2.ขับรถเที่ยวกับ 3 เส้นทาง กรุงเทพฯ-แพร่(ลอง)-ลำปาง
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
วันที่สอง วันที่ 28 มีนาคม 2558
เยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ผ้าจกเมืองลอง
แหล่งเรียนรู้ผ้าจกเมืองลอง จังหวัดแพร่แห่งนี้มีแม่ประนอม ทาแปง เป็นเจ้าของ ได้รับคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปีพ.ศ.2553 เด่นดังจากผ้าจกทอมือเอกลักษณ์ชาวไทยยวน ซึ่งอาศัยอยู่ในอำเภอลอง จังหวัดแพร่มาเนิ่นนาน
หน้าบ้านตั้งหูกทอผ้าหลายตัว ให้แม่บ้านในเครือข่ายได้ถักทอเพื่อเป็นสินค้าจำหน่าย เป็นรายได้ของแม่บ้านที่ร่วมโครงการ ในบ้านตั้งหูกทอผ้าอีกหลายตัว เพื่อให้เยาวชนในโครงการสืบสานวัฒนธรรมการถักทอของชาวไทยยวนได้เรียนรู้และฝึกปรือ
เยาวชนมีทั้งชายและหญิง อายุระหว่าง 12-13 ปี บางคนบอกว่าทำเป็นแล้ว แต่มีบางคนบอกว่ายังทำไม่เป็น ด้านในเป็นลานโล่งกรอเส้นฝ้าย และโรงฟอกย้อมสีจากธรรมชาติ และตากให้แห้งเมื่อได้สีตรงตามต้องการแล้ว
ในห้องใต้ถุนบ้านชั้นล่าง เป็นที่แสดงสินค้าลวดลายต่างๆ และเก็บพับไว้ขายด้วย ได้ทีมีเจ้าหน้าที่สาวพนักงานการตลาด ททท.แพร่ มาด้วย เลยได้นางแบบมาอวด
ต้นคราม
ปุยฝ้าย
พิพิธภัณฑสถานวัดศรีดอนคำ
ตั้งอยู่ในวัดศรีดอนคำที่มีเรื่องราวมากมายหลายตำนาน หนึ่งคือพระบรมสารีริกธาตุ(กระดูกอก) ในพระเจดีย์องค์ใหญ่หลังอุโบสถของวัด ถัดมาเป็นหอไตรรูปทรงงดงามบรรจุพระธรรมใบลานเก่าแก่ .ใกล้ๆกันเป็นอาคารโล่งๆ ดูธรรมดา แต่ภายในนั้นต้องไปชมให้เห็นกับตา
หอไตร
เป็นพระพุทธรูป ศิลปะพม่า ที่อัศจรรย์คือ เป็นพระพุทธรูปทำจากไม้ด้วยฝีมือการใช้มีดพร้าโต้ถากเอา จึงได้ฉายาว่า พระเจ้าพร้าโต้ องค์โตตามตำนานว่า ทำเสร็จภายในวันเดียว ภายในห้องมีพระพุทธรูปมากมายเก็บไว้ให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไป
พระเจ้าพร้าโต้และสลุงหลวง
ทีเด็ดเลย วัดศรีดอนคำมีระฆังที่เป็นต้นตอของคำว่า เมืองแพร่แห่ระเบิด หน้าห้องนี้มีระฆังลูกดังที่ทำจากระเบิดด้านจริงๆแขวนอยู่
ระฆังที่ทำจากระเบิด
พระพุทธรูปดินเผา
ถัดไปอีก 5 เมตรเป็นพิพิธภัณฑสถานที่กำลังก่อสร้างอย่างประณีตบรรจง เพื่อบรรจุพระพุทธรูปปางต่างๆ และขนาดต่างๆ แต่ละองค์สร้างมาจากหลากหลายชนิดวัตถุมงคล มีการจัดไฟแสงสีสวยงาม น่าจะแล้วเสร็จในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ
อาจารย์โกมล พานิชพันธ์ เป็นชาวเมืองลอง มีร้านถ่ายรูปอยู่กลางตลาด ท่านมีความรู้เชิงศิลปะอย่างลึกซึ้ง พูดจาด้วยภาษาที่ไพเราะ ภาษากายนิ่มนวล แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสไตล์คนศิลป์ รูปร่างท้วมสูงใหญ่ หน้าตาท่าทางเป็นคนใจดี มีความเอื้ออารีต่อผู้คนทั่วไป แววตาเหมือนว่ายิ้มได้ ให้ใจมากเป็นพิเศษเมื่อได้เล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับผ้าซิ่นตีนจกเมืองลอง
