http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,991,215
Page Views16,299,357
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

วัดพระบรมธาตุไชยา อาณาจักรศรีวิชัย

วัดพระบรมธาตุไชยา อาณาจักรศรีวิชัย

วัดพระบรมธาตุไชยา อาณาจักรศรีวิชัย

โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

        หลักฐานสำคัญที่ค้นพบ บ่งชี้ว่ามีอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ที่เมืองไชยา เอกสารพงศาวดารจีนช่วยตอกย้ำให้มั่นใจได้ว่า มีเมืองไชยาเป็นศูนย์กลางอาณาจักรศรีวิชัย และการค้นพบหลักซานอื่นๆ หลายยุคหลายสมัย เป็นองค์ประกอบสำคัญ ตามพลตำรวจโทสรรเพชญ ธรรมาธิกุล ทริปเยี่ยมบ้านจตุคามรามเทพ 4-6 เมษายน 2558 กันครับ  


          ในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 5-15 ได้มีการขุดค้นพบพระพุทธรูปปางสมาธิ สูง 104 ซม.หน้าตักกว้าง 74 ซม.ทำด้วยศิลา  พุทธรูปปางขัดสมาธิราบบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย พระหัตทั้งสองวางซ้อนทับกัน ขมวดพระเกศาเป็นต่อมขนาดโต อุษณีย์ปรากฏไม่ชัด ไม่มีอุรณา จีวรบางแนบพระองค์ อายุพุทธศตวรรษที่ 11-12 ปัจจุบันประดิษฐานในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา จ.สุราษฎร์ธานี


           นอกจากนี้ยังได้ค้นพบพระพุทธรูปประทับยืนบนฐานบัว ลงรักปิดทองทั้งองค์   สูง 142  ปลายจีวรตัดตรง รัดประคดมีลวดลาย ไม่มีพระรัศมี เม็ดพระเกศากลมโต ทำด้วยศิลา ราวพุทธศตวรรษ 1000-1200  ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร


พลตำรวจโท สรรเพชญ ธรรมาธิกุล นำชมระฆังจีน

           ในสมัยศรีวิชัย พ.ศ.1202-1758  มีการสร้างองค์เจดีย์พระบรมธาตุแบบศรีวิชัย  แต่ส่วนยอดหักพังไป จึงได้ทำการบูรณะใหม่เป็นศิลปะไทย นอกจากนี้ยังพบรูปสำริดของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตย์ขนาดใหญ่ เป็นประติมากรรมชิ้นเอก งดงามมาก


            ใกล้องค์พระบรมธาตุ มีหอระฆังทรงจีน เป็นโบราณวัตถุอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงถึงอดีตของเมืองไชยยา ว่าในสมัยศรีวิชัย มีอยู่จริง หลักฐานอีกหลายประการยืนยันถึงความมีอยู่จริงของเมืองไชยาอันเป็นกรุงศรีวิชัยในอดีตนั่นเอง


             เช่นในปีพ.ศ.1150 พระเจ้าเอี๋ยงตี้ แห่งราชวงศ์สุย ได้ส่งราชทูตมายังอาณาจักรดินแดงหรือเมืองสิงหนคร หรือเซี๊ยโท้วก๊ก หรือกรุงผั่นผั่นก๊ก เมื่อได้เดินเข้าไปชมเมืองโบราณที่อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงได้เห็นร่องรอยของเมืองโบราณ


พระบรมธาตุไชยา

            พ.ศ.1214 หลวงจีนอี้จิงได้โดยสารเรือสำเภามาจากกวางตุ้ง พักอยู่กรุงศรีวิชัยเพื่อศึกษาไวยากรณ์ภาษาสันกฤตนานถึง  6 เดือนจึงเดินทางไปอินเดีย 10 ปี จึงเดินทางกลับมามายังกรุงศรีวิชัยอีก 4 ปี พ.ศ.1228 เพื่อแปลภาษาสันกฤตเป็นภาษาจีน ก่อนจะเดินทางกลับจีน บันทึกจากจีนเหล่านั้นสำแดงว่ามีเมืองศรีวิชัยอยู่จริง


           ศิลาจารึกของกษัตริย์ศรีวิชัยทรงพระนามว่า พระศรีมหาราชวิษณุ แห่งราชวงศ์ไศเลนทร์  ที่เมืองโบราณแห่งนี้ พบโบราณสถาน โบราณวัตถุ ยุคศรีวิชัยจำนวนมาก ประกอบกับพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์ถัง ราชวงศ์ซุ่ง  กล่าวถึงการติดต่อกับราชสำนักศรีวิชัยมาอย่างยาวนาน  จึงเชื่อได้ว่า เมืองไชยาเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัย


           สมัยสุโขทัย พ.ศ.1792-1961 ด้วยอิทธิพลพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์ ปรากฏใบเสมาคู่แฝดรอบอุโบสถ พ้องกับสมัยนครศรีธรรมราช พุทธศิลป์สกุลช่างนครศรีธรรมราช

           สมัยกรุงศรีอยุธยา .ศ.1893-2310  ได้พบว่ามีพระพุทธรูปศิลาทรายแสดงถึงความรุ่งเรืองของพุทธศาสนา    สมัยกรุงธนบุรี  พ.ศ.2310-2325 เหมือนๆสมัยกรุงศรีอยุธยา  และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2325 ในสมัยรัชกาลที่ 1 ปรากฏว่ายังเหลือร่องรอยการทุบทำลายของพม่าปล่อยทิ้งร้าง



           พระบรมธาตุไชยา ชำรุดทรุดโทรม ยอดหัก  ปล่อยทิ้งร้างมานาน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์โดยพระครูรัตนมุนีศรีสังฆาราชาลังกาแก้ว (พระชยาภิวัฒน์)เจ้าคณะเมืองไชยา ระหว่างปีพ.ศ.2439-2453


           พระบรมธาตุเจดีย์สูงสุดยอด 10วาเศษ ฐานกว้าง 4 วา 2 ศอก ยาว 5 วา ได้ต่อบัวคอระฆัง และขยับยอดให้สูงขึ้นไป 1 แห่ง กับได้ทำฉัตรใส่ยอด คือทำเป็น 3 ชั้น ก้านและใบฉัตรภายในรองด้วยเงินแล้วหุ้มด้วยทองคำ ทองที่เหลือจากหุ้มฉัตร ยังได้หุ้มตลอดลงมาถึงลูกแก้วและปลี สิ้นทองคำหนัก 82 บาท 3 สลึง ต่อนั้นลงมา ได้ปิดด้วยทองคำเปลวตลอดคอระฆังและบัว

           ตอนต่อจากพื้นขึ้นไปจนถึงหอระฆังลดชั้นมีหน้ามุข หน้าบัน และมีบราลีทุกๆชั้น แต่บราลีทำเป็นรูปเจดีย์เล็กๆ ระหว่างอุโบสถและวิหารมีระเบียงคดรายรอบ ประดิษฐานด้วยพระพุทธรูปปางต่างๆมากมายายพุทธศิลป์ รอบพระบรมธาตุเจดีย์มีร่องน้ำขนาดกว้าง 50 ซม. ลึก 60 ซม.


พระพุทธรูปในระเบียงคด

            ความเจริญของอาณาจักรศรีวิชัยขจรขจายไปทั่วภูมิภาค เป็นเส้นทางการค้าจากฝั่งอันดามันขึ้นมายังกรุงศรีวิชัย และข้ามฟากไปยังฝั่งทะเลอ่าวไทย ซึ่งทำให้สามารถเดินทางไปยังขอม เวียดนามและจีนได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น แต่เมื่อมีความเจริญก็ย่อมต้องมีภัยพาล นั่นคือการรุกรานดินแดนจากอริราชศัตรูนั่นเอง


           ปีพ.ศ.1720-1721 พระเจ้าอินทรวรมันแห่งอาณาจักรจามปาได้ยกทัพเรือขึ้นมาโจมตียโศธรปุระ อันเป็นนครหลวงของขอม จนแตกพ่าย  พร้อมกับประหารชีวิตพระเจ้าตรีภูวนาทิตวรมัน  ต่อมาพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ทรงยกทัพไปตีอาณาจักรจามปา จนพระเจ้าอินทรวรมันแตกพ่าย  ใช้เวลาถึง 4 ปี จึงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ของในปีพ.ศ.1724-1762           


           เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ขึ้นเป็นกษัตริย์ขอมจอมอหังกาฬ ได้แผ่อำนาจไพศาลไปทั่ว ตั้งแต่เหนือดินแดน ละโว้ ศรีเทพ  ปราสาทเมืองสิงห์  ปราสาทหินพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง ฯลฯ รวมถึงเข้าโจมตีอาณาจักรศรีวิชัย เมืองไชยา ในที่สุด อาณาจักรศรีวิชัยจึงย้ายเมืองไปตั้งอยู่ที่ กรุงศรีธรรมโศก หรือกรุงตามพรลิงค์ ตกเป็นเมืองขึ้นของขอม


