กาดกองต้า ริมแม่น้ำวัง แห่งเมืองรถม้า เขลางค์นคร
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
สะพานข้ามแม่น้ำวัง
โบราณว่า คนแก่ชอบเล่าความหลัง เห็นทีจะจริงแท้แน่เทียว
เมื่อผมได้รับเชิญให้ไปทำข่าวท่องเที่ยวที่นครลำปาง แล้วพาไปเดินยามเย็นย่ำใกล้สนธยาบนถนนสายเลียบแม่น้ำวัง เรียกชื่อใหม่ให้เก๋ไก๋ว่า “กาดกองต้า” เท่านั้นเอง ความหลังก็พรั่งพรูออกมาจากก้นบึ้งของหัวใจ
ใช่แล้ว สำหรับชายชราคนนี้ มีอดีตเป็นนิสิตคณะวนศาสตร์(รุ่น33) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(รุ่น 27) ก็มีอดีตที่ฝังลึก ณ เขลางค์นคร มากน้อยไปกระนั้นหรือ
ปีพ.ศ.2512 ผมเป็นนิสิตปี 3 คณะวนศาสตร์ ขึ้นรถไฟที่หัวลำโพง มาลงรถไฟที่สถานีเขลางค์นคร ก็เมืองลำปางนั่นแหละ นั่งรถเหมาคันเข้าป่าไปลงที่สถานีฝึกอบรมนิสิตวนศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับสวนสักห้วยทาก อ.งาว จ.ลำปาง ริมถนนสายลำปาง-พะเยา-เชียงราย เพื่อฝึกปฏิบัติการปลูกสร้างสวนป่าไม้สักและการบำรุงรักษาสวนป่า
ช่วงเวลาที่ไปฝึกปฏิบัติงานนั้นเป็นช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม อากาศร้อนจับใจ แต่ตกกลางคืนกลับเย็นลงจนหนาว ช่วงเช้าอาจารย์จะสอนในห้องเรียน แต่ทุกบ่ายจะไล่ไปฝึกปฏิบัติในสวนป่า ได้เหงื่อจนเปียกเสื้อและกางเกงทุกคน แม้งานหนักแต่เพื่อจะเรียนให้จบแล้วได้เป็น “นักวิชาการป่าไม้” นั้น ทำให้ทนได้ใจสู้
ความประทับใจจนลืมไม่ลงก็เมื่อวันสงกรานต์มาเยือน อาจารย์ใจดี พักเรียนเพื่อให้ไปหาประสบการณ์จากชีวิตจริงในเทศกาลวันสงกรานต์ หนุ่มทโมนทั้งหลายดีใจได้ปลื้ม เตรียมตัวเดินทางเข้าเมืองลำปาง ไปรดน้ำวันสงกรานต์ ณ ริมฝั่งแม่น้ำแม่วัง ที่นั่นมีรถม้าวิ่งรับส่งผู้คนไม่ขาดสาย หนุ่มสาวแห่แหนกันออกมาจากเรือนด้วยชุดสาวงามชาวล้านนา
ภาพที่จดจำได้ เธอนุ่งซิ่นสีสวย สวมเสื้อคอกระเช้าแขนสามส่วน แต่บ้างก็แขนสั้น มุ่นมวยผมไว้เหนือหัว รัดเกล้าด้วยดอกไม้สวยๆที่หาได้ แต่งหน้าทาปากกันพริ้มพราย เหนือความงดงามใด ทุกอนงค์นางยิ้มพรายไปทั่ว แขนอุ้มขันน้ำใบเขื่องโรยด้วยกลีบดอกไม้ มีขันน้อยๆคอยตักน้ำแล้วบรรจงขอรดน้ำใส่ซอกคอผู้บ่าวหนาวสะท้าน
“ขอสุมาเตอะจ้าว ขอฮดน้ำดำหัวเน้อจ้าว”
เสียงหวานใส่โปรยด้วยรอยยิ้มหวานจ๋า หนุ่มเหน้าอย่างพวกเราจะไม่หัวใจไหวหวั่นกระนั้นหรือ