อาจารย์โกมลหลงใหลได้ปลื้มกับความสวยงามของลวดลายที่ถักทอเป็นผืนซิ่น จนในที่สุดเพียรสะสมจนมีทั้งผ้าโบราณจากหลายแหล่ง มูลค่าราคาแสนแพง ไม่อาจประเมินมูลค่าเป็นตัวเงินได้ ผ้าซิ่นแต่ละผืนมีเรื่องราวเล่าได้ดั่งสายน้ำไหล เหมือนว่าจะไม่มีวันจบ ฟังเพลินจนแทบจดจำไม่หวาดไหว
อาจารย์โกมล พานิชพันธ์
ท่านเล่าว่า ผ้าซิ่นแต่ละผืนนั้นมี 3 ส่วน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของช่างทอแต่ละคน ส่วนแรกเรียกว่า หัวซิ่น ใช้ผ้าขาวและแดง ต่อกัน ตัวซิ่นมีลาย ทางขวาง และ ตีนซิ่นหรือตีนจก ใช้เทคนิคการจกที่มีลวดลายดอกโดยใช้สีตัดกัน นิยมใช้ เส้นใยฝ้ายหรือไหมสีเหลืองเป็นสีหลักในการจกตกแต่งลวดลาย เมื่อนำทั้งสามส่วนมาต่อกันจะเรียก “ซิ่นตีนจก” มีความสวยงาม มาก สามารถแสดงฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้สวมใส่ได้
ส่วนที่สองเรียกว่า จก เป็นการควักหรือดึงเส้นด้ายขึ้นลงเพื่อสร้างลวดลาย คล้ายการปัก เป็นการเพิ่มลายพิเศษเข้าไปเป็นช่วงๆ โดยใช้ไม้ขนเม่นหรือนิ้วมือ จกด้ายเส้นยืนยกขึ้น แล้วสอดใส่ด้ายพุ่งพิเศษเข้าไป สามารถออกแบบลวดลายและสีสันของผ้าได้สลับซับซ้อนหลากสีสันตามต้องการ ทำให้ผ้าจกแตกต่างจากผ้าขิด ที่มีการใช้เส้นพุ่งพิเศษสีเดียวตลอดทั้งผืน
ส่วนที่สาม เนื้อผ้าจกเมืองลอง มีความแข็งแรงทนทาน เพราะใช้ไหมเส้นเล็กและฟืมที่มีความถี่ ทำให้เกิดลวดลายที่ละเอียด ประณีต ลวดลายของผ้าซิ่นตีนจกเมืองลองดัดแปลงจากวัสดุสิ่งของ พืชพันธุ์ในธรรมชาติ เช่น ลายดอกผักแว่น ลายเครือกาบหมาก ลายขอผักกูด ฯลฯ
ประวัติและผลงานของอาจารย์โกมล ที่อยากบันทึกไว้ให้ประจักษ์
อาจารย์โกมล พานิชพันธ์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ อ.ลอง จ.แพร่ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอลอง จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นคนวัฒนธรรมที่สำคัญอีกท่านหนึ่งในจังหวัดแพร่ ท่านมีประวัติที่น่าสนใจ เรียกได้ว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว จัดได้ว่าเป็นคนดีของสังคมได้คนหนึ่ง
อาจารย์โกมล พานิชพันธ์ ท่านมีประวัติที่น่าสนใจดังนี้คือ
การศึกษา บริหารธุรกิจกิตติมศักดิ์ สถาบันราชภัฏเชียงราย สถานที่ทำงาน/สถานที่ติดต่อ
พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ 157/2 ม.6 ต.ห้วยอ้อ อ.ลอง จ.แพร่ 54150 โทร. 054-581-532 โทรสาร 054-581-532
ผลงานด้านการออกแบบ
- ออกแบบชิ้นงานเอกพระบรมสาทิศลักษณ์ของสมเด็จพระบรมราชนีนาถ โดยจัดแสดง ณ ชั้น 6 อาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
- ออกแบบเครื่องแต่งกาย งานไหว้สาแม่ฟ้าหลวง ทุกครั้ง
- ออกแบบเครื่องแต่งกาย งานเชียงใหม่ 700 ปี พ.ศ.2539
- ออกแบบเครื่องแต่งกายโฆษณา คาร์โก้ การบินไทย ปี พ.ศ.2540
- ออกแบบเครื่องแต่งกายโฆษณา คาร์โก้ การบินไทย ปี พ.ศ.2541
- ออกแบบเครื่องแต่งกายโฆษณา คาร์โก้ การบินไทย ปี พ.ศ.2542
- ออกแบบชุดประกวดนางสาวไทย ณ พระตำหนักดอยตุง ปี พ.ศ.2539
- ออกแบบชุดประกวดนางสาวไทย “ชุดการแต่งกาย 4 ภาค” ปี พ.ศ.2544
