http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 07/08/2024
สถิติผู้เข้าชม14,331,270
Page Views16,660,694
« October 2024»
SMTWTFS
  12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031  
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

เที่ยวเมืองแพร่แห่ระเบิดตอน2.เจ้าชายน้อยผู้สาบสูญ

เที่ยวเมืองแพร่แห่ระเบิดตอน2.เจ้าชายน้อยผู้สาบสูญ

เที่ยวเมืองแพร่แห่ระเบิด

ตอน2.เจ้าชายน้อยผู้สาบสูญ "ยาขอบ"

โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

          ชีวิตดุจนิยายของเจ้าชายน้อย เชื้อสายราชโอรสของเจ้าผู้ครองนครแพร่ ผู้หายสาบสูญไปจากหน้าต่างของราชวงศ์ มีเพียงรูปเล็กๆแปะไว้ในผังเชื้อสายเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์  เขียนชื่อใต้รูปไว้ว่า เจ้าอินทรเดช เทพวงศ์ และหากไม่ได้วงเล็บไว้ว่า ยาขอบ ก็คงจะผ่านสายตาไปอย่างไร้ความหมายใดๆ ใช่แล้ว ยาขอบเป็นหลานปู่นอกคอกของเจ้าผู้ครองนครแพร่โดยแท้

          หลังปีพ.ศ.2445 เงี้ยวพกาหม่องปล้นเมืองแพร่ สังหารพระยาไชยบูรณ์ เจ้าเมืองที่สยามส่งขึ้นไปปกครองนครแพร่ เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ถูกข้อหากบฏ ได้ขอลี้ภัยไปอยู่ที่หลวงพระบาง ส่วนเจ้าแม่บัวไหล พระชายากับลูกๆทั้ง 7 คน หญิง 6 คน ชาย 1 คน อพยพลงไปตามคำสั่งเพื่อให้ไปอยู่ที่กรุงเทพแบบสามัญชน  12 ปี


            ราชโอรสองค์เดียวของเจ้าแม่บัวไหลคือ เจ้าอินทร์แปง เทพวงศ์ ได้รับการอุปการะเป็นบุตรบุญธรรม ต่อมาเจ้าอินทร์แปงได้แอบลักลอบได้เสียกับต้นห้องชื่อจ้อยของหม่อมเฉื่อย จนท้องและด้วยความเกรงกลัวภัยตามกฎวัง จึงตัดสินใจหลบหนีไปอยู่กับเจ้านายอีกแห่งหนึ่ง โดยไม่ยอมรับความช่วยเหลือใดๆจากฝ่ายญาติเจ้าอินทร์แปง


            แม่จ้อยให้กำเนิดบุตรชายเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2450 ด้วยความกลัวและฐิฑิมานะของแม่จ้อย ชีวิตหนึ่งจึงตกระกำลำบากยากแค้น เป็นเหมือนดั่งวณิพก เป็นคนจรหมอนหมิ่น ไร้ญาติขาดอีโต้ แต่อย่างไรก็ดี เมื่อต้องเข้าเรียนหนังสือ ก็จำต้องมีชื่อและนามสกุล แม่จ้อยจึงได้รับความกรุณาจากพระยาดำรงราชานุภาพ วังดำรงสถิต  ได้ตั้งชื่อให้ว่า “โชติ แพร่พันธุ์” ตราบนั้นจนวันสิ้นลม


            ว่ากันว่า เจ้าอินทร์แปง เทพวงศ์ ได้ตั้งชื่อให้ไว้ว่า อินทรเดช เทพวงศ์ แต่แม่จ้อยก็ไม่ยอมให้ใช้ชื่อดังกล่าว โชติได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ มีเพื่อนนักเรียนร่วมรุ่นหลายคนเช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ อบ ไชยวสุ ฯลฯ ตั้งแต่พออายุ 6 ขวบ  เรียนถึงชั้นมัธยม ๔ ทะเลาะกับครูประจำชั้นจึงเลิกเรียน  หนีออกจากบ้านพระยาบริหารนครินทร์ที่อาศัยอยู่  และเริ่มทำงานประกอบอาชีพต่าง ๆ ตั้งแต่รับจ้างจูงวัว  เป็นเจ้าสำนักทรงเจ้าเข้าผี  เป็นเด็กรับจ้างคอกม้า  เป็นเด็กรับใช้ ทำงานห้างขายยา และท้ายสุดเข้าทำงานหนังสือพิมพ์ 

             อายุ 13 ปี เจ้าอินทร์แปง เทพวงศ์ เสียชีวิต จัดงานศพที่วัดสระเกศ กรุงเทพ  แต่แม่จ้อยให้สาบานว่าจะไม่ไปงานศพบิดา ทั้งๆที่ เจ้าอินทร์แปงพยายามตามหาลูกชายของตนแต่แม่จ้อยกีดขวางไม่ให้ได้พบกัน 

             โชติเข้าวงการน้ำหมึกใน นสพ.สยามรีวิว ธงไทย แต่ก็ไม่ยืนยาวด้วยกิจการไม่ดี  จนถึงปีพ.ศ.2472 กุหลาบ สายประดิษฐ์ ออกหนังสือพิมพ์ชื่อสุภาพบุรุษ  อบ ไชยวสุ หรือฮิวเมอริสต์ นักเขียนเรื่องขำขันส่งต้นฉบับช้า กุหลาบได้ชวนให้โชติเข้ามาร่วมทำงาน จึงให้โชตเขียนแทนอบสักเรื่อง พร้อมทั้งตั้งชื่ออันเป็นมงคลนามว่า “ยาขอบ” ล้อเลียนชื่อนักเขียนฝรั่งคือ จาค็อบ

