ท่องอุบลแบบคนอุบล
๗.วัดหลวงแห่งอุบลราชธานี
“เอื้อยนาง”
อุบลราชธานี ถือเป็นเมืองแห่งพุทธศาสนา แม้จะมีผู้นับถือศาสนาอื่นอยู่ด้วยไม่น้อยแต่พลเมืองกว่าครึ่งหนึ่งของอุบลราชธานีก็เป็นพุทธศาสนิกชน เห็นได้จากการมีวัดวาอารามมากมาย ตั้งอยู่เคียงชิดติดกัน โดยเฉพาะในตัวเมือง
แน่ละอาจเป็นพุทธแบบที่มีความเชื่อดั้งเดิมเจือปนอยู่ แต่นั่นก็เป็นวิถีธรรมดาของผู้คนในอุษาคเนย์ ที่มีวิถีปฏิบัติแห่ง ผี-พราหมณ์-พุทธ อยู่ผสมกลมกลืนจนแยกไม่ออกในทุกชนชั้นมิใช่หรือ
บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งอุบลราชธานีนั้นเป็นที่รู้กันตามประวัติว่าเป็นกลุ่มพระวอ พระตา และลูกหลาน ไพร่พล ที่หนีราชภัยจากเวียงจันทน์ด้วยความขัดแย้งอย่างรุนแรง จึงต้องดั้นด้นรอนแรมซอกซอนหาที่เหมาะสม เมื่อถูกตามไล่ล่าก็ได้แยกย้ายกันไปเป็นกลุ่มย่อยไปอยู่หลายแห่ง หลายที่เพื่อสั่งสมเสบียงและกำลังคอยช่วยเหลือเป็นเครือข่าย หลายแห่งตั้งอยู่เป็นหลักปักอยู่เป็นฐาน เป็นบ้านเป็นเมืองกระจัดกระจาย เผยแพร่วัฒนธรรมแห่งตนสืบมาในแว่นแคว้นแดนอีสาน
แต่กลุ่มใหญ่ที่สุดคือกลุ่มพระตามีนักรบกล้าเป็นกองหลังคอยระวังเหตุ คือ พระวอผู้น้อง และท้าวคำผงบุตรคนโตของพระตา จึงได้พากันซอกซอนรอนแรมไปจนถึงนครจำปาศักดิ์ เจ้าองค์หลวงผู้เป็นเจ้าเมืองได้ช่วยเหลือให้พักพิงตั้งบ้านอยู่เวียงดอนกอง ชายนครจำปาศักดิ์ ต่างช่วยเหลือสนิทชิดใกล้จนท้าวคำผงได้อภิเษกกับเจ้านางตุ่ยพระธิดาของอุปฮาดธรรมเทโวแห่งจำปาศักดิ์ และแต่งตั้งให้เป็น พระปทุมสุรราช แต่สุดท้ายทางเวียงจันทน์ยังไม่ยอมปล่อย และได้ส่งกองทัพมาไล่ล่าจนพระวอ พระตาสิ้นชีพ ท้าวคำผง(พระปทุมสุรราช)จึงได้มีใบบอกไปทางนครราชสีมาขอพึ่งพระโพธิสมพาร ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี และอพยพจากเวียงดอนกอง บ้านดู่ บ้านแกสู่ดอนมดแดงริมฝั่งน้ำมูล ขยับขยายมาตั้ง ณ บ้านห้วยแจระแม และดงอู่ผึ้ง เนินป่าอันอุดมสมบูรณ์ใกล้ปากน้ำมูลน้อยที่ไหลมาบรรจบแม่มูล นั่นจึงเป็นกำเนิดเมืองอุบลที่มั่นคงมาจนปัจจุบันที่มีวัดวาอารามแน่นหนาดังกล่าว
ลูกหลานชาวอุบลของท้าวคำผง
ดงอู่ผึ้งในหนังสือประวัติอุบลราชธานีที่จาร(จารึก-เขียน)ลงในใบลานเป็นภาษาลาว และได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทย พิมพ์เป็นเล่ม โดย ดร.ปรีชา พิณทอง ได้เอ่ยถึงดงอู่ผึ้งว้าว่า
“เผิ้งและมิ้มมีแท้สู่หง่ายาง”
