพียบเลย อุทัยธานีนี่เป็นแหล่งหาซื้อของป่าประเภทงาช้าง เขากวาง เขากระทิง สารพัดที่อยากได้”


                  “ในปีพ.ศ.2503 นั่นแหละที่ผมกลับออกจากป่าเขาบันได อำเภอห้วยไร่ ด้วยความห่วงใยว่าป่าสมบูรณ์มาก ล้อมรอบขุนต้นน้ำห้วยขาแข้ง พบสัตว์ป่ามากมายหลายชนิด จึงตัดสินใจทำเรื่องเสนอไปยังกรมป่าไม้ให้ตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง”


                 “ปีพ.ศ.2506 ป่าโครงการทำไม้ของไม้อัดไทยถูกปิดลง  ยกเลิกสัญญา  กรมป่าไม้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาทำการสำรวจพื้นที่แล้วรายงาน แต่เชื่อไหมล่ะ กว่าจะตราพระราชกฤษฎีกา ประกาศจัดตั้งและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 89 ตอน 132 ลงวันที่ 4 กันยายน 2515 มีการประกาศเพิ่มพื้นที่ปีพ.ศ.2529 และปีพ.ศ.2535  รวมพื้นที่ป่าห้วยขาแข้งทั้งหมด 2,780.14 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,737,587.5 ตารางกิโลเมตร ใช้เวลาในการดำเนินการช้าไป”


ยามเช้า ซุ่มโป่งที่ศาลาเหนือลำห้วยขาแข้ง

             หลายปีก่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายปองพล อดิเรกสาร นักเขียนเรื่องสลัดตารุเตาและนักนิยมไพรคนสำคัญ ได้เสนอให้สร้างบ้าน 3 หลังสไตล์บ้านไม้ซุง(Log Cabin)ด้วยไม้ซุงสักตัดสางขยายระยะจากสวนป่าห้วยระบำ ของบริษัทไม้อัดไทย จำกัด ได้ถูกกลุ่มนักอนุรักษ์ตกขอบรุมสะกรัมผ่านสื่อสารมวลชนจนต้องประกาศล่าถอย


             ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้างบ้าน 3 หลังให้เป็นตึกอิฐก่อฉาบปูนเรียบ ทาสี ส่วนศาลาหลังใหญ่ที่สร้างด้วยไม้โก้เก๋มาก ยังคงดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ มีห้องครัวและสุขา       เคาร์เตอร์เสริฟอาหาร โต๊ะและม้านั่งไม้ขนาดยาวกลมกลืนกับธรรมชาติ  ระเบียงร้านโล่งแจ้ง สามารถเดิน นั่ง นอน ทอดอารมณ์และส่องกล้องทางไกลมองหาสรรพสัตว์รอบทิศทาง


              เช้าตรู่ คนตื่นเช้ามาเฝ้าส่องกล้องมองหานกรอบตัว ได้ยินแต่เสียงบางทีมองหาตัวไม่เจอ บางคนส่องกล้องมองไปยังลำห้วยขาแข้ง บนหาดทรายชายน้ำ ได้เห็นนกยูง อีกา ลงมาเดินเล่นชายหาดและอาบน้ำทำความสะอาดปากและขน  ต้นไม้ไหวยวบยาบ ชวนชี้ให้ดูค่างแว่นถิ่นใต้ห้อยโหน แต่ถ่ายรูปไม่ชัดพอ เลยไม่อวด

               หลังอาหารเช้าแบบง่ายๆ กาแฟร้อน ไข่ไก่ที่ซื้อมาจากตลาดบ้านไร่ลวก ขนมนมเนยมีพร้อม แต่ที่ยังเหลือมาจากวังชิ้นและด่านซ้ายคือพุทราอร่อย ผมกินทุกลูกแล้วเก็บเมล็ดใส่กระเป๋า กะว่าจะเอาไปทิ้งนอกผืนป่าอนุรักษ์ เพราะว่าพุทราพันธุ์นี้เป็นพุทราพันธุ์ต่างถิ่นกำเนิด นักท่องเที่ยวที่เคร่งครัดต้องเข้าใจเรื่องป่าอนุรักษ์


ยามบ่าย ซุ่มโป่งที่โป่งยาว โป่ง.......และป้าแหม่มพบผีตองเหลืองในลำห้วยขาแข้ง.

