http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม14,006,303
Page Views16,315,316
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร เที่ยวไป สบายๆ สไตล์เรา เอื้อยนางกับหอมหอม(1)

วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร เที่ยวไป สบายๆ สไตล์เรา เอื้อยนางกับหอมหอม(1)

 

วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร

 เที่ยวไป สบาย ๆ สไตล์เรา  เอื้อยนาง กับ หอมหอม  (๑)

 

เอื้อยนาง

 

         ในฐานะเราสองคนเป็นลูกอุบลด้วยกัน  ทำงานในกทม.เช่นกัน  พบกัน รู้จักกันเมื่อคราไปท่องอินเดียในคณะท่านดร.พระมหาไพเราะ ฐิตสีโล ด้วยกัน    คุยกันเรื่องเดียวกัน  เป็นเหตุให้ความสัมพันธ์ยืนยาว   ได้นัดกันในวันว่าง ๆ ชวนกันท่องวัดในกรุงเทพ และจังหวัดใกล้เคียง  แบบสบาย ๆ สไตล์เรา ในที่สุด เอื้อยนาง กับ หอมหอม(พิมลพรรณ สาโสม) ก็กลายเป็นคู่หูท่องวัดในวันอาทิตย์แทบทุกอาทิตย์(ยกเว้นอาทิตย์ที่เอื้อยนางไปอยู่กับหลานทำหน้าที่ของย่า ยาย)


        วัดหลายแห่งในกรุงเทพฯนอกจากความสวยงามอลังการ  หลายแห่งยังมีประวัติความเป็นมาน่าสนใจ  โดยเฉพาะที่มีเรื่องราวเกี่ยวโยงถึงคนลาวอีสาน  ตั้งแต่ช่วงการสร้างบ้านสร้างกรุงใหม่ ๆ  มีพระภิกษุ และผู้คนชาวลาว อีสาน โดยเฉพาะคนอุบลราชธานีเข้ามาเกี่ยวข้อง  น่านำมาเล่าสู่กันฟัง  สารคดีชุดนี้จึงเกิดขึ้น  และวัดแรกที่จะเล่าถึงคือ

         วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร แขวงรองเมือง  เขตปทุมวัน

        หากใครเคยนั่งรถไฟเข้ากรุงเทพฯ และได้สังเกตสองข้างทางรถไฟ  ก็จะเห็นได้ว่าช่วงที่น่าอึดอัดที่สุดก็คือตั้งแต่ ผ่านสถานีจิตรลดา จากยมราชจนถึงหัวลำโพง  เป็นย่านที่มีบ้านเรือน(บ้านช่องน่าจะถูกต้องกว่านะ)แออัดเบียดชิดติดกันจนรั้ว หลังคา ประตู ดูรุงรังดั่งดงหญ้าที่แห้งเฉาอยู่ท่ามกลางตึกสูงที่โผล่พ้นพุ่งขึ้นฟ้าเหมือนต้นไม้ใหญ่ยืนต้นตระหง่านง้ำเหนือพงหญ้า ไม่นำพาสิ่งใดใต้โคนต้นของตนกระนั้น


ปฏิมากรรมเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์(สิริจันโท จันทร์ ในบริเวณศาลหลักเมืองอุบลฯ

         และท่ามกลางรั้ว หลังคาสังกะสีมอๆ บิ่นเบี้ยว เราจะเหลียวเห็นสีเหลืองทองของซุ้มประตูวัดขึ้นวับแวม เหมือนแสงเทียนผุดพรายในความสลัวราง

         รถไฟวิ่งเร็วจนผ่านไปดูไม่ชัด  แต่ก็มีบางครั้งที่อ่านป้ายชื่อได้ทัน  นั่นคือ วัดบรมนิวาสที่กำลังจะพาไปไหว้พระภายในกันค่ะ 

        ทางเข้าวัดไม่ได้อยู่ตรงประตูที่มองเห็นแต่แรกหรอกนะคะ  เราสองพี่น้องถูกแท็กซี่นำมาหย่อนลงที่อีกด้านหนึ่งของวัดแบบงง ๆ เพราะดูไม่ออกอันไหน เป็นประตูรั้วบ้านเรือนราษฎรหรืออันไหนเป็นประตูวัด

 

       “เอื้อยมาดูซีที่นี่มีเครือยานางเลื้อยขึ้นรั้วสวยมาก”

       “เธอก็เห็นต้นไม้ทุกต้น ทุกใบ สวยเสมอแหละ  มาทางนี้เถอะทางนี้เป็นทางเข้าวัดนี่สวยกว่า”

        ไม่ได้พูดเกินจริง  ภาพวัดที่เคยวาดภาพไว้ในใจเมื่อมองเห็นซุ้มประตูด้านที่อยู่ติดรางรถไฟเปลี่ยนไปทันทีที่ก้าวย่างเข้าสู่ประตูวัด

         ถนนซีเมนต์แคบ ๆ นำไปสู่วิหารหลังเล็กสีสดใสนั้นอ้อมโค้งไปกับขอบสระน้ำ สองข้างร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่ สวยงามด้วยไม้ดอกไม้ประดับ และสวนหย่อม

         ที่นี่แหละคือวัดที่ครั้งหนึ่งพระเถระผู้ใหญ่ที่สำคัญมากรูปหนึ่งของสยาม และในประวัติศาสตร์อุบลราชธานี-อีสาน  ท่านได้มาเป็นเจ้าอาวาสเป็นเวลาหลายพรรษา  เผยแพร่ธรรมะ  แก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป  สนับสนุนอยู่เบื้องหลังและผลักดันแนวทางปฏิบัติธรรมกรรมฐานของท่านพระอาจารย์มั่น  ภูริภัตโต ชาวอุบลเช่นกัน

         ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ ท่านมีคุณูปการทั้งด้านการศาสนาและการศึกแก่ชาวอุบลราชธานีและอีสานตลอดช่วงหลายรัชกาลแห่งรัตนโกสินทร์  ชาวอุบลได้สร้างรูปเหมือนของท่านไว้เป็นที่สักการและระลึกถึง ณ หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ด้านข้างตะวันตกของศาลหลักเมืองใจกลางเมืองอุบลราชธานี

          พระอุบาลีคุณูปมาจารย์(จันทร์ สิริจันโท)  เคยเป็นเจ้าอาวาส  ณ ที่แห่งนี้  วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร

         เป็นลูกบ้านหนองไหล อำเภอเมือง  จังหวัดอุบลราชธานี  เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙ สมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  และอุบลราชธานียังปกครองแบบจารีตล้านช้าง มีฝ่ายปกครองสูงสุดสี่ตำแหน่ง  คือ เจ้าเมือง  อุปฮาด  ราชวงศ์ และราชบุตร เรียกว่า อัญญาสี่ หรือ อาชญาสี่ เป็นเมืองประเทศราชที่ต้องส่งส่วย ส่งเครื่องบรรณาการ ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทองแก่กรุงเทพฯตามจำนวนหัวเลก(ชายฉกรรจ์ที่ถูกสักเครื่องหมายเข้าสังกัด หรือลงบัญชี) ในยามศึกสงครามต้องเกณฑ์เข้ากองทัพไปช่วยรบ ดังหลักฐานในประวัติของท่านขณะบวชเป็นเณรเรียนหนังสืออยู่ ที่วัดศรีทองในตัวเมืองอุบลก็ต้องสึกออกไปช่วยทางบ้านทำงานในนาในสวน เป็นแรงงานให้ครอบครัว เพราะเป็นช่วงที่สยามเกณฑ์กองทัพไปปราบฮ่อที่ยกทัพรุกรานมาทางล้านช้าง โยมพ่อของสามเณรจันทร์ก็ต้องไปทัพด้วย ทำให้ทางบ้านขาดแรงงาน จึงต้องสึกจากเณรดังกล่าว  และท่านก็กลับมาบวชเรียนอีกครั้งที่วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม ในปัจจุบัน) ปี พ.ศ.๒๔๒๐ และเดินทางเข้าสู่กรุงเทพในปี พ.ศ.๒๔๒๓  พักอยู่กับพระภิกษุชาวอุบลชั่วคราวก่อนได้เข้าอยู่วัดเทพสิรินทรฯ เรียนหนังสือที่วัดมาตยารามจนได้ ๙ พรรษาสอบเปรียญได้ ๓ ประโยคเป็นพระมหาจันทร์จึงกลับอุบลสอนหนังสือ เผยแพร่ความรู้ให้พระเณร และชาวอุบลทั้งในเมือง และบ้านหนองไหลบ้านเกิด  แล้วเดินทางสู่จำปาศักดิ์ ได้เป็นเจ้าคณะสังฆปาโมกข์เมืองนครจำปาศักดิ์ ต้องไปรับสัญญาบัตรที่กรุงเทพฯ คราวนี้พาลูกศิษย์ไปเรียนหนังสือด้วยหลายคน ซึ่งภายหลังท่านเหล่านั้นได้กลายเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่พระศาสนาและการศึกษาสู่อีสาน


          พ.ศ.๒๔๓๓ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระครูวิจิตรธรรมภาณี เจ้าคณะใหญ่นครจำปาศักดิ์  จนพ.ศ.๓๔๓๔ จึงกลับจำปาศักดิ์-อุบล มีลูกศิษย์ลูกหาทั้งสองฝั่งโขง และต่อมาอีกสองปีเหตุการณ์บ้านเมืองไม่สงบ จำปาศักดิ์ตกเป็นของฝรั่งเศสจึงมาอยู่วัดสุปัฏนาราม อุบลราชธานี  และต่อมาจึงได้พาลูกศิษย์จำนวนหลายคนเดินทางไปเรียนที่กรุงเทพฯอีกครั้ง

         

           ในยุคนั้น อุบลราชธานีกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาทั้งบาลีและภาษาไทย นับเป็นคุณูปการยิ่งใหญ่ต่ออีสานสืบมา 

กระทั่งพ.ศ.๒๔๔๖ ท่านต้องการปลีกวิเวก  แต่ได้ไม่นานขณะออกธุดงค์แสวงหาวิเวกที่เขาใหญ่ก็เกิดป่วยหนักด้วยไข้ป่า  ถูกหามออกจากป่าด่วน พอหายป่วยก็ได้รับพระบรมราชโองการให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ณ กรุงเทพโดยเร็ว

           เล่ามาตั้งนานเพิ่งถึงวัดบรมนิวาสนะคะ


เอื้อยนาง

           เราสองพี่น้อง เอื้อยนาง กับ หอมหอม เข้าไปกราบพระที่ศาลาด้านนอก ทำบุญหย่อนเงินลงในตู้ตามศรัทธาแล้วได้เวลาทัศนาวัด  ไหว้พระประธานในโบสถ์ และเดินหาจนพบศาลาที่เคยเป็นที่พำนักของท่านเจ้าคุณผู้มีคุณูปการต่อลูกหลาน เหลน อุบลราชธานี สืบมา

          ประวัติของวัดนี้ กับประวัติของท่านคงต้องเล่าคู่กันไปในคราวหน้าค่ะ

Tags : ในคมหวาน 20

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view