อุทยานแห่งชาติเขาสก
กุ้ยหลินเมืองไทย
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
ถ้าไม่มีการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ก็ไม่เกิดทะเลสาบแสนสวยสุดอลังการจนได้ฉายาว่า กุ้ยหลินเมืองไทย แต่ถ้าไม่มีการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขาสก ทรัพยากรธรรมชาติแสนงามอาจถูกบุกรุกจับจองและใช้ประโยชน์จนกลายเป็นการทำลายได้ ชาวสุราษฎร์ธานีช่างโชคดี และเป็นความโชคดีที่ประเทศไทยมีทรัพยากรท่องเที่ยวเช่นที่เขาสก
เจตจำนงการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลานนั้นจะเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้สอยทางการเกษตรกรรม หรือจะเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำก็ตามที ล้วนมีคุณแก่คนไทย การประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขาสกเพื่อคุ้มครองป้องกันให้ป่ายัง น้ำหลั่งไหล และได้ประโยชน์โภชผลแก่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างกว้างขวาง มีกุ้งและปลาให้กินเพียบ
อุทยานแห่งชาติเขาสก ประกาศจัดตั้งตามการประกาศในราชกิจจานุเบกษาครั้งแรกเล่มที่ 97 ตอน 197 ลงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2523 ครอบคลุมพื้นที่ป่าคลองหยีและคลองพระแสง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคลองศก พังกาญจน์ พนม พระแสง เขาพับ ท้องที่อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่ 645.52 ตารางกิโลเมตร (403,450 ไร่)
เมื่อการสร้างเขื่อนเสร็จสิ้น มีพื้นที่น้ำเต็มเขื่อน กรมป่าไม้จึงได้ผนวกพื้นที่ท้องน้ำเพิ่มขึ้นรวมเป็น 738.74 ตารางกิโลเมตร(461,712.5 ไร่) ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 111 ตอน 32 ก. วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2537 เป็นพื้นน้ำทั้งสิ้น 93.22 ตารางกิโลเมตร แทรกซอนไปตามเขาหินปูนรูปทรงแปลกตา ทำให้เกิดเป็นทัศนียภาพที่งดงามดังป่าหิมพานต์
ผมเองไม่เคยไปกุ้ยหลินเมืองจีน ได้แต่ดูจากภาพถ่ายและทีวี ก็เลยไม่กล้ากล่าวว่า กุ้ยหลินเมืองไทยสวยกว่ากุ้ยหลินเมืองจีน สักวันหนึ่ง ถ้ามีเงินพอจะซื้อทัวร์ได้ หรือได้รับเชิญจากไหนก็ตาม ไปดูแล้วนั่นแหละจึงจะเปรียบเทียบได้
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับผมแล้ว ได้ล่องนาวาผ่านไปตามเกาะแก่งโขดเขาหินปูนและท้องทะเลสาบสีเขียวสดสวย ก็เกิดอาการหัวใจพองโต ภูมิใจ ภูมิใจ
หินรูปอินเดียนแดง
วันนั้น อุทยานแห่งชาติเขาสกและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง กรุณาให้เรือตรวจการณ์มารับและพาไปชมตามเกาะแก่งสวยๆมากมายหลายอ่าว แต่ระหว่างคนขับเรือกับคนถ่ายรูปไม่ค่อยสัมพันธ์กัน การถ่ายรูปจึงถ่ายได้ตามที่เรือจะพาไป ถ้าสัมพันธ์กันเรือจะต้องแล่นไปตามที่ช่างภาพบอกให้ไป ก็จะได้ภาพที่สวยสมยิ่งกว่าที่ได้
