http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,943,373
Page Views16,248,793
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ต้นแบบการจัดการน้ำเสียของเทศบาลเมืองกระบี่

ต้นแบบการจัดการน้ำเสียของเทศบาลเมืองกระบี่

ต้นแบบการจัดการน้ำเสียของเทศบาลเมืองกระบี่

โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่

                ผมติดตาม นพ.สุวิทย์ เกียรติเสวี  หน้าต่าง มองคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม นสพ.เดลินิวส์รายวัน  ไปกับองค์การจัดการน้ำเสีย(อจน.) เพื่อตามไปดูโครงการ “ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ สร้างความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางน้ำของประชาชนพื้นที่เทศบาลเมืองกระบี่” เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 แล้วรู้สึกดีใจที่ได้เห็น ต้นแบบการจัดการน้ำเสียของเทศบาลเมืองกระบี่ที่ร่วมกับองค์การจัดการน้ำเสีย ประทับใจครับ


นายเกียรติศักดิ์ ภูเก้าล้วน นายกเทศมนตรีเมืองกระบี่

นายชัยเกียรติ ห่านสัมฤทธิ์ ประธานกรรมการองค์การจัดการน้ำเสีย

                สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ศึกษาและวิจัยพบว่า น้ำดี 100% เมื่อผ่านกระบวนการใช้แล้วเกิดเป็นน้ำเสียร้อยละ 80% คนภาคกลาง ทำให้เกิดน้ำเสีย 183-406 ลิตร/คน/วัน  คนภาคเหนือ ทำให้เกิดน้ำเสีย 282 ลิตร/คน/วัน  คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เกิดน้ำเสีย 291-306 ลิตร/คน/วัน และคนภาคใต้ ทำให้เกิดน้ำเสีย 249 ลิตร/คน/วัน  (สถิติ ปีพ.ศ.2555)   ทั้งประเทศ 77 จังหวัด 67 ล้านคนจะเป็นผู้ทำให้เกิดน้ำเสียมหาศาลเพียงใด


นางหทัยรัตน์ ลิขิตอนุภาค รักษาการ ผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย

                 ประชากร 76 จังหวัดทั่วประเทศ(ยกเว้นกทม) ประกอบด้วยองค์การปกครองท้องถิ่น ที่เป็น องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น 5,509 แห่ง เทศบาล 2,266 แห่ง รวมทั้งสิ้น 7,851 แห่ง  องค์การจัดการน้ำเสียได้เข้าไปบริหารจัดการให้เกิดการจัดการน้ำเสียอย่างเป็นระบบเพียง 20 แห่ง ปริมาณน้ำเสียที่ได้รับการบำบัดจนสะอาดและปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้เพียง 20 แห่ง พี่น้องที่เคารพ จะเหลือปริมาณน้ำเสียที่ไม่ได้รับการบำบัดอีกเท่าไร คิดกันดูเถอะ


                 แต่เมื่อคิดทบทวนถึงองค์การจัดการน้ำเสีย(อจน.) ที่มีพนักงานจำนวนน้อย งบประมาณก็น้อย ไม่กี่ร้อยล้านบาท(ทั้งองค์กร) แล้วนึกถึงภาระหน้าที่ที่จะต้องไปหาทางให้องค์การปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศถึง  7,851 แห่ง ลงนามข้อตกลงที่จะร่วมกันดำเนินนโยบาย ผู้ที่ทำให้เกิดน้ำเสียต้องจ่าย เหนื่อยแทนจริงๆ ทั้งๆที่แต่ละองค์กรเหล่านั้น มีหน้าที่ หาน้ำดีให้ประชากรใช้ และต้องบริหารจัดการน้ำเสียให้ดีก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ทำไมไม่ทำกัน


นักเรียนคือบริบทที่ต้องเริ่มเรียนรู้และเข้าใจ

                ลองตามไปดูสิ่งที่เมืองกระบี่เขาทำกันครับ  เทศบาลเมืองกระบี่ได้ลงนามร่วมกับองค์การจัดการน้ำเสีย เป็นข้อตกลงให้บริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียของชุมชนอย่างยั่งยืน และร่วมกันเสริมสร้างจิตสำนึกของประชาชนในการรักษาสิ่งแวดล้อม มีระยะเวลา 15 ปีตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2555 ถึง 30 กันยายน 2570 

                 ระบบบำบัดน้ำเสียของเทศบาลเมืองกระบี่ เป็นระบบบำบัดน้ำเสียชนิดเติมอากาศ (Aerated Lagoon) จำนวน ๑ บ่อ และ บ่อตกตะกอน (Polishing Pond) จำนวน ๓ บ่อ สามารถบำบัดน้ำเสียได้ ๑๒,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน สถานีสูบน้ำเสีย ๒ แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ ๙.๗ ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันมีน้ำเสียเข้าระบบประมาณ ๖,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน 