ข้อแม้ที่อาจารย์ประกาศตอนก่อนปล่อย”ควายถึก” ให้เข้าเมืองคือ วันที่กำหนดกลับต้องกลับเข้าแคมป์ก่อนเวลา 18.00 น.นะ ใครกลับไม่ตรงเวลา ขุดตอไม้ในสนามโน่น
สงกรานต์แรกของหนุ่มใต้ได้ปลื้มกับความงดงามของวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ประทับใจมาจนถึงวันนี้ ครั้นพอ ได้กลับมาเดินในตลาดริมฝั่งแม่น้ำวังฝั่งตัวเมืองอีกครั้ง ภาพสาวงามผุดพรายให้เห็นเป็นฉากๆ ผมยืนมองไปทีละจุด อาคารสวยๆแต่ละหลัง แม้กาลเวลาเปลี่ยน แต่ภาพในอดีตไม่เปลี่ยนไป คิดถึงนะ เธออยู่ไหนแล้วหนอ
อาคารหม่องโง่ยซินยังตั้งตระหง่านด้วยทรงขนมปังขิง หลังคาทรงมะนิลา ถือว่าเจ้าของอนุรักษ์เอาไว้ดี เดินไปที่อาคารกาญจนวงศ์ บ้านไม้สักแสนงามทรงขนมปังขิงก็ยังงามเหมือนเดิม ลวดลายไม้สักฉลุยังโดดเด่น
ถนนสายนี้ คือถนนการค้าที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่การขนส่งทางน้ำยังรุ่งเรือง พ่อค้าไม้มีทั้งฝรั่งอั้งม้อ และพม่า ไทลื้อ ล้วนต้องพึ่งพาการล่องซุงไม้สักผ่านริมฝั่งแม่น้ำวัง นอกจากนั้นยังมีพ่อค้าท้องถิ่นที่เป็นคนจีนไหหลำ และจีนแคะ บริการทั้งโรงแรมและ ร้านอาหาร เป็นองค์ประกอบสำคัญ
จนกระทั่งเมื่อรถไฟมาเยือนเมื่อปีพ.ศ.2459 ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี การค้าผ่านเส้นทางรถไฟจึงเริ่มขึ้น นำสมัย รวดเร็วและได้รับความนิยมมากกว่าท่าน้ำแม่น้ำวัง เส้นทางการค้าจึงเปลี่ยนไป เหลือเพียงการค้าขายระดับท้องถิ่น “กาดกองต้า”จึงเปลี่ยนบริบทไปตามกาลเวลา แทบจะถูกทิ้งไปกันเลยทีเดียว
วันหนึ่ง เมื่อการท่องเที่ยวเริ่มเจริญก้าวล้ำยุคสมัย ที่ไหนเป็นเมืองเก่า ตลาดเก่า ถูกจับมาตกแต่งแต้มสีสันกันให้มีความขลัง พร่างพรมด้วยเสน่ห์ของชาวบ้านร้านถิ่น เปลี่ยนภาพตลาดกลางวันเป็นตลาดเย็นย่ำสุริยาราโรย เป็นตลาดเพื่อการเดินเล่นเย็นๆใจ เป็นตลาดให้ผู้เฒ่าผู้แก่ได้ใช้ภูมิปัญญา ทำขนมนมเนย เครื่องดื่มสมุนไพร เสื้อผ้าทอมือที่แปลงแบบเปลี่ยนทรงจนเตะตาคนต่างถิ่น
กาดกองต้าติดตลาด เป็นที่เลื่องลือกันว่า ไปนครลำปางแล้วไม่ได้ไปเดินเที่ยวกาดกองต้า ก็เหมือนว่ามาไม่ถึง
และก็ทำให้คนแก่คิดถึงความหลังเมื่อครั้งที่เคยชวนสาวนั่งเคียงเรียงกันบนรถม้าลำปางชมเมืองด้วยไออุ่นจากสาวที่แนบข้างกาย