http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม14,004,060
Page Views16,312,943
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ประเพณีตานหลัวหิงไฟพระเจ้า

ประเพณีตานหลัวหิงไฟพระเจ้า

ประเพณีตานหลัวหิงไฟพระเจ้า และประเพณีข้าวจี่ข้าวหลาม

โดย น.ส.ศรัณยา ท้วมเนตร เรื่อง-ภาพ

 

                “หลัว” ในภาษาเหนือ คือ ฟืน ส่วน “หิง” คือ การผิง และ “พระเจ้า” เป็นคำเรียก องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ดังนั้น ประเพณีตานหลัวหิงไฟพระเจ้า ก็คือ ประเพณีการนำฟืนมาเผาเพื่อให้พระพุทธเจ้าได้ผิงไฟนั่นเอง

 

                  ด้วยทางเหนือในช่วง เดือน 4(เมืองตรงกับเดือน 2 มกราคม) นั้น เป็นช่วงที่อากาศหนาวเย็นมาก ซึ่งตามประวัติในพุทธกาล ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่พระองค์ก็รู้สึกหนาว ชาวบ้านจึงเข้าป่าไปหาฟืนเพื่อก่อไฟให้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผิง(หิง)

 

                  เมื่อเข้าป่าไปก็ได้พบว่าไม้ฟื้นที่มีอยู่ชาวบ้านได้นำไปทำไม้ชำระ(เช็ดขี้)เสียหมดแล้ว ชาวบ้านจึงนำไม้หนามมาลิดเอาหนามออก แล้วนำมาทำฟืนให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

                 พระพุทธรูปในวิหารเป็นตัวแทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ชาวล้านนาจึงมีความเชื่อว่า พระพุทธรูปในวิหารก็รู้สึกถึงความหนาวเย็น ดังนั้นจึงหาไม้ฟืนมาจุดเผาหิงไฟให้พระพุทธรูปในวิหารคลายหนาว เชื่อกันว่า ผู้ปฏิบัติเช่นนี้ก็จะได้อานิสงส์ผลบุญมาก

 

                  เดิมทีเดียว ประเพณีตานหลัวผิงไฟพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เคยทำกันทั่วไปในล้านนา แต่ปัจจุบันนี้ เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่ง ส่วนมากจะเป็นวัดในชนบทห่างไกลที่ยังสามารถเสาะหาฟืนได้ง่าย 

                  ประเพณีตานหลัวหิงไฟพระเจ้าที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นงานบุญประเพณีในอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ซึ่งยังคงทำกันอยู่เพียงไม่กี่วัด  พิธีการดังกล่าวจะทำควบคู่กันไปกับประเพณีข้าวจี่ข้าวหลาม เพื่อบูชาแม่โพสพและทานข้าวใหม่ให้แก่วัด พระ เณร โขยมวัด(ลูกศิษย์วัด) ภาพนี้ได้มาจากวัดพระพุทธบาทห้วยต้มในวันพระใหญ่ขึ้น 15 ค่ำเดือน 4(เมืองตรงกับเดือนมกราคม 2558)

 

                   ชาวบ้าน จะพากันออกไปหาฟืน เพื่อเตรียมไว้สำหรับตานหลัวหิงไฟพระเจ้าในเดือนยี่เป็ง(4เมือง) ไม้ที่จะใช้เผาเพื่อบูชาพระเจ้านั้นมีข้อกำหนดว่า   จะต้องเป็นไม้ที่มีกลิ่น หอม คือมีดอกหอม ห้ามใช้ไม้ที่มีรสเผ็ด รสส้ม หรือมีกลิ่นเหม็นเด็ดขาด       ไม้ส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านนิยมเสาะหามาได้แก่ ไม้จี้ หรือไม้คนทา เป็นไม้ที่มีหนามตามลำต้น เมื่อเก็บมาแล้วต้องริดหนามออก

 

                  นอกจากนี้ก็มีไม้กาสะลอง(ไม้ปีป) ไม้สบันงา(ไม้กระดังงา) ไม้จุ่มป๋า(ไม้จำปา) ฯลฯ เลือกกิ่งที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 2-3 นิ้ว แล้วก็จะนำมาผึ่งแดดให้แห้ง ถึงวันก่อนเดือนยี่เป็ง 1 วัน พระเณรในวัดจะตั้งกองฟืนเป็นรูปเหมือนกระโจมอินเดียนแดงไว้ที่ลานหน้าวิหาร ตรงหน้าพระประธาน ไม้ฟืนทั้งหมดต้องคละด้วยไม้ที่เก็บมาใหม่ เพราะถ้าเป็นไม้ตากแห้งหมด ไม้จะไหม้ไวเกินไป

 

                 เช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ท่ามกลางอากาศอันหนาวเย็น ก็ได้เริ่มพิธีตานหลัวหิงไฟพระเจ้า พิธีนี้พระ เณร จะเป็นผู้ดำเนินการ ชาวบ้าน ส่วนใหญ่คนที่มาร่วมงานมักจะเป็นคนเฒ่าคนแก่  โดยพระหรือเณร 2 รูป นำขันดอกและไม้ฟืนท่อนหนึ่งจากกอง ไปประเคนถวายยังหน้าพระประธานในวิหาร แล้วจึงนำไม้ท่อนนั้นมาจุดที่หน้าวิหาร เจ้าอาวาสจะเป็นผู้จุดองค์แรก

 

                   หลังจากฟืนไม้ไหม้ลุกโชนไปได้สักพัก ในยามย่ำรุ่งไม่นาน ชาวบ้านแต่ละครอบครัวก็จะ นำเอาขันข้าวไปถวายพระภิกษุเพื่ออุทิศบุญกุศลแด่บรรพชนแล้ว ศรัทธาประชาชนประจำวัดจะนำเอาข้าวจี่ข้าวหลาม อาหารอีกส่วนหนึ่งนำขึ้นไปรวมกันบนวิหาร ซึ่งจะมีพิธีกรรมต่อไปนี้  นำดอกไม้ใส่พานไปใส่ขันแก้วทั้ง 3 เอาข้าวใส่บาตร พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  เอาอาหารใส่ในถาดที่เตรียมไว้  เอาน้ำหยาดหรือน้ำทักขิณา ใส่รวมกันในน้ำต้นหรือคนโทของวัด สำหรับกรวดน้ำร่วมกัน

                  เมื่อพระสงฆ์ขึ้นพร้อมกันบนวิหาร ปู่อาจารย์หรือมัคนายกจะขอศีลกล่าวคำถวายแล้วนำอาหารบิณฑบาต ข้าวจี่ข้าวหลามถวาย พระสงฆ์อนุโมทนา หลังจากพระสงฆ์ให้พรแล้ว ศรัทธาประชาชนจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพชนและขอขมาพระรัตนตรัยพร้อมกัน แล้วก็ กลับบ้าน

 

 

                  การนำข้าวจี่-ข้าวหลามมาถวายนั้น ก็ถือเป็นอีกหนึ่งประเพณีของชาวล้านนา เพราะ วันเพ็ญเดือน 4(เมือง) เป็นเดือนที่ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวแล้วนำไปใส่ยุ้งฉาง ชาวล้านนานิยมทำบุญทำทานก่อนที่ตัวเองจะบริโภค เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่เทพยดา มีแม่โพสพช่วยคุ้มครองดูแลข้าวเปลือกในยุ้งฉาง(หลองข้าว)ของตน มิให้สิ่งอื่นใดมารบกวน

 

                   การทำบุญตานข้าวจี่เข้าหลามนั้น ผู้ที่จะถวายข้าวจี่ต้องเตรียมนึ่ง ข้าวเหนียวให้สุก แล้วเตรียมถ่านไฟจากเตา พัดวีจนลุกโชนแล้ว ข้าวสุกปั้นเป็นกลม ๆ ใช้ไม้ไผ่เหลาให้เป็นแผ่นบางเสียบเข้าไป แล้วนำข้าวจี่ที่ถ่านไฟแดง ๆ พลิกไปพลิกมาให้มีผิวเหลืองกรอบ บางรายเวลาจี่จะบี้ข้าวปั้นให้มี รูปป้านหรือแบน ๆ เพื่อสะดวกในการจี่ หรือทาด้วยน้ำผึ้ง น้ำอ้อย บางรายทาด้วยน้ำกะทิข้นๆให้ซึมเข้าไปในข้าวจี่

 

                  เมื่อจี่จนกรอบตามต้องการแล้วนำมาใส่จานหรือภาชนะเพื่อนำไปถวายพระในวันเพ็ญ(ขึ้น15ค่ำ) เดือน 4(เมือง)

                  การทำข้าวหลาม คือ การนำข้าวสารเหนียวใส่กระบอกไม้ไผ่ ใส่น้ำแช่ไว้นานประมาณ 1 คืน หรือประมาณ 6 ชั่วโมงแล้วนำมาเผาไฟจนสุก บางรายก็นำน้ำกะทิใส่ลงไปเพื่อรสชาติที่อร่อย และมีกลิ่นหอม

 

                   ชาวล้านนา มีความเชื่อว่าการทำบุญด้วยการตานหลัวหิงไฟพระเจ้า ถวายข้าวจี่ข้าวหลามนั้น  จะทำให้มีความสุข เบิกบานใจที่ได้ทำบุญด้วยน้ำพักน้ำแรงตน ได้มีโอกาสแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชนและเทพยดาฟ้าดิน  เป็นการสืบสานตามจารีตประเพณีเป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานเยาวชน และ เป็นการบำรุงพระศาสนาอันเป็นที่เคารพสักการะของตน

 

                   ในสมัยโบราณชาวล้านนาไทยนิยมการทำอาหารให้สุกด้วยการจี่ การเผา การปิ้ง การย่าง เป็นส่วนมาก ไม่ใช่การทอดอย่างในปัจจุบัน ดังนั้นคนในสมัยโบราณจึงมีอายุยืนเพราะไม่มีไขมันอุดตันในเส้นเลือดอย่างคนสมัยปัจจุบัน สาธุ


Tags : ดอกไม้เทศและดอกไม้ไทยตอนที่7 แก่นตะวัน

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view