ร่วมกันตัดริบบิ้นเปิดที่ทำการ


น้ำเสียที่ไหลมาเข้าบ่อบำบัด ดำ สกปรก เหม็น เต็มไปด้วยเชื้อโรคและสารพิษตกค้าง

                 องค์การจัดการน้ำเสียได้ตั้งผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ให้เป็นผู้บริหารจัดการ อย่างมีประสิทธิภาพ และได้พัฒนาให้เป็นศูนย์การเรียนรู้การนำเอาน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว และมีคุณภาพตามมาตรฐานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลับมาใช้ประโยชน์      

                 น้ำสะอาดส่วนที่เหลือก็ปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ เมื่อตามไปดูปลายน้ำที่ไหลลงสู่ทะเลมีสีขาวใสสะอาด นักท่องเที่ยวตามชายหาดก็ไม่บ่นอีกแล้วว่า คันตัว


บำบัดจนดื่มได้

                 บทบาทและหน้าที่ของเทศบาลเมืองกระบี่ ได้ตราเทศบัญญัติเทศบาลเมืองกระบี่ ว่าด้วยการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย ค่าบริการน้ำทิ้ง และค่าใบอนุญาตให้ต่อท่อเชื่อม เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 เพื่อเรียกเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย ค่าบริการน้ำทิ้ง และค่าใบอนุญาตให้ต่อท่อเชื่อม จากประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของ หรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดน้ำเสียในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองกระบี่ ทั้งนี้ เพื่อนำรายได้มาสมทบ สนับสนุนการดำเนินงานบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียรวมเทศบาลเมืองกระบี่ให้เป็นไปอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม         


                  อย่างไรก็ดี การจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียนั้น ถือเป็นสิ่งใหม่สำหรับประเทศไทยและประชาชนทั่วไป จึงจำเป็นต้องสร้างความรับรู้ ความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เทศบาลเมืองกระบี่ในฐานะเจ้าของ หรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดน้ำเสีย ให้มีความตระหนัก และมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาคุณภาพแหล่งน้ำ รวมทั้ง มีความยินดีจ่ายค่าบำบัดน้ำเสียตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย(Polluters Pay Principle : PPP)


                     ดังนั้น  เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2558  ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม จึงเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานจัดการน้ำเสียเมืองกระบี่  ประกอบด้วยแขกผู้มีส่วนร่วม นายเกียรติศักดิ์ ภูเก้าล้วน นายกเทศมนตรีเมืองกระบี่ นายชัยเกียรติ ห่านสัมฤทธิ์ ประธานกรรมการองค์การจัดการน้ำเสีย พร้อมคณะกรรมการ และนางหทัยรัตน์ ลิขิตอนุภาค รองผู้อำนวยการปฏิบัติการรักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย กล่าวรายงาน


                   หลังจากนั้น ได้เดินชมกิจการจัดการน้ำเสียเมืองกระบี่ ได้ปลูกต้นไม้ร่วมกับเยาวชนคนเมืองกระบี่ ได้พิสูจน์ถึงสมรรถนะการบริหารจัดการน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่คูคลองธรรมชาติ  และได้ร่วมแถลงข่าวอีกครั้งถึงอนาคตการจัดการน้ำเสียของเมืองกระบี่


                   นายเกียรติศักดิ์  ภูเก้าล้วน  นายกเทศมนตรีเมืองกระบี่ ได้กล่าวว่า ยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับองค์การจัดการน้ำเสีย กระบี่ เพื่อช่วยให้การจัดเก็บเงินค่ากำจัดน้ำเสียจากประชาชนคนเมืองเทศบาลกระบี่ ซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้เกิดน้ำเสียโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขตเทศบาลเมืองกระบี่มีแหล่งท่องเที่ยวและที่พำนักนักท่องเที่ยวปริมาณมาก จึงต้องให้ความสำคัญ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนแก่นักท่องเที่ยว


                  นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่  ได้เน้นย้ำว่า กระบี่เป็นเมืองงดงามด้วยธรรมชาติ ชายทะเล ชายหาด  ป่าเขา ลำธาร เป็นทรัพยากรท่องเที่ยวสำคัญ หากปล่อยให้น้ำเสียไหลลงไปปะปนแล้วทำให้เกิดความสกปรกคงไม่ได้ จังหวัดจะร่วมสนับสนุนการจัดการน้ำเสียของเกาะพีพี  ชายหาดทุกแห่ง เพื่อให้คืนน้ำดีสู่ธรรมชาติต่อไป