                หลังอาหารกลางวันเรียบง่าย แต่ละคนมองหาที่พักงีบตามชอบ ท่านอุดม หิรัญพฤกษ์ หลับคาเก้าอี้พับ ไปเรียบร้อย คุณป้าทั้งหลายเดินไปบ้านพักเอนหลังสักงีบ มีแต่หนุ่มเกษมและสาวจุ๋ม ศรีมาลา หลบไปนั่งศาลาเหนือชายป่า ผมนั่งส่องกล้องผ่านเลนส์คู่กับท่านธานี ภมรนิยม ได้ยินเสียงแผ่วเบาแต่ชัดถ้อยชัดคำ


                 “เมื่อ 54 ปีก่อนตอนที่ผมเดินเข้ามาสำรวจป่าแห่งนี้ ผมตั้งเต็นท์นอนบนเนินนี้เลย แล้วลงไปอาบน้ำในห้วยขาแข้ง น้ำเย็นเฉียบ หาดทรายนวลชวนนอนเล่น ร่องรอยสัตว์ป่ามากมายหลายชนิดลงมากินน้ำ เดี๋ยวผมจะลงไปสัมผัสอดีตอีกสักครั้ง”

                  ผมยังพยายามใช้กล้องซูมหานกและสัตว์ป่าที่อาจจะลงมากินน้ำ แต่ไร้ผล เหลียวกลับมาอีกทีไม่เห็นท่านธานีเสียแล้ว ผมเดินไปนั่งส่องหานกหัวขวานหลังเทาที่กำลังเจาะเปลือกต้นตะแบกเปลือกบางดัง ก็อกๆๆ เพื่อหาหนอนกิน แต่ปลายต้นตะแบกเปลือกบางช่างห่างไกล ได้ภาพมาไม่ค่อยชัดเจนเท่าไร


ชะมดหางพวง เงียบๆก็ย่องมาหากิน

                  “ธานีๆ ยูจะลงไปไหน” ป้าแหม่มนิ้งร้องเสียงหลง เมื่อเห็นท่านธานีนุ่งผ้าขาวม้าผืนเดียวไต่ตลิ่งสูงๆลงไปในลำห้วยขาแข้ง

                  ผมนึกในใจ เอาจริงแฮะ นึกว่าจะแค่คนแก่รำพึงถึงความหลัง

                  สักครู่ ผมได้ยินเสียงท่านธานีแว่วมาจากท้องน้ำ

                  “เฮ้ยๆ อย่าๆ ทะลึ่งๆ” เสียงแหม่มหัวเราะ เสียงท่านธานีวิ่งหลบน้ำกระเจิงดังซัดซ่า


                   สักครู่ ผมจึงได้เห็นท่านธานี นุ่งผ้าขาวม้าลายขาวดำผืนเดียวจริงๆ ท่านกำลังไต่ขึ้นมาจากลำห้วยขาแข้ง อารมณ์ขำขันยังพรายอยู่บนใบหน้า ไม่โกรธแต่ท่าจะขำๆ ป้าแหม่มนิ้งเดินตามมาติดๆ เสียงหัวเราะดังก้อง คงขำเต็มประดาตามประสาเรื่องโจ๊ก


                   ป้าแหม่มขึ้นมาถึงศาลาหกเหลี่ยม ส่งเสียงหัวเราะแบบสุดขำ

                   “ไอพบผีตองเหลืองกลางลำห้วยขาแข้ง 55555”


                  ประกาศเสียงดัง พร้อมหัวเราะจนรอยตีนกาขึ้นเต็มหางตาทั้งสองข้าง แล้วก็เดินมานั่งเล่าเสียงใส ท่านธานีเดินดิ่งไปบ้านพัก เปลี่ยนผ้าขาวม้าผืนเปียก   แล้วแต่งหล่อเหมือนเคย                                


นกหัวขวานหลังเทา

ซุ่มโป่งที่โป่งยาว กับสาวห้าว

                   บ่ายสามโมงแล้ว สมชาย พนักงานพิทักษ์ป่าหน่วยเขาบันได้ มารับพวกเราไปซุ่มโป่งที่โป่งยาว รถเคลื่อนไปบนถนนดินลูกรังหยาบกระด้าง ต้นไม้ป่าหนาทึบ เขาจอดรถเทียบข้างทางแล้วพาเดินเลาะลำรางเล็กๆ ได้เห็นขี้ช้างเก่ามาก รอยตีนกวาง เก้ง และหมูป่าใหม่ๆ 

                   "ลงเมื่อคืนนี้แหละครับ" สมชายกล่าว


                   ซอกเขาแห่งนี้มีรอยสัตว์ป่าเดินเข้าออก ไหล่เขาทางซ้ายมือเป็น "ห้างส่องสัตว์ที่ทางหน่วยสร้างไว้" โดยใช้ไม้เสาเป็นต้นไม้ตายแห้งขนาดเล็กๆ ขัดฝาด้วยฟากไม้ไผ่ มีบันไดขึ้น 5 ก้าว ข้างในหุ้มด้วยสะแลนเขียว เจาะช่องให้เปิดส่องสัตว์ได้ ระยะห่างจากโป่งยาวราวๆ 25 เมตร ที่นี่ผมเฝ้าส่อง ทุกคนไปซุ่มอีกโป่งตามคำแนะนำของสมชาย