            ต่อมาพระเจ้าศรีธรรมโศกราชจันทรภาณุที่ 1 ยกกองทัพเรือจากศรีลังกามาตีคืนเอาจนได้ เกิดการโยกย้ายกรุงศรีธรรมโศกไปที่ เมืองพระเวียง ที่นี่ได้ทรงสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ขึ้นกลางพระนคร ตามหลักศิลาจารึกหลักที่ 24 พ.ศ.1773 แต่แล้วก็เกิดโรห่าระบาดไปทั่วกรุงจนกลายเป็นเมืองร้างไปในที่สุด  


           วัดพระบรมธาตุไชยาเป็นพุทธสถานสำคัญของภาคใต้  วัดพระบรมธาตุไชยา เป็นอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ 50 หมู่ 3 ตำบลเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี  เดิมเป็นวัดราษฎร์ ยกฐานะครั้งแรก เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2491 นามว่าพระธาตุไชยา ยกฐานะครั้งที่สอง เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร และพระราชทานนามใหม่ว่าพระบรมธาตุไชยา ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอไชยา  2 กิโลเมตร ตั้งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟไชยาไปทางตะวันตก 1 กิโลเมตร และตั้งอยู่ห่างจากถนนทางหลวง แผ่นดินสายเอ 41 ไปทางตะวันออก  2 กิโลเมตร


                อาณาเขตวัด แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ

                1. เขตพุทธาวาส มีกำแพงแก้วล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน ด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีกำแพงยาว 127 เมตร ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก มีกำแพงยาว 66 เมตร ภายในเขต พุทธาวาส ประกอบด้วยองค์เจดีย์พระบรมธาตุไชยา พระวิหารคดหรือระเบียงพระเวียน พระเจดีย์ พระอุโบสถ พระวิหารหลวง พระพุทธรูปศิลาทรายแดง ตนพระศรีมหาโพธิ์และพลับพลาที่ประทับ

                2. เขตสังฆาวาส อยู่ทางทิศใต้และทิศตะวันตก ประกอบด้วยกุฏิ พระสงฆ์อยู่อาศัย กุฏิวิปัสสนากรรมฐาน ศาลาการเปรียญ โรงเรียนปริยัติธรรม ศาลาบูรพาจารย์ ห้องสมุด และหอฉัน ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีโรงเรียนวัดพระบรมธาตุไชยา สอนชั้นเด็กเล็กถึงชั้นประถมปีที่ 6 ด้านทิศตะวันออก มีพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติไชยา


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา

              ปีพ.ศ.2478 โดย พระครูโสภณเจตสิการาม อดีตเจ้าคณะอำเภอไชยาได้รวบรวมศิลปะโบราณวัตถุมาเก็บรักษาไว้ในพระอุโบสถ พระวิหารหลวงและพระระเบียง ต่อมากรมศิลปากร ได้พิจารณารับเป็นสาขาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรียกว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี” โดยจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม


              ปีพ.ศ. 2493 พระเดชพระคุณพระธรรมโกศาจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุไชยา เป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา ได้เริ่มสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบไทยประยุกต์อาคารใหม่หลังแรก

              ปีพ.ศ. 2499  พ.ต.อ.พัฒน์ นีลวัฒนานนท์ ส.ส.จ.สุราษฎร์ธานี  ได้ของบประมาณจรมาสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ขึ้นเป็นหลังที่สอง ด้านทิศเหนือ ใหญ่กว่าหลังแรก ชื่อว่าศาลานีลวัฒนานนท์


              ปีพ.ศ. 2524-2525  ในวโรกาสเฉลิมฉลองกรุงเทพ 200 ปี กรมศิลปากรได้อนุมัติงบประมาณสร้างให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยาที่สมบูรณ์  รวมเป็นอาคาร 3 หลัง ทำพิธีเปิดเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2525 ตั้งอยู่นอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกของวัดพระบรมธาตุไชยา


              มีโอกาสไปเยือนเมืองไชยา อดีตอาณาจักรศรีวิชัย อดีตประวัติศาสตร์ที่เป็นเมืองในภาคใต้สำคัญและมีเรื่องราวน่าสนใจ ได้รู้ ได้เห็น ได้สัมผัส และได้ย้อนรอยอดีตอาณาจักรศรีวิชัยในแผ่นดินภาคใต้ของเรา

                (ตอนต่อไป เยื่ยมเยือนสวนโมกขพลาราม กราบพระพุทธทาสอิ่มใจ)


Tags : ดอกไม้เทศและดอกไม้ไทยต้น 29.ราชพฤกษ์

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view