              กำเนิด นักเขียนนามปากกาว่า ยาขอบ ก็มีมีด้วยประการฉะนี้  


             พ.ศ.2474 โชติเป็นบรรณาธิการ นสพ.สุริยารายวัน ได้เขียนนิยายเรื่องยาวเรื่องยอดขุนพล โดย ยาขอบ  แต่ก็ไม่จบเพราะว่า นสพ.สุริยาล้มครืนลงไปอีก

              ในภายหลัง เมื่อมีโอกาสเขียนอีกครั้ง โชตได้นำเรื่องยอดขุนพลมาปัดฝุ่นแล้วลงพิมพ์อีกครั้ง แต่ มาลัย ชูพินิจ ได้เปลี่ยนชื่อเรื่องให้ใหม่ว่าเป็น ผู้ชนะสิบทิศ โดย ยาขอบ  จนโด่งดังด้วยความละเมียดละไมในการเขียนของโชติ บนกระดาษสีชมพูหวานเจี๊ยบ ทุกหน้าจะต้องเขียนนามปากกากำกับไว้ว่า ยาขอบ ทุกหน้า

             เล่ากันอื้ออึงว่า  โชติ แพร่พันธุ์  เขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ จากการอ่านเนื้อความจากพงศาวดารประวัติศาสตร์ เพียง 8 บรรทัด แต่เมื่อนำมาจินตนาการให้เป็นนวนิยายนั้น ยาขอบเขียนได้ถึง 8 เล่ม แต่ละตอนแต่ละเล่มสร้างความเกรียวกราวไปทั่วฟ้าบันเทิง เป็นนักเขียนที่เขียนด้วยสำนวนหวานหยดย้อย อ่านแล้วหัวใจอ่อนระทวยลงพลัน


             บนคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ ผังของราชวงศ์จึงมีเพียงรูปเล็กๆแปะไว้ ไม่มีเรื่องราวเล่าขาน เช่นเดียวกับที่คนบางกอกน้อยไม่เคยสำเหนียกว่า สุนทรภู่นั้นเป็นคนบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี ตราบเมื่อจังหวัดระยองประชาสัมพันธ์และมั่นหมายให้สุนทรภู่เป็นคนบ้านกล่ำเมืองแกลง กงล้อประวัติศาสตร์จึงไม่มีทางจะเรียกคืนได้ นึกถึงสุนทรภู่ นึกถึงหาดแม่พิมพ์จังหวัดระยอง

             ตราบทุกวันนี้ แทบจะไม่มีใครกล่าวถึงลูกนอกราชวงศ์นครแพร่คนนี้เลย ทั้งที่ เขาเป็นราชบุตรของเจ้าอินทร์แปลง เทพวงศ์ โดยแท้ ถ้าคนเมืองแพร่จะประกาศว่า ยาขอบ เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของอดีตราชวงศ์เจ้าผู้ครองนครแพร่ จะทำให้คนเมืองแพร่ภาคภูมิใจในความสามารถอันมิอาจหาบุรุษใดเสมอเหมือนเยี่ยง ยอดนักเขียนที่ชื่อว่า ยาขอบ ได้ฤา

             ด้วยว่ายาขอบเป็นทั้งนักเขียนและนักรัก จึงมีภรรยาถึง 4 คน ในขณะเดียวกับที่เป็นนักเลงสุราเป็นอาจิณ ยาขอบเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง ด้วยวัยเพียง 48 ปี 10 เดือน 2 วัน(5เมย.2499) ทิ้งบุตรชายไว้เพียงคนเดียว ซึ่งต่อมาเป็นนักนสพ.ผู้ยิ่งใหญ่และทระนง มานะ แพร่พันธุ์ ผู้สร้างตำนาน นสพ.บ้านเมือง


             ผลงานเขียนอมตะนิรันดรกาลคือ  นวนิยาย : ผู้ชนะสิบทิศ, พรานสวาท เรื่องสั้น : อารมณ์, คามวาสี, รอยโครอยเกวียน, รักแท้, เพื่อนแพง, เมียน้อย, มุมมืด ฯลฯ เรื่องแปล : สนนพระจอมเกล้า, บุปผาในกุณฑีทอง ฯลฯ สารคดี : สินในหมึก, เรื่องไม่เป็นเรื่อง, หนุมานลูกใคร ฯลฯ ผลงานเรียบเรียง : มหาภารตะ, สามก๊กฉบับวณิพก ฯลฯ  ร้อยกรอง : อะไรเอ๋ย, ยาขอบสอนตนเอง ฯลฯ

              ยาขอบยังเคยได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้รับเชิญเป็นกรรมการวางหลักสูตรวิชาหนังสือพิมพ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารหนังสือพิมพ์ประชามิตรรายสัปดาห์ และยังเคยได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดพระนคร เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐ แต่สอบไม่ได้

Tags : เที่ยวเมืองแพร่แห่ระเบิดตอน1.

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view