ท่องแดนแผ่นดินธรรม
ปอยหลวง
โดย น.ส.ศรัณยา ท้วมเนตร เรื่อง-ภาพ
ประเพณีปอยหลวง เป็นประเพณีของคนภาคเหนือ ซึ่งก็คืองานฉลองถาวรวัตถุ หรือสิ่งก่อสร้างที่ประชาชนช่วยกันสร้างขึ้นเพื่อถวายวัดและเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะชน เช่น วิหาร ศาลา โรงเรียน หอประชุม เป็นต้น เป็นการฉลองครั้งใหญ่หลังจากการก่อสร้างสำเร็จจึงเรียกว่า “ปอยหลวง” เป็นการอุทิศสิ่งก่อสร้างเป็นของสงฆ์ และอุทิศบุญกุศลแก่บรรพชนด้วย ถ้าทำส่วนตัวเรียกว่า อุทิศกุศลไว้ภายหน้า หากอุทิศแก่คนตายไปแล้ว เรียกว่าอุทิศไปหาผู้ที่ถึงแก่กรรม
ส่วนทางบ้านศรัทธาของวัด เมื่อตกลงจะมีงานปอยหลวงแล้ว ก็ตระเตรียมทำบ้านช่องให้สะอาด บอกข่าวแก่ญาติพี่น้องลูกหลานที่อยู่ไกลให้ทราบ เพื่อมาร่วมทำบุญด้วยกัน งานปอยหลวงจึงเป็นการนัดชุมนุมญาติ เพราะอยู่ที่ไหนเมื่อวัดเดิมของตัวมีงานย่อมจะมาร่วมกันจัดงาน
ก่อนวันงาน ๑ วัน จะมีการเตรียมของเรียกว่า วันดา (วันสุกดิบ) วันนี้คณะศรัทธาจะนำของมารวมกันเรียกว่า ฮอมครัว และในวันแรกของงานปอยหลวง จะมีการทานธงแบบต่างๆ ซึ่งเมืองเหนือเรียกว่า “ตุง” ช่อธงยาวและช่อช้าง โดยจะนำตุงไปปักไว้บนเสาไม้ไผ่หรือไม้ซางตลอดแนวสองข้างทางเข้าวัด
ในงานปอยหลวงจะมีการแห่แหนเครื่องไทยทานจากหัววัดต่างๆ ไปร่วมทำบุญด้วยเรียกว่า “แห่ครัวทาน” ซึ่งครัวทานของแต่ละบ้านจะสร้างขึ้นตามเจตนาของตน อาจทำเป็นปราสาท เป็นเรือน เป็นรูปนก หรือทำเป็นยอดฉัตร มีค้างมีฐานตั้งประดับประดาให้วิจิตรพิสดาร ที่บนปลายยอดของครัวทานจะทำไม้คีบธนบัตรปักไว้ ไม่จำกัดจำนวนอีกว่าเท่าไร แล้วแต่เจตนา
ในช่วงบ่ายวันสุดท้ายของงานปอยหลวงจะมีขบวนแห่ครัวทานจะมีช่างฟ้อน แต่งกายแบบพื้นเมือง ฟ้อนนำหน้าครัวทานเข้าวัด มีลูกแก้วขี่ม้านำขบวน และตามด้วยคณะศรัทธาแห่ครัวทานเป็นที่สนุกสนานยิ่ง เพราะจะมีครัวทานเต็มถนนหนทาง เสียงฆ้องกลองสนั่นหวั่นไหว กว่าจะเสร็จก็ถึงค่ำ
ตอนกลางคืนพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ มีการสวดสมโภชหรือสวดเบิก และมีการสวดถึงอานิสงส์ของการก่อสร้าง พวกชอบการละเล่นก็ไปชมการละเล่นต่าง ๆ ตามอัธยาศัย ในวันรุ่งขึ้นมีการตักบาตร ถวายภัตตาหาร และกล่าวโอกาสเวนทานสิ่งปลูกสร้างขึ้น เสร็จแล้วถวายไทยทานพระสงฆ์ที่มาร่วมพิธี พระให้ศีลให้พรเป็นเสร็จพิธี