                   ผมนั่งนิ่งบนเก้าอี้เล็กๆ ตั้งกล้องจ้องไปที่ดป่ง ต้นไม้มบบังพรางแสงพระอาทิตย์สวยสม เงาแสงทอดยาวไปกระทบหญ้าข้างทางเดินสัตว์ป่า   ผมนั่งนิ่งๆ เงียบสงบตามวิถีพรานไพรที่ใช้แต่กล้องยิงภาพ จากนาทีเป็นห้านาทีแล้วก็ยี่สิบห้านาที ผมเมื่อยก้นปอดๆ จึงลุกขึ้นโหย่งพอให้ผ่อนความเมื่อยแล้วก็นั่งลงเหมือนเดิม สายตาจ้องไปที่โป่ง ถ้าสัตว์ใดโผล่ออกมาจากพงหญ้า ผมถ่ายภาพได้แน่ๆ ไม่มีพลาด


ซุ่มโป่ง

                   นกกางเขนดงสีท้ออทส้มหางยาวหลังดำมีแต้มขาวโผมาเกาะ ผมกดชัตเตอร์ด้วยความรีบร้อน ได้ภาพไม่สวยและไม่คม สั่นๆ จนเวลาล่วงไปกว่าชั่วโมงสี่สิบห้านาที เด็กน้อยเดินมาตาม ลุงธง กลับเถอะครับ จะค่ำแล้ว


ค่ำคืนแสนอบอุ่น วันคริตมาสอีฟ ไร้เสียงดนตรีแซกซ้อน


พระจันทร์เสี้ยวในคืนข้างแรม ช่างดูว้าเหว่

                 ผมฮำเพลงชาวดง "เย็นย่ำตะวันรอนๆเราได้พักผ่อนสำราญอุรา ค่ำลงเราพร้อมหน้าแล้วมาสนุกด้วยกัน...." ตะวันลับขอบเขาไปทางทิศตะวันตกแล้ว ความมืดโรยตัวเข้ามาครอบคลุมไปทั่ว แสงไฟจากศาลาน้อยดวงให้แสงสว่างไม่จ้านัก โต๊ะอาหารที่ช่วยกันทำเรียงรอกิน ง่ายๆ ไม่หรูเริด แต่อิ่มอร่อยด้วยรอยยิ้มและเสียงพูดคุยแบบ หยอกเย้ากระเซ้าแหย่กัน ช่างครึกครื้นชื่นอารมณ์ อิ่มเอมแล้ว “เยียร์” แม่งานใหญ่วัย 9 ขวบในชุดสีแดง สวมหมวกแบบอย่างซานตาครอส วุ่นวายกับม้วนกระดาษเล็กๆในกล่อง


                 ของขวัญจากทุกคนเรียงซ้อนกันบนโต๊ะ การละเล่นอย่างเด็กๆ อ้าว นำโดยเด็กหญิงเยียร์ จริงๆ คืนนี้ ผู้ใหญ่ต้องฟังคำสั่งจากเสียงใสๆของสาวน้อย  กิจกรรมที่เธอเลือกผู้ใหญ่ต้องทำตาม เป็นกติกาในค่ำคืนแห่งความสุข วันคริสมาตอีฟกลางดงพงไพรไกลแสงสี สนุกสนาน หัวเราะกันด้วยอารมณ์เบิกบาน มันคือความสุขที่แฝงมาในรูปของวันขึ้นปีใหม่ของฝรั่ง


                 เป็นวัฒนธรรมที่ยึดถือกันมายาวนาน จนเป็นประเพณีทีดีงามของชาวโลก ไม่เว้นแม้จะเป็นคนต่างศาสนา พวกเราเล่นกันเงียบๆในศาลารับรองของหน่วย ไม่มีเครื่องเสียงให้เกิดความเดือดร้อนแก่สรรพสัตว์ ไม่มีแม้เสียงออกไปรบกวนแมกไม้จนไหวหวั่น ปราศจากเครื่องดื่มมึนเมาที่ต้องห้ามในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ


สนุกสุดเหวี่ยง ความสุขที่พวกเราเลือกได้

                ฉากสุดท้าย เป็นการถ่ายรูปหมู่เป็นที่ระลึก เป็นอนุสรณ์ให้จดจำ เป็นบันทึกอีกหน้าหนึ่งของทองไทยแลนด์ดอทคอมที่ได้ติดตามคณะชมรมคุณเหี่ยวเที่ยวห้วยขาแข้ง ณ หน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันได  ความสุขภายใต้เสียงกรีดปีกของแมลงและจักจั่นเรไรร่ำร้อง ไม่มีสายลมโบกโบย ใบไม้ไม่ไหวติง แต่อากาศกำลังเย็นลงๆ ทุกวินาที ค่ำคืนนี้ สวรรค์แห่งพงไพรจะชวนให้หลับไหลไปกับความดื่มด่ำ มนต์แห่งป่าเขาจะทให้ต้องหวนรำลึกถึงมิวาย


อรุณรุ่งที่หน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันไดและการจากลา เจอกวางหำโปด

                 เช้าสุดท้าย ผมตื่นสาย เมื่อเดินมาถึงศาลารับรองเหนือลำน้ำห้วยขาแข้ง จึงมีแต่เสียงบ่นว่า

                 “พลาดไปแล้ว เช้านี้กวางลงกินน้ำที่หาดหน้าศาลานี่เลย” เสียงทักทายผมจนใจแป้วไปไม่น้อย

                 “ตื่นสายจัง มาเที่ยวป่าอย่าเผลอหลับเพลิน” โอ้ว่าอนิจจาคนนอนตื่นสาย เศร้าจัง


นกขุนแผนแสนสวยที่ผมถ่ายมาได้

                  หลังอาหารเช้า กาแฟร้อน ไข่ลวก และข้าวต้มเครื่องง่ายๆ ทุกคนพร้อมถ่ายรูปหมู่เป็นครั้งสุดท้าย

                  “ป้าแหม่มนิ้งมีแขกมาจากต่างประเทศ จะเข้าพักแรมที่ปันเจนไฮด์อะเวย์ รีสอร์ท อ.วังชิ้น จ.แพร่ ต้องรีบเดินทางกลับจ้า”

                   “ผมป่าไม้บัวพาน ขอกลับไปเมืองด่านซ้ายไกลแสนไกล ค่ำๆอาจไปถึงบ้าน ขอล่ำลากันเสียที่นี่”


                   ขบวนรถยนต์รวม 4 คันเคลื่อนออกไปตามถนนลาดฝุ่น ขึ้นเขาลงห้วยไต่ทางเบี่ยง เลี่ยงทางเป็นร่องลึก เพลิดเพลินกับป่าไม้หนาแน่น ทันใด รถคันหน้าจอดเชิงสะพานไม้แล้วทำมือบนหัวว่า กวางๆๆๆ รถคามิโอหยุดและเปิดโอกาสให้ถ่ายรูป


                   เป็นกวางม้าขนาดใหญ่ เขาแตกกิ่งงามมาก ยืนเด่นเป็นสง่าบนทางป่าไม้ใต้ร่มเงาแมกไม้ ผมถ่ายรูปจนพอใจ ได้ภาพกวางหันหน้าด้านข้างและหันหน้าตรง คอกวางตัวนี้เป็นรอยแผลเป็นขนาดเท่ากำปั้น และมี 5 ขา อะฮะ ที่แท้เป็นหำ หรือลูกอัณฑะ บวมจนห้อยย้อยถึงดิน

                   “กวางหำโปด กวางหำโปด”


                   ใช่เลย อวัยวะเพศชายของเจ้ากวางผู้ตัวนี้ บวมเป่ง ห้อยย้อยยาวแทบถึงดิน  อะไรจะยาวใหญ่ปานนั้น

                   ผมถ่ายรูปได้จนพอใจ เจ้ากวางย่างเยื้องไปอีกทาง คณะทั้งหลายก็ออกเดินทางไปยังหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยแม่ดี ทำธุระกันแล้วก็เคลื่อนขบวนไปยังสถานีควบคุมไฟป่า  หลังจากนั้นก็รถใครรถมัน เผ่นอ้าวไปตามถนนหนทางที่สะดวกสบาย


                    “พี่ดมๆ สงกรานต์มาอีกครั้งก็ได้นะ อยากมาด้วย” ป้าแหม่มนิ้ง เสนอท่านอุดม หิรัญพฤกษ์ ผู้เป็นประธานชมรมคุณเหี่ยว หัวหน้าทริปคนสำคัญ

                    “แล้วจะเวียนหนังสือให้ได้ทราบทั่วกันนะ”


บทสรุป เรื่องกวางหำโปด(โต)

                อยากให้หน่วยสัตว์แพทย์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตั้งคณะติดตามยิงยาสลบเจ้ากวางหำโปดตัวนี้ แล้วทำการรักษาให้หายดี จึงค่อยปล่อยคืนสู่ป่าห้วยขาแข้งต่อไป  โดยเสนอให้รายการทีวีรายการใดรายการหนึ่งช่องใดช่องหนึ่งมาถ่ายทำเป็นสารคดี บันทึกไว้ให้โลกรู้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชอนุรักษ์ด้วยหลักวิชาการและการรักษาพยาบาลอย่างครบถ้วน 



Tags : ทริปห้วยน้ำดัง-แม่สอด

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view