ด้วยภาพที่ได้มาทั้งหมด ก็ยังสวยขนาดนี้ ถ้ามีโอกาสยิ่งกว่านั้น น่าจะได้รูป กุ้ยหลินเมืองไทยสวยกว่ามากเชียว
เรือแล่นไปอีกไกลทิศไหนจำไม่ได้เลย มาครั้งแรก ตกตะลึงกับความอลังการ เรือชะลอความเร็วลงแล้วแถเข้าเทียบท่าเรือหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ สมาชิกของชมรมคุณเหี่ยวทั้ง 24 ชีวิตก็ก้าวย่างขึ้นไปบนแพพัก ดื่มกาแฟร้อน น้ำเย็น ขนมนมเนยตามชอบ ได้เข้าไปสุขาและได้เห็นน้ำสีเขียวสวยด้วยปลากระแหทองแหวกว่าย เรือนพักของแพอุทยานฯไม่มีห้องแอร์ พัดลมมีหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ ธรรมชาติๆ
ได้เวลาต้องเดินทางต่อ เรือแล่นผ่านภูเขาหินปูนรูปแปลกๆ แตกต่างไปจาก้อนแรก ต้นไม้บนเขาหินเขียวขจี ไม่มีรอยแหว่งเว้าแบบถูกบุกรุกทำลายเลย ก็มีแต่หินผา จะไปทำสวนยางพาราก็ไม่ได้ เรื่องโขดหินกลางทะเลสาบเขาสกดีตรงนี้เอง แต่ถ้ามีใครไปบุกรุกยึดถือครอบครองก็มีเจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยานฯเข้าไปกวาดลงน้ำแน่ๆ
ผ่านไปอีกช่วงหนึ่ง เรือผ่านรีสอร์ทกลางขุนเขาในท้องทะเลสาบเขาสก เรือนแพทาสีเทาๆ แต่ละหลังกะทัดรัด ไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป พอพักได้หลังละ 2 คน ส่วนตัวๆ เหมาะสำหรับหนุ่มสาวจะพากันมาฮันนีมูน ท้องน้ำใสสะอาดตาเหมือนแพพักของอุทยานฯ แต่หรูและดูดีกว่า ผ่านไปไวมาก จึงไม่รู้เลยว่าแพนี้ชื่อแพอะไร
เรือแล่นเร็วจนน้ำกระจายจากแฉกหัวเรือไปไกล ละอองน้ำกระเซ็นเข้ากล้อง แรงกระแทกของเรือกับผิวน้ำทำให้กระเด็นกระดอนไปมา กล้องแกว่งจนไม่สามารถจะถ่ายรูปได้อีก ได้แต่กวาดสายตาไปไกลสุดขอบเขา เห็นรางๆว่ามีเรือนแพลอยอยู่ในหมู่ภูเขาหินปูนสวยอีกกลุ่มหนึ่ง ผมต้องออกแรงตะโกนถามเสียงสั่นว่าแพของใคร ๆ ไม่มีเสียงตอบจากนายท้ายเรือ
สิ่งแวดล้อมบนเรือตรวจการณ์ แล่นเร็วมาก หมดอารมณ์จะถ่ายรูป เก็บกล้องเข้าซอกอก กลัวตกและกลัวกล้องเปียกน้ำ มองเฉียดฉิวปลิวไปตามแรงกระแทกและแรงลมที่พัดหวือๆใส่กกหู ผมตั้งซู่ชูชัน ใบหน้าซ่านไปด้วยแรงดึงของลมที่สะบัดไปสะบัดมา จนเมื่อเรือเริ่มผ่อนแรงลง แล้วค่อยๆแล่นเรียบๆเข้าไปยังแพพักชุดใหญ่ 500 ไร่ ซึ่งเป็นแพเอกชนรายใหญ่
สอบถามนายท้ายเรือของอุทยานแห่งชาติเขาสก ได้ความว่า แพที่ผ่านมาเร็วๆมองเห็นไกลๆนั่นเป็นแพของกรมประมง ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่ในการคุ้มครองสัตว์น้ำในพื้นที่นี้ มีการเพาะเลี้ยงและศึกษาวิจัยความหลากหลายชนิดพันธุ์ปลา กุ้ง กบ ฯลฯ ส่วนแพพักที่เป็นของเอกชนที่ลอยลำทำสวยในทะเลสาบเขาสกเหล่านั้น ได้รับอนุญาตตามระเบียบของอุทยานฯครบถ้วน ถูกต้องตามสุขลักษณะ และมาตรฐานสิ่งแวดล้อม อุทยานแห่งชาติเขาสกดูแลได้ดี