นั่นแสดงว่าดงนี้มีต้นยาง(ยางนา)มากมาย และทุกคาคบ(หง่า)หรือตามกิ่งของต้นยางก็มีรวงผึ้ง และมิ้มทุก ๆ กิ่ง
เป็นที่มาของชื่อ “ดงอู่ผึ้ง” ด้วย
คุณพ่อ บำเพ็ญ ณ อุบล นักปราชญ์เมืองอุบล-ยโสธรผู้สืบทอดสายตรงจากท้าวคำผงได้อธิบายไว้ครั้งหนึ่งในการเสวนาทางวิชาการที่ราชภัฏอุบลราชธานีว่า ดงอู่ผึ้งที่ยังเหลืออยู่มาถึงยุคท่านยังเป็นเด็กนั้นคือบริเวณที่ตั้งห้องสมุดประชาชนในปัจจุบัน
การปกครองของอุบลราชธานีครั้งแรกยังคงเป็นแบบจารีตล้านช้าง คือ มีตำแหน่งสูงสุด ๔ ตำแหน่ง เรียกว่า อาชญาสี่ อันประกอบด้วย เจ้าเมือง อุปฮาด(อุปราช) ราชบุตร และราชวงศ์ โดยมีเจ้าเมืององค์แรกคือพระปทุมสุรราช และได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากกรุงเทพฯ เป็นพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ในปีต่อ ๆ มา
ดงอู่ผึ้งเป็นดงหนาป่าทึบอุดมสมบูรณ์ ณ ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำมูลที่ไหลจากตะวันตกสู่ตะวันออก จากนครราชสีมาที่มาขอพึ่งบารมีสู่นครจำปาศักดิ์ที่เพิ่งจากมา จากเทือกเขาใหญ่ทางตะวันตก ไหลคดโค้งลงตะวันออกไปบรรจบแม่น้ำโขง ณ รอยต่อแห่งเทือกพนมดงเร็กกับเทือกภูพาน จากสภาพภูมิศาสตร์เช่นนี้ดงอู่ผึ้งที่กลายเป็นอุบลราชธานีศรีวนาไลยประเทศราชจึงเป็นเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างนครราชสีมา(ขึ้นต่อกรุงธนบุรี กระทั่งกรุงเทพฯ)กับนครจำปาศักดิ์และหัวเมืองลาวทั้งปวง
เป็นจารีตของการตั้งบ้านแปงเมืองที่สืบทอดมาแต่ปู่ย่าตายาย แม้เป็นเพียงชุมชนเล็ก ๆ ที่พากันไปบุกเบิกทำไร่นา หากลงหลักปักฐานได้มั่นคงมีที่ทำกินถาวรให้เฮ็ดไฮ่เฮ็ดนาเฮ็ดสวนได้แล้วก็จะมีการสร้างวัดในหมู่บ้านเพื่อเป็นที่รวมศูนย์จิตใจ และกำหนดดงทางทิศตะวันออกเป็นดงปู่ตา ซึ่งเป็นที่สิงสถิตของวิญญาณบรรพชน ส่วนดงทางทิศตะวันตกกำหนดไว้เป็นป่าช้า ที่ฝังหรือเผาศพผู้ล่วงลับ
เคหาสถาน บ้านเรือน หอ โฮง ต่าง ๆ อันเป็นที่อยู่อาศัยถูกสร้างขึ้นอย่างรวดเร็วและแบ่งกันอยู่เป็นกลุ่ม(เรียกคุ้ม หรือ จุ้ม ) เช่น คุ้มโฮงหลวง คุ้มโฮงกลาง ฯลฯ แล้วการสร้างวัดก็ตามมา
สำหรับการสร้างวัดนั้นในชุมชนเดิมอีสานแรกสร้างอาจมีเพียงวิหาร ศาลา กุฏิหลังเล็กๆ หมู่บ้านละแห่งก่อน หากหมู่บ้านขยายใหญ่โตขึ้น ชุมชนหนาแน่นขึ้นมักมีวัดเพิ่มขึ้น เช่น มักมีชื่อวัดเหนือ วัดใต้ วัดกลาง ปรากฏในนิทานพื้นบ้าน หรือตำนานท้องถิ่นประกอบเสมอ