                  นางหทัยรัตน์ ลิขิตอนุภาค รองผู้อำนวยการปฏิบัติการรักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย กล่าวว่า เป็นภารกิจหนักมากขององค์กร  แต่ถ้าหากได้รับการสนับสนุน ร่วมมือจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกเทศมนตรีของทุกเมือง งานจัดการน้ำเสียก็จะได้รับความสำเร็จมากขึ้น  โดยยึดหลักการ ผู้ก่อให้เกิดน้ำเสียต้องจ่าย  ทั้งประเทศทำไปเพียง 20 แห่ง ยังเหลืออีกมากทีเดียว     

                 โชคดีที่เมืองกระบี่ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง ถือเป็นอีกหนึ่งในต้นแบบชุมชนเมืองที่เข้าใจและพร้อมให้ความร่วมมือ

                  ภารกิจที่หนึ่ง   : การจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียในเขตพื้นที่จัดการน้ำเสียและพื้นที่ชุ่มน้ำวิกฤติ ได้แก่ พื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พื้นที่แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง โดยองค์การจัดการน้ำเสียได้ดำเนินการโครงการบำบัดน้ำเสียเทศบาลนครอ้อมน้อย โครงการบำบัดน้ำเสียชุมชนขนาดเล็กที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีจุดเด่นที่ระบบบำบัดน้ำเสียอยู่ใต้ดิน และส่วนบนดินเป็นสวนสาธารณะสำหรับประชาชนพักผ่อนหย่อนใจ


                  ภารกิจที่สอง : ให้บริการรับบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย โดยการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนที่ก่อสร้างไว้เดิมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวม ๒๐ แห่งทั่วทุกภาคของประเทศ รวมถึงการออกแบบก่อสร้างและบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียเฉพาะจุดในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๘ แห่ง

                  ภารกิจที่สาม : การบริการกิจการต่อเนื่องที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำเสีย ได้ดำเนินการให้คำปรึกษาด้านวิชาการและการบริหารจัดการน้ำเสียให้กับหน่วยงานหลายแห่งทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการจัดให้มีศูนย์การเรียนรู้การจัดการน้ำเสีย เพื่อให้องค์การจัดการน้ำเสียเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้


นายชัยเกียรติ ห่านสัมฤทธิ์ ประธานกรรมการองค์การจัดการน้ำเสีย

                 ในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปีของการสถาปนาองค์การจัดการน้ำเสีย นายชัยเกียรติ ห่านสัมฤทธิ์ ประธานกรรมการองค์การจัดการน้ำเสีย ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสำคัญในการกำหนดนโยบายทิศทางขององค์การจัดการน้ำเสีย ได้กล่าวว่า

                 “การที่องค์การจัดการน้ำเสีย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญในการบริหารจัดการน้ำเสียของประเทศ โดยเฉพาะการที่ได้เข้าไปฟื้นฟูและบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียของท้องถิ่นที่มีการก่อสร้างไว้แล้วให้สามารถดำเนินการบำบัดน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นเป็นสิ่งที่แสดงว่า ภารกิจขององค์การจัดการน้ำเสียเป็นการทำให้งบประมาณของชาติที่ใช้ไปในการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียไม่สูญเปล่า นอกจากนี้ภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นสิ่งที่องค์การได้สนองในพระมหากรุณาธิคุณด้วย  


ทะเลกระบี่จะได้สวยและสะอาดน่าลงอาบ

                 พี่น้องครับ ผมยอมรับชำระค่าเก็บขยะทุกเดือนๆละ 30 บาท เพราะว่าถ้าไม่มีองค์กรปกครองท้องถิ่นดำเนินการจัดเก็บ ผมจะต้องแบกภาระเรื่องขยะสักเพียงใด เมื่อองค์การจัดการน้ำเสียอยากให้ผมซึ่งก็เป็นหนึ่งในผู้ทำให้เกิดน้ำเสียต้องจ่ายค่าบำบัดน้ำเสีย ผมยินดีจ่าย เมื่อไรหนอในเขตพื้นที่บ้านผมจะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาเก็บค่าบำบัดน้ำเสียบ้าง จะรีบจ่ายให้ด้วยความเต็มใจเลยทีเดียว


                     ผมเห็นเป็นต้นแบบการจัดการน้ำเสียที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ว่าราชการจังหวัด  เทศบาลเมืองกระบี่ โดยมีองค์การจัดการน้ำเสีย บริหารจัดการ ทั้งนี้ ประชาชนเข้าใจ และให้การสนับสนุน สุดยอด


 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view