- ออกแบบชุดแต่งกายภาพยนตร์เรื่องสุริโยทัย “ชุดมหาเทวีจีรประภา” ปี พ.ศ.2543
- ออกแบบชุดแต่งกายการแสดงแสงเสียง “ริเวอร์ออฟเดอะคิงส์” ปี พ.ศ.2543
- ออกแบบชุดแต่งกายการแสดงแสงเสียง “ริเวอร์ออฟเดอะคิงส์” ปี พ.ศ.2544
ผลงานด้านการผลิต
- ผลิตเครื่องแต่งกาย งานโฆษณาการบินไทย ปี พ.ศ.2540
- ผลิตเครื่องแต่งกาย ปฏิทินการบินไทย ปี พ.ศ.2540
- ผลิตเครื่องแต่งกาย ปฏิทินการบินไทย ปี พ.ศ.2541
- ผลิตเครื่องแต่งกายการประกวดมิสไทยแลนด์เวิลด์ ปี พ.ศ.2540
- ผลิตเครื่องแต่งกายการประกวดมิสไทยแลนด์เวิลด์ ปี พ.ศ.2541
- ผลิตเครื่องแต่งกายบางส่วนในพิธีเปิดกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ กรุงเทพฯ
ผลงานสร้างสรรค์
- ริเริ่มจัดงาน พระธาตุช่อแฮ แห่ตุงหลวง จ.แพร่
- ริเริ่มจัดงาน มหกรรมตีนจกเมืองลอง จ.แพร่
- ริเริ่มจัดงาน วันกินขนมเส้น จ.แพร่
ผลงานชนะเลิศประกวดผ้า
- ชนะเลิศการประกวดผ้าเอเชีย ประเภทผ้าจก
- ชนะเลิศการประกวดผ้าล้านนา 11 รางวัล จากสถาบันราชภัฏเชียงราย
- ชนะเลิศการประกวดผ้าจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ 6 รางวัลปี 2534
- ชนะเลิศการประกวดผ้าจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ประเภทสีธรรมชาติ ปี 2539
- ชนะเลิศการประกวดผ้าจากศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ประเภทผ้าตีนจก ปี 2542
- ชนะเลิศการประกวดผ้าตีนจกจากศูนย์ศิลปาชีพ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 5 รางวัล ปี 2543
นอกจากนั้นในพิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ ยังได้ย่อส่วนเพื่อให้ได้รับความสนใจชมจากเยาวชนในรูปแบบแปลกๆแตกต่างไปจากที่ใดๆ เช่นชุดชาวเขา ชุดตุ๊กตาต่างๆ ชุดซุปเปอร์แมน ฯลฯ เป็นห้องพิเศษเพื่อให้เยาวชนชมอย่างง่ายๆ
แน่นอนว่ามีส่วนสินค้าเพื่อให้ซื้อหาเป็นของฝากของใช้สุดประทับใจด้วยสีสันและลวดลายของผ้าจกเมืองลองของจริง ในราคาที่ได้ซื้อไปแล้วภูมิใจที่จะสวมใส่และเก็บรักษา ก่อนจากได้แวะดื่มกาแฟพิเศษจากห้องกาแฟเก๋สไตล์ถูกใจ ชงด้วยฝีมืออาจารย์โกมล หอมกรุ่น
กาดกองต้า ริมฝั่งแม่น้ำวัง
ททท.ทำให้เกิดตลาดคนเดินมากมายหลายแห่ง ที่แพร่เรียกว่า กาดมะเก่า ที่ลำปางเรียกว่ากาดกองต้า แม้ไม่ติดริมฝั่งแม่น้ำวังแต่ก็ใกล้เคียง เป็นถนนเก่าแก่ที่มีอาคารมากมายหลายหลังที่ยังอนุรักษ์สภาพของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้ได้ สินค้าที่วางจำหน่ายแทบไม่แตกต่างไปจากถนนคนเดินวัวลาย เชียงใหม่ หรือถนนคนเดินเมืองปาย
แต่กาดยามค่ำเหล่านี้คือเสน่ห์ของเมืองแต่ละเมือง เมื่อผ่านไปแวะพักแรมแล้ว ส่วนใหญ่ถามหาแต่ถนนคนเดิน ตลาดยามค่ำ เดินชมบรรยากาศแปลกแตกต่างไปจากที่จำเจ หาของกินพื้นบ้านที่วางจำหน่าย ของฝากมากมายหลากหลายสไตล์แตกต่าง ที่กาดกองต้าแตกต่างมากก็ด้วยว่ามีรถม้าให้ชมด้วย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของเมืองรถม้าลำปาง
ที่พักแรมคืนสไตล์ใหม่ๆ