http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,955,877
Page Views16,262,135
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

เว็บไซต์วอยซ์ ทีวี สัมภาษณ์ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง เรื่องลอยโคม

เว็บไซต์วอยซ์ ทีวี สัมภาษณ์ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง เรื่องลอยโคม

เว็บไซต์ “วอยซ์ ทีวี” สัมภาษณ์ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง  

แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิชาการด้านท้องถิ่น และล้านนาศึกษา  

สัมภาษณ์โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว เครดิตเฟซบุ๊ก Pitch Pongsawat 

ภาพประกอบโดย ธงชัย เปาอินทร์ 

            โดยพูดคุยถึงปัญหาความนิยมจุดโคมตามงานต่างๆ ในปัจจุบัน บนความเข้าใจผิดว่าเป็นประเพณีโบราณรวมถึงความเข้าใจผิดว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ ทำให้มีการจุดโคมอย่างไม่จำกัด กระทั่งเกิดปัญหาไฟไหม้บ้านประชาชน รวมถึงกรณีตัวโคมลอยไปติดบนเครื่องบิน

            ซึ่ง ดร.ธเนศวร์ อธิบายว่า การจุดโคมที่เราเห็นรูปร่างหน้าตาในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่ของโบราณที่มีมาเก่าก่อน แต่เป็นการผลิตแบบทุนนิยมที่ผลิตอย่างง่าย ใช้ง่าย โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา ในขณะที่ตามประเพณีโบราณการจุดโคมจะเกิดขึ้นที่วัด มีความหมายถึงความเป็นชุมชน เพราะหลายๆ คนจะมาช่วยกันทำโคม ช่วยกันปล่อยโคม ซึ่งแตกต่างกับปัจจุบัน ที่ซื้อโคมมาจุดโคมอย่างปัจเจกนิยม หรือตัวใครตัวมัน 

อ่านบทสัมภาษณ์คำต่อคำได้นับจากนี้ 


- การจุดโคม ที่เห็นในปัจจุบัน  เป็นของที่มีมาแต่โบราณหรือไม่ 

ไม่ใช่ของโบราณอยู่แล้ว ก่อนอื่นต้องขอย้อนความถึงประเพณี “ลอยกระทง” เป็นประเพณีที่ถูกสร้างขึ้นมาโดย “รัตนโกสินทร์” ซึ่งอ้างถึง “หลักศิลาจารึก” ทั้งที่ แม้แต่หลักศิลาจารึกเอง ก็ยังมีข้อถกเถียงอยู่ว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ขณะที่ประเพณีทางเหนือ ไม่มีประเพณี “ลอยกระทง” ทางเหนือมีแต่ประเพณี “ยี่เป็ง” แปลว่า เพ็ญเดือน12 ซึ่งเป็นประเพณีเกี่ยวกับศาสนาพุทธล้วนๆ  คือฟังเทศน์มหาชาติ ทั้งคืนตั้งแต่หนึ่งทุ่มถึงสิบโมงเช้า พระสงฆ์จะสลับกันขึ้นเทศน์

สำหรับการเทศน์มหาชาติ จะมีกัณฑ์ต่างๆ ก่อนที่จะเป็นพระพุทธเจ้า และกัณฑ์สุดท้าย คือ เวสสันดรชาดก เป็นกัณฑ์สุดท้ายซึ่งมีความสำคัญมากๆ ประชาชนแต่ละบ้านจึงทำ “ซุ้มประตูป่า” ซุ้มประตูทำด้วยต้นกล้วยกับก้านมะพร้าว เพื่อรำลึกถึงพระเวสสันดรที่ท่านเดินป่า ระยะหลังมีกิจกรรมประกวดซุ้มด้วย 

นอกจากทำซุ้มแล้ว มีการจุดปรางประทีป ซึ่งเป็นถ้วยไฟเล็กๆ ในท้องถิ่นเรียกว่า “ผางผะตี้บ” ตามจุดต่างๆ เพื่อแสดงความขอบคุณ เป็นการคารวะด้วยไฟ เป็นการเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลบ้าน จึงมักจะวาง “ผางผะตี๊บ” ที่ประตู หน้าต่าง บ่อน้ำ ต้นไม้ ศาลพระภูมิ ซึ่งทางเหนือเรียกว่า “ธรณีเจ้าที่”   

ในประเพณียี่เป็ง ยังมีการจุดโคม ประกอบด้วย  “โคมลอย” จุดตอนกลางวัน และ ปล่อย “โคมไฟ” ตอนกลางคืน เพื่อคารวะต่อพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ 


การจุดโคมไฟและโคมลอย จะเกิดขึ้นโดยประชาชนรวมตัวกันนำกระดาษสีอะไรก็แล้วแต่ เอาไปรวมกันที่วัด แล้วก็ไปช่วยกันต้มแป้งเปียก เพื่อใช้เหมือนกาวติดกระดาษ ได้โคมกระดาษลูกกลมๆ โตๆ สูง 6 ฟุต มีรูข้างล่าง เพื่อใช้จุดไฟอัดควันเข้าไป ระหว่างช่วยกันทำคนในชุมชนก็ได้พูดคุยกันไป เกิดความรัก ความสามัคคีในชุมชน และยังประหยัดไม่ต้องซื้อหา  

ส่วนกาละเทศะในการจุด “โคมลอย” จะจุดตอนเช้าก่อนหรือหลังจากพระฉันเพล ส่วนแต่ละวัดจะทำได้กี่ลูกก็ขึ้นอยู่กับกำลังศรัทธาของแต่ละวัด โดยทั่วไปจะจุดโคมลอยประมาณ 6 ลูก และอีก 6 ลูก จะไว้จุดกลางคืน เป็น  “โคมไฟ” 

ลูกที่จุดกลางวันจะมีแต่ควันอย่างเดียว ส่วนลูกที่จุดกลางคืนจะใช้ “ไต้” แขวนด้านล่าง เมื่อลอยขึ้นฟ้าจะมีแสงสว่างด้วย ซึ่ง “โคมไฟ” นี้จะมีการจุดช่วงหัวค่ำ คือจุดก่อนจะมีการเทศน์มหาชาติที่จะเริ่มประมาณหนึ่งทุ่ม จนไปถึงสิบโมงเช้า  



-จุดประสงค์ของการจุด “โคมลอย” - “โคมไฟ” ในสมัยก่อน 

ประเพณียี่เป็ง สะท้อนประเพณีทางพุทธศาสนาวันเพ็ญเดือน12 ที่เรียกเดือนยี่ เป็นการเคารพพระพุทธศาสนาครั้งใหญ่สุด ก่อนหรือหลังเกี่ยวข้าว เพราะขึ้นอยู่กับวันขึ้น 15 ค่ำของแต่ละปี ตรงกับวันไหน ก่อนหรือหลังวันเกี่ยวข้าวของแต่ละปี  

ประเด็นหลักหัวใจของล้านนาในอดีตเป็นเรื่องชุมชน และวัดทำโคมเพื่อถวายพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี ไม่ได้ผลิตจากโรงงาน วัสดุในการทำโคมก็เป็นชนิดเดียวกับที่ทำตุง คนเหนือทำตุงเก่งอยู่แล้วไม่มีปัญหา  



-ในปัจจุบันมีปัญหา เช่นลอยขึ้นไปติดเครื่องบินหรือตกลงมาไหม้บ้านคน ในสมัยก่อนการลอยโคมไฟสร้างปัญหาหรือไม่ 

สมัยก่อนประชากรไม่เยอะ ไม่ได้ผลิตมาเป็นร้อยเป็นพันลูกให้ใครก็จุดได้ และโคมไฟในสมัยก่อนมีลูกใหญ่มีกำลังแรงลอยไปไกล ไฟทำจาก “ไต้” พอลอยลับตาคนก็ดับแล้ว ไม่ใช่ล่วงลงมาดับบนพื้น 


-การจุดโคมไฟ ด้วยจุดประสงค์ที่เปลี่ยนไป เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ 

ประมาณหลังปี 2480 ประเพณีการลอยกระทงของกรุงเทพฯ เคลื่อนมาถึงเชียงใหม่  ก็จะมีกิจกรรมประกอบด้วย 1) ลอยกระทง 2)ขบวนแห่ 3)ประกวดนางนพมาศ ซึ่งทั้งหมดมาปะทะกับประเพณียี่เป็งของล้านนา คนในพื้นที่จึงประนีประนอมกับข้าราชการจากกรุงเทพฯ ให้จัดในแรม 1 ค่ำ ส่วนแรม 15 ค่ำ ให้คนไปฟังเทศน์ แต่พอนานเข้า คนรุ่นใหม่ไม่รู้ประเพณีก็ไม่ฟังเทศน์เพราะคิดว่าน่าเบื่อ จึงไปลอยกระทง ไปประกวดนางนพมาศ บวกกับการได้เห็นการจุดโคมไฟสวย ก็เกิดไอเดีย ทำโคมอย่างที่เราเห็น แต่แตกต่างจากประเพณีโบราณ เพราะตัวโคมทำจากกระดาษก็มีลักษณะเหนียวเหมือนเคลือบพลาสติก ส่วนไฟก็ทำจากกระดาษชำระชุบขี้ผึ้ง ซึ่งจะเผาไหม้นานมากไฟไม่ได้ดับบนอากาศ เป็นโคมเล็กๆ จากต้นทุน 6 บาท แล้วนำมาขาย 3 ลูก 100 บาท หรือลูกละ 60 บาท วิธีการผลิตและวิธีใช้ แบบทุนนิยม ผลิตจำนวนเยอะๆ ซื้อมาจุดได้ง่ายๆ  ไม่ต้องเกิดจากความร่วมมือของชุมชน 

อีกจุดเปลี่ยนที่หนักหนาก็คือ เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว สำนักธรรมกายมาจุดโคมไฟ 2 หมื่นลูก ที่กลางทุ่ง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ พอคนเห็นว่าสวยก็เกิดไอเดีย เอาโคมมาจุดทุกงานไม่ว่าจะพิธีเปิดเอเชียนเกมส์ ซีเกมส์ หรือโรงแรมในเชียงใหม่ ก็จุดโคมในงานอีเวนท์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานเลี้ยงรุ่น ชุมนุมศิษย์เก่า งานวันเกิด งานรวมญาติ งานแต่ง งานปีใหม่ หรืองานขึ้นบ้านใหม่ตามบ้านแต่ละคน

โดยเฉพาะระยะหลังๆ มีคนบอกว่าจุดโคมเพื่อสะเดาะเคราะห์ ซึ่งเป็นการบิดเบือนไปหมด จากเดิมจุดเพื่อไหว้พระธาตุฯ  กลายเป็นลอยโคมเพื่อสะเดาะเคราะห์ โศก พ่อค้าแม่ค้าก็อยากมีรายได้ก็ทำกันไป เมื่อก่อนจุดโคมแต่ละลูก ใช้คน 8-10 คน ถือโคม อัดควันซึ่งทำได้ยากมาก เกิดจากความร่วมมือในชุมชนด้วยศรัทธาต่อพระศาสนา ตอนนี้กลายเป็นจุดแบบ “ปัจเจก” ตัวใครตัวมัน ที่แย่คือลามไปจุดทุกงานไม่รู้จักกาละเทศะ 


-ปัญหาจากโคมแบบใหม่ 

เนื่องจากเป็นโคมเล็ก ควันไม่มาก ลอยไปไม่ไกลก็ตก ดวงไฟเกิดจากกระดาษชำระชุบขี้ผึ้งก็มีกำลังไฟเยอะ พอตกลงมาก็ไหม้กระดาษและไหม้บ้านคนได้ บางลูกก็ลอยไปติดเครื่องบิน เพราะจุดใกล้สนามบิน ที่สำคัญคือตอนนี้ไม่ได้จุดตามประเพณีโบราณ การจุดในงานปีใหม่ หรืองานต่างๆ ในปัจจุบันนำมาอ้างประเพณีโบราณไม่ได้เลย ไปจุดวันเกิดก็ไม่ใช่ประเพณี จะไปจุดปล่อยทุกข์โศกก็ไม่ใช่ประเพณี เพราะทางเหนือเขาจุดไหว้พระธาตุฯ 

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ก็เกิดวิกฤตที่สนามบินเชียงใหม่ เพราะเครื่องบินดูดโคมทั้งขาขึ้นและขาลง เครื่องบินขาขึ้นต้องวนกลับลงซึ่งก็มีความเสี่ยงอันตราย นอกจากนั้นยังมีกรณีไฟไหม้ที่เป็นข่าวก็ 2 ราย แสดงให้เห็นว่าผู้จุดโคมไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา โดยเฉพาะปีนี้มีร้านอาหาร หมู่บ้านจัดสรร เกสท์เฮาส์ บริเวณคลองชลประทานซึ่งอยู่ใกล้สนามบิน แต่นิยมจุดโคม 
ทุกปีจะมีไฟไหม้บ้าน 2-3 หลัง อย่างเช่นก่อนหน้านี้บ้านญาติผม เป็นไม้สักทั้งหลังมูลค่า 30 กว่าล้านบาท อยู่ข้างตลาดวโรรส ก็ถูกโคมแบบใหม่ที่นิยมจุดกันในปัจจุบัน ตกลงมาตรงสายไฟทำให้ไฟไหม้เสียหายทั้งหลัง 



-สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนอะไร มีทางออกอย่างไร 

1) สะท้อนว่าการศึกษาเราอ่อนมาก คือไม่มีการอธิบายที่มาและความสำคัญของประเพณีท้องถิ่น ซึ่งแต่ละท้องถิ่นจะมีประเพณีที่ไม่เหมือนกัน เช่น การลอยกระทงของภาคกลาง และยี่เป็งของภาคเหนือ จะเห็นได้ว่าประชาชาชนจำนวนมาก ไม่ทราบว่า การลอยโคมขึ้นฟ้าตามประเพณีมีความหมายว่าอย่างไร เช่น เจ้าอาวาสวัดหนึ่งที่ท่าแพ เอาโคมไฟมาขาย ชิ้นละ 60 บาท พร้อมกับเขียนว่า ลอยโคมเพื่อสะเดาะห์เคราะห์ คล้ายๆ ที่เชื่อว่าลอยกระทงลอยทุกข์โศก ระหว่างที่ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่เทศบาลไปเดินตรวจความเรียบร้อย ก็มีเจ้าหน้าที่ไปเตือน แต่พระกลับไม่พอใจ แล้วบอกว่า ต้องการเอาเงินไปทำบุญวัด ซื้อโคมมาแล้วจำนวนมากจะทำอย่างไรและแสดงอาการไม่พอใจ นอกจากนั้นพบบางคนจุดโคมที่ท่าแพ โดยอ้างประเพณี ทั้งที่เดิมการจุดโคมลอยโคมไฟ ไม่ได้จุดในปีใหม่

2) สะท้อนว่าสังคมไทย ใครทำอะไรก็ทำตามกัน ไม่มีการถกเถียงว่าอะไรดีหรือไม่ดี  

3) ปัญหาไม่มีการใช้กฎหมายบังคับอย่างเข้มงวด ที่จริงต้องมีการลงโทษทั้งคนผลิตและคนจุดเพราะอาจจะทำให้เกิดอันตรายทั้งความปลอดภัยบนเครื่องบินและไฟไหม้บ้านประชาชน คาดว่าคนต่างถิ่นอาจจะมาทำด้วยความไม่รู้ส่วนคนในท้องถิ่นรู้แล้วก็ไม่ห้าม หรืออาจจะร่วมผลิตไปด้วยเพราะขายได้ 


ถ้าจะแก้ปัญหาต้องมาตกลงกันว่าทำอะไรได้และไม่ได้ ส่วนตัวเห็นว่าควรห้ามไม่ให้ผลิตโคมเล็กที่นิยมจุดกันในปัจจุบัน ห้ามจุดทั้งที่บ้านและที่โรงแรมรวมถึงสถานที่อื่นๆ อย่างพร่ำเพรื่อ แต่ควรอนุญาตเฉพาะโคมใหญ่ ที่ทำตามประเพณีคือทราบวันเวลาที่ชัดเจน รวมถึงสถานที่ต้องจุดที่วัด ซึ่งจะสามารถตกลงกันได้ระหว่างการท่าอากาศยานและท้องถิ่น เพื่อทราบเวลาบินของเครื่องบินและทราบเวลานัดจุดโคมของวัดแต่ละชุมชน เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย ซึ่งเครื่องบินก็บินได้ ส่วนประชาชนก็มีโอกาสดูโคมตามประเพณี

ที่สำคัญควรห้ามโคมไฟขนาดเล็กที่นิยมจุดกันอยู่ในปัจจุบัน ก่อนหน้านี้คนในเชียงใหม่ แทบไม่ได้ออกไปไหนคืนวันลอยกระทงเพราะผวากลัวไฟไหม้บ้าน แต่ตอนนี้ผวาทุกคืน เพราะโรงแรมมีงานอีเวนท์ให้จุดโคมไฟทุกคืนอย่างไม่รู้จักกาละเทศะ


สัมภาษณ์โดย : ฟ้ารุ่ง ศรีขาว 

เครดิต เฟซบุ๊ก : Pitch Pongsawat

 

Tags : ลอยเคราะห์บ้านมอญสังขละบุรี

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view