ชาวดงอู่ผึ้ง ห้วยแจระแมยิ่งให้ความสำคัญของการสร้างวัดเพราะในขบวนที่เคลื่อนย้ายยกกันมามีทั้งลูกหลานว่านเครือ ไพร่พล พระสงฆ์องค์เจ้า อาชญาสี่ ท้าวเพี้ยท้าวซา กรรมการน้อยใหญ่ครบ ช่างก่อสร้างสกุลล้านช้างจึงได้แสดงฝีมือ
วัดแรกที่สร้างขึ้นของชาวดงอู่ผึ้ง คือวัดหลวง ในคุ้มหลวง ซึ่งเป็นคุ้มเจ้าเมือง เพราะลูกหลานว่านเครือทั้งมวลทั้งหลายต่างเรียกเจ้าเมืองผู้นำที่รักของตนว่า “เจ้าองค์หลวง” หรือ “เจ้าหลวงเฒ่า” และเรียกวัดนี้ว่า “วัดหลวง”
คำว่า “หลวง” ในความหมายท้องถิ่นแต่เดิมมาหมายถึง ใหญ่มาก , มากมายหรือ เป็นส่วนรวม เป็นสาธารณะ สมัยเป็นเด็กผู้เขียนอยู่บ้านผับแล้ง อำเภอสำโรง เคยไปเยี่ยมๆมองๆลูกมะม่วงต้นหนึ่งซึ่งยืนต้นสง่างามอยู่กลางถนน เพื่อคอยดูว่าลูกของมันโตพอกินได้หรือยัง ต้องไปบ่อย ๆ ไม่งั้นไม่เหลือ เพราะใคร ๆ ต่างมาจ้องจะสอยเอาลูกมันมากินแบบสบาย ๆ เหตุเพราะมันเป็น “ของหลวง” ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ใครใคร่สอยก็สอยไปกินได้
วัดหลวงตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูลฝั่งซ้าย ระหว่างท่าจวน(บริเวณตลาดใหญ่) กับท่ากวางตุ้ง บนเนื้อที่ประมาณ ๘ ไร่ สร้างเมื่อปี ๒๓๒๔ โดยช่างเวียงจันทน์ที่อพยพโยกย้ายมาด้วยกัน โบสถ์หลังแรก(สิม)เป็นอาคารศิลปะล้านช้าง เล่ากันว่าสวยงามมากดูคล้ายที่วัดเชียงทอง หลวงพระบางเลย แต่น่าเสียดายที่ถูกรื้อไปแล้ว และสร้างขึ้นใหม่ทดแทนไปแล้ว แต่สิ่งที่เป็นร่องรอยให้ระลึกถึงเจ้าเมืององค์แรกของอุบลราชธานี คือ
พระพุทธรูปนาม พระเจ้าใหญ่องค์หลวง ประดิษฐานในวิหารพระเจ้าใหญ่องค์หลวง(ศาลาการเปรียญ) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดหน้าตักกว้าง ๓ เมตร สร้างปีเดียวกับการสร้างวัดเพื่อเป็นพระประธาน นับเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองอุบลราชธานีมีอายุเก่าแก่พอ ๆ กับเมืองอุบลฯ
วันที่ ๙-๑๐ เดือนพฤศจิกายนของทุกปีลูกหลานชาวอุบลราชธานีทุกหมู่เหล่าทั้งทางราชการและเอกชนได้ร่วมใจกันจัดงานพิธีบวงสรวงและสดุดีวีรกรรมพระประทุมวรราชสุริยวงศ์(เจ้าคำผง)หน้าอนุสาวรีย์พระประทุมวรราชสุริยวงศ์(เจ้าคำผง)ในบริเวณทุ่งศรีเมืองเพื่อแสดงความกตัญญูระลึกถึงวีรกรรมของท่าน
ในวัดหลวงเองก็มีรูปหล่อของท่านไว้เพื่อเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองเช่นกัน